*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
ถ้าพูดถึงวงการคริปโตเคอร์เรนซีหรือเหรียญสกุลเงินดิจิทัล ก็คงต้องนึกถึง ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เหรียญคริปโตฯ แรกของโลก ที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนกับทองคำของโลกคริปโตฯ และหลายคนก็ยังเรียกบิตคอยน์แทนการเรียกตลาดคริปโตฯ ทั้งตลาดด้วยล่ะ
ว่าแต่บิตคอยน์แท้จริง บิตคอยน์มีต้นกำเนิดอย่างไร ทำไมถึงเติบโตสู่มูลค่าเหรียญละ 2 ล้านบาทได้ ทั้งที่ราวปี ค.ศ.2009 บิตคอยน์ 10,000 เหรียญแลกพิซซ่าได้เพียงสองถาดเท่านั้น ไอเดียของบิตคอยน์น่าทึ่งขนาดไหนถึงทำให้คนมองเห็นมูลค่ามันร่วมกัน และได้ชื่อว่าเป็นทองคำแห่งโลกคริปโตฯ
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2009 บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้น โดยผู้สร้างที่ใช้นามแฝงว่า ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ (Satoshi Nakamoto) ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงของเขาคือใครกันแน่ ประจวบเหมาะซึ่งเป็นปีเดียวกันกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นวิกฤติการเงินที่ลามไปทั่วโลก
ในเวลาดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจออกมาอุ้มเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินออกมาเพิ่ม เพื่อไม่ให้บริษัท องค์กร และธนาคารล้มละลาย ซึ่งการเงินแบบเก่าที่มี ‘ตัวกลาง’ คอยตัดสินใจว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรนี่แหละ ทำให้คนบางกลุ่มเกิดคำถามและความไม่พอใจขึ้นมาว่า ทำไมภาษีประชาชนถึงควรนำมาใช้อุ้มสถาบันการเงิน? ทั้งๆ ที่ประชาชนเองก็ไม่ใช่คนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
นากาโมโตะจึงได้พัฒนาเหรียญสกุลดิจิทัลขึ้นมาเป็น ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ บนเงื่อนไข คือ มีจำนวนจำกัด เพื่อไม่ให้ทางการหรือตัวกลางใดไม่ว่าจะธนาคาร สถาบันการเงิน กลต. กำกับหรือควบคุมได้ พร้อมประกาศว่า นี่คือเหรียญที่จะเป็นสกุลเงินที่โปร่งใสที่สุดในโลก ด้วยเหตุผลที่มันดำเนินการบนเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เป็นมูลค่าเงินที่ทุกคนจะเข้าถึง และรับรู้การเกิดขึ้นของธุรกรรมได้ อย่างพร้อมกันทั่วโลก
ทั้งนี้ มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงสาเหตุที่นากาโมโตะไม่เปิดเผยตัวตน แม้จะมีหลายคนตามหาตัวเขา เพราะหากเขาเปิดเผยตัวตน เขาเกรงว่าจะทำให้บิตคอยน์สูญเสียความสามารถในการกระจายศูนย์ (decentralization) เพราะถ้าทุกคนรู้ตัวตนที่แท้จริงของเขาว่าเป็นผู้สร้าง ตลาดจะให้ความสำคัญกับคำพูดหรือการขยับของเขาแต่เพียงคนเดียว ซึ่งขัดแย้งกับความตั้งใจจะกระจายศูนย์
ด้วยไอเดียดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำกล่าวไว้ด้วยว่า “บิตคอยน์ = ประชาธิปไตยทางการเงิน” ที่ทุกคนจะมีสิทธิเข้าถึง ตรวจสอบ มีโอกาสกับมันอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะจะไม่มีเงื่อนไขใดกีดกันในการถือครอง และแน่นอนว่าตรวจสอบธุรกรรมย้อนกลังได้ทุกธุรกรรมนั่นเอง
สิ่งสำคัญอื่นๆ ที่เราควรรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์ มีอะไรบ้าง ลองไล่เรียงกันดูดีกว่า
บิตคอยน์มีแค่ 21 ล้านเหรียญและจะไม่มีเพิ่มเติมไปมากกว่านี้
เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและเท่าทวี ผู้สร้างจึงจำกัดไว้เพียงแค่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น และเพราะมันจำกัด จึงทำให้ราคาปรับตัวสูดขึ้น ซึ่งปัจจุบันบิตคอยน์ถูกขุดออกมาแล้วประมาณ 18 ล้านเหรียญ โดยคาดการณ์ว่าจะครบ 21 ล้านเหรียญภายใน 119 ปีต่อจากนี้ หรือ ค.ศ.2140
บิตคอยน์ทำให้เกิดเหรียญทางเลือก (alt coin) อื่นๆ ตามมา
ไม่ว่าจะอีธีเรียม (ETH) หรือกระทั่ง DOGE เหรียญมีมที่กำเนิดมาแล้วประกาศว่า ตัวเองเกิดมาเพื่อเสียดสีบิตคอยน์ แต่จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ มีคริปโตฯ เกิดใหม่มากมายเพราะมองเห็นมูลค่าและความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากบิตคอยน์
บิตคอยน์มีมูลค่าและส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดคริปโตฯ
ปัจจุบันราคาบิตคอยน์ทำราคาสูงสุดทะลุ 2 ล้านบาท/เหรียญไปเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้า บริการ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และสามารถทำธุรกรรมได้ทั่วโลกโดยใช้แค่อินเทอร์เน็ตเท่านั้น ทำให้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมข้ามประเทศถูกกว่าการเงินแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก
และมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดการเทรดทั่วโลกสูงที่สุด ทั้งนี้ การเป็น ‘เหรียญแรก’ และมูลค่าของมัน ทำให้บิตคอยน์เป็นเหรียญผู้นำตลาด ที่บางครั้งก็ทำให้เหรียญทางเลือกอื่นๆ มีมูลค่าขึ้น-ลงตามบิตคอยน์ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากเห็นตลาดเป็นสีแดง เมื่อราคาบิตคอยน์ตกลง
มีการลดอัตราการขุด (halving) เหรียญทุกๆ 4 ปี
มีสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin halving หรือการลดอัตราการขุดเหรียญบิตคอยน์ในทุกๆ ปี โดยเป็นเงื่อนไขที่นากาโมโตะสร้างไว้ตั้งแต่แรก โดยทุกๆ 10,000 บล็อกที่นักขุดบิตคอยน์สร้างขึ้น จะมีการลดรางวัลนักขุดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งรางวัลดังกล่าวก็คือเหรียญบิตคอยน์ที่เกิดใหม่นั่นเอง (กล่าวง่ายๆ คือ การขุดบิตคอยน์จะยากขึ้นเรื่อยๆ)
ปัจจุบัน halving เกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งรางวัลจะลดลงครึ่งหนึ่ง จากเริ่มแรก 50 BTC/บล็อก ตอนนี้เหลือเพียง 6.25 BTC/บล็อก เท่านั้น บิตคอยน์จึงหาได้ยากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
อ้างอิงข้อมูลจาก