ช่วงเวลาสั้นๆ ตอนอายุประมาณ 9 ขวบ อดัม ลูกชายอุปถัมภ์ของโยฮันน์ ฮาริ (Johann Hari) หลงใหลในผลงานของ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ราชาร็อคแอนด์โรลเป็นอย่างมาก เดินไปไหนก็จะร้องเพลงและทำท่าเต้นที่จำมาจากทีวีไปด้วย
วันหนึ่งอดัมบอกฮาริว่าเขาอยากจะไปเที่ยวเกรซแลนด์สักครั้งหนึ่ง (Graceland – อดีตแมนชั่นของเอลวิสที่ถูกปรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์) ด้วยความเอ็นดูและตอนนั้นอดัมก็ยังเด็ก ฮาริเลยตอบตกลงไปโดยไม่คิดอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งที่หลายอย่างในชีวิตของอดัมดูผิดพลาดไปซะหมด
10 ปีต่อมา เขากลายเป็นเด็กที่เรียนไม่จบมัธยมปลาย ลาออกตั้งแต่อายุ 15 ใช้เวลาอยู่แต่กับหน้าจอ ถ้าไม่ยูทูบ Snapchat ก็ WhatsApp หรือไม่ก็เว็บไซต์เรื่องอย่างว่า สลับสับเปลี่ยนกันไป แต่เรียกว่าหน้าติดจอก็คงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับอดัมไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน หลายคนอาจจะเคยเห็นหรือเคยเป็นหรือยังเป็นแบบนั้นอยู่
ฮาริ ซึ่งเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของอังกฤษบอกว่า
“ความสามารถในการโฟกัสนั้นกำลังแตกร้าว ผมเพิ่งอายุ 40 ปี และทุกครั้งได้นั่งคุยกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็จะพูดถึงเรื่องความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อที่หายไป ผมยังอ่านหนังสือเยอะ แต่ทุกปีที่ผ่านไป มันให้ความรู้สึกเหมือนกำลังพยายามวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนลงอยู่”
ความรู้สึกไม่สบายใจก่อตัวหนักขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งระหว่างที่อดัมนั่งเล่นมือถืออยู่บนโซฟาที่บ้าน ฮาริจึงเอ่ยขึ้นมาว่า “อดัม เราไปเกรซแลนด์กัน” และเล่าถึงสัญญาวัยเด็กที่เคยให้ไว้ แววตาของอดัมดูตื่นเต้นไม่น้อย ซึ่งฮาริเองก็หวังว่าการไปเที่ยวครั้งนี้จะจุดประกายอะไรบางอย่างในตัวอดัมด้วย “แต่มีเงื่อนไขอย่างหนึ่ง” ฮาริบอกอดัม “วันที่เราไปเที่ยวจะไม่มีการใช้มือถือเด็ดขาด” อดัมสัญญาตามนั้น
มีบางอย่างที่ผิดปกติแต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง?
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตอนนี้การเดินทัวร์ที่แมนชั่นของเอลวิส ไม่จำเป็นต้องใช้ไกด์ทัวร์ที่เป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่ทุกคนจะได้ iPad คนละเครื่องเพื่อคอยกดฟังและดูรายละเอียดของแต่ละห้องไประหว่างทาง
ห้องที่ถือเป็นไฮไลต์คือห้อง ‘Jungle Room’ ที่ถือเป็นห้องโปรดสำหรับเอลวิสสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ห้องนี้เต็มไปด้วยต้นไม้จำลองเหมือนป่าขนาดย่อม ขณะที่ iPad กำลังร่ายข้อมูลอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ฮาริก็เริ่มสังเกตเห็นบางอย่างที่รบกวนจิตใจไม่น้อย คนที่อยู่ตรงนั้น ในแมนชั่นของเอลวิส แม้กำลังยืนอยู่ในห้องโปรดของราชาเพลงร็อคแอนด์โรลของยุคสมัย แต่สิ่งที่คนสนใจมากกว่าคือเจ้า iPad ในมือ
แทนที่จะดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้า แต่กลับจดจ้องไปที่หน้าจอที่อยู่ในมือ
แต่อดัมนั้นหนักยิ่งกว่า แอบหลบไปยืนที่มุมห้อง ไหลฟีดโซเชียลมีเดียบนโทรศัพท์ที่แอบถือไว้ใต้เสื้อแจ็กเก็ต และตลอดทางที่มาตั้งแต่เครื่องลงเขาก็ไม่เคยทำตามสัญญาที่ให้ไว้เลย ฮาริฉุนขาด เดินเข้าไปคุย ทวงถามสัญญาที่เคยคุยกัน พยายามดึงมือถือจากมืออดัม แต่อดัมก็ไม่ยอมฉุดมือถือเขาคืนแล้วก็เดินกระทืบเท้าออกไป
และทัวร์เกรซแลนด์จบลงแค่นั้น…
คืนนั้นที่โรงแรมอดัมนั่งอยู่ข้างๆ สระว่ายน้ำของโรงแรม แววตาของเขาดูเศร้ากว่าปกติ ฮาริแม้จะยังโกรธกับเรื่องที่เกิดขึ้นตอนกลางวัน เขาเดินไปนั่งคุยกับอดัมและเริ่มเข้าใจบางตอนนั้นว่า ความโกรธ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจที่มันเกิดขึ้นข้างในนั้นไม่ใส่สิ่งที่เขารู้สึกต่ออดัม แต่เป็นตัวเขาเองต่างหาก เขาโมโหและไม่พอใจที่ความสามารถในการโฟกัสและมีสมาธิจดจ่อของตัวเองกำลังแย่ลงเรื่อยๆ และเขาเกลียดความรู้สึกนี้มาก
อดัมเงยหน้าขึ้นมาจากโทรศัพท์แป๊บหนึ่งแล้วบอกว่า “ผมรู้นะว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้รู้เลยว่าจะแก้ไขมันยังไงดี” แต่พอพูดจบก็หันกลับไปไถฟีด Snapchat ต่อ
หรือทุกอย่างมันเป็นเพราะ Switch-Cost Effect?
ความสามารถในการโฟกัสและมีสมาธิกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยสามารถโฟกัสที่งานตรงหน้าได้เพียง 65 วินาที พนักงานบริษัททั่วไปทำได้ดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น
นั่นคือบางส่วนของข้อมูลที่ฮาริได้รับมาจากการเดินทางไปทั่วโลกกว่า 3 ปี ตั้งแต่ ไมอามี มอสโคว เมลเบิร์น ออริกอน ฯลฯ เพื่อสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ (กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือ ‘Stolen Focus’ ของ ฮาริด้วย)
จากที่เคยหงุดหงิด โทษตัวเองหรือไม่ก็โทษโทรศัพท์ที่กัดกร่อนความสามารถในการโฟกัส เขาได้เรียนรู้ว่าที่จริงมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่มากกว่านั้นด้วย ความสามารถในการโฟกัสของเราไม่ได้หายไป เพียงแต่ถูกขโมยไปซะมากกว่า เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คอยกระตุ้นเราอยู่เสมอ ทำให้การโฟกัสหรือการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเป็นเรื่องยาก นี่คือวิกฤติที่คนรุ่นใหม่ๆ ต้องเผชิญและมันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราทุกคน
วิธีแก้ไขหนึ่งที่ฮาริได้ลองทำคือการหยุดใช้เครื่องมือสื่อสาร ปิดมือถือ ปิดคอมฯ แล้วไปใช้ชีวิตในเมืองเล็กๆ สัก 3 เดือน (บางคนอาจจะเรียกว่า Digital Detox) ซึ่งเขาก็ทำแบบนั้นและรู้สึกสงบลงจริงๆ มีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้นและโฟกัสได้ดีขึ้น
ศาสตราจารย์เอิร์ล มิลเลอร์ (Earl Miller) นักประสาทวิทยาจาก MIT อธิบายเรื่องนี้ว่า “สมองของคุณสามารถสร้างความคิดได้เพียง 1 หรือ 2 ความคิดเท่านั้นในเวลาหนึ่ง” และ “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดได้ทีละอย่าง เรามีความสามารถในการรับรู้ที่จำกัดมาก”
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นภาพลวงตาครั้งใหญ่ของยุคสมัยปัจจุบันคือความเชื่อที่ว่าเราสามารถ ‘Multi-Tasking’ ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหน้าจอ 4 5 6 อันได้ในเวลาเดียวกัน สมองที่ทำงานอย่างลื่นไหลสลับงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจว่าเรามีความสามารถพิเศษ เพียงแต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย “สมองคุณต้องตั้งค่าใหม่อีกครั้งทั้งหมดเวลาสลับเปลี่ยนงาน” แม้จะแค่หยิบโทรศัพต์ขึ้นมาดู 3 วินาทีก็ตาม ศาสตราจารย์มิลเลอร์อธิบาย
สมองเราต้องรื้อฟื้นความคิดที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เพื่อทำงานนั้นต่อหลังจากที่ถูกรบกวน งานจะช้าลง ผลงานแย่ลง ซึ่งทุกอย่างก็เป็นผลมาจากการสลับเปลี่ยนไปมาหรือที่เขาเรียกว่า ‘Switch-Cost Effect’ นั่นเอง
ลื่นไหล จดจ่อ และดำดิ่ง อาจช่วยให้เราพ้นวิกฤตนี้ได้
ฮาริค้นพบต่อมาว่าการแค่ตัดตัวเองออกจากสิ่งรบกวนต่างๆ รอบตัวนั้นไม่เพียงพอ เขารู้สึกว่ามันเกิดพื้นที่ว่างๆ ข้างในจิตใจ จึงเริ่มคิดถึงหลักการทางจิตวิทยาที่เคยได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับ ‘ภาวะลื่นไหล’ (Flow) ประสบการณ์ความรู้สึกเติมเต็ม ดำดิ่ง มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ เพลิดเพลิน จนลืมเวลาว่าผ่านไปนานเท่าไหร่แล้ว มักเกิดขึ้นเมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างที่ชอบ และมีความถนัด
ระหว่างที่อยู่ภาวะลื่นไหล อัตตาของคุณดูเหมือนจะหายไป มันคือรูปแบบของการจดจ่อที่ลึกที่สุดที่มนุษย์สามารถมีได้ แต่เราจะไปถึงจุดนั่นได้อย่างไร?
หลังจากที่บินไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ มิฮาลี ชิคเซนมิฮาย (Mihaly Csikszentmihalyi) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภาวะลื่นไหลและทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาถึง 40 ปี ศาสตราจารย์ชิคเซนมิฮายบอกว่า การจะเข้าสู่ภาวะลื่นไหลนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง
- คุณต้องเลือกเป้าหมายเพียง ‘หนึ่ง’ อย่าง เพราะมันใช้พลังงานทางสมองแบบเต็มที่ไปในทิศทางเดียว
- เป้าหมายต้องเป็นสิ่งที่มีความหมายกับคุณ
- งานที่ทำต้องมีความท้าทายมากพอ ติดขอบของทักษะความสามารถที่จะทำให้คุณพยายามมากขึ้นอีกนิด
แล้วถ้าแค่ลื่นไหล จดจ่อ อาจไม่พอ?
แม้เราจะเข้าใจว่าการตัดเสียงรบกวนออกจากชีวิต ตั้งเป้าหมายในทำงานอย่างเดียวไม่สลับเปลี่ยนไปมา และสุดท้ายพยายามเข้าสู่ภาวะลื่นไหลเพื่อจะได้จดจ่อกับงานได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอในมุมมองของฮาริ
ที่มอสโคว เขาได้พบกับ เจมส์ วิลเลียมส์ (James Williams) อดีตพนักงานของกูเกิ้ล ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงทางด้านสมาธิและการจดจ่อ ซึ่งวิลเลียมส์บอกว่าสิ่งที่ฮาริทำนั้นแม้จะไม่ได้ผิด แต่มันก็ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอซะทีเดียว การป้องกันตัวเองนั้น ‘ไม่ใช่คำตอบ’ เหตุผลเดียวกันกับการใส่หน้ากากกันแก๊ส 2 วันต่อสัปดาห์เวลาออกไปข้างนอกไม่ใช่คำตอบของปัญหามลภาวะทางอากาศ ในระยะสั้นมันอาจจะทำให้ผลกระทบในบางเรื่องไม่ให้บานปลาย แต่มันไม่ยั่งยืน และไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ”
สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างจริงๆ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตัวเราด้วย
นั่นหมายถึงวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
ฮาริบอกว่า “ผมมัวแต่ไปโฟกัสที่เทคโนโลยีในตอนแรก แต่ที่จริงแล้วสาเหตุของมันกว้างมาก”
การแก้ไขด้วยตัวเราเองนั้นจะช่วยทำให้เรากลับมาโฟกัสและจดจ่อได้มากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานและการใช้ชีวิตของเราด้วย ยกตัวอย่างเช่นคุณควรจะมีตารางการทำงานและเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน ในบางประเทศเราเห็นกฎหมาย ‘Right to Disconnect’ ที่ห้ามบริษัทติดต่อพนักงานนอกเหนือเวลางาน ถ้าผิดกฎก็จะถูกปรับ หรือถ้าอย่างบ้านเราไม่มี ก็คุยตกลงกับเพื่อนหรือหัวหน้าให้เข้าใจกัน
สิ่งที่ฮาริแนะนำสำหรับโซเชียลมีเดียคือการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ แทนที่จะขายโฆษณาหรือขายข้อมูลเราให้บริษัทโฆษณา ก็หันมาเก็บเงินค่าใช้เป็นรายเดือน หรือแม้แต่การสร้างโซเชียลมีเดียที่ทุกคนเป็นเจ้าของ แม้มันจะดูเป็นจริงได้ยาก แต่อย่างน้อยๆ เราควรจะมีทางเลือกสำหรับตัวเองมากกว่านี้
อย่างแรกเราต้องเลิกโทษตัวเองก่อน ยอมรับว่าความสามารถและพลังงานในการจดจ่อนั้นมีจำกัด เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกในแต่ละวันว่าจะใช้มันกับอะไร ลองใช้เครื่องมือและเทคนิคในการสร้างสมาธิให้มากขึ้นก็พอช่วยได้ แต่สุดท้ายเราอยู่ในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เรียกร้องความสนใจอยู่ตลอดเวลาอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องแก้ตัวระบบและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวไปพร้อมกันด้วย การปรับเวลาทำงาน เคารพในช่วงเวลาส่วนตัวของเราและคนอื่น เรียกร้องสิทธิ์ของเวลาพักผ่อนที่ควรได้รับจากบริษัทก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นเดียวกัน
แม้จะยังแก้ไขทั้งหมดไม่ได้ แต่วันนี้เราน่าจะพอจะทราบสาเหตุความผิดปกติที่อดัมพูดถึงแล้ว
โฟกัสของเราไม่ได้หายไป แต่มันถูกขโมยไปจากเราโดยสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวซะมากกว่า
อ้างอิงจาก