ถ้าพูดถึงงานดีไซน์หรืองานออกแบบ ในเชิงการสื่อสารประเด็นสำคัญต่างๆ คือจุดเด่นที่งานดีไซน์สามารถทำได้ดีมากกว่าแค่การบอกกล่าวแบบตรงๆ แต่ยังสามารถแฝงความสวยงามเข้าไปได้อีกด้วย
โดยเฉพาะการสื่อสารประเด็นที่สำคัญต่อสังคม อย่างเรื่องการขับขี่ปลอดภัยหรือ Safety Riding ในกลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่ง ‘หมวกกันน็อก’ คืออุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญที่สุด และพื้นที่ว่างบนหมวกกันน็อกนี่เองที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด
YAMAHA 67th Anniversary Helmet Design Challenge จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ร่วมกันออกแบบลวดลายหมวกกันน็อกภายใต้คอนเซปต์ ‘Safety Riding’ เพื่อนำมาผลิตเป็นหมวกกันน็อกรุ่นพิเศษ Limited Edition ซึ่งได้มีการประกาศผลผู้ชนะเลิศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองครบรอบ 67 ปี บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางยามาฮ่าได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงาน ผู้จำหน่าย และลูกค้า ฯลฯ ตลอดทั้งปี เราจึงอยากจะชวนไปคุยกับ คุณพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ถึงเบื้องหลังของโครงการที่เปลี่ยนพื้นที่ว่างบนหมวกกันน็อก ให้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นขับขี่ปลอดภัยได้สำเร็จ
อยากให้เล่าถึงที่มาของโครงการ YAMAHA 67th Anniversary Helmet Design Challenge
ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 67 ปีของ บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กลยุทธ์สำคัญของยามาฮ่า คือการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ในท้องตลาด และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ในขณะเดียวกันต้องรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการดูแลเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โครงการนี้จึงตอบโจทย์ของยามาฮ่าในการให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ และใส่ใจที่จะเริ่มต้นการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งเป็นโครงการที่ให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มาคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้น่าสนใจในตลาด จนออกมาเป็นโครงการประกวดนี้ หลังจากนั้นเรานำผลงานดีเด่นเหล่านี้มาผลิตเป็นหมวกกันน็อกจริง 6,700 ใบ สอดคล้องกับ 67 ปีบริษัท เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการขับขี่ปลอดภัยทั่วประเทศพร้อมๆ กัน และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์สู่สังคมที่ปลอดภัยร่วมกัน โดยโครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเยาวชน และดีไซเนอร์ทั่วประเทศ มีผลงานเข้าร่วมประกวด 452 ผลงาน
ในฐานะที่ยามาฮ่าเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ มองว่าประเด็นเรื่องการขับขี่ปลอดภัยสำคัญต่อลูกค้าอย่างไร
ถ้าเกิดเราดูความปลอดภัยบนท้องถนน จะเห็นว่าในทุกๆ ปีจะมีรายงานอุบัติเหตุ และมีการสูญเสียบนท้องถนนจำนวนมาก และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือการไม่ใส่หมวกกันน็อก เราเห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยที่สามารถเตือนสติคนได้คือการส่งเสริมให้ใส่หมวกกันน็อก แล้วก็ต้องเป็นหมวกกันน็อกที่มีความหมายที่ดี เราจึงอยากนำไอเดียสร้างสรรค์จากประชาชนทั่วไป ขึ้นมาชูโรงในการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกัน การตัดสินเราก็ใช้คณะกรรมการที่เป็นกลาง เป็นคณะอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ซึ่งครั้งนี้เราได้เรียนเชิญ คุณเหนือ จักรกฤษณ์ อนันตกุล ศิลปิน และกราฟิก ดีไซเนอร์ไทยชื่อดัง ตัวแทนคนรุ่นใหม่ รวมถึงสื่อมวลชนอาวุโสที่มีความรู้เรื่องขับขี่ปลอดภัยมาเป็นสักขีพยานด้วย
มองว่างานดีไซน์หรือการออกแบบ จะช่วยสื่อสารเรื่องการขับขี่ปลอดภัยได้ดีกว่ามากน้อยแค่ไหน
งานศิลปะหรืองานออกแบบ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากสื่อสารออกมาได้ดีกว่า เพราะเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนถ้าออกมาเป็นเชิงกราฟิกหรือเป็นภาพวาดจากผู้ใช้รถใช้ถนนกันเอง ไม่ใช่จากบริษัท คิดว่าจะมีคุณค่ามากกว่าและตรงประเด็นกว่า แล้วถ้าทั้งภาพและกราฟิกที่นำเสนอออกมามีความทันสมัย และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มที่ใช้รถใช้ถนนในทุกสาขาอาชีพ จะสื่อสารได้ตรงและดีกว่าการใช้แคมเปญอื่นๆ พอออกมาจริงก็เป็นหมวกกันน็อกแบบ Limited Edition เป็นอะไรที่มีค่า น่าเก็บสะสม และมีความหมายมาก
หลังจากที่ได้ลายหมวกกันน็อกแล้ว มีการต่อยอดให้ออกมาใช้งานจริงอย่างไร
โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ยามาฮ่าจึงได้นำลวดลายของผู้ชนะมาผลิตหมวกกันน็อก Limited Edition จำนวน 6,700 ใบ เพื่อทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในรูปแบบจัดหาเงินสนับสนุน และสร้างกระแสทั่วประเทศพร้อมกันในเดือนกรกฎาคมว่า นี่คือหมวกกันน็อกที่มีความคุ้มค่า สวยงาม และมีความหมายที่ดีด้วย โดยเงินทั้งหมดที่รวบรวมได้นำไปมอบให้องค์กรสาธารณะกุศล เพื่อรณรงค์ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนต่อไป
อนาคตจะมีการต่อยอดโครงการนี้ในรูปแบบไหนบ้าง
ที่ผ่านมาก็จะมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบของการลงพื้นที่ให้ความรู้กับผู้จำหน่าย ทั้งการสื่อสารภายในองค์กรและสื่อสารกับลูกค้า ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่เราเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ แล้วในปีต่อๆ ไปเราจะคิดหางานสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอีกแน่นอน
ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ประเภทนักเรียน นักศึกษา
ผลงานของ ณภัทร ป้อมบ้านต้า
โดดเด่นในการใช้ภาพการ์ตูนที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Yamaha Riders ในการแข่งขัน Mount Fuji Ascent Race ปี 1955 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก่อตั้ง บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด รวมถึงภาพการ์ตูนของเด็ก ผู้สูงวัย และไฟสัญญาณจราจร ที่สื่อถึงความหลากหลายของผู้มีสิทธิ์ใช้รถใช้ถนน ให้ตระหนักและเคารพต่อการใช้ท้องถนนที่ดีร่วมกัน
ประเภทบุคคลทั่วไป
ผลงานของ ธนทัต พิลาชัย
มีจุดเด่นคือการใช้กราฟิกผสมตัวเลข ’67’ กับคำว่า ‘สติ’ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้สามารถอ่านได้ทั้งสองแบบ พร้อมลายคาดกลางหมวกที่สื่อถึงถนน สื่อสารถึงแนวคิดการมีสติทุกการขับขี่ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน