“การทำอะไรที่ค้านกับความเชื่อของทุกคน มันคือการยอมเสี่ยง”
บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่กำลังมีโปรเจกต์หนังระดับฮอลลีวูดเป็นเรื่องแรก พูดถึงเรื่องความเชื่อของตัวเองที่มีต่อการทำหนัง ซึ่งนำพาเขาให้เดินทางมาไกลได้ขนาดนี้
แต่ก่อนที่จะไปชมผลงานระดับนั้น อยากให้ลองทำความรู้จัก ‘ACROSS THE YOUNIVERSE’ โปรเจกต์หนังสั้นที่เขาทำร่วมกับ Toyota C-HR ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘This is New Belief…มากกว่าทุกอย่างที่เคยเชื่อ’ ด้วย 4 เทคโนโลยีล้ำๆ อย่างสถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ TNGA, ระบบ Hybrid เจเนอเรชันที่ 4 ที่ให้ความประหยัดน้ำมัน, เทคโนโลยีความปลอดภัย Toyota Safety Sense และระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะ T-CONNECT TELEMATICS ซึ่งฉีกทุกความเชื่อเดิมๆ ที่มีต่อรถยนต์โตโยต้า
โดยเรื่องราวในหนังบอกเล่าถึงตัวละครพิม (พลอย หอวัง) หญิงสาวผู้เชื่อในความรักที่กำลังจะแต่งงานกับ ป้อง (เป้ อารักษ์) ชายหนุ่มนักเขียนนวนิยายไซไฟที่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวก่อนที่ความเชื่อของแต่ละคนจะนำพาไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เขาตั้งใจอย่างมาก
The MATTER ชวนไปพูดคุยถึงเบื้องหลังแนวคิดในการทำหนังสั้นเรื่องนี้ ตั้งแต่แรงบันดาลใจแรกเริ่มในการทำบท การออกแบบตัวละคร ไปจนถึงการสร้างสรรค์โปรดักชั่นดีไซน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนชีวิตการเดินทาง ตัวตน และความเชื่อของผู้กำกับคนนี้ได้อย่างหมดจด
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เกิดขึ้นจากอะไร
ตั้งแต่รับโจทย์มามันผ่านขั้นตอนการคิด ผ่านการออกแบบรูปลักษณ์หน้าตาโปรเจกต์มาค่อนข้างหลายแบบเหมือนกัน โจทย์คือเป็นการพูดถึงเรื่องความเชื่อ เป็นความเชื่อว่าผู้หญิงจะต้องขับรถหน้าตาประมาณหนึ่ง รูปร่างประมาณหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายมันจะไม่มีความเชื่อใดๆ นอกจากเราเชื่อเองว่าสิ่งนี้มันดีที่สุดสำหรับเรา นอกจากนั้นหนังจะพูดเรื่องตัวเองและสิ่งที่อยู่ข้างในใจซึ่งความเชื่อนี้แหละที่ขับเคลื่อนชีวิตคุณให้เดินหน้าได้
ทำไมถึงออกมาเป็นหนังแนวไซไฟ
ผมว่าหนังไซไฟคือหนังที่พูดถึงเรื่องความเชื่อได้ดีอีกสาเหตุที่เลือกไซไฟเพราะว่าด้วยตัวรูปทรงของรถ Toyota C-HR ซึ่งก็สวยงาม ล้ำสมัย ทำให้ครั้งแรกที่เราคุยโจทย์กัน mood and tone ของหนังไซไฟมันเข้ากับตัวโปรดักต์พอดี
ส่วนตัวเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวไหม
50-50 คือพยายามจะไม่ปิดเราเป็นคนที่ไม่ได้เชื่ออะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ จะพยายามเปิดความเป็นไปได้ทุกอย่างในโลกนี้ บางอย่างมันอาจจะค้านความเชื่อของคนทั่วไป ณ ปัจจุบัน แต่ถึงวันหนึ่งมันอาจจะ Make Sense ก็ได้ เหมือนคนสมัยก่อนไม่เชื่อว่าโลกกลม ทุกอย่างมันต้องผ่านการเรียนรู้และพิสูจน์กันต่อไป
กว่าจะออกมาเป็นบทที่เห็นนี้ ใช้เวลาอยู่นานไหม
มีน้องอีกคนหนึ่งเป็น Co-director ช่วยเขียนบท แล้วก็คลำทางกันเยอะเหมือนกัน จริงๆ แล้วบทเรื่องนี้จะมีตอนจบอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนจบที่เห็นในหนังเกิดขึ้นตอนถ่ายทำเลยระหว่างถ่ายทำอยู่ดีๆ ผมก็คิดตอนจบแบบนี้ขึ้นมาได้ มันทำให้ผมเชื่อในการทำสิ่งนี้มากขึ้น แล้วก็มันเปลี่ยน direction ของหนังทุกอย่างไปเลย ลูกค้าก็ใจกล้ามากที่ไม่ยึดติดอะไรเลย
ตอนทำบทได้รีเสิร์ชเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเยอะไหม
มีส่วนที่รีเสิร์ชกับบางส่วนก็เป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว อย่างเรื่อง ระดับการเจอมนุษย์ต่างดาว แล้วพอคิดถึงไอเดียตรงนั้นแล้วเอามาเทียบเคียงกับความสัมพันธ์มนุษย์ก็ดูเข้ากันได้ดี เลยหยิบมาใช้ หรือกลุ่มที่เรียกว่า Alien Truther คนที่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวมีดีเทลที่ลึกมากเลยนะ น่าสนใจมาก อยากใส่ในหนังด้วยนะ แต่กลัวจะหนักมือเกินไปหน่อย เลยต้องยึดสิ่งที่น่าสนใจเฉพาะที่เข้ากับหนัง และสิ่งที่อยากจะเล่าจริงๆ ไปใช้
คาแรคเตอร์ทั้ง 3 คนในหนัง มีวิธีคิดในการออกแบบยังไง เหมือนเป็นตัวแทนของความเชื่อในแบบต่างๆ รึเปล่า
มันคือตัวแทนของการฟังเสียงตัวเองและฟังเสียงคนอื่น คือสำหรับผมคาแรคเตอร์ของเป้ คือตัวแทนของเสียงคนอื่น ส่วนคาแรคเตอร์ของมนุษย์ต่างดาวคือเสียงตัวเอง คือจักรวาลในใจคุณ คุณจะท่องเที่ยวในจักรวาลนี้ยังไงก็ได้ จะนั่ง spaceship ไปตรงไหนก็ได้ แต่สุดท้ายมันคือจักรวาลนี้ที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยตัวคุณเอง ส่วนพลอยก็เป็นตัวแทนของคนดูที่ยังแคว้งคว้างและหลงทางในจักรวาลของตัวเอง
พูดถึงเรื่องโปรดักชั่นดีไซน์บ้าง ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร อย่างเรื่องเพลงประกอบที่โดดเด่นมาก
ความลับของผมในการทำหนังสั้นแต่ละเรื่อง คือสมมติได้โจทย์มาแล้ว ผมก็ตีโจทย์ออกมาเป็น story สเต็ปต่อไปคือการหาเพลง หากลองไล่ย้อนดูหนังผมทุกเรื่องจะมีเพลง OST. หมดเลย ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเพลงไทย เป็นวงอินดี้หรือจะเป็นค่ายใหญ่ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ผมว่าถ้าเราเจอเพลงที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว มันจะเป็นตัวกำหนด direction ทุกอย่างของหนังเลย ทั้ง mood and tone วิธีการเล่าเรื่องทุกอย่าง ซึ่งจริงๆ เพลง ‘TWOYOU’ ที่อยู่ในหนังก็เป็นเพลงที่เคยฟังอยู่แล้ว พอลองไล่ดูในเพลย์ลิสต์ที่สะสมไว้ แล้วฟังอีกครั้งหนึ่งกับพล็อตที่มี ทำให้รู้สึกว่านี่แหละ มันเกิดมาคู่กันจริงๆ
แล้วอย่างงานภาพ ได้แรงบันดาลใจมาจากอวกาศโดยตรงรึเปล่า
คือผมใช้คำว่าความโครเมียม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะกลับไปสู่โปรดักต์ คือเหมือนเวลาเราไปดูรถในงานมอเตอร์โชว์ ตอนที่แสงไฟมากระทบรถแล้วมันสะท้อน ผมตีโจทย์จากความรู้สึกนั้นก่อน แต่อวกาศจริงๆ อาจจะเป็นอวกาศดำมืดก็ได้ คือความ nothingness ไปเลย นึกภาพยานอวกาศที่พุ่งทะยานโดยมีแสงอาทิตย์อยู่เป็นแบ็กกราวด์เราอยากได้ sense แบบนั้นในหนังเรื่องนี้
ตอนที่ถ่าย ชอบ Feature อะไรของ Toyota C-HR เป็นพิเศษ
พอผมอายุเริ่มเยอะ ก็จะเริ่มชอบความนิ่ง ตอนแรกที่เห็น C-HR ก็รู้สึกสวย แต่มันเป็นแบบสวยสำหรับวัยรุ่น แต่พออยู่กับเขานานๆ แล้วก็รู้สึกสวยไปเอง พอเราเห็นดีไซน์ที่มันมีความ seamless เหมือนเวลาเราเห็นงานออกแบบของ Philippe Starck เลย ส่วนเรื่องฟังก์ชั่นผมว่าเรื่องความปลอดภัย สัญญาณเตือนตอนรถออกนอกเลน ผมว่าเหล่านี้มันก็เป็นจุดขายและเป็นจุดเด่นของ Toyota อยู่แล้ว
ตีความคอนเซปต์ This Is New Belief ของ Toyota C-HR ว่ายังไง
คือการสร้างความเชื่อให้กับกลุ่มผู้ใช้ใหม่ว่าสุดท้ายผู้หญิงไม่จำเป็นต้องขับรถ City car เท่านั้น อย่าง C-HR มีดีมากกว่าที่ตาเห็น หรือสิ่งที่คนอื่นบอก ทำให้เราต้องสัมผัสด้วยตัวเอง บางทีรถที่มันมีฟังก์ชั่นหรือมีความ beyond standard บางอย่าง มันอาจจะเหมาะสมกับ direction ของทุกคนก็ได้ สุดท้ายแล้วเราอย่าปล่อยให้เสียงจากสังคมข้างนอกที่บอกว่าแบบนี้ดี แบบนี้ใช่ แบบนี้ถูกมาบอกเรา เหมือนที่ตัวละครพลอยต้องเจอเสียงจากคนอื่นบอกว่าวงมึงห่วย อายุขนาดนี้ต้องไปทำงานสิ อายุขนาดนี้ต้องแต่งงานมีครอบครัวสิ ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วการหา New Belief ให้ตัวเอง มันคือการหาเสียงใหม่ให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเสียงที่เราเชื่อและนำพาเราพุ่งทะยานต่อไปได้
จากคอนเซปต์นี้มันสะท้อนกลับมาที่ชีวิตตัวเองอย่างไร
ช่วงที่ก่อนจะไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก เราก็เชื่อตลอดเวลาว่าอยากเป็นคนทำหนัง ต่อให้รอบๆ ตัวอาจจะไม่มีใครเชื่อสิ่งนั้นเลยก็ตาม แล้วการทำอะไรที่ค้านกับความเชื่อของทุกคน มันคือการยอมเสี่ยง ทิ้งอาชีพการงานที่มี ขายรถ ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นเดียวทิ้ง เพื่อเอาเงินก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งบินไปที่นู่น โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะเจออะไรบ้าง มันก็มีทั้งโมเมนต์ที่ดีและไม่ดี แต่สุดท้ายแล้ว ผมว่ามันก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ผมไม่รู้หรอกว่าหลังจากนี้อนาคตจะเป็นยังไงต่อ แต่ว่าผมพูดได้อย่างค่อนข้างเต็มปากว่า ณ จุดนี้ที่เรายืนอยู่ พอหันหลังกลับไป เราไม่เสียใจ
อะไรที่ทำให้รู้สึกมั่นคงกับความเชื่อของตัวเอง
ผมขอยกประโยคจากในหนังแล้วกัน ซึ่งก็เป็นประโยคที่ผมเขียนเอง คือ “ใช่ไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับใจที่เชื่อ” ผมว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ define ชีวิตผมประมาณหนึ่งเหมือนกัน เหมือนเส้นทางในการเป็นผู้กำกับของผมภาษาน้ำเน่าบอกว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราผ่านต้องต่อสู้และงัดข้อกับคนรอบตัวมาเยอะเหมือนกัน เพื่อจะพิสูจน์ว่าเราทำสิ่งนี้ได้ มีหลายครั้งที่อยากจะยอมแพ้ มันมีหลายครั้งที่เราก็โอนอ่อนไปตามคนอื่นที่เขาบอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะผมเริ่มมาจากการที่เป็นแค่คนที่ชอบดูหนัง ไม่ได้มีคอนเน็กชั่น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องสำหรับการจะเป็นผู้กำกับด้วยซ้ำ แต่ก็กัดฟันสู้ กัดฟันทำออกไป โดยที่แทบไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวเลย นอกจากตัวเราเอง แล้วก็ใจเราเอง แต่พอเราเชื่อในสิ่งนี้ สุดท้ายเราก็ทำได้จริงๆ
ระดับของความเชื่อที่ว่ามันมีขอบเขตไหม ขั้นไหนถึงเรียกว่างมงาย
ทุกครั้งที่เรากำลังจะไปแตะเส้นนั้น ผมจะนำแนวคิดทางพุทธศาสนากลับมาใช้นะ คือต้องมีสติ ต้องมัชฌิมาปฏิปทา ต้องรู้จักว่าทางสายกลางคืออะไร แต่สุดท้ายมันคือการมีสติรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ อะไรที่มันเริ่มมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็บาลานซ์มันให้ได้
ที่บอกว่าเคยอยากจะยอมแพ้แล้ว อะไรที่ดึงตัวเองให้กลับมาได้
ลึกๆ เราเชื่อว่าเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เพราะเราก็นึกภาพตัวเองไปทำสิ่งอื่นไม่ออก เราไม่มีความสุขกับการทำอาชีพในโลกอื่น เรามีความสุขกับสิ่งนี้มากกว่า การดูหนัง การทำหนัง และการเล่าเรื่อง
จำช่วงเวลาที่ทำหนังเรื่องแรกได้ไหม ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
คือตอนทำสนุก รู้สึกเหมือนเราขับรถไปถึงเส้นชัยแล้ว แต่พอฟีดแบ็กออกมาไม่ได้เป็นเหมือนที่เราหวัง มันก็กลับไปสู่จุดเดิม เสียงที่เราเคยได้ยินมาตลอดชีวิตว่ามึงทำแบบนี้ไม่ได้หรอก มึงไปทำอย่างอื่นเถอะ มันก็กลับมาแหละ แต่สุดท้ายแล้วผมว่าหน้าที่ของเราในฐานะมนุษย์คือการต้องฟัง ต้องหาเสียงในใจของเราเองให้ได้จริงๆ
การทำหนังเป็นอาชีพ ใครๆ ก็บอกว่ามันไม่ได้ง่ายในเมืองไทย คิดยังไง
พอเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายจริงๆ อย่างพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) ซึ่งเป็น role model ของผมเลยเคยให้สัมภาษณ์ว่าทำหนังอย่างเดียวแม่งอยู่ไม่ได้ เขาก็ต้องบาลานซ์ด้วยการกลับไปทำโฆษณา เราก็ยึดตำรานั้นมา พอหนังเรื่องแรกมันไม่สำเร็จ ความตั้งใจแรกที่อยากจะเป็นผู้กำกับหนังไทย ที่ได้เงินจากการทำหนังใหญ่เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยวิธีการอย่างอื่น นั่นก็คือการไปทำโฆษณา ทำ MV ซึ่งสุดท้ายแล้วผมว่ามันเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะผมว่ามันคือ packaging สิ่งสำคัญคือเรื่องที่เราอยากจะเล่า คือ story telling มากกว่าเล่าในสภาวะไหน ในวาระไหน และเพื่อใคร ตรงนี้สำคัญที่สุด
ถ้าพูดถึงความสำเร็จของหนังสักเรื่อง ส่วนตัวใช้อะไรเป็นตัววัด
ผมว่าฟีดแบ็กผู้ชมสำคัญกว่าอย่างอื่นผู้ชมในที่นี้คือเหมารวมหมดเลยนะ ทั้งทีมงานที่เขาดูกับเรา ตอนที่เขาได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เขารู้สึกยังไงทั้งผู้ชมที่แบบขับรถฝ่าฝนฝ่ารถติดมา เสียเงินมาดูหนังเรา เขารู้สึกยังไงกับมัน ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังแต่เสียงตัวเอง ทำในสิ่งที่เชื่อ โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าคนอื่นจะเข้าใจสิ่งนั้นรึเปล่า ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้มันผิดนะ มันมีศาสตร์และศิลป์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นด้วยความเชื่อเหล่านี้แหละ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมเชื่อมันคือการทำหนังเพื่อสื่อสารกับคนอื่นเหมือนผม treat ตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาวคนดูคือ planet ใหญ่ๆ ที่เราเป็นคนที่ต้องพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างกับเขา
ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองทำได้สำเร็จตามความเชื่อที่มีตั้งแต่แรกแล้วหรือยัง
พอถึงจุดหนึ่งในชีวิตเราจะรู้สึกว่าคำว่า success มีหลายเลเวลมากเลย ทั้งในเชิงแบบ physical ของการทำงาน ถ้าสมมติคุณคิดว่าคุณทำหนังเรื่องนี้แล้วสำเร็จ หลังจากนี้คุณจะกลายเป็นน้ำเต็มแก้วที่ไม่มีวันพัฒนา เราก็ต้องลบภาพนั้นออกไป แค่คุณต้องรู้ว่าตัวเองเป็นใคร แฮปปี้กับจุดไหนของชีวิต บางคนมองคำว่า success อาจจะเป็นแค่การมีอาชีพการงานที่มั่นคงในระดับหนึ่ง กลับบ้านมีลูกเมียรออยู่ เขาก็ถือว่าสำเร็จแล้ว จริงๆ คำนี้ที่เราเคยยึดถือมันเป็นสรณะ ถึงจุดหนึ่งมันอาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้
แล้วปัจจัยอะไรที่จะทำให้ ความสำเร็จที่ว่าเป็นสิ่งที่เราพอใจ
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาตัวเองอยู่ใน comfort zone ตลอดเวลา สุดท้ายคุณก็จะไม่สามารถครีเอทอะไรใหม่ๆ ได้ คุณอาจจะต้องยอมก้าวไปสู่สนามใหม่บ้าง เพื่อทำในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อด้วยซ้ำว่าคุณทำได้จริงรึเปล่า หรือบางครั้งคุณต้องรับมือกับความกดดันจากหลายๆ ทิศทางแต่ผมว่าแรงกดดันพวกนั้นจะเป็นตัวจุดประกายให้เราทำอะไรบางอย่างที่มันเกินความคาดหมายได้
ทั้งหมดนี้คือนิยามความเชื่อที่ บาส นัฐวุฒิ มีต่อการทำหนัง ซึ่งเป็นการก้าวออกจากความเป็นไปไม่ได้ของอาชีพสายนี้ เช่นเดียวกับแนวคิดของโตโยต้าที่ก้าวข้ามผ่านสู่ความเชื่อใหม่ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมในรถยนต์ Toyota C-HR ด้วยดีไซน์ที่สวยเฉียบ พร้อมทุกการขับขี่ กับ 4 เทคโนโลยีใหม่ที่จะพาคุณไปสู่ทุกความเชื่อที่ต้องการได้
ชมหนังสั้น Across The Youniverse ได้ที่นี่