การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ได้แปลว่าสภาพอากาศเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น ไม่ว่าจะไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียและออสเตรเลีย ภัยแล้งในแอฟริกา หรือเฮอร์ริเคนแคทรินา ไปจนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นทั่วโลก แต่ภัยของภาวะโลกร้อนไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนโลกเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นในจิตใจของคนด้วย ว่าแต่ยังไงกัน?
เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น นอกจากอากาศร้อนขึ้นคือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากขึ้น สัตว์น้ำลดจำนวนลง และภัยพิบัติต่างๆ จะเกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าอากาศร้อนจะเพิ่มความเครียดและความวิตกให้กับคนได้ ผลต่อสุขภาพจิตจากภาวะโลกร้อนนั้นหยั่งรากลงไปกว่านั้น
ในรายงานโดย American Psychological Associations (APA) เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสุขภาพจิตมนุษย์พบว่า แม้ภัยพิบัติเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไกลตัว การเข้าถึงโซเชียลมีเดียทำให้คนรุ่นใหม่มองตัวเองเป็นประชากรโลกมากกว่าแค่เป็นคนไทยเท่านั้น ฉะนั้นความใกล้ชิดต่อผลกระทบเหล่านั้นส่งผลของเราได้มากราวกับมันเกิดขึ้นไม่ห่างไกลเราเลย
ผลที่ตามมาคือความวิตกกังวลต่อสภาพของโลก ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต อาการนี้มีชื่อเรียกว่า Climate Anxiety ซึ่งอาการนี้มักเกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่ ตามรายงานของ APA นั้นพบว่าอาการนี้ยังสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้า และ PTSD ในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยพิบัติ ไปจนถึงการใช้สารเสพติดเพื่อรับมือความวิตกกังวลเหล่านั้น
แต่ละครั้งที่เกิดภัยพิบัติเหล่านั้นขึ้น นอกจากจะเสพข่าวเฉยๆ ว่าเกิดอะไร เกิดที่ไหน กับใคร เพราะอะไรแล้ว อีกคำถามที่จะเกิดขึ้นคือคำถามต่อความมั่นคงในการใช้ชีวิต หากวันนี้ที่ฟิลิปปินส์น้ำท่วมแล้ววันไหนกันที่จะเป็นตาของประเทศไทย? หรือวันไหนกันที่ป่าอันน้อยนิดของเราจะไหม้ไปบ้าง?
ความกลัวเหล่านั้นไม่ใช่ความวิตกเกินเหตุแต่อย่างใด เมื่อ ค.ศ.2020 ในรายงานโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่าใน ค.ศ.2050 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงที่นำไปสู่น้ำท่วม โดยมีรายงานคล้ายๆ กันจาก Climate Central ที่กล่าวว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการท่วมนี้ราวๆ 19 ล้านคนในประเทศไทย ซึ่งนอกจากรายงานดังกล่าวแล้วความเป็นจริงจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในปีที่แล้วก็เป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่านี่ไม่ใช่ความวิตกไปเอง
หากลองนึกภาพว่าน้ำท่วมในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากการฝนตกหนักเกินไป ระบบระบายน้ำของจังหวัดที่เราอยู่สู้กับมันได้ขนาดไหน? และน้ำท่วมในระดับนั้นๆ สามารถทำลายสุขภาพจิตของคนไทยกันได้ในระดับที่กรมสุขภาพจิตนิยามมันเป็น ‘วิกฤตชีวิต’ ใน ค.ศ.2018 แล้ว หากระดับความเสียหายนี้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น สุขภาพจิตของคนราว 19 ล้านคนใน ค.ศ.2050 จะเป็นยังไง?
อีกแหล่งของความวิตกมาจากความรู้สึกไร้หนทางสู้ต่อปัญหาระดับโลก การรณรงค์ไม่ใช้พลาสติกจะมีประโยชน์อะไรหากรัฐไม่ควบคุมการใช้พลาสติกของเหล่าอุตสาหกรรม? การที่คนคนหนึ่งเปลี่ยนจากนั่งรถไปทำงานเป็นปั่นจักรยานแทนจะช่วยลดระดับการปล่อยแก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ในโลกได้ขนาดไหน? แล้วถ้าเราเริ่มซื้อเสื้อผ้า sustainable แล้วแต่อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นยังเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลาแล้วเราสามารถช่วยโลกได้ขนาดไหน?
ยังไม่นับรวมความแยกกันไม่ออกระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาสังคมและระบบการบริหาร ในรายงานเรียกร้องให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและสภาวะโลกร้อนโดย APA มีการกล่าวถึงผู้ที่ได้รับผลเสียต่อสูงที่สุด นั่นคือคนที่ถูกกดทับในสังคมนั้นๆ เนื่องจากพวกเขามักอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการจะได้รับผลกระทบภาวะเหล่านั้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเมื่อได้รับผลกระทบแล้วโอกาสการเข้ารับการรักษาก็มีน้อยกว่ากลุ่มอื่นด้วย
เมื่อปัญหาทั้งหมดควบรวมเข้ากัน การคาดการณ์ว่าผลกระทบจะเข้ามาถึงไทยในปี 2050 นั้นแปลว่าคน gen z จะมีอายุราวๆ 30-50 ปี ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะอยู่ในวัยอะไรกันบ้างเมื่อเวลานั้นมาถึง ก็อดคิดไม่ได้ว่าจะไม่ให้สิ้นหวังกันยังไงไหว?
อ้างอิงข้อมูลจาก