หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงไม่แพ้การออกกำลังกายในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเทรนด์ ‘ออร์แกนิก’ ที่เติบโตมาควบคู่กัน
จนทำให้อาหารเพื่อสุขภาพและของใช้หลากหลายแบรนด์พร้อมใจกันบอกว่า ส่วนประกอบต่างๆ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตเป็นแบบออร์แกนิกแท้ๆ นับเป็นเทคนิคทางการตลาดอย่างหนึ่งที่ได้ผล ในขณะที่สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ Research Institute of Organic Agriculture และ IFOAM – Organics International ได้รายงานสถิติว่า มูลค่าทางการตลาดออร์แกนิกโลกเมื่อปี 2558 สูงถึง 2.85 ล้านล้านบาท และกำลังเติบโตต่อเนื่องทุกปี
หากมองในแง่ดีคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังด้วยการใช้สินค้าออร์แกนิกทั้งหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์สินค้าออร์แกนิกในบ้านเราส่วนมากยังขาดมาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่แท้จริง ตั้งแต่ส่วนประกอบและขั้นตอนการผลิตที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อน เมื่อเทียบกับตลาดออร์แกนิกอันดับหนึ่งของโลกอย่างอเมริกาที่มีการออกใบรับรองสินค้าออร์แกนิกอย่างจริงจัง บวกกับความเข้าใจของคนทั่วไปยังมองว่าสินค้าออร์แกนิกคือความพิเศษ มีราคาแพงจนไม่อยากเลือกใช้ เพราะไม่เห็นถึงความคุ้มค่า ส่งผลให้ตลาดออร์แกนิกในบ้านเรายังเติบโตได้ไม่เต็มที่นัก
The MATTER ได้คุยกับ วิตราภรณ์ พิมพลา ผู้ก่อตั้ง Znya Organics (เซนย่า ออร์แกนิกส์) แบรนด์ออร์แกนิกที่กำลังมาแรง ซึ่งผลิตสินค้าออร์แกนิกจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองเคยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ จึงทำให้ใส่ใจในขั้นตอนการผลิตแบบออร์แกนิกแท้ๆ ถึงประเด็นที่ว่า ทำไมราคาของสินค้าออร์แกนิกออร์แกนิกได้สูง และทำไมออร์แกนิกถึงเป็นความธรรมดาที่เราควรเลือกใช้ให้เป็นเรื่องปกติ
เริ่มต้นหันมาสนใจสินค้าออร์แกนิกได้อย่างไร
ตอนนั้นอยู่ที่อเมริกา มีอาการที่เกิดขึ้นคือเป็นผื่นขึ้นทั้งตัว หมอวินิจฉัยว่าเป็นอาการแพ้จากอาหาร แล้วรักษาไม่หายสักที ทำให้ต้องเปลี่ยนการรักษาจากการกินยาเป็นฉีดยา ซึ่งการฉีดยาใช้ระยะเวลารักษานานกว่าและส่งผลกระทบต่อเรามากกว่า ถ้าเกิดว่าเราท้องระหว่างที่ฉีดยาในระยะเวลา 5 ปีนั้น เด็กก็อาจจะมีสิทธิ์พิการ แล้วตอนนั้นเราอายุแค่ยี่สิบแปดยี่สิบเก้า หมอบอกว่าต้องรอให้ยาออกจากร่างกายอีกประมาณ 2-3 ปีหลังจากนั้น รวมระยะเวลาก็น่าจะประมาณ 8 ปี ซึ่งถ้าเราตัดสินใจจะแต่งงานและมีลูก จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวเรามาก
จนกลับมาที่เมืองไทยมีญาติแนะนำว่าให้เลิกใช้สบู่อาบน้ำ ความคิดแรกคือสบู่อาบน้ำคือสิ่งที่ทำความสะอาดเรา จะแพ้ได้ยังไงทำให้เราไม่คิดว่าจะใช่สาเหตุนี้ สุดท้ายก็ไม่ทีทางเลือก เลยลองเลิกใช้สบู่อาบน้ำที่ใช้อยู่ พอเลิกใช้ก็รู้สึกว่าผื่นขึ้นน้อยลง ทำให้เราฉุกคิดว่ามันอาจจะใช่สบู่จริงๆ ก็ได้ จึงค่อยๆ ลดยาลง แล้วลดใช้โลชั่นด้วย ผื่นก็ไม่ขึ้นเลย ซึ่งหมอก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นเพราะสบู่จริงๆ หรือไม่ แต่อาการที่เกิดขึ้นมันเห็นผลจริง กระทั่งเราเลิกกินยาเม็ดสุดท้าย ผื่นก็ไม่ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนถ้าเราหยุดกินยาเม็ดเดียวผื่นก็จะขึ้น เราจึงคุยกับหมอว่า จะไม่ฉีดยาแล้ว เพราะอาการเราดีขึ้น หลังจากนั้นก็หันมาอาบน้ำเปล่าอยู่เกือบปี แต่เราเป็นพวกชอบทดลองพิสูจน์อยู่แล้ว จึงลองกลับไปกินอาหารที่หมอวินิจฉัยว่าเราแพ้ แต่กลับไม่เป็นไร จึงไม่น่าใช่อาหารแน่ๆ ซึ่งพอเรากลับไปลองใช้สบู่ ใช้ครั้งแรกก็ไม่เป็นไร แต่พอใช้อยู่สองสามวันอาการก็เริ่มกลับมาจริงๆ สรุปได้ว่าเป็นผลมาจากส่วนผสมของสบู่และโลชั่นที่เราใช้อยู่จริงๆ
หลังจากค้นพบว่าเป็นภูมิแพ้เพราะสบู่ทำให้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ไปอย่างไร
เหมือนเปลี่ยนโลกเราไปเลย เพราะเราคิดว่าเลือกกินของดีแล้ว ต้องไม่ป่วยแน่ๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเปลี่ยนความคิดเรา คือกินดีอย่างเดียวมันไม่พอ คำว่ากินดีหมายถึงการกินสิ่งที่มีประโยชน์ แล้วเราเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้วก็ชอบดูส่วนประกอบที่อยู่ในแพ็คเกจจิ้งของอาหารว่าต้องเป็นของดีเท่านั้น แต่ตอนที่เราซื้อสบู่หรือแชมพูเรากลับไม่เคยดู เพราะเราเชื่อว่ามันคือสิ่งที่บำรุงผิว ทำความสะอาดผิวตามที่เขาโฆษณา พอลองเอาส่วนผสมมาเซิร์ชหาในกูเกิลก็ตกใจมากเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เราคิดว่าบำรุงผิว มันคือสารก่อมะเร็งดีๆ นี่เอง แล้วเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดถึงมาก่อน เราจึงเลิกใช้ของพวกนี้ทั้งหมด รวมไปถึงน้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก และน้ำยาล้างห้องน้ำด้วย
ตอนนั้นในอเมริกาเมื่อประมาณเจ็ดแปดปีก่อนมีของออร์แกนิกขายแล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันแพง เพราะคิดว่าเราใช้ของดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อ ขณะเดียวกันเรายอมซื้อน้ำส้มขวดละ 4-5 เหรียญ แต่สบู่ก้อนราคาเท่ากันเราไม่ยอมซื้อ พอเกิดเหตุการณ์นี้เราจึงกลับไปหาของใช้ดีๆ อย่างน้ำยาล้างจานขวดละ 7 เหรียญ เราก็ยอมซื้อ ทั้งๆ ที่มีขวดราคา 99 เซ็นต์ ซึ่งถ้าแลกกับเงินที่ต้องไปหาหมอถือว่าเยอะกว่ามาก
ส่วนตัวให้นิยามของคำว่าออร์แกนิกไว้ว่าอะไร
สำหรับเรามองว่า คือความปลอดภัย อย่างคนที่กินผักออร์แกนิกเขาก็ต้องคิดว่ามันปลอดภัย ไม่มีสารยาฆ่าแมลง เรากินไก่ออร์แกนิกเพราะเชื่อว่าไก่ที่ถูกเลี้ยงด้วยฮอร์โมนไม่โอเค ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่อะไรที่ยาก สมัยก่อนคนปลูกผักไม่มีการใช้สารเคมี แต่พอมาสมัยนี้ของที่ขายทั่วไป โดนพ่นยาทุกห้าวันสิบวัน โดยที่ไม่ต้องแปะป้ายว่าฉันใช้ยาฆ่าแมลงอะไรบ้าง ในขณะที่คนขายของออร์แกนิกต้องบอกว่าฉันมีใบรับรองอะไร ทำไมโลกมันกลับด้านกัน ออร์แกนิกคือสิ่งธรรมดาที่โลกควรจะเป็น ไม่ใช่ต้องมาอธิบายว่าออร์แกนิกคืออะไร
สมัยก่อนเขาปลูกผักเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่สารเคมี คนสมัยก่อนก็แข็งแรงดี แต่พอมาทุกวันนี้เป็นธุรกิจแบบทุนนิยม ต้องการกำไรเยอะ ต้องการลดต้นทุนเพื่อขายให้ได้ปริมาณมากๆ ราคาถูกๆ กำไรเยอะๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างในโลกนี้เปลี่ยนไป คนกลับไปนิยามสิ่งที่เป็นสารเคมีว่าคือสิ่งธรรมดา คำว่าออร์แกนิกคือไม่ธรรมดา แต่จริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น เราควรจะกลับไปหาวิถีเดิมนั้น
อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่เริ่มต้นผลิตสินค้าออร์แกนิกเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
ตอนที่อยู่อเมริกายังไม่ได้คิด พอช่วงจะกลับมาเมืองไทยประมาณปี 2011 พยายามวางแผนว่าจะหาซื้อของออร์แกนิกในไทยได้ไหม เพราะของที่หิ้วกลับมาก็ไม่ได้เยอะ ใช้ได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น แล้วตอนนั้นเรามีลูกแล้วก็ต้องหาทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่ ปรากฏว่าก็มีพอสมควร แต่พอลองไปดูด้านหน้าเขียนว่าออร์แกนิก แต่ข้างหลังเขียนว่าใส่น้ำหอมสังเคราะห์ เราก็เริ่มหมดหวังนิดหนึ่ง เพราะเราไปทุกตลาดทั้งตลาดสีเขียว ตลาดเกษตรอินทรีย์ ตลาดสุขภาพ เราคาดหวังว่าต้องได้ของอะไรดีๆ กลับมาบ้านแน่ๆ ปรากฏว่าเราซื้ออะไรไม่ได้เลย ไล่หาหลายที่ก็ยังไม่ได้ ซึ่งของที่พอใช้ได้ก็พอมี แต่ก็ไม่ใช่ที่เราอยากได้ทั้งหมด เรารู้สึกว่าจะไปฝากความหวังไว้ที่คนอื่นไม่ได้ ชีวิตเราขึ้นอยู่กับเราเอง คนอื่นก็บอกว่าคนอื่นก็ใช้ได้ แต่ทำไมเธอใช้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มาป่วยแบบเรา ถ้าให้เรากลับไปใช้ของเหมือนเดิมแล้วป่วยหรือลูกเราป่วยด้วย ก็รู้สึกว่าไม่น่าใช่ทางที่เราจะทำ
ตอนแรกที่กลับมาเมืองไทยคือไม่ได้จะอยู่ถาวร เหตุผลที่กลับมาเพราะว่าคุณยายเป็นมะเร็ง เลยอยากลับมาดูแลช่วงที่เขาไม่สบาย ซึ่งในบ้านมีคนเป็นมะเร็งสองคน พอเรากลับมาเห็นวิถีชีวิตที่เขาอยู่ในบ้านแล้ว รู้เลยว่าทำไมเขาถึงป่วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้เป็นสารเคมีหมด เราช่วยตัวเองมาแล้ว ก็ต้องช่วยคนในครอบครัวเราด้วย เราเองก็เป็นเชฟชอบทำอาหารเอง เลยตัดสินใจลองทำสบู่เอง ก็ไปหาวิธีทำง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ต ปรากฏว่าอุปกรณ์ทุกอย่างในบ้านมีหมดเลย เพราะอุปกรณ์ทำสบู่คล้ายๆ กับการทำเค้ก แต่สูตรที่เจอก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะมีการใช้สารเคมี เลยลองคิดสูตรเองขึ้นมา ทำอยู่สามสี่เดือนก็ได้สูตรหนึ่ง เป็นสูตรที่ไม่มีกลิ่นเลย ทำใช้กันเองในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นให้ลองทำโลชั่น ลิปบาล์ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า คือทำใช้เองหมดเลย เพราะไม่ต้องการใช้ของที่อยู่ในตลาดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเรา ซึ่งคนอื่นอาจจะยังใช้ได้ ยังไม่ป่วย แต่สำหรับเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว เราจะไม่กลับไปแล้ว เราทำเองอยู่ 30-40 ก้อน คุณแม่ก็เอาไปแจกให้คนอื่นใช้บ้าง แล้วเด็กเล็กๆ บางคนอายุสองขวบเป็นผื่นอยู่ พอใช้แล้วหาย แม่ก็ชวนว่าลองทำสบู่ขายดูไหม เผื่อคนที่ป่วยอยู่แล้วอาจจะหาย แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะขายใคร พอเห็นคนขายของออนไลน์ได้ เลยเริ่มต้นจากตรงนั้น
หลังจากที่เริ่มวางขายแล้ว ตลาดออร์แกนิกในช่วงนั้นเป็นอย่างไร
เข้าขั้นแย่มาก สิบดาวให้หนึ่งดาว เราไปออกบูธงานสมุนไพร มีสบู่ออร์แกนิกขายอยู่ประมาณ 30 เจ้า คือทุกเจ้าบอกว่าเป็นออร์แกนิกหมด แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันออร์แกนิกยังไง ตอนที่กลับมาใหม่ๆ คิดอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือคิดว่าขายไม่ได้หรือเปล่า คนเลยไม่ค่อยทำกัน และคิดอีกอย่างคือถ้าไม่มีคนทำ แล้วเมื่อไรจะมีคนทำ และเราก็ต้องทำใช้ของเราไปเองเหรอ แสดงว่าคนอื่นจะไม่มีสิทธิ์ใช้เลยใช่ไหม ซึ่งพอมองเป็นธุรกิจ นอกจากครอบครัวเราได้ใช้แล้ว คนอื่นก็ได้ใช้ด้วย ขณะเดียวกันในประเทศอื่น มันเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอยู่แล้ว แต่ในไทยแทบไม่มีเลย ถึงมีก็เป็นออร์แกนิกแบบที่ไม่จริง เราคิดว่าไม่มีไม่เป็นไร เราก็ทำให้มันมี
ในเมื่อตลาดยังไม่เปิดกว้าง มีวิธีการทำให้ลูกค้าเชื่อได้อย่างไรว่าสินค้าของเราเป็นออร์แกนิกจริงๆ
เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ สินค้าที่เราเลือกมามันปลอดภัยยังไง ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักคำว่า ออร์แกนิก เลย ถ้าเป็นลูกค้าคนไทยมาถามว่าสบู่อะไร เราก็บอกว่าสบู่ออร์แกนิก แต่บางคนที่พอรู้จักอย่างเคยกินผักออร์แกนิกก็พอจะอธิบายได้ เลยพยายามพูดเชื่อมกับสิ่งที่เขาเคยรู้จัก แต่พอไปเจอฝรั่งเขาถามว่า คุณได้ Certificate อะไรมา ทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพราะการขายสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ทุกแบรนด์ต้องทำใบรับรองหมดหมด ต้องมีมาตรฐานจริงๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นว่าอยากทำสิ่งที่คนเชื่อถือ นอกจากเราจะรู้ตัวเองว่าเราทำอะไร คนภายนอกต้องมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเราทำอะไรด้วย โดยที่ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าคนไทยไม่เข้าใจ คือเรามี Certificate แต่ไม่รู้ว่าเป็นของอะไร ถึงเราจะบอกว่าเราได้ USDA Organic certification มาตราฐานออร์แกนิกจากอเมริกาก็ตาม ซึ่งเหตุผลที่เราทำใบรับรองไม่ใช่เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ มันเป็นแค่แบ็กอัพเฉยๆ ซึ่งจริงๆ คือคุณภาพของสินค้าที่ทำให้มันอยู่ได้
การพูดเรื่องความปลอดภัยของสินค้าก็เป็นอีกอย่างที่ให้ความรู้ลูกค้าเสมอ เวลาลูกค้าถามว่าทำไมสบู่เหลวถึงได้ใสแบบนี้ ไม่เห็นเป็นเจลเหมือนสบู่ทั่วไปเลย ต้องบอกไปว่าเราไม่ได้ใช้สารเพิ่มฟองที่อยู่ในน้ำยาล้างจานหรือน้ำยาล้างรถ เขาก็สงสัยว่าจริงเหรอ มีลูกค้าบางคนก็ถ่ายส่วนประกอบของสบู่ที่เขาใช้ส่งมาให้เราดูว่าปลอดภัยไหม เราก็อธิบายไป แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์จะไปตัดสินว่ายี่ห้อนี้ดีหรือไม่ดี สิ่งที่เราทำคือแปลให้เขาดูว่ามันมีส่วนประกอบแบบนี้ๆ ให้ลองคิดดูเอาเองว่ามันปลอดภัยไหม นั่นคือสิ่งที่เราทำ ซึ่งยากและเหนื่อยด้วย แต่เราก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกจนใช้อย่างอื่นไม่ได้เลย เราเชื่อว่าถ้าทุกคนรู้ว่าสิ่งที่กำลังจะกินและใช้มันทำอันตรายอะไรกับร่างกายเขาบ้าง เขาจะไม่ใช้มัน หน้าที่ของเราคือให้ลูกค้ามีความรู้และสามารถเลือกเองได้
ทำไมสินค้าออร์แกนิกถึงมีราคาแพง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีถังกวนสบู่เหลวออร์แกนิกหนึ่งถังขนาด 130 ลิตร ต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการกวน แล้วต้องรอให้มันเย็น จึงสามารถกรอกใส่ขวดในวันรุ่งขึ้น ถ้าสมมติเราใช้คนงานประมาณ 4-5 คนจะได้แค่ไม่กี่ร้อยขวด แต่ขณะที่เขาใช้สารเคมีกวนในถังขนาด 130 ลิตรเหมือนกัน ใช้เวลากวนประมาณแค่ 15 นาที แล้วเติมสีเติมกลิ่นเข้าไป เวลาที่ใช้มันต่างกันมาก หรือคนปลูกข้าว 1 ไร่ใช้ยาฆ่าหญ้ากระป๋องละสองร้อยฉีดวันเดียวหญ้าก็ตาย แต่ในขณะที่คนปลูกข้าวออร์แกนิกต้องใช้คนห้าสิบคนมาถอนหญ้าออก ทำให้ต้นทุนของสินค้าต่างกัน
ถ้ามองไปลึกๆ จะให้ขายราคาเท่ากันก็เป็นไปไม่ได้ อาจจะไม่แฟร์สำหรับคนทำเกษตรออร์แกนิก เพราะคนไม่ได้มองที่คุณค่าของมันจริงๆ พอเป็นแบบนี้ทำให้ของออร์แกนิกต้องแพง ถ้าลองเทียบกับค่ารักษาที่ต้องไปหาหมอไปแล้วถือว่าน้อยกว่ามาก คนที่ยังไม่เคยป่วย เขาอาจจะยังมองไม่ออก ซึ่งที่มันแพงไม่ใช่แพงเพราะอยากแพง แต่แพงเพราะต้นทุนมันต่างกัน เราต้องพยายามบอกว่าที่มาของสินค้าแต่ละอย่างมีที่มาอย่างไรอยู่เสมอ
ตั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจนี้ไว้อย่างไร
การทำธุรกิจทุกธุรกิจต้องทำให้เติบโตและได้กำไร แต่เรามองว่าการได้กำไรเป็นเรื่องรอง ในทุกๆ ครอบครัวมักจะมีคนป่วย อย่างเราก็เคยป่วยหรือลูกเราป่วย แล้วเวลาที่ลูกค้าหายป่วยเพราะสินค้าของเรา มันเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่าเงิน สิ่งที่เราทำคือความสุขอย่างหนึ่งที่ส่งต่อไปหาคนอื่น เราเชื่อว่าเขาก็จะเชื่อใจเราและหวังว่าเราจะไม่ทำร้ายเขา มันคือธุรกิจที่ดี ไม่ทำร้ายกัน คนถามว่าทำไมทำไมถึงราคาแพงเท่านี้ เพราะต้องกรรมวิธีแบบนี้ทำให้ต้องขายราคานี้ เราก็ไม่ได้อยากให้มันต้นทุนสูง ซึ่งจริงๆ เราแทบไม่ได้อะไร เพราะรู้ว่าถ้าขายแพงกว่านี้คนก็จะซื้อไม่ได้
อย่างเราจะใช้น้ำมันมะพร้าวในการทำสบู่ เพราะน้ำมันปาล์มไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มีประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม เพราะต้นทุนถูก เราใช้น้ำมันมะพร้าวออร์แกนิกลิตรหนึ่งหลายร้อย ซึ่งเราไปซื้อน้ำมันปาล์มที่ขายทั่วไปมาใช้ก็ได้ แต่เราไม่ทำ เพราะจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นที่ตามมา อย่างเรื่องของการถางป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มทำให้สัตว์ป่าพวกลิงอุรังอุตังไม่มีบ้าน ซึ่งถ้าสินค้าขายดีจะเกิดอะไรขึ้น จะมีป่าถูกถางเพิ่มขึ้นไหม มันเอฟเฟกต์ต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็กลับมาที่เรา หรืออย่างกระดาษที่ใช้ทำกล่องก็มาจากป่าที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ ไม่ใช่ป่าที่ถางมา หรือขวดใส่ก็รีไซเคิลได้ กระดาษก็ปรินท์ด้วยหมึกจากถั่วเหลือง เราอยากทำธุรกิจให้มันเติบโต แต่ถ้าเป็นการเติบโตบนความเดือดร้อนของใคร เราจะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร ทำให้ทุกๆ มุมมองของสินค้าเราจะคำนึงถึงผลกระทบเสมอ พอมีจุดยืนที่แน่นอนแล้ว เราจะคิดถึงทุกๆ ด้านมากขึ้น
สุดท้ายแล้วมองว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องเงิน อะไรคือกำไรที่แท้จริงของการทำธุรกิจสินค้าออร์แกนิก
เราไม่ได้ขายสบู่ แต่สิ่งที่อยู่ในนี้คือสิ่งที่ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนหายป่วย แล้วลูกค้าก็จ่ายเงินมาเพื่อให้เราสามารถทำธุรกิจต่อได้ เรามองว่าถึงเราจะได้กำไรไม่เยอะ แต่เมื่อกลุ่มลูกค้าขยายมากขึ้น ทำให้เราขายได้ปริมาณมากขึ้นเอง เวลาที่เราคิดสูตรเราจะไม่คิดด้วยการตั้งต้นทุนเท่านี้ๆ แล้วได้กำไรเท่านี้ๆ แต่เราจะคิดสูตรด้วยการที่เราอยากทำสิ่งนี้ แล้วอยากจะใช้วัตถุดิบดีๆ อะไรบ้าง พอออกมาเป็นต้นทุนแล้ว จะขายเท่าไรค่อยคำนวณกันไป สิ่งดีๆ ในความหมายของเราคือไม่ได้หมายถึงของราคาแพง แต่หมายถึงสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเรา เราเลือกไม่ได้ว่าเราจะป่วยหรือไม่ป่วย แต่คนเราทุกคนเป็นคนเลือกและตัดสินใจในเส้นทางชีวิตได้ มุมมองเล็กกว่านั้นเราเลือกได้ว่าเราจะหยิบอะไรเข้าปาก หรือหยิบอะไรมาทาตัวเรา แต่สังคมไทยมองว่ามีอะไรก็ใช้อย่างนั้น ถ้ามองแบบนั้นจะไม่มีเซนย่าอย่างทุกวันนี้
เราทำหน้าที่ของเราโดยการทำสินค้าให้ดี ให้ความรู้ลูกค้าว่าของที่ปลอดภัยจริงๆ ควรจะไม่มีอะไร แล้วลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง ซึ่งเราก็ไม่สามารถไปบังคับได้ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเราไม่จำเป็นต้องอ่านว่ามีส่วนประกอบอะไร เพราะเราเลือกมาให้แล้ว ถ้าทุกๆ ธุรกิจเอาผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก จะทำให้มีสินค้าดีๆ ในประเทศไทยอีกมาก แต่ถ้าคิดถึงผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลักจะคิดอีกแบบหนึ่ง ของที่ออกมาก็ต่างกัน