ในยุคสมัยที่ทุกอย่างวัดด้วยความ productivity หรือผลิตผลของความพยายาม ทำให้ใครๆ ต่างก็ทุ่มเททำงานหนักเพื่อแสดงออกถึงคุณค่าในตัวเอง ว่าฉันมีตัวตนอยู่นะ เห็นผลงานที่ฉันทำไหมนั่น หนักเข้าถึงขั้นมีการอวดว่าทำงานหนักในโลกโซเชียลฯ กันอยู่บ่อยๆ แม้ว่าความจริงอาจจะเป็นการปลอบใจตัวเองหรือหาเพื่อนร่วมชะตากรรมก็ตามที
หากว่ากันที่ตัวงาน (เน้นว่าเฉพาะตัวงาน) การทำงานหนักนั่น หมายถึงความก้าวหน้าในชีวิต ความยากของงานแต่ละชิ้นก็เหมือนเป็นด่านทดสอบ ทั้งความอดทนและทักษะการแก้ไขปัญหา ที่จะช่วยพัฒนาสกิลการทำงานให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นอกจากนั้นก็คงเป็นเรื่องผลตอบแทนด้านรายได้และตำแหน่งหน้าที่การงาน ลุยงานหนักขนาดนี้ เจ้านายก็คงจะตอบแทนด้วยการเลื่อนตำแหน่งหรือโบนัสปลายปีบ้างล่ะ
แต่พอมาว่ากันที่ตัวเองบ้าง โอเคว่าการทำงานได้สำเร็จจะทำให้รู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานที่ออกมา เรียกว่าในเชิง emotional นั้นมาเต็ม แต่ตรงกันข้าม การทำงานหนักมากๆ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลร่างกายของตัวเอง เรียกว่าเชิง physical ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นอนน้อย กินเยอะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องออกกำลังกายแค่มีแรงตื่นมาทำงานไหวก็เพียงพอแล้ว เข้าขั้น workaholic ขนาดนี้ก็ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดปลอดภัยได้ถึงขั้นไหน ลองมาดูกันว่า การทำงานหนัก ถ้าไม่นับเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงานแล้ว เราจะได้อะไรเป็นของแถมมาอีกบ้าง
ได้โรคเพียบ
หลายคนอาจบอกว่า การทำงานหนักในวันนี้ทำให้สบายในวันหน้า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้นร่างกายของเราอาจจะไม่ค่อยสบายแล้วแหละ เพราะหลายงานศึกษายืนยันว่าการทำงานหนักจนเกินไป เป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพที่ทำร้ายร่างกายของเราได้มากกว่าที่คิด ถ้าแบบเบสิกๆ ที่คนทำงานหนักพบเจอกันบ่อยๆ คืออาการของออฟฟิศซินโดรม มักเกิดกับกลุ่มคนที่ทำงานหน้าคอมเป็นส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานในท่าเดิมๆ เกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อขาดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ จนปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลุยงานหนักของเรา พอปวดเรื้อรังมากเข้าก็สร้างเอฟเฟกต์แบบแพ็คเกจ สั่นสะเทือนไปทั้งระบบย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบฮอร์โมน หรืออาจลามกระทบไปถึงจิตใจ เสียการเสียงานไปอีก
หรือถ้าเป็นแบบหนักๆ การทำงานที่ยากๆ ทำให้เกิดความเครียดจนร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนออกมาพุ่งพล่านมากผิดปกติเพื่อให้ร่างกายของเราตื่นตัวพร้อมลุยงานให้เสร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป Dr. Archibald Hart เจ้าของหนังสือ The Hidden Link Between Adrenalin and Stress ที่กล่าวถึงผลกระทบของการที่อะดรีนาลีนสูบฉีดมากเกินไป จะทำให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลมากขึ้นจนไปอุดตันในเส้นเลือด พออุดตันมากเข้าก็ส่งผลต่อการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เลยทีเดียว
ได้ความพ่ายแพ้
ความสำเร็จในงานที่ทำ ย่อมไม่ได้มาง่ายๆ ความกดดันต่างๆ จากทั้งเจ้านาย ลูกค้า หรือกระทั่งตัวเอง ทำให้เราต้องรีดเค้นทั้งแรงกายแรงใจเพื่อให้งานสำเร็จ ได้ชนะในงาน แต่ก็ต้องมาแพ้กับอาการป่วย ซึ่งภาวะเครียดนอกจากจะทำให้เกิดคอเรสเตอรอลสูงในเส้นเลือดแล้ว รู้หรือไม่ว่า ความเครียดยังลามไปที่ผิวหนังของเราได้อีกด้วย อาการจะเป็นลักษณะผื่นแดงขึ้นตามตัว ใบหน้า คอ หลังหู และไรผม คล้ายอาการลมพิษแต่ไม่ใช่ แถมยังคันยุบยับน่ารำคาญอีกด้วย ใครที่จำอาการของ ยุ่น ในเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ได้ก็นั่นล่ะ อาการเดียวกัน
สาเหตุหลักๆ มาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อยเพราะโหมงานหนัก ร่างกายอ่อนล้าจนภูมิคุ้มกันลดต่ำลงทำให้สารเคมีที่เรียกว่าฮิสตามีน (Histamine) ที่เป็นส่วนประกอบของกระบวนการตอบสนองต่อภูมิแพ้ที่อยู่ในเซลล์ทั่วร่างกาย หลั่งออกมามากผิดปกติจนทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง ความช้ำของคนที่เป็นคือนอกจากการส่งผลต่อเรื่องภาพลักษณ์ อย่างเวลาต้องไปขายงานลูกค้าก็ต้องใส่เสื้อแขนยาวปกปิด แต่หนักกว่านั้นคือส่วนใหญ่มักจะหาสาเหตุของการแพ้นั้นไม่เจอ คิดว่าเป็นอาการภูมิแพ้ทั่วไป กินยาแก้แพ้ก็เป็นๆ หายๆ จนเสียเซลฟ์ เครียดหนักกว่าเดิมอีก
ได้กินอาหารไร้ประโยชน์
เห็นไหมว่า การทำงานหนักจนเกินไปทำให้เกิดโรคนั้นโรคนี้มากมาย ร่างกายก็อ่อนล้าจะเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง เท่านั้นยังไม่พอ มันยังส่งผลกระทบมาเรื่องคุณภาพของการกินอาหารของเราด้วย เพราะพฤติกรรมส่วนใหญ่ของชาว workaholic มักจะไม่ค่อยมีเวลากินข้าว หรือได้กินก็ไม่ค่อยจะตรงเวลา เป็นโรคกระเพาะตามมาอีก ประเด็นสำคัญคือคุณภาพของอาหารเนื่องจากเวลามีน้อยก็เลยต้องเลยกินอะไรง่ายๆ พออิ่มไว้ก่อน อย่างเมนูยอดฮิตคงหนีไม่พ้นอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารแช่แข็ง ใส่เวฟปุ๊บ 2 นาทีก็ได้กินแล้ว เหมาะกับชีวิตที่มีแต่งานเสียจริงๆ แต่อย่างที่รู้กันอาหารแช่แข็งนั้นอุดมไปด้วยโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่โหดใช่เล่น กินๆ เข้าไปทุกวัน โรคไตและโรคความดันถามหาแน่นอน
ขณะเดียวกัน พอเป็นของที่มีประโยชน์อย่างพวกผักผลไม้กลับถูกมองข้าม ผลวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าการกินผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัมต่อคนต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ พร้อมทั้งวิตามิน เกลือแร่ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ และใยอาหารต่างๆ ที่อยู่ในผักผลไม้ยังมีคุณสมบัติในการช่วยเสริมให้ระบบอวัยวะภายในทำงานได้อย่างสมดุล ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เราลุยงานหนักได้อย่างเต็มที่ แต่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า มีคนไทยเพียงแค่ 17% เท่านั้นที่กินผักผลไม้ได้ครบวันละ 400 กรัม ช่างเป็นตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งนัก
แต่อย่างว่า ถ้ายังจัด priority หลักในชีวิตให้น้อยไปกว่าเรื่องงานไม่ได้ ก็อย่าลืมดูแลร่างกายของตัวเองแบ่งเวลาพักบ้างอะไรบ้าง เข้าใจว่างานสำคัญ แต่ร่างกายเราสำคัญกว่า ยิ่งถ้าต้องเทเวลาให้กับเรื่องงานเป็นหลักจนไม่มีเวลาดูแลตัวเองหรือเลือกอาหารดีๆ เข้าท้อง ก็จำเป็นต้องหาตัวช่วยในเวลาที่ทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ลองเลือกดื่มยูนิฟนิวทริมิกซ์ น้ำผักผลไม้รวม 100% เพื่อเติมเต็มคุณประโยชน์ของวิตามินและเกลือแร่ ได้ประโยชน์จากทั้งผักและความอร่อยจากผลไม้ ไม่เติมน้ำตาลไม่ใส่วัตถุกันเสีย พร้อมลุยงานต่อได้แบบไร้กังวลไม่ให้ของแถมจากการทำงานหนักมาทำร้ายเราได้
ยูนิฟ สนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมต่อวัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.forbes.com/sites/peggydrexler/2013/07/19/the-dangerous-side-of-workaholism/#4dc30b602539
https://bioeffect.co.uk/thebuzz/stress-and-your-skin-how-is-it-affected/#
https://www.honestdocs.co/what-is-histamine