เพียงแค่ ‘คลิกเดียว’ เราก็สามารถโพสต์หรือแชร์ทุกอย่างไปสู่สาธารณะได้อย่างง่ายดาย แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่เราโพสต์หรือแชร์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด?
ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ข้อจำกัดด้านเวลาและระยะทางในการสื่อสารลดลง เพียงแค่กดเข้าแอปพลิเคชันต่างๆ ก็สามารถรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น
แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะถึงแม้ทุกอย่างจะสะดวกสบายและรวดเร็ว เรากลับต้องเผชิญกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่มีทั้งจริงและเท็จปะปนกันจนแยกไม่ออกว่าควรเชื่อข้อมูลไหน และถ้าหากเราส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ผิดหรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมในวงกว้างได้อย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน สุขภาวะทางดิจิทัล ตลอดจนความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร หรือคอนเทนต์ที่เกิดบนออนไลน์ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่แพลตฟอร์มต่างๆ และผู้ใช้งานควรให้ความสำคัญมากที่สุด
The MATTER จึงได้มาคุยกับ ชนิดา คล้ายพันธ์ ’ Head of Public Policy – Thailand ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในส่วนของความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรให้กับ TikTok โดยดำเนินงานผ่าน TikTok for Good เธอจะมาเล่าให้เราฟังว่า TikTok for Good เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เคยสร้างแคมเปญอะไรมาแล้วบ้าง รวมไปถึงอธิบายแคมเปญล่าสุด #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์ที่มาจะมาสร้างชุมชนออนไลน์ให้น่าอยู่ เป็นมิตร และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เล่าให้ฟังหน่อยว่า TikTok for Good เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ภารกิจของ TikTok คือ Inspire Creativity and Bring Joy เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนำความสุขมาให้ผู้ชม ซึ่ง TikTok Community ขับเคลื่อนโดยผู้ใช้ (Users) ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ (Creators) และแบรนด์หรือธุรกิจ (Businesses) โดยมีคอนเทนต์เป็นจุดศูนย์กลาง องค์ประกอบทั้งหมดนี้มีการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เมื่อผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องราวเดียวกันถูกเชื่อมต่อเข้าหากัน จึงเกิดเป็น ‘Trusted Entertainment Platform Powered by Our Community’ ดังนั้น TikTok จึงมีศักยภาพสูงมากที่จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักรู้ และกระตุ้นผู้คนให้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่มีผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม
และด้วยความหลากหลายของคอนเทนต์ TikTok จึงสามารถเข้าถึงทุกคนได้ง่าย และเป็นสังคมที่สร้างความเท่าเทียมให้แก่กัน เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถเปิดดูคอนเทนต์ที่อยู่ใน Discovery หรือเล่น Hashtag Challenge ได้ เราจึงมองว่าว่าการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมนั้น สามารถเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยหลักของ TikTok Community TikTok for Good จึงเกิดขึ้นมา เพื่อทำให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่สำหรับส่งต่อสิ่งดีๆ ที่สร้างพลังบวกให้แก่สังคม ทำให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตน และเป็นชุมชนที่น่าอยู่มากขึ้น
เป้าหมายสำคัญของ TikTok for Good คืออะไร?
ไอเดียของเราเรียบง่ายมาก คือการใช้ TikTok เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน เพราะอย่างที่บอกว่าเราอยากสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม จึงทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งภายในประเทศและระดับโลก
เพื่อขับเคลื่อนความตั้งใจนี้ เราได้แบ่งออกเป็น 5 แกนหลักได้แก่ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล, Education หรือการศึกษา, Digital Well-being หรือสุขภาวะดิจิทัล ที่รวมตั้งแต่สุขภาพจิตจนถึงสุขภาพกายและทักษะการใช้ดิจิทัล, Sustainability หรือความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และ Diversity and Inclusion หรือความหลากหลายและการรวมกลุ่มของผู้คน
ที่ผ่านมา TikTok for Good เคยร่วมงานกับองค์กรหรือหน่วยงานไหนบ้าง?
ในแกนของ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล เราร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) และร่วมแคมเปญชื่อ JobD2U ซึ่งแนะนำคนที่กำลังว่างงานให้สามารถใช้ TikTok for Business เพื่อสร้างและต่อยอดธุรกิจ เพราะบางคนต้องการขายของออนไลน์ แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มอย่างไร เราก็เข้าไปซัพพอร์ตตรงนั้น นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ Gen Z to be CEO ที่ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy) ภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีการคัดเลือกนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อมาฝึกฝนวิธีใช้ TikTok for Business พร้อมทั้งเชิญเหล่าครีเอเตอร์มาสอนวิธีการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงวิธีเพิ่มยอดเชิงลึกที่ไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อน
ในแกนของ Education หรือการศึกษา ช่วงที่เริ่มล็อกดาวน์ประเทศ นักเรียนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ทำให้คุณครูไทยทั้งประเทศต้องปรับตัวมาสอนออนไลน์ เราจึงร่วมมือกับ สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ จัดฝึกอบรมเพื่อสอนให้คุณครูใช้ TikTok เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน ทำให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังเป็นการจุดประกายไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์หรือสร้างเทคนิคการสอนใหม่ๆ เพราะบางคนอยากผันตัวเป็นติวเตอร์ที่ให้ความรู้ในแบบที่แตกต่างจากในห้องเรียน เด็กๆ ก็จำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เกิดความประทับใจในการเรียนออนไลน์ ซึ่งเรามีครีเอเตอร์ที่เป็นคุณครูหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายในแคมเปญ #TikTokUni ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างคุณครูที่รู้จักกันทั่วประเทศเช่นคุณครูมัทรี นาบอน และทุกวันนี้ครูหลายท่านก็ได้หันมาใช้ TikTok เป็นสื่อการสอนแล้ว เรียกว่าเข้ามาสร้างมิติใหม่ให้แวดวงการศึกษาเลยทีเดียว
ได้ทราบมาว่ามีการร่วมมือกับองค์กรระดับโลกด้วย?
เรามีการร่วมมือกับ Greenery สร้างชาเลนจ์เกี่ยวกับการรียูสและรีไซเคิล เน้นไปในแกนของ Sustainability หรือความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในไทยก็จะมี 3 แฮชแท็กที่ดังๆ ได้แก่ #กล่องข้าวน้อยจ้าแม่ #ขวดเดียวแก้วเดิม และ #ใช้ซ้ำปังสุด ยกตัวอย่างกล่องข้าวน้อยจ้าแม่ เหล่าครีเอเตอร์จะมาโชว์ว่าฉันใช้กล่องข้าวนะ ไม่ได้ใช้กล่องโฟม พร้อมตกแต่งกล่องข้าวนั้นอย่างสวยงาม ซึ่งแฮชแท็กชาเลนจ์เหล่านี้ก็ได้ทำให้ Greenery แจ้งเกิด และกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่มากบน TikTok ที่นอกจากจะรวบรวมความสนใจของคนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จน Greenery ได้รับรางวัล Thailand Influencer Awards 2021
นอกจากนี้ ได้มีการร่วมมือกับ UN Women สถานทูตแคนาดา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (WMP) และ สสส. ร่วมรณรงค์เรื่อง Diversity หรือความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างด้วย โดยมีแคมเปญรณรงค์เชิงสร้างสรรค์อย่าง #Donttellmehowtodress เพื่อต่อต้านความรุนแรงทางเพศหรือมายาคติในเรื่องเพศและการแต่งกาย ซึ่งประสบความสำเร็จมากจนเกิดเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ และสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะองค์ประกอบที่เอื้อให้มีความโด่งดัง เช่น ตัวเจ้าของแคมเปญคือคุณซินดี้ (สิรินยา บิชอบ) ที่ได้มาร่วมต่อยอดแคมเปญนี้กับ TikTok ช่วยเรียกความร่วมมือจากสังคมได้มาก มีการชวนผู้คนมาถ่ายวิดีโอการแต่งตัวในแบบของตัวเอง เพื่อบอกว่าไม่ว่าฉันจะแต่งตัวอย่างไร ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์มาคุกคามได้ ซึ่งแคมเปญนี้ได้รับผลตอบรับดีมาก และมีคนเข้ามาร่วมแฮชแท็กชาเลนจ์เกินความคาดหมายเลยทีเดียว
หลังจากที่ได้ร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
อันที่จริงหน่วยงานเหล่านี้มีการทำงานที่ดีอยู่แล้ว ทุกคนเก่งในด้านการสร้างแคมเปญ ระดมทุนและดำเนินการ แต่สิ่งที่เขาขาดคือเรื่องของเครื่องมือการสื่อสาร หรือการทำให้สังคมในวงกว้างนอกเหนือจากกลุ่มคนในแวดวงรับรู้ถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ซึ่ง TikTok ถือเป็นเครื่องมือที่ไปตอบโจทย์ช่องว่างตรงนั้น ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ ไปจนถึง Call to Action หรือการทำให้ผู้คนรู้ว่าตอนนี้สังคมกำลังเกิดปัญหาอะไรอยู่ และหากสนใจพวกเขาสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วยกันได้
ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด -19 เป็นช่วงที่คนหันมาเริ่มเล่น TikTok กันมากขึ้น เราใช้โอกาสนี้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมอย่างไร?
สถานการณ์โควิด -19 ถือเป็นวาระสำคัญที่สร้างผลกระทบไปยังทั่วโลก TikTok ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้ทุกมุมโลก เราจึงสร้างแคมเปญร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก อย่างช่วงแรกที่มีสถานการณ์โควิด -19 เรายังไม่รู้จะจัดการอย่างไร ต้องใส่หน้ากากมั้ย? ต้องล้างมือหรือเปล่า? ทาง TikTok จึงได้ร่วมมือกับ WHO เพื่อสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวหรือการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค ซึ่งภายในหนึ่งวัน คนเข้ามาดูวิดีโอของ WHO หลายล้านวิวเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย TikTok ได้มีการร่วมมือทั้งกระทรวงสาธารณสุขและไทยรู้สู้โควิด ใช้จุดแข็งในเรื่องคอนเทนต์และการสื่อสารไปสู่กลุ่มเป้าหมายมาช่วยในส่วนนี้ โดยเราจะดูแลให้เนื้อหาเป็น Public Service Announcement เช่น วิธีการปฏิบัติตัวหากติดเชื้อ หรือช่วงที่ภาครัฐประกาศขอความร่วมมือให้ฉีดวัคซีน พวกเราก็ร่วมกันกระจายข่าว โดยเชิญคุณหมอและเภสัชกรทำวิดีโอเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้ TikTok เพราะในช่วงเวลานั้น สังคมโลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด หรือ Misinformation จำนวนมาก การมีคุณหมอหรือเภสัชกรเป็นผู้ให้ข้อมูลโดยตรงทำให้คนที่ดูวิดีโอสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้อง รวมถึงการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตเพื่อเสนอเนื้อหาที่จะช่วยดูแลใจผู้ใช้งานของ TikTok ไปด้วยกันในช่วงเวลาแบบนี้
เมื่อความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในโลกออนไลน์ TikTok มีมาตรการดูแลอย่างไร?
แม้ TikTok จะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างแรงบันดาลใจและนำความสุขมาให้ แต่สิ่งที่สำคัญของเรานั้นคือการเป็น Trusted Entertainment Platform หรือแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด โดยเราเปรียบโลกออนไลน์เหมือนกับถนนสายใหญ่ที่มีทั้งรถที่ขับถูกกฎจราจรและขับผิดกฎจราจร ซึ่งบางคนก็รู้วิธีการใช้ช่องว่างของกฎ เราจึงมีหลักความปลอดภัยที่กำหนดด้วย 4Ps ได้แก่ Policy (นโยบาย), People (บุคลากร), Product (แพลตฟอร์ม) และ Partner (พันธมิตร) เพื่อทำให้พื้นที่ของเราน่าใช้งานและปลอดภัยมากที่สุด
อย่างแรกคือ Policy เรามีนโยบายที่เรียกว่า Community Guidelines เป็นเหมือนกฎข้อบังคับบน TikTok เช่น คนลงวิดีโอที่มีความรุนแรง แสดงพฤติกรรมเกลียดชัง กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ละเมิดสินค้าควบคุม มีเนื้อหารุนแรงโจ่งแจ้ง แสดงออกถึงการฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง การเปลือยกาย ความปลอดภัยของผู้เยาว์ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าผิดหลักตามนี้เราก็จะมีการเตือนหรือเอาวิดีโอออกทันที
ต่อมาคือ People เรามีการสอดส่องและคัดกรองเนื้อหาตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบว่ามีใครกำลังทำผิดกฎหรือไม่ จากนั้นจึงรายงานความผิดให้ผู้ใช้ทราบ ซึ่งจะเป็นความสัมพันธ์แบบ 2 ทาง โดยมีระบบการเรียนรู้พฤติกรรมที่เรียกว่า Machine Learning เพื่อดูว่าแต่ละคนชอบดูอะไร และมีเนื้อหาที่ละเมิดกฎ Community Guidelines หรือไม่ และ TikTok ยังมีทีมงานอยู่ทั่วทุกมุมโลกเพื่อสอดส่องดูวิดีโอ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เรียกว่าเป็น Human Moderation หรือการใช้คนในการตรวจสอบเนื้อหาของวิดีโออีกครั้ง เพื่อที่จะตอบผู้ใช้ได้ว่าเขาทำผิดกฎอย่างไร
ส่วน Product TikTok มีฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยจำนวนมากให้เลือกใช้ เช่น ผู้ใช้งานต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไปจึงจะสมัครแอคเคาต์ได้, หากอายุต่ำกว่า 13 ปี TikTok จะจดจำอีเมลดังกล่าวเพื่อไม่ให้สมัครอีก, รวมถึงมีการคัดกรองโฆษณาให้เหมาะสมกับอายุผู้ใช้งาน หรือหากเจ้าของแอคเคาต์อายุต่ำกว่า 16 ปี แอคเคาต์ TikTok ของคนๆ นั้นจะถูกตั้งค่าให้เป็นบัญชีส่วนตัวทันทีและไม่สามารถได้รับ Direct Message จากผู้อื่นได้ เพื่อป้องกันการกรูมมิงเด็ก (Child Grooming) หรือ การเตรียมหรือล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความสนิท แล้วนัดเจอกันนอกแพลตฟอร์ม หรือ Family Paring (โหมดแนะนำโดยผู้ปกครอง) ผู้ปกครองสามารถเชื่อมต่อแอคเคาต์ตัวเองกับลูกได้
สุดท้ายก็คือ Partner มีพันธมิตรที่ร่วมมือกับเราในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น องค์กรระดับโลกอย่าง AFP Lead Stories สมาคมการเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อแห่งชาติ (NAMLE) รวมถึงสมาคมพฤติกรรมการกินผิดปกติแห่งชาติ (NEDA) ส่วนพาร์ทเนอร์ของไทยคือกรมสุขภาพจิต สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย รวมถึง หน่วยงานด้านเด็กที่เราทำงานด้วยมาตลอดเช่น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ Hug Project
เนื้อหาใน TikTok มีความหลากหลายมาก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ใช้งานแต่ละคนได้รับเนื้อหาแบบไหนไปบ้าง?
จริงๆ แล้ว TikTok มีกลุ่มผู้ใช้หลายช่วงอายุ ทุกเพศทุกวัย ซึ่งผู้ใช้เหล่านี้มีความสนใจและต้องการค้นพบความสนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป เนื้อหาที่พวกเขาสนใจจึงมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น ทำอาหาร ความรู้สาขาต่างๆ ซ่อมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรดน้ำทำสวน ฯลฯ สิ่งที่จะปรากฏในหน้าฟีดของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับว่าเราดูอะไรมากที่สุด ระบบของ TikTok ที่เรียกว่า Machine Learning ก็จะเรียนรู้พฤติกรรมการดูและแสดงผลออกมา
แต่ต่อให้ Machine Learning จะมีความฉลาดอย่างไร ก็ต้องมีคนมาตรวจสอบอีกรอบเสมอ ฉลาดที่ว่านั้นหมายความว่า สามารถตรวจจับได้ว่าวิดีโอที่ผู้ใช้ลงมีอะไรที่ผิดกฎบ้าง ทำไมเขาถึงโชว์สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ บางครั้ง Machine Learning อาจจะพลาดไปบ้าง จึงต้องมีบุคคลมาตรวจอีกครั้งว่าพลาดเพราะอะไร หรือทำไมเขาจึงโดนรีพอร์ต เพราะบางกรณีเจ้าของวิดีโออาจจะโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งเราไม่ได้คล้อยตามกระแสสังคมในการรีพอร์ตทั้งหมด แต่เราจะเช็กว่าวิดีโอนั้นผิด Community Guidelines ของเราหรือเปล่า และเนื้อหานั้นๆ ก็จะโดนดำเนินการตาม Community Guidelines ของเรา
ทุกวันนี้โลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด อาจเกิดจากตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการคาดเดาของเรา ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าจึงเป็นที่มาของแคมเปญ #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด ?
ใช่ค่ะ #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด เกิดจากการที่เราเชื่อมั่นในศักยภาพของ TikTok ว่า เราสามารถเป็นพื้นที่ช่วยทำให้คนรู้เท่าทันข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์อะไร เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันนี้เราอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลา และข้อดีคือ ผู้คนสามารถรับและส่งข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกได้ในเวลาสั้นๆ แต่ปัญหาคือเมื่อเร็วมาก จะมีข้อมูลเยอะแยะไปหมด (Flood of Information) จนเราไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรดี หรือบางทีเรารู้สึกกลัวที่จะพลาดข่าวสาร (Fear of Missing out) เราก็จะรีบแชร์ก่อนโดยที่ยังไม่ได้ฉุกคิดว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่
เพราะฉะนั้น แคมเปญ #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด ก็จะมาล้อกับความคิดของคน เหมือนเวลาที่เราดูหนัง ก็จะมีคำเตือนว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการเตือนจากใคร ต้องมีวิจารณญาณในการดูนะ แคมเปญนี้ก็เช่นกัน ก็คือหยุด (Stop) คิด (Think) ตัดสินใจ (Decide) แล้วค่อยลงมือทำ (Act) ฝึกการเป็นผู้เช็กความถูกต้องของข้อมูล (Fact Checker) ไปในตัว โดยเราได้มีการร่วมมือกับ Cofact เพื่อเช็กด้วยว่าข่าวไหนเป็นเรื่องจริงบ้าง เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า สังคมก็เหมือนกับถนนเส้นใหญ่ที่มีทั้งรถที่ขับถูกกฎจราจรและผิดกฎจราจร มีคนทำผิดทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ยกตัวอย่าง เช่นเราเองในฐานะที่เป็นคุณแม่ ก็จะเห็นคุณแม่คนอื่นๆ ส่วนใหญ่ชอบลงรูปหรือวิดีโอลูกขณะอาบน้ำ ดูแล้วน่ารักจ้ำม่ำจังเลย แต่อาจจะมีคนเข้ามาซุ่มดูและดูดวิดีโอเราไปใช้ประโยชน์ได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะคิดให้ดีก่อนลง ป้องกันตัวเองในระดับนึงก่อน และถ้าเกิดเหตุไม่ดี โดนเตือนหรือลบขึ้นมา เราต้องมาคิดว่าเราทำอะไรผิดในแพลตฟอร์มนั้นๆ หรือเปล่า
แคมเปญนี้เราจึงอยากชวนคนให้รู้จักมีวิจารณญาณมากขึ้น เฉียบคมมากขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเอาเยี่ยงอย่างคอนเทนต์ที่ไม่ควรทำตาม เพราะเราอยากสร้าง TikTok ให้เป็นชุมชนที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ซึ่งความพยายามของเราในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวนั้นไม่เคยหยุดนิ่งเลย และมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาท่ามกลางกระแสสังคมหรือสิ่งเร้าใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอด
บางกรณีผู้ใช้ไม่ได้อยากทำผิดกฎ แต่อาจให้ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดโดยไม่รู้ตัว ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าข่าวปลอม (Fake News) กับข้อมูลที่ผิดพลาด (Misinformation) แตกต่างกันอย่างไร?
ข่าวปลอมหรือ Fake News จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบิดเบือนความจริงหรือเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง แต่ส่วนมากในประเทศไทยมักจะเจอกับข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด (Misinformation) ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการส่งต่อโดยไม่รู้ หรือเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง ยกตัวอย่างช่วง COVID-19 จะเห็น Misinformation จำนวนมาก ทุกแพลตฟอร์มจะเจอกันหมดเลย บน TikTok ก็พยายามจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือนและข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเหล่านั้นตลอด โดยขอความร่วมมือบรรดาครีเอเตอร์ที่เป็นคุณหมอมาให้ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งช่วยได้ในระดับดีมากเลยทีเดียว
แคมเปญ #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด ได้รับความร่วมมือจากอินฟลูเอนเซอร์หรือครีเอเตอร์คนไหนบ้าง?
แคมเปญนี้เป็นการรวมพลังกับครีเอเตอร์ ทั้งระดับประเทศและในแพลตฟอร์มของเรา โดยได้ Brand Ambassador เป็น หมอแล็บแพนด้า ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่คอยช่วยเฝ้าระวังไม่ให้คนแชร์ข้อมูลเหล่านี้ และได้รับความร่วมมือกับครีเอเตอร์ชื่อดังบน TikTok อีกหลายท่าน ได้แก่ Artymilk, Thomastom.tiktok, Ning.arisaa, Eve_tsu, Papaparty_feelgood, Kengtachaya และ Krumod_bkma ซึ่งพวกเขาได้มาร่วม สร้างสรรค์วิดีโอ ให้ความรู้แก่ผู้ใช้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำพร้อมอธิบายเหตุผล นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักข่าวและผู้ประกาศข่าวที่นำเนื้อหามาทำเป็นข่าว หรือจำลองเหตุการณ์ว่าสิ่งใดทำแล้วผิด เพื่อให้คนดูเกิดการเรียนรู้และรู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น ทั้ง PPTV.thailand, Thaipbsnews, Mono29news, Siamrathonline, Thaich8_news, Newpolawat, Amchonti, Monai_y, Yimpipat และ Yokanakorn
ซึ่งครีเอเตอร์ข้างต้นจะมาในรูปแบบคอนเทนต์ข่าวอยู่แล้ว เพราะพวกเขาใช้วิจารณญาณก่อนที่จะทำหรือเชื่อข่าวสารอะไร ยิ่งไปกว่านั้น บนแพลตฟอร์มของเราก็มีสติกเกอร์และรูปภาพให้เล่นเป็นไวรัลด้วย เช่น พื้นหลังวิดีโอที่เป็นรายการข่าว เพื่อให้ทุกคนได้ลองรับบทเป็นผู้ประกาศข่าวและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เรามองว่าทุกคนคือครีเอเตอร์ ผู้สร้างสื่อ สร้างคอนเทนต์ แคมเปญนี้จะทำให้พวกเขาได้หยุดคิดตาม และรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง
สุดท้ายอยากทราบถึงแผนการหรือโปรเจกต์ในอนาคตของ TikTok for Good อยากจะมุ่งเน้นให้สังคมออนไลน์เป็นอย่างไร หรืออยากให้ TikTok เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์มแบบไหน?
เราอยากสร้าง TikTok ให้เป็นชุมชนเชิงบวกและสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีขึ้น ถามว่าต่อไปอะไรสำคัญสุดบน TikTok ก็คือเรื่องของความปลอดภัย เรามุ่งเน้นที่จะเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ และได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่มีความหลากหลาย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเราได้
เรื่องความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจให้กับ TikTok เราจึงพยายามอุดช่องโหว่ทุกอย่าง แต่เราก็ยังเล็งเห็นว่าที่จริงแล้ว ความร่วมมือจากผู้ใช้งานก็เป็นอีกกุญแจสำคัญที่สร้างชุมชนออนไลน์ที่ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้มีปัญหามากมาย ทั้งภายนอกและภายในของแต่ละประเทศหรือระดับโลก ในฐานะที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้ทั่วโลก การส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันกระทบต่อการรับรู้ของผู้คน และกระทบต่อการตัดสินใจ
ฉะนั้นนี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคลแต่รวมถึงชีวิตของคนอื่นๆ และสังคมด้วย เพราะสุดท้ายโลกเราเชื่อมโยงกันหมด สิ่งที่เกิดขึ้นจากที่หนึ่ง สามารถส่งผลกระทบกับอีกที่หนึ่งได้ TikTok จึงถือว่าเราเป็น One World, One Community และเชื่อว่าปัจจุบันทุกคนต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นให้กับโลกใบนี้ ซึ่งเรามองว่าเป็นได้หากทุกคนร่วมมือกัน
ส่วนแคมเปญอื่นๆ อยากให้ทุกคนติดตามดูกันต่อไป แต่กิจกรรมหลักเราอยากให้ทุกคนมาร่วมเล่นด้วยกัน และอยากเห็นว่าครีเอเตอร์แต่ละคนจะมีความคิดสร้างสรรค์ขนาดไหน เพราะบน TikTok ไม่ได้มีข้อจำกัดมากมาย ทุกคนสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์เองได้ด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว นำแง่มุมต่างๆ มาโชว์กัน
ส่วนสำคัญคือต้องการให้ผู้ใช้ หยุด คิด ตัดสินใจ แล้วค่อยลงมือทำมากกว่า ก่อนจะทำอะไรให้ใช้วิจารณญาณแล้วสังคมของเราจะน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม เราเชื่อในเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งใน Community Guidelines
เพราะแค่ความคิดสร้างสรรค์อาจไม่เพียงพอ เราต้องทำให้ข้อมูลข่าวสารถูกต้องด้วย #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด