การค้นพบสัญญาณคลื่นวิทยุจากอวกาศอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในยุคปัจจุบัน แต่การค้นพบครั้งนี้อาจต่างออกไป เพราะนักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบสัญญาณวิทยุที่มีรูปแบบคล้าย ‘จังหวะการเต้นของหัวใจ’ โดยที่ไม่สามารถตอบได้ว่าสัญญาณมาจากแห่งใดของห้วงอวกาศ หรือมีจุดเริ่มต้นห่างไกลจากเรามากเพียงใด
งานศึกษาวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ระบุว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบคลื่นวิทยุ ‘Fast Radio Bursts’ (FRB) และคาดการณ์ว่าคลื่นนี้ส่งมาจากกาแล็กซีที่ห่างไกลหลายพันล้านปีแสง โดยไม่สามารถสาเหตุและพื้นที่ที่เกิดคลื่นอย่างชัดเจน
สำหรับใครที่อาจสับสน FRB คือ การลุกจ้าฉับพลันของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่มิลลิวินาที สามารถวัดได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ และกราฟของ FRB จะเป็นยอดคลื่นเดี่ยวๆ ที่พุ่งขึ้นกลางสัญญาณขนาดเล็ก คลื่นวิทยุนี้ตรวจพบครั้งแรกเมื่อปี 2550 ก่อนจะตรวจพบอีกนับร้อยครั้งหลังจากนั้น แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดขึ้นไม่กี่มิลลิวินาทีแล้วก็หายไป มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอย่างมีรูปแบบ
แดเนียล มิคิลลี (Daniele Michilli) นักวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์และอวกาศจาก MIT ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Canadian Hydrogen Intensity Mapping Experiment (CHIME) ตรวจเจอ FRB ที่คล้ายจังหวะหัวใจเมื่อ 21 ธันวาคม 2562 ซึ่งต่อมาคลื่นวิทยุนี้ได้รับการขนานนามว่า FRB 20191221A และได้ชื่อว่าเป็นคลื่น FRB ที่ยาวนานที่สุดที่เคยค้นพบมา (คลื่น FRB นี้มีความยาวถึง 3 วินาที)
ซึ่งมิคิลลีมองว่านี่เป็นเรื่องแปลก เพราะเป็น FRB ทื่ยาวถึง 3 วินาที (ปกติจะเกิดขึ้นสั้นๆ ไม่กี่มิลลิวิทนาที) และเป็นคลื่นที่มีจังหวะแม่นยำมาก ในทุกวินาทีจะมีลักษณะ “บูม บูม บูม” คล้ายกับจังหวะการเต้นของหัวใจ
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่รู้ต้นทางที่มาชัดเจน คณะนักวิจัยได้วิเคราะห์และสันนิษฐานว่า คลื่นวิทยุ FRB 20191221A มีลักษณะคล้ายกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดาวนิวตรอน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน หรือ เศษซากหลังจากที่ดาวฤกษ์ยักษ์ตายไป
ด้านคณะผู้วิจัยยืนยันว่า จะเฝ้าสังเกตการณ์คลื่นวิทยุนี้ต่อไป รวมถึงสัญญาณคลื่นอื่นๆ ที่คล้ายกัน ด้วยเชื่อว่าคลื่นวิทยุนี้อาจมีประโยชน์ต่อนักดาราศาสตร์ในการทำความเข้าใจกับการขยายตัวของเอกภพได้
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายคนตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า ข่าวนี้ทำให้รู้สึกพิศวงไม่น้อย เพราะในห้วงอวกาศดันมีคลื่นสัญญาณที่คล้ายกับเสียงหัวใจเต้นซะงั้น แต่สำหรับคอภาพยนตร์ไซไฟหลายคน อาจรู้สึกตื่นเต้นและรอวันที่นักวิทยาศาสตร์จะคลี่คลายความลับของจักรวาลนี้
อ้างอิงจาก
https://www.sciencedaily.com/releases/2022/07/220713114600.htm
https://edition.cnn.com/2022/07/13/world/heartbeat-fast-radio-burst-scn/index.html
https://www.independent.co.uk/space/earth-heartbeat-galaxy-energy-frbs-b2122804.html