วิทยาการของเรายังไม่มีโมเดลที่ดีที่สุดในการคาดการณ์อุบัติของโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังถาโถมมาเรื่อยๆ อย่างล่าสุดมนุษยชาติถูกท้าทายด้วยไวรัสโคโรนาจากอู่ฮั่น ซึ่งในวงการแพทย์เรียกกันในชื่อ ‘2019-nCoV’ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ภายในเวลาไม่นานการระบาดของไวรัสโคโรนาถูกยกระดับเป็น global epidemic ที่ทุกชาติในโลกต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างใกล้ชิด เพราะไม่กี่สัปดาห์ โรคระบาดก็แพร่กระจายหลายพื้นที่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ไวรัสกระโดดข้ามจาก สัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน และกลายพันธุ์เป็น ‘คนสู่คน’ ในที่สุด การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วดุดันนี้ทำให้วิทยาการสมัยใหม่วิ่งไล่ตามไม่ทัน นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงกังวลว่า เมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้รับเชื้อไฟจากปรากฏการณ์ climate change ร่วมวงด้วย ไวรัสจะยิ่งแพร่ระบาดในรูปแบบที่ยากจะคาดเดา และส่งผลกระทบที่ซับซ้อนในอนาคตทั้งต่อสุขภาพสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ
ไวรัสโคโรนาจากอู่ฮั่นคาดกันว่าสัตว์ที่เป็นพาหะคือ ‘ค้างคาวกินผลไม้’ (fruit bat) และงูในป่าที่อาจขยับแหล่งหากิน(หรือถูกรุกรานถิ่นที่อยู่) เข้าใกล้สังคมมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับพฤติกรรมการบริโภคสัตว์แปลกพิสดารของชาวจีน ทำให้แหล่งขายเนื้อสัตว์หลายชนิดถูกเก็บเนื้อไว้รวมกันจนมีการปนเปื้อนไวรัสจากสัตว์ที่เป็นพาหะหลายชนิดที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ช่วงแรกไวรัสถูกระบุว่า แพร่เฉพาะสัตว์สู่สัตว์เท่านั้น แต่กลายพันธุ์จนระบาดจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Diseases) และปัจจุบันยังสามารถระบาดระหว่างคนสู่คนได้อีก คล้ายกับกรณีโรคระบาดในอดีต อย่าง โรคซาร์ส์ โรคอิโบล่า และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile encephalitis) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่เกิดในสัตว์ก่อนจะแพร่สู่คน ดังนั้นเมื่อสิ่งมีชีวิตอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน สุขภาพของมนุษย์กับสุขภาพสัตว์ (ร่วมไปถึงสัตว์เลี้ยง) จึงผูกโยงเข้าหากันด้วย เมื่อมีการระบาด ณ สมดุลใดก็มักส่งอิทธิพลให้โครงสร้างนี้เป็นวงจรระบาดอย่างรวดเร็ว
นักวิจัยคาดการณ์ว่า โรคระบาดทั้งหมดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโลกใบนี้เป็น Zoonotic Diseases มากถึง 6 ใน 10 ของโรคระบาดทั้งหมด และ 3 ใน 4 เป็นโรคที่สามารถกลายพันธุ์ที่แพร่สู่มนุษย์ได้สำเร็จ สัตว์ป่า สัตว์ในปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงมักมีเชื้อโรคหลายชนิดทั้งแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต รา แม้แต่สัตว์ที่ดูสุขภาพดีมาก ก็ยังเป็นพาหะได้โดยไม่แสดงอาการอะไรออกมา แต่เมื่อแพร่มาสู่มนุษย์แล้ว อาจทำให้คุณป่วยนิดๆ หน่อยๆ จนถึงระดับเสียชีวิต
แล้ววิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง (Climate change) ส่งผลอะไรต่อโรคระบาด?
มีกรณีศึกษาของโรคระบาด ‘ไข้ริฟต์ วาลเลย์’ (Rift Valley fever, RVF) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตอย่างร้ายกาจ โรคนี้เคยเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ที่ทำให้สัตว์ในระบบปศุสัตว์ทั้งหมดมีโอกาสรอดเพียง 10% เท่านั้น หากแกะหรือแพะติดเชื้อก็จะทำให้ตายแน่นอน 100% แย่ไปกว่านั้นเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อถูกแบนไม่สามารถขายเพื่อการบริโภคได้ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศในการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลัก หลังจากนั้นมีรายงานว่าไข้ริฟต์วาลเลย์กลายพันธุ์จนติดสู่คนในรูปแบบที่ยากจะคาดเดา
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มสมาพันธ์ EcoHealth นำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เห็นภาพที่เชื่อมโยงขึ้น ในช่วงร้อนและแล้งหนัก ภูมิอากาศไม่ได้แค่เปลี่ยนเพียงภูมิประเทศเท่านั้น แต่กระทบต่อการใช้สอยพื้นที่ของมนุษย์ในการทำเกษตรและปศุสัตว์
พวกเขาพบว่า สัตว์ที่เป็นพาหะหลักคือ ยุง สายพันธุ์ Aedes mcintoshi โดยเฉพาะยุงเพศเมียจะเป็นแหล่งพาหะสำคัญ เมื่อยุงวางไข่ในแหล่งน้ำ จากที่ลูกน้ำที่ต้องออกจากไข่ได้เร็วตามธรรมชาติ (และแน่นอนว่า ประชากรยุงจะถูกควบคุมจากสัตว์นักล่าอื่นๆ ทำให้ประชากรยุงลดลง) แต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้หน้าแล้งทิ้งช่วงนานขึ้น แหล่งน้ำแม้แห้งขอดแต่ไข่ยุงยังมีชีวิต เพราะยุงมีการปรับตัวทางชีวภาพทำให้ไข่ยุงมีความทนแล้งเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะน้ำแล้งไปแล้วแต่ไข่ยุงจะอยู่ในสถานะ ‘จำศีล’ นานเป็นปี ในช่วงนี้ไข่ยุงจะไม่ถูกกินจากนักล่าที่ลดจำนวนลงในช่วงแล้ง เมื่อถึงคราน้ำมาอีกครั้ง ลูกน้ำจะออกจากไข่และมีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพแล้ง ยุงเพศเมียจะออกดูดเลือดสัตว์ในระบบปศุสัตว์ของมนุษย์ที่กินพื้นที่ประชิดกับลุ่มน้ำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดจากสัตว์สู่คนและกลายพันธุ์เป็นไข้ ‘ริฟต์วาลเลย์’ ในที่สุด
โครงการใช้ข้อมูลดาวเทียมจาก NASA เผยให้เห็นว่า ยิ่งสภาพภูมิอากาศในพื้นที่นั้นมีความผันผวนสูงมากเท่าไหร่ จะมีโอกาสเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ปริมาณฝนเองก็มีส่วนในการประเมินปริมาณไข่ยุงที่จะวางในแหล่งน้ำแต่ละปี
จากข้อมูลของสถาบัน National Academy of Sciences ระบุว่าในรอบ 70 ปีที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยๆ ความอุ่นในแต่ละพื้นที่มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะประชากรแมลงที่ในระยะหลังอพยพเข้าใกล้ชุมชนมนุษย์ พวกมันเปลี่ยนแหล่งอาหารในธรรมชาติเป็นการกินสิ่งปฏิกูลและขยะที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เช่น แมลงวัน ยุง หนู ปรสิตสายพันธุ์ต่างๆ จากนั้นสัตว์กลุ่มนักล่าที่มีแนวโน้มเป็นพาหะอย่างค้างคาวและงู ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้ามาหากินในชุมชน ทำให้มีโอกาสที่มนุษย์และสัตว์จะส่งผ่าน Pathogen (จุลินทรีย์ก่อโรค) ข้ามสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อที่มีความสามารถเฉพาะตัวในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ความเชื่อมโยงอันเป็นพลวัตนี้ ทำให้ระบบสาธารณสุขโลกพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการปัญหาที่เรียกว่า One Health (เอกาสุขภาพ) ที่ให้ความสำคัญว่า ทุกคนในสังคมต้องให้ความร่วมมือในการสร้างสุขภาพที่ดีทั้งมนุษย์และสัตว์ ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือในระดับโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีสมดุลสำหรับคนสัตว์และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในอดีตเรามักเน้นเพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น คือให้ความสำคัญกับมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ระยะหลัง เรามีรายงานการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนจำนวนมาก เช่น รายงานการระบาดโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ รายงานการระบาดโรคนิปาห์ในประเทศมาเลเซีย และรายงานการระบาดโรคไข้หวัดนกในทวีปเอเชีย ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการระบาดมากขึ้น ได้แก่ การเร่งเพิ่มผลผลิตจากสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการบริโภคของมนุษย์
climate change สามารถทำให้ทุกประเทศมีความเสี่ยงต่อความยากจน (poverty) เพิ่มขึ้น ยิ่งจนมากสังคมก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคระบาด โดย WHO คาดการณ์ว่า หากโรคระบาดเกิดในพื้นที่ยากจน โรคนั้นจะมีโอกาสในการคร่าชีวิตประชากรสูงขึ้นอีก 45% น่ากังวลอีกว่าใน 10 ปีข้างหน้า climate change จะทำให้มีคนจนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 122 ล้านคน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน และเมื่อมนุษย์ย้ายถิ่นก็ยิ่งมีโอกาสนำโรคระบาดไปติดพื้นที่อื่นๆได้
ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงด้วยกันทั้งสิ้น ไวรัสโคโรนาจากอู่ฮั่นเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นศักยภาพการแพร่ระบาดไปทั่วโลกในรูปแบบที่ยากจะคาดเดาของไวรัสที่ติดอาวุธพิษสงเพิ่มขึ้น ต่อไปเราต้องมองอุบัติการณ์เกิดโรคอย่างเป็นระบบ มองให้ครบทั้ง สิ่งแวดล้อม สัตว์ มนุษย์ และเทคโนโลยี
ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่งเสียแล้ว โรคระบาดจะเป็นความท้าทายของมนุษยชาติที่ผลักให้มนุษย์ต้องรีบเข้าใจธรรมชาติให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
An eco-health approach to Rift Valley Fever control among pastoralist communities in Kenya
The One Health Concept: 10 Years Old and a Long Road Ahead