ไทยติดอันดับประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในอันดับ 5 ของโลก ฟังๆ ดูอาจเป็นเรื่องที่ดี หากแต่ปริมาณจริงๆ นั้นมีเพียงประมาณ 200-250 ตัว จากประชากรเสือทั่วโลกที่มีเพียง 3,890 ตัวเท่านั้น ลดลงจากอดีตเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ที่เคยมีถึง 100,000 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ประชากรเสือลดลงไปมากขนาดนี้ คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจากมนุษย์
ด้วยปริมาณเสือโคร่งอันน้อยนิดเหล่านั้น ประเทศไทยเองก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่แห่งความหวัง เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบและทุ่งหญ้าโล่ง เหมาะแก่การอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ อีกทั้งยังมีแหล่งของเหยื่อหรืออาหารที่ยังอุดมสมบูรณ์ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรของเสือโคร่งให้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2553 ได้มีการร่วมกันลงนามในปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของ 13 ประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยมีเป้าหมายคืออนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่อยู่ในขั้นวิกฤตให้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2565
ได้ยินแบบนั้น หลายคนอาจยังไม่รู้สึกว่า การอนุรักษ์เจ้าแมวตัวใหญ่เหล่านี้สำคัญอย่างไรกับคนเมืองอย่างเราๆ บ้าง เพราะดูช่างห่างไกลเหลือเกิน แต่ความจริงการลดลงของประชากรเสือสัมพันธ์กับการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเสือเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อเสือลดน้อยลงระบบนิเวศน์ก็ถูกทำลายตาม ก่อนจะส่งผลกระทบมายังอาหารและน้ำที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของมนุษย์เราในที่สุด
ลองไปทำความรู้จักกับ 3 เสือโคร่งที่ยังมีชีวิตอยู่ในไทย ได้แก่ เสือบุปผา เสือวีระพงศ์ และเสือข้าวจี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเสือที่มีผลต่อการอนุรักษ์และวิจัยพันธุ์เสือของไทยอย่างมาก ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต ถิ่นที่อยู่อาศัย ร่องรอยต่างๆ ที่พบ อาจทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้มากขึ้น และเข้าใจถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์เสือให้คงอยู่ต่อไป
เสือบุปผา: นางพญาแห่งผืนป่า แม่พันธุ์ผู้แข็งแกร่ง
หากจะเปรียบ เสือบุปผา เป็นมนุษย์ก็คงเปรียบได้กับผู้เป็นแม่ ที่มีความผูกพันกับเหล่านักวิจัยและเจ้าหน้าที่แห่งห้วยขาแข้งเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่ที่เสือบุปผาลืมตาดูโลกตั้งแต่ปี 2545 ทีมนักวิจัยก็ใช้ปลอกคอวิทยุติดตามตัว บวกกับ Camera trap เพื่อจับตาความเป็นไปของชีวิตเธอมาโดยตลอด จนได้ชื่อว่าเป็นเสือตัวเดียวในโลกที่มนุษย์สามารถตามติดชีวิตได้ตั้งแต่เกิดจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต จนถึงตอนนี้แม่เสือบุปผามีอายุถึง 16 ปีแล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับอายุขัยของเสือที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แต่ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วพบภาพของเสือบุปผาที่ถ่ายได้ใกล้ๆ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่านางพญาเสือแห่งห้วยขาแข้งยังมีชีวิตอยู่ดี จนกลายเป็นเสือที่อายุยืนที่สุดเท่าที่มีการสำรวจในไทยก็ว่าได้
ด้วยพฤติกรรมและสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ทำให้ตลอดชีวิตของเสือบุปผาตั้งทั้งและคลอดลูกได้อย่างปลอดภัยถึง 2 ครอก ครั้งละ ประมาณ 3-5 ตัวแถมยังเลี้ยงได้ประสบความสำเร็จเกือบทุกตัว ซึ่งการประสบความสำเร็จที่ว่าหมายถึงการที่เธอสามารถเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตจนสามารถหากินเองได้ตามธรรมชาติ เพราะสัญชาตญาณของเสือป่าตัวผู้มักจะฆ่าลูกเสือทิ้ง รวมถึงภัยคุกคามจากสัตว์นักล่าชนิดอื่นๆ อีกทั้งจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า แม้สองเสือแม่ลูกจะไม่มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน แต่เมื่อเสือบุปผาเดินทางกลับไปเยี่ยมน้องเอื้องลูกของเธอที่ครอบครองพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เธอกลับกินเหยื่อที่น้องเอื้องล่าไว้ ก่อนจึงเดินทางกลับบ้านของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเสือโคร่งแม่ลูกนั้นมีความผูกพันกันมากกว่าที่คิด เป็นอีกหนึ่งเคสที่ทำให้ทีมนักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเสือที่ยังไม่เคยค้นพบได้อีกมาก
เสือข้าวจี่: นักเดินทางผู้ค้นพบรักแท้
ชีวิตของเสือก็ไม่ต่างจากมนุษย์ ที่ช่วงวัยรุ่นคือช่วงวัยของการแสวงหาความหมายของชีวิตด้วยการออกเดินทาง จากการศึกษาข้อมูลของปลอกคอวิทยุ เสือข้าวจี่ คือเสือสาววัยรุ่นที่ออกเริ่มต้นออกเดินทางหาอาณาเขตของตนเองตั้งแต่ผละจากอ้อมอกของผู้เป็นแม่อย่างเสือสิทธิ์ตรี ซึ่งโดยปกติแล้วเสือจะมีพฤติกรรมในการรักษาอาณาเขตของตนเองเพื่อดำรงชีวิต แต่พฤติกรรมของข้าวจี่กลับไม่ได้อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง กลับเลือกที่จะเดินทางจากป่าหนึ่งไปอีกป่าหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่า แท้จริงแล้วเสือในช่วงวัยรุ่นมีพฤติกรรมในการแสวงหาอาณาเขตของตนเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบ และข้าวจี่ยังเป็นเสือเพศเมียตัวแรกที่พิสูจน์ศักยภาพด้วยการเดินทางไกลกว่าร้อยกิโลเมตร
แม้การเดินทางของเสือข้าวจี่จะยาวไกล แต่ในท้ายที่สุดเธอก็ได้ค้นพบบ้านของตนเอง การเดินทางของเธอเริ่มต้นจากฝั่งตะวันออกของป่าห้วยขาแข้งไปถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก่อนกลับมาและออกเดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งแต่เขตจังหวัดตากไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี กระทั่งไกลสุดถึงเขตประเทศพม่า และกลับมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เพื่อมาตั้งรกรากและให้กำเนิดลูกที่นั่น ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสือเลือกตั้งรกรากคือความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร การกลับมาของเสือข้าวจี่จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าป่าของไทยยังอุดมสมบูรณ์ต่อระบบนิเวศน์ของเสือ และเหมาะแก่การเพิ่มประชากรของเสืออย่างมีความหวัง
เสือวีระพงศ์: นักผจญภัยไร้บ้าน
หากจะเปรียบชีวิตของเสือข้าวจี่เป็นมนุษย์ ข้าวจี่คงเป็นสาวใหญ่ที่ค้นพบชีวิตที่ลงตัวอยู่กับครอบครัวในบ้านอันแสนอบอุ่น ตรงกันข้ามกับ เสือวีระพงศ์ เสือหนุ่มที่กำลังออกเดินทางตามหาพื้นที่ของตนเองเพื่อสร้างครอบครัว หากแต่พื้นที่ที่เขาเดินทางไปตามหาอาจยังไม่เหมาะกับการตั้งรกรากมากนัก จากการติดตามพบว่าเสือวีระพงศ์เดินทางกลับไปกลับมาระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 7 รอบ แต่ก็ยังไม่พบบ้านอันเหมาะสมของตัวเอง
ตามปกติแล้วการครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่งตัวผู้จะกินพื้นที่ประมาณ 200 – 300 ตารางกิโลเมตรต่อเสือหนึ่งตัว ขณะที่ตัวเมียกลับใช้เพียง 30 – 80 ตารางกิโลเมตรเพื่อหากินและเลี้ยงลูกเท่านั้น และเสือจะไม่ครอบครองพื้นที่ทับซ้อนกัน ถ้าหากมีการรุกล้ำพื้นที่จะเกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ การที่เสือวีระพงศ์ยังไม่สามารถหาพื้นที่เป็นของตนเองได้ และยังต้องผจญภัยต่อไม่มีที่สิ้นสุด สะท้อนถึงพื้นที่ป่าที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อประชากรของเสือ ซึ่งสัมพันธ์กับความหนาแน่นของเหยื่อในพื้นที่
จากเรื่องราวของเสือทั้งสามชีวิต ทำให้เราเห็นถึงการใช้ชีวิตของเสือโคร่งที่บางมุมอาจมีความคล้ายกับมนุษย์เราอย่างไม่น่าเชื่อ หากแต่ก็เป็นมนุษย์เองที่ทำให้จำนวนของเสือโคร่งลดลงจากการล่าและบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์อีกเช่นกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้กลับมาดังเดิม
Tiger Beer และ WWF จึงอยากชวนทุกคนมาอนุรักษ์ประชากรเสือให้คงอยู่ ด้วยการบริจาคเงินซื้อ*ผ้าพันคอ 3 ลาย ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากเรื่องราวของเสือทั้งสามตัวอย่าง เสือบุปผา มีลวดลายเป็นลายพาดกลอนของครอบครัวเสือ 3 ตัวที่นอนขนาบข้างกัน, เสือข้าวจี่ ที่นำแพทเทิร์นของลายเสือมาสร้างสรรค์ให้เป็นภาพของภูเขาและดวงอาทิตย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง และ เสือวีระพงศ์ ที่เป็นภาพของแพทเทิร์นลายเสือที่ค่อยๆ ผสมกลมกลืนไปกับทิวเขา
รายได้จากการจำหน่ายผ้าพันคอผืนละ 300 บาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้เป็นกำลังหลักสำคัญในการดูแลพื้นที่ที่อยู่อาศัยของเสือและสัตว์ป่าด้วยความยากลำบาก
รวมไปถึงสนับสนุนงบประมาณเพื่องานวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเสือในโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่
* ขณะนี้ผ้าพันคอ Limited Edition หมดลงแล้ว แต่ยังสามารถร่วมบริจาคช่วยเสือโดยไม่รับผ้าพันคอได้ที่ http://bit.ly/tigerxwwf-tmt
และติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่เพจ Tiger Beer TH https://www.facebook.com/TigerbeerTH/