“สมัยนี้ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้ว”
“นิตยสารชื่อดังปิดตัว”
“วงการสิ่งพิมพ์กำลังถูก Disrupt ด้วยดิจิทัล”
และอีกหลายประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาของวงการสิ่งพิมพ์ทุกวันนี้ที่กำลังประสบวิกฤตทั้งในมุมของผู้สร้างคอนเทนต์รวมถึงผู้เสพคอนเทนต์ การเข้ามาของดิจิทัลที่เปลี่ยนแพลทฟอร์มการอ่านไปสู่หน้าจอของอุปกรณ์ต่างๆ และการเข้ามาของสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้พฤติกรรมการอ่านหนังสือเปลี่ยนไป
จากงานสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่
The MATTER จึงอยากชวนไปสำรวจยุคสมัยของการอ่าน ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ผ่านประสบการณ์ของคนสามยุคสามสมัยในวงการคอนเทนต์อย่าง ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์มาแล้วหลายยุค ใบพัด – ภาณุมาศ ทองธนากุล นักเขียนเจ้าของผลงาน ‘การลาออกครั้งสุดท้าย’ หนังสือระดับ Best Seller ที่ตีพิมพ์ซ้ำหลายสิบครั้งสู่ยุคที่คอนเทนต์ออนไลน์เป็นที่นิยมมากกว่าหนังสือเล่ม และ วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมาเจ้าของยูทูบแชนแนล Point of View ที่เลือกหยิบคอนเทนต์ในหนังสือมาเล่าใหม่ในรูปแบบคลิปวิดีโอ ซึ่งเป็นกระแสของการทำคอนเทนต์ในยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ว่าถ้ายุคสมัยเปลี่ยนไป พฤติกรรมการอ่านเปลี่ยนไป หัวใจของคอนเทนต์จะยังคงอยู่ไหม
อดีตที่เคยเฟื่องฟู
ชมัยภร แสงกระจ่าง
ตอนช่วงเริ่มทำงานเขียนใหม่ๆ บรรยากาศของวงการนักเขียนตอนนั้นเป็นอย่างไร
ตอนเริ่มทำงานเขียนใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เราจะพยายามฟื้นฟูเรื่องของงานเขียนทุกอย่าง ก็มีการตั้ง‘กลุ่มวรรณกรรมพินิจ’ขึ้นมา มีการประกาศว่าเรื่องสั้นเรื่องไหน กวีนิพนธ์ชิ้นไหน เป็นชิ้นที่ยอดเยี่ยมในแต่ละเดือน
ในสยามรัฐเองก็มีคอลัมน์วิจารณ์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายคอลัมน์ ทำให้เห็นว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนอ่านหนังสือจริงๆ คนรู้สึกตื่นเต้นกับหนังสือมากๆ อย่างเช่นตอนที่เขียนนวนิยาย ถ้าเราเขียนอะไรที่มันผิดไปนิดหนึ่ง บางทีเรื่องไม่ได้ผิด คำก็ไม่ได้ผิด แต่ผิดความรู้สึกคนอ่าน เช่น เขียนถึงตัวละครที่เป็นครู แล้วให้ลูกศิษย์เรียกว่ายัยหัวฟู ครูเขียนจดหมายมาเลย บอกว่าไม่ได้ เขามองว่านักเขียนคนนี้ดูถูกครูหรือเปล่า เราก็ต้องรีบอธิบายว่าคนที่พูดเป็นเด็ก หรือมีอยู่ช่วงหนึ่งเขียนเรื่องหมา เดินสวนกันกับนักอ่าน เขาพูดเรื่องหมาได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร คือวิธีทักเขาก็คือถามว่าหมาตายไหมคะ เราก็บอกว่าไม่ตายค่ะ เพราะเรากำลังเขียนเรื่องให้หมามันคับขันอยู่คือมันแสดงให้เห็นว่าการอ่าน การเขียนมันเฟื่องฟูมาก
แสดงว่าความเป็นนักเขียนมีอิทธิพลต่อสังคมมากในยุคนั้น
ในสายตาเราที่เราก็รู้สึกอย่างนั้น เพราะว่าเหมือนกับเราสร้างนักอ่านขึ้นมา แล้วการที่เราเขียนลงทุกสัปดาห์มันคล้ายๆ กับการดูละคร คือคนจะติด ซึ่งมันเป็นวิถีที่อาจจะไม่ปรากฏในยุคสมัยนี้ เคยมีคนเล่าให้ฟังบอกว่า ยุคสมัยที่คุณรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก)เป็นนักเขียนหนุ่มที่โด่งดังมากๆ ถึงขนาดมีแฟนนักอ่านปักเสื้อเป็นลายเซ็นเขาทั้งตัวเลย แสดงให้เห็นว่าความผูกพันของเขาประหนึ่งดารา จนทุกวันนี้เวลาเจอแฟนนักอ่านเก่าๆ ที่เป็นแฟนสกุลไทย จะเข้ามาคร่ำครวญ ว่าเสียดายจังเลย ปิดแล้วจะอ่านอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุ 60-70 ขึ้นไปนี่คร่ำครวญหมด
มองว่าถึงช่วงไหนที่เริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมทั้งคนอ่านและการเป็นนักเขียนเปลี่ยนแปลงไป
ยุคนี้นี่แหละยุคที่มันมีเฟซบุ๊ก คือมันค่อยๆ มานะ ไม่ได้มาทีเดียวพรวดพราด แต่พอหนังสือหรือนิตยสารทั้งหลายปิด เรารู้สึกเลยว่านี่มันเปลี่ยนแปลงจริงๆ เป็นยุคใหม่จริงๆ เราจะไปยึดอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้แล้ว ต้องรู้ว่างานเขียนไม่ได้ปรากฏที่นั่นที่เดียวแล้ว สมมติว่าเราจะไปลงงานเขียนในพื้นที่หนึ่ง เราก็ต้องคิดแล้วว่า แฟนคลับมีอยู่ไหม เราเองยังเขียนได้อยู่ คุณกฤษณา อโศกสินก็ยังเขียนได้อยู่ แต่ว่าแฟนนักอ่านอยู่ที่ไหน เขาเข้ามาในเฟซบุ๊กไม่เป็น เข้ามาในเพจไม่เป็น ใช้เครื่องมือไม่ได้ เกิดอาการแล้วว่ามันไม่เหมือนเดิม
ส่วนตัวใช้เวลาปรับตัวอยู่นานไหม
ปรับมาเรื่อยๆ ค่อยๆ ขยับมาทีละนิด ตอนนี้ก็มีเรื่องลงใน Fictionlogเรื่องหนึ่ง คนอ่านน้อยมากถ้าเทียบกับสกุลไทย ซึ่งคนอ่านเป็นแสนนะ แต่เราก็มีความรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่เราจะทำงาน มันเป็นพื้นที่ที่เหลืออยู่ในยุคของเรา ตามวัยของเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่คิดเรื่องเงินนะ เราก็สบาย ยังทำได้ทุกอาทิตย์ ไม่เคยมองว่าเป็นภัยคุกคามเลย มองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง เราอาจจะมีอารมณ์เยาะเย้ยถากถางเด็กรุ่นใหม่ได้เล็กน้อยว่า ไม่เคยเห็นหนังสือเก่าๆ ล่ะสิ ไม่เคยเห็นหนังสือหนาๆ แบบนี้ใช่ไหม แต่ว่าเราก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปบอกเขาว่า น้องต้องอ่านหนังสือเล่มนะ น้องจะมาอ่านทางนี้ไม่ได้นะ
รู้สึกอย่างไรกับคนที่ยังชื่นชอบในการอ่านหนังสือที่ต้องยึดติดอยู่กับความเป็นเล่ม ความเป็นกระดาษ
เราก็ยังเชื่อว่าคนเหล่านั้นเขามีความสุขนะ ทุกวันนี้เราก็ยังเชื่อว่าหนังสือรวมเล่มไม่ตาย เพราะว่าบ้านเราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วคนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาก็ยังต้องอ่านหนังสือเล่มอยู่ แต่ว่าเขาจะอ่านอะไรนี่อีกเรื่อง เขาจะอ่านธรรมะ How to นวนิยาย จะอ่านอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ปัญหาก็คือว่าตอนนี้ลักษณะของนักอ่านแต่ละคน เหมือนมีชุมชนการอ่านเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นนักเขียนอย่างเราก็ต้องรู้ว่าควรจะอยู่ชุมชนไหน
ด้วยความที่เนื้อหาถูกย้ายไปอยู่ในอินเทอร์เน็ต ทำให้มีปัญหาต่อการนำเสนอในแบบที่สั้นลง ทำให้สุนทรียะของการอ่านเปลี่ยนไปไหม
มันไม่มีคำว่าเสีย ไม่มีคำว่าดี มันเป็นไปตามสภาพ คนที่จะสร้างงานผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ก็ต้องทำให้สั้น ต้องทำเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนอ่าน ต้องปรับตัวกันไป เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องปกติ คนสมัยนี้มีเวลาอ่านน้อย เพราะฉะนั้นเขาจะต้องอ่านเร็ว นักเขียนก็เลยต้องคิดว่า เมื่อเขาจะอ่านเร็ว จะทำอย่างไรจะให้เขาได้ลึก ในขณะที่นักเขียนรุ่นเก่าไม่เป็นไร เดี๋ยวฉันจะเขียนเสียให้ละเมียดเลย นักอ่านจะได้ซาบซึ้ง คือวิธีมันคนละวิธี แต่ทั้งสองคนต้องการเป้าหมายเดียวกัน คือทำให้เขาซาบซึ้ง ทำให้เขาสะเทือนใจให้ได้ เพราะฉะนั้นก็นักเขียนรุ่นใหม่ก็ต้องหาวิธีของตัวเองไป
เหมือนว่าเป้าหมายหรือหัวใจของการสื่อสารยังคงอยู่เหมือนเดิม
ยังอยู่เหมือนเดิม คงไม่มีนักเขียนคนไหนบอกว่าจะเขียนๆ ไปอย่างนั้น ไม่ได้หวังจะให้นักอ่านรู้สึกสะท้านสะเทือนอะไรกับสิ่งที่ตัวเองเขียน เป็นไปไม่ได้
ในฐานะที่อยู่ตั้งแต่ยุคแรกจนเปลี่ยนผ่านมาจนยุคนี้ มองว่าอนาคตพฤติกรรมคนอ่านจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน
หนังสือเล่มเก่าๆ ที่กระดาษเปื่อยๆ มันก็คงหมดไปต่อไปน้องๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ตอนนี้ก็จะกลายเป็นรุ่นกลาง ส่วนรุ่นใหม่ที่ใหม่เอี่ยมมากๆ จะมาแบบไหน ยังนึกไม่ออกเลย ดีไม่ดี มันมาอาจจะไม่มาเป็นมือถือแล้ว อาจจะมีวิธีที่ไม่ได้อ่านด้วยตาหรือเปล่าสมัยก่อนเรายังตื่นเต้นกับพลาสติกแทบตายเลย แต่เดี๋ยวนี้เราใช้มันจนจะอ้วกและรังเกียจมันไปแล้ว เราจะกลับไปที่เดิมโดยที่ไม่ใช้มันก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเดินไปข้างหน้าและหาวิธีจัดการกับมัน การอ่านก็เหมือนกันจะถอยกลับไปแบบเดิมก็ไม่ได้แล้ว
ปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนผ่าน
ใบพัด – ภาณุมาศ ทองธนากุล
อยากให้เล่าถึงบรรยากาศของวงการหนังสือช่วงที่หัดเขียนหนังสือใหม่ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ผมเข้าวงการตอนช่วงปี 2544เป็นที่รับรู้กันว่าช่วงนั้นเพิ่งพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ ธุรกิจหนังสือเริ่มฟื้นจากเถ้าถ่าน เริ่มมีดาวรุ่งหน้าใหม่ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่รักในวงการหนังสือ ผลิตสื่อแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาในวงการ ซึ่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เจอนิตยสาร a day,BrandAge,Openหรือว่าGMซึ่งมันล้ำมากเป็นโลกที่หันไปทางไหนก็มีแต่สีสัน วงการสื่อและหนังสือตื่นตัวมาก ทุกเดือนคนจะมาคอยลุ้นว่า a day ฉบับเดือนนี้หน้าปกเป็นอะไร BrandAgeจะเล่นประเด็นไหน Open จะเอาใครมาลงGMสัมภาษณ์ใหญ่เป็นใคร มันน่าตื่นเต้นมากๆ
พอมาถึงความสำเร็จของ‘การลาออกครั้งสุดท้าย’ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
ถ้ามองจากจุดนี้ เรารู้สึกว่าเหมือนประตูสวรรค์มันกำลังจะปิด แล้วเราสามารถวิ่งสอดแทรกรูเล็กๆ ของประตูสวรรค์เข้าไปได้ ผมรู้สึกว่าหนังสือ ‘การลาออกครั้งสุดท้าย’ที่ในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา จนถึงปี2556 เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่ทุกคนในสังคมสนใจหนังสือกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นมีหนังสือBest Seller ติดต่อกันหลายๆ เล่ม หนังสือของผมก็ถือว่าเป็นหนึ่งในหมวดหนังสือ Best Seller ที่อยู่ในกระแสช่วงเวลานั้น แต่หลังจากนั้นช่วงปี 2560 เป็นต้นมาก็เรียกได้ว่าน้อยลง หนังสือมันถูกคัดสรรมากขึ้นหนังสือที่ผู้คนในสังคมจะพูดถึงหรือได้รับความนิยมในวงกว้างจริงๆ มันเหลือน้อยเต็มที
มองว่าการที่หนังสือสักเล่มจะเป็นที่รู้จักได้วงกว้างมากขนาดนั้น มันเกิดจากการที่สื่อดิจิทัลหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กยังไม่มีอิทธิพลมากหรือเปล่า
ตรงกันข้ามเลย ผมมองว่าความสำเร็จของ ‘การลาออกครั้งสุดท้าย’ เกินกว่าครึ่งต้องขอบคุณโซเชียลเน็ตเวิร์ก เฟซบุ๊กเริ่มมาแรกๆ แล้วตอนนั้นยังไม่มีการลด Reach นั่นแปลว่าผู้คนเห็นสิ่งที่เราโพสต์เต็มๆ การโปรโมตหนังสือ การแนะนำว่าวันนี้เราจะไปจัดกิจกรรมที่นี่ผ่านช่องทางเหล่านี้ มันเข้าถึงผู้คนได้อย่างมากเลย ในช่วงเวลานั้นรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่คุกคามเลยเหมือนเราได้เครื่องมือใหม่ที่ไม่เคยเจอโลกแบบนี้มาก่อนสมัยอดีตกว่าจะส่งข้อมูลขนาดนี้ไปสู่ผู้อ่านได้ ต้องเชิญสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ หรือต้องหวังว่าจะมีคนรีวิวหนังสือในนิตยสารเพื่อแนะนำเรากับผู้อ่าน แต่เดี๋ยวนี้เราเป็นคนเผยแพร่ได้เอง เรามีช่องทาง สำนักพิมพ์ก็มีเพจ ช่วยกันทุกทิศทุกทาง มันเกื้อกูลกันมาก แต่มันคือระยะแรกเท่านั้น
แล้วช่วงไหนที่รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคาม
รู้สึกว่ามันเริ่มเป็นภัยคุกคามเมื่อคนจำนวนมากที่เคยเฝ้ารอนิตยสาร คนที่ต้องคอยติดตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์เริ่มลดลง ข่าวสารที่เราได้ยินก็คือนิตยสารที่เราชอบ นิตยสารที่ครั้งหนึ่งเราเคยไปเป็นคอลัมนิสต์หรือเคยทำบทสัมภาษณ์ให้ เริ่มปิดตัว อยู่ไม่ไหว บางเล่มแบบอยู่มานานแบบหลายสิบปี อยู่ไม่ได้ เพราะผู้คนเริ่มย้ายอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปสู่โลกออนไลน์กันหมด นั้นเป็นสัญญาณที่เราเริ่มรู้สึกแล้วว่าไม่ปลอดภัยแล้วล่ะ มันไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เราจะหยิบใช้มาเกื้อกูลได้อย่างเดียวแล้ว ในขณะเดียวกันมันเริ่มกลายเป็นศัตรูตัวสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด มันไม่ใช่เพื่อนที่น่าไว้วางใจอีกแล้ว มันเริ่มดึงผู้คนจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเคยใช้สายตากับวงการหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม เริ่มย้ายไปสู่โลกดิจิทัลกันมากขึ้น
พอเป็นอย่างนั้นเลือกที่จะต่อสู้กับมันทันทีหรือว่าค่อยๆ ดูสถานการณ์ไปก่อน
ตอนแรกยังวางใจนะ คิดว่ามันไม่น่าจะมาถึงเรา เพราะจะว่าไปแล้ว วงการหนังสืออาจจะไม่เหมือนวงการเพลง วงการภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงขนาดนั้น เราไม่ใช่กลุ่มใหญ่ คนอ่านหนังสือก็เล็กๆ อยู่แล้ว เราพิมพ์หนังสือมาทีละ 3 พันเล่ม ขายหมด เราก็ดีใจแล้วกลุ่มคนอ่านก็ประมาณนี้ คิดว่าวงการสิ่งพิมพ์น่าจะอีกนาน แต่นี่ไง พอเพื่อนๆ ในแวดวงเริ่มล้มหายตายจาก นิตยสารที่อยู่มานานคู่กับแผงหนังสือประเทศไทยต้องจากไป ชักไม่ปลอดภัยแล้ว สำนักพิมพ์เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่า ยอดขายมันไม่เหมือนเดิมนะ ช่วงที่คนไปงานสัปดาห์หนังสือแล้วหอบกลับเป็นตั้งๆ ก็อาจจะเริ่มลดลงๆ ซื้อเฉพาะเล่มที่เขาชอบจริงๆ ถามว่ารับมือยังไง ก็เรียกว่ารับมือราวกับเป็นนักมวยเมาหมัด สะเปะสะปะ ไม่รู้จะทำอะไรกับมันจริงๆ เพราะอำนาจในการควบคุมไม่ได้อยู่ในมือเรา ในอีกด้านหนึ่ง อะไรพอทำได้ก็ทำ เช่นมีคนบอกว่าถ้าเนื้อหาทำเป็นวิดีโอ คนอาจจะเห็นมากขึ้น หรือพอมีทักษะนอกจากการเขียน ก็ลองพูดแทน ถือว่าเป็นวิธีการรับมือแบบตามยถากรรมของเรา
รู้สึกอย่างไรกับหนังสือที่ตั้งใจให้ออกมาเป็นรูปเล่ม กลับต้องเป็นไฟล์ pdf อยู่ในหน้าจอ
ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องยอมรับ ได้อย่างก็เสียอย่าง สมมติเราเป็นคนเกิดในยุคก่อนที่จะมีกระดาษ เราอาจจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือจากการสลักบนก้อนหินก็ได้ แล้ววันหนึ่งที่กระดาษมา แล้วบอกว่าไม่เอา เราอยากจะอ่านบนก้อนหินเหมือนเดิม โดนฝนแล้วก็ไม่เปียกด้วย ถึงวันนี้มันก็มาอีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนี้ทุกคนมีเครื่องมือทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก แล้วมันก็ไปกับเราได้ทุกที่แบบนั้น แน่นอนมันอาจจะมีสิ่งที่เราสูญเสียไป แต่ว่าสิ่งที่ชดเชยมาผมว่ามันก็ไม่เลว
แสดงว่าข้อดีของการเป็นดิจิทัลก็ยังมีอยู่ใช่ไหม
คือถ้าถามใจของเรา คนสร้างผลงาน ไม่ดีเหรอมีคนอ่านงานนายเยอะๆ มันต้องดีมากแน่ๆ ต่อให้เราชอบหนังสืออย่างไรถ้าเรากลับมาตามตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการจะเผยแพร่ หัวใจของมันคืออะไร คืออยากจะเขียนเพื่อให้คนได้อ่าน ถ่ายทอดสิ่งที่เราอยากให้เขารู้เหมือนที่เรารู้ ให้เขารู้สึกอย่างที่เรารู้สึก แล้ววันหนึ่งดีดนิ้วปุ๊บ ดิจิทัลมันทำให้เข้าถึงคนได้เป็นแสนคนภายในคืนเดียว มันมหัศจรรย์นะ มหัศจรรย์มากๆ ตอนสมัยที่ผมเดินเข้ามาในวงการนักเขียนใหม่ๆ นึกไม่ออกว่ามันจะมีเครื่องมืออะไรที่ทำแบบนั้นได้จริงๆ นึกได้อย่างเดียวคือต้องใช้โรงพิมพ์ ทั้งต้นทุน กระดาษ หมึกมหาศาลในการที่จะพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แล้วก็ส่งไปถึงชั้นหนังสือของแต่ละบ้าน แต่ตอนนี้ดิจิทัลช่วยทำให้สิ่งมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นแล้ว
หมายความว่าสารที่ต้องการจะสื่อก็ยังอยู่เหมือนเดิม
ณ วันที่เราเริ่มต้นเข้ามาในวงการหนังสือ เราได้พบกับสิ่งล้ำค่าหรืออัญมณีบางอย่างระหว่างการใช้ชีวิตของเรา แล้วเราอยากมอบสิ่งนี้กับคนอ่านด้วย packaging ที่สวยที่สุด แต่วันหนึ่งหีบตรงนี้อาจจะเปลี่ยนไปหน้าที่ของเราไม่ใช่ไปฟูมฟายกับเรื่องการหาหีบห่อให้มัน แต่ต้องไปหาอัญมณีให้เจอก่อน เพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ในอีก 5 ปี มนุษย์อาจจะไม่ต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้แล้วก็ได้ แบบแค่หลับตาแล้วเข้าไปสมองโดยตรงได้เลย
พูดง่ายๆ คือจะอ่านวิธีการไหนก็ไม่สำคัญ แต่อยู่ที่หัวใจของสิ่งที่อยากจะมอบให้คนอ่านหรือเปล่า
หน้าที่ของเราก็คงต้องเป็นหน้าที่นั้นต่อไป หยิบจับดินโคลนก้อนหินแล้วนำมาขัดเจียระไนให้กลายเป็นสิ่งล้ำค่าแล้วเราก็แบ่งปันส่งต่อให้คนที่เรารัก ความรู้สึกบางอย่างที่เราอยากจะถ่ายทอดให้เขาไป สุดท้ายคือรู้สึกว่าต่อให้เขาอ่านในรูปแบบใด อ่านบนสมาร์ทโฟน อ่านบนแท็บเล็ตหรืออ่านบนคอมพิวเตอร์ ไม่สำคัญเลย ว่ามันจะอยู่ในเครื่องมือสื่อสารใดๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาอ่าน แล้วเขารับรู้ได้อย่างที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึกสามารถส่งไปถึง ให้เขารู้สึกได้อย่างที่เรารู้สึก ผมว่ามันสำเร็จแล้ว ในฐานะเราทำงานเขียนตรงนี้ ภารกิจของเราลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีอะไรต้องติดขัดอีกต่อไป
อนาคตที่กำลังมาถึง
วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา
อยากให้เล่าถึงภาพรวมของวงการคนทำคอนเทนต์ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
วงการคอนเทนต์เป็นทุกวันนี้คึกคักมากเลย เพราะทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผลิตคอนเทนต์ได้ถ้าเป็นแต่ก่อน พูดถึงคอนเทนต์เราก็จะต้องนึกถึงว่าต้องเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เป็นคนทำโทรทัศน์ แต่ทุกวันนี้แค่คุณมีคอมพิวเตอร์ มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็รู้สึกว่าฉันเป็นสื่อที่ผลิตคอนเทนต์ได้เองแล้ว
การที่เป็นแบบนั้น มองว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากเครื่องมือหรือเทคโนโลยีทุกอย่างที่มันง่ายขึ้นหรือเปล่า
วิวว่าทุกคนมีความอยากเป็นสื่อในตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนอยากจะพูดอะไรบางอย่าง แล้วอยากมีคนฟัง ซึ่งแต่ก่อนเขาอาจจะได้แค่พูดในกลุ่มเพื่อน แต่ว่าทุกวันนี้มีคนพร้อมที่จะฟังเขามากขึ้น และมีเครื่องมือต่างๆ ที่เข้ามาช่วย ดังนั้นทุกคนก็เลยออกมาแสดงความเห็นของตัวเองกันมากขึ้น แล้วก็ส่วนหนึ่งวิวรู้สึกว่าเวลาคนเราเล่าเรื่องอะไรออกไป เราชอบได้รับฟีดแบ็ก ชอบให้แสดงความคิดเห็น ทำให้เราอยากจะเล่าอะไรมากขึ้น ซึ่งด้วยความที่แพลตฟอร์มต่างๆ มันเกิดขึ้นทุกวันอย่างนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อนเราเขียนหนังสือไปเล่มหนึ่ง กว่าเราจะรู้ว่าคนชอบหรือไม่ชอบ เราต้องรออีก 3 เดือนผ่านไป มีคนเขียนจดหมายส่งมาหนึ่งฉบับ ชอบหนังสือของพี่จังเลยค่ะกว่าจะถึงตอนนั้นเราก็หมดความตื่นเต้นไปแล้ว แต่ถ้าเป็นทุกวันนี้เราแค่พิมพ์สเตตัสแล้วกดโพสต์ภายใน 5 – 10 วิเมนต์แรกก็มาแล้ว
แสดงว่าการทำงานคอนเทนต์ของคนสมัยก่อนมีความยากลำบากกว่าสมัยนี้มาก
ถามว่าลำบากกว่าไหม ก็ลำบากกว่าถ้าพูดตรงๆ วิวก็เคยอยู่ในยุคหนึ่งที่พยายามจะเขียนหนังสือเล่ม ตั้งแต่ตอนที่แบบโซเชียลเน็ตเวิร์กยังไม่บูมขนาดนี้ แล้วการที่คนธรรมดาจะขึ้นไปเขียนหนังสือเล่ม วิวว่ามันยากมาก ที่จะเข้าไปอยู่จุดนั้น เราต้องเขียนเสร็จแล้วทั้งเล่ม ต้องไปส่งสำนักพิมพ์ ซึ่งถ้าเราเขียนอะไรที่ใหม่มากๆ สำนักพิมพ์ก็อาจไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้จะมีคนอ่าน จนเขาอาจจะไม่พิมพ์เลยก็ได้ เราน่าจะเคยได้ยินข่าวที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ส่งตีพิมพ์ไปหลายครั้งก็โดนตีกลับตลอด เพราะว่ามันใหม่มาก สำนักพิมพ์ไม่เชื่อต้องรอจนกว่าจะมีใครสักคนมาเห็นศักยภาพของเรา แต่ว่าถ้าเป็นทุกวันนี้เรามีพื้นที่ที่จะได้โชว์ศักยภาพของเราก่อนล่วงหน้า หรือมีกลุ่มคนอ่านของเราล่วงหน้าแล้ว เพราะว่าเขารู้อยู่แล้วว่านักเขียนคนนี้เป็นใคร ทำเนื้อหาประมาณไหน ไม่ว่าจะเป็นยุคนั้นหรือว่ายุคนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของเนื้อหา เพราะว่าถ้าคุณภาพมันดีจริงๆ เดี๋ยวสุดท้ายแล้ว เขาก็สนใจเราเอง
ถ้าพูดถึงในแง่คนอ่านบ้าง คิดว่ายุคก่อนกับยุคนี้ พฤติกรรมการเสพสื่อเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน
วิวว่าคนเราก็ยังเสพสื่อเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือภาชนะของสื่อนั้นๆ ใครๆ ก็ชอบบอกว่าเดี๋ยวนี้คนไม่อ่านหนังสือใช่ไหม แบบไม่อ่านหนังสือเล่มเลย เอาเวลาไปเล่นอะไรไม่รู้ไร้สาระ ต้องถามว่าหนังสือคืออะไร จะต้องเป็นเฉพาะหนังสือเล่มหรือเปล่า หรือคำว่าหนังสือหมายถึงแค่ตัวหนังสือ หรือจะเป็นเนื้อหาที่แค่ฟังก็โอเคแล้ว ดังนั้นวิวว่าคนยังชอบเสพเรื่องราว ยังชอบเสพเรื่องเล่าทุกสิ่งอย่างเหมือนเดิม แค่มันอาจจะเปลี่ยนไปจากการที่แต่ก่อนเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ สมัยนี้อาจจะเป็นแบบไถฟีดเฟซบุ๊กแทน นิยามของเราจึงไม่อยากใช้คำว่าหนังสือมองว่าเป็นคอนเทนต์มากกว่า ซึ่งมันกว้างมาก คุณจะอ่านมันจากเฟซบุ๊ก คุณจะฟังมันจากคลิปยูทูบ คุณจะเดินไปเห็นป้ายข้างถนนที่แบบให้ความรู้สั้นๆ มันก็คือการเสพคอนเทนต์เหมือนกัน ถ้าคุณยังสนใจเรื่องพวกนั้นอยู่ ยังไม่ปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง ก็แปลว่าคุณยังอ่านหนังสืออยู่นะ
แล้วส่วนตัวมองว่าการที่สำนักพิมพ์หรือนิตยสารปิดตัวลง มันเกิดจากสาเหตุนี้หรือเปล่า
วิวมองว่ามันเป็นความชอบ บางคนอาจจะยังชอบจับอะไรที่เป็น physical อยู่แต่บางคนเขาก็ไม่ได้สนใจแล้วว่าจะต้องเป็นหนังสือเล่ม เขาสนใจแค่เนื้อหาที่อยู่ข้างใน ซึ่งวิวมองว่ามันเป็นวิวัฒนาการปกติของทุกเรื่องบนโลกใบนี้ สุดท้ายแล้วเมื่อเวลาผ่านไป มันก็จะเหลือคนบางคนที่ชอบอะไรที่แบบเก่าๆ แล้วมีคนที่ชอบอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ถ้าเราไม่พูดถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ เราพูดถึงการสื่อสารก็ได้ ถามว่าพิราบสื่อสารต้องมาโวยวายไหม ว่าทำไมเธอไปใช้โทรศัพท์มือถือ หรือว่าโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ ต้องออกมาโวยวายไหม ว่าเธอต้องเลิกใช้สมาร์ทโฟน กลับมาใช้ฉันเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอดีตมาจนปัจจุบัน สิ่งที่เป็นหัวใจอย่างคอนเทนต์ยังคงอยู่ไหม
สำหรับวิวมองว่ายังเหมือนเดิมหัวใจของทุกอย่างก็คือคอนเทนต์ คือเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ คือเรื่องที่เราอยากเล่า คือเรื่องที่เราต้องการสื่อออกไป หลายครั้งคนจะชอบบอกว่าคุณเป็น YouTuber คุณเป็นนักเขียน วิวจะบอกเสมอว่า วิวไม่ได้เป็น YouTuber วิวไม่ได้เป็นนักเขียน วิวเป็นคนสร้างคอนเทนต์ ซึ่งคอนเทนต์นี้จะอยู่ในรูปแบบหนังสือวิดีโอ บล็อก หรือเฟซบุ๊ก มีค่าเท่ากันเลย ถ้าเกิดว่าเราได้สื่อในสิ่งที่ต้องการแล้วมันไปถึงคนที่เราต้องการให้เขาได้รับ เพราะฉะนั้นคอนเทนต์จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่สำคัญเลย สำคัญแค่ว่า การสื่อสารใดๆ ก็ตามในโลกมีผู้ส่งสาร มีผู้รับสาร มีตัวสารครบ จะสื่อไหนวิวมองว่าไม่สำคัญเลย
คาดว่าอนาคตข้างหน้าวงการคอนเทนต์จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหนอีกไหม
อย่างหนึ่งเลยที่ต้องคงไว้ แล้วไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงเลยคือ คุณภาพของคอนเทนต์หรือคุณภาพของเนื้อหาที่ต้องการสื่อ ส่วนสิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปคือเทคโนโลยี อีก 10 ปีข้างหน้า วิวก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเป็นยังไง เราอาจจะมีการทำโฮโลแกรมคุยกันแล้วก็ได้