“ร้อนเหมือนฝนตกลงมาเป็นเปลวเพลิง”
“แท่งเหล็กที่ต้องใช้ มันร้อนเกินกว่าจะสัมผัสได้ ถึงจะกลับมาทำงานอีกทีตอน 5 โมงเย็น แต่มันก็ยังร้อนเดือดอยู่”
วันที่ 29 พฤษภาคม 2024 กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (India Meteorological Department หรือ IMD) รายงาน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดลี (National Capital Territory of Delhi) อยู่ที่ 45-50 องศาเซลเซียส ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกของอินเดียมีอุณหภูมิสูงขึ้น
สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ในพื้นที่มุงเกสชปูร์ (Mungeshpur) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงนิวเดลี (New Delhi) วัดอุณหภูมิในวันที่ 29 พฤษภาคม 2024 ได้สูงถึง 52.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกของอินเดีย อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นค่าสุดต่าง (Outlier) ที่ขณะนี้กำลังตรวจสอบเซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิ
ด้าน กุลดีป ศรีวาสตาวา (Kuldeep Srivastava) ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย กล่าวว่าสาเหตุที่ความร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริเวณชานเมืองของกรุงนิวเดลี เป็นพื้นที่แรกที่ถูกปะทะโดยคลื่นลมร้อนระดับรุนแรงจากรัฐราชสถาน (Rajasthan) ทางตอนเหนือของอินเดีย
นอกจากคลื่นลมร้อนรุนแรงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยร้อนครั้งนี้เป็นผลจากภาวะโลกร้อน โดยสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ (ABC News) รายงานว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้คลื่นลมร้อนเกิดบ่อยขึ้นและมีระยะเวลาที่นานขึ้น อีกทั้งงานวิจัยของเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (World Weather Attribution หรือ WWA) ระบุว่าความร้อนที่ปกคลุมทั่วเอเชียในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 45 เท่า ที่จะเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
หลังจากที่มีรายงานคลื่นความร้อนปะทะอย่างรุนแรง กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนภัย ‘พื้นที่สีแดง’ ในหลายพื้นที่ในอินเดีย รวมถึงกรุงนิวเดลีที่มีประชากรราว 30 ล้านคน โดยระบุว่าคนในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการป่วยจากความร้อนและโรคลมแดด (Heat stroke) ในทุกช่วงวัย และผู้ที่มีความเสี่ยงจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
รายงานล่าสุดจากศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติของอินเดีย (The National Centre of Disease Control หรือ NCDC) ระบุว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2024 เพียงวันเดียว พบผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการโรคลมแดดสูงถึง 486 ราย และยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2024 มีรายงานผู้ป่วยถึง 16,344 ราย พร้อมทั้งเมื่อวานนี้ (30 พฤษภาคม 2024) มีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคลมแดด ซึ่งเป็นแรงงานอายุ 40 ปีในเดลี
แล้วคนอินเดียใช้ชีวิตกันอย่างไร?
“ร้อนเหมือนฝนตกลงมาเป็นเปลวเพลิง” วิเจย์ (Vijay) คนในพื้นที่มุงเกสชปูร์ อายุ 65 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นดีทีวี (New Delhi Television หรือ NDTV) เกี่ยวกับสถานการณ์ในกรุงนิวเดลี หลังจากหม้อแปลงระเบิดทำให้ไฟฟ้าดับในบริเวณที่พักของเขา โดยกล่าวอีกว่าสมาชิกในครอบครัวของเขาหลายคนล้มป่วยเพราะอากาศร้อน
“แท่งเหล็กที่ต้องใช้ มันร้อนเกินกว่าจะสัมผัสได้ ถึงจะกลับมาทำงานอีกทีตอน 5 โมงเย็น แต่มันก็ยังร้อนเดือดอยู่ ยังมีความร้อนจากประกายไฟที่ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น” บาบู รัม (Babu Ram) ช่างเชื่อมที่ทำงานในกรุงนิวเดลีบอกกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian)
แอนนา วัลนิคกี้ (Anna Walnycki) จาก สถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The International Institute for Environment and Development) กล่าวกับกับสำนักข่าวเอ็นดีทีวีว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราเห็นว่า ครอบครัวที่ยากจนต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพราะสามารถเข้าถึงน้ำประปาและเครื่องปรับอากาศได้อย่างจำกัด รวมทั้งหลายครอบครัวอาจอาศัยอยู่ในบ้านที่การออกแบบและก่อสร้างขาดระบบระบายอากาศที่ดี หรือเป็นที่กำบังจากภัยร้อนไม่ได้ พร้อมทั้งคนทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะคนงานที่ทำงานก่อสร้าง มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเพลียแดด (Heat exhaustion) และโรคลมแดด
ประเด็นนี้อาจทำให้หลายๆ คน สังเกตว่าภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยที่มนุษย์แทบทุกคนบนโลกร่วมกันสร้าง แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจไม่ได้เกิดกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจาก