คงต้องบอกว่าเป็นยุคที่เรื่องสกุลเงินดิจิทัลมาแรงจริงๆ เพราะล่าสุด ‘วชิรา อารมย์ดี’ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแถลงข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัล Retail CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลาง เป้าหมายเริ่มต้นทดสอบคือช่วงไตรมาส 2 ปี พ.ศ.2565 โดยเริ่มภายในวงแบงก์ชาติก่อน และจะขยายสู่ประชาชนทั่วไป ร้านค้ารายใหญ่ รายย่อย ผู้ให้บริการการเงินต่างๆ ในเฟสถัดไป
โดยแผนทดสอบคือ
- การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด โดย ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2/2565
- การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่างๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
ทั้งนี้ วชิราได้เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน ‘The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand’ เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง โดยระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. นั้น จะเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งประชาชนสามารถนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเช่นเดียวกับธนบัตร ซึ่งจะมีคุณลักษณะสำคัญ คือ ไม่มีความเสี่ยง สะดวก ปลอดภัย และเปิดกว้างต่อการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ในการเชื่อมต่อ
ด้านผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยมีลักษณะสำคัญ คือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย (2) อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลาง
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC มองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและเอื้อให้เกิดการแข่งขันในอนาคต และมีการเสนอเพิ่มเติมให้แบงก์ชาติเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลตัวนี้ ทั้งด้านประโยชน์และการใช้งานแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นว่าแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ปัจจุบันอย่างไร
โดยทางแบงก์ชาติคาดหวังว่า สกุลเงินดิจิทัล Retail CBDC จะมีประชาชนเข้ามาใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไป เข้ามาเป็นทางเลือกชำระเงิน และทดแทนเงินสดได้ในบางส่วนในระยะต่อๆ ไป ทั้งนี้ระบุด้วยว่า Retail CBDC จะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของประเทศ เพราะเป็นสกุลเงินที่ทดแทนเงินสดในจำนวนเท่านั้น ปริมาณเงินในตลาดจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนเฉพาะองค์ประกอบของฐานเงินจากเงินสดเป็น retail CBDC แทน
โอกาสใหม่บน Retail CBDC
รายงานจากข่าวสด ระบุถึงโอกาสอื่นๆ ที่จะมากับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยแบงก์ชาติ โดย ‘ฐิติมา ชูเชิด’ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. บอกว่า Retail CBDC เป็นทางเลือกของเงินสด เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีปลอดภัยสูง และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ แก่ประชาชน
ส่วนประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน คือจะทำให้ระบบการชำระเงินเชื่อมโยงกันมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงิน ด้านประโยชน์สำหรับภาครัฐ คือทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินที่พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยภาพรวมจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ลดต้นทุนการใช้เงินสดต่อระบบเศรษฐกิจ ช่วยเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น ผ่านผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย และป้องกันการผูกขาดระบบการชำระเงินของธุรกิจการเงินภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียม คุณภาพการบริการ และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
รู้จัก CBDC
สกุลเงินดิจิทัลมีระบบเบื้องหลังคือ Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่นำข้อมูลแยกเป็นกล่องและร้อยต่อกัน เมื่อมีการทำธุรกรรม ระบบจะบันทึกข้อมูลและกระจายสำเนาส่งต่อให้คนอื่นๆ ในระบบทุกคน จึงมีความปลอดภัย ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยฝีมือมนุษย์ และช่วยลดต้นทุนต่างๆ เช่นการจัดเก็บ
เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่เป็นสถาบันที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงหันมาศึกษาบล็อกเชนในการทำธุรกรรมการเงิน และการออก Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ
แล้ว CBDC ต่างกับคริปโตเคอร์เรนซีอย่างไร? ข้อมูลจากธนาคารกลางประเทศไทยระบุว่า “ความต่างคือ CBDC ถือเป็นสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin, Ether หรือ Ripple ที่ออกโดยภาคเอกชน และมีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)”
ดังนั้น CBDC จึงเป็นสกุลเงินที่มีมูลค่าคงที่ และขึ้นลงตามค่าเงินบาทไทย ไม่สามารถเทรดเก็งกำไรได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก