สาวก ‘มูจิ’ (MUJI) แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้านสไตล์มินิมอลจากญี่ปุ่น ได้ยิ้มแป้นกันอีกครั้ง เพราะเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางแบรนด์ได้ปรับลดราคาสินค้าลงกว่า 200 รายการ ของบางชิ้นที่ไม่เคยลดก็ปรับลดราคาตั้งลง หรือบางชิ้นที่เคยปรับราคาลงมาแล้ว ก็ปรับดับเบิ้ลเข้าไปอีก ซึ่งทำให้อยู่ในมูลค่าที่คนไทยเอื้อมถึงได้มากขึ้น โดยราคาที่ปรับลงเป็นราคาที่ถาวร
.
บนเพจเฟซบุ๊กของ MUJI Thailand ให้โพสต์ประกาศพร้อมเหตุผลว่า “ปรับราคาสินค้าครั้งใหม่ กว่า 200 รายการ เพื่อให้ได้ราคาที่จดจำได้ง่ายและง่ายต่อการซื้อ เราจึงได้ค้นคว้าหาขั้นตอนการผลิตที่น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพขึ้น ทบทวนถึงสิ่งที่ตัดทอนได้ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุนในการผลิตแล้วจึงนำสิ่งเหล่านั้นมาคืนให้แก่ลูกค้าของเรา เราจะยึดมั่นในแนวคิดนี้ต่อไป เพื่อนำไปปรับปรุงราคาสินค้าใหม่ให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น”
.
ย้อนกลับไปตอนที่มูจิเข้ามาในไทยใหม่ๆ ผู้บริโภคต่างยอมควักกระเป๋าเงินจ่ายให้กับสินค้าที่ไม่มีแม้แต่โลโก้แปะ แต่ดีไซน์เนี๊ยบ ทันสมัย และเรียบง่าย ด้วยราคาที่สูงกว่าแบรนด์อื่นในตลาด มูจิสร้างฐานแฟนเหนียวแน่นอย่างปฏิเสธไม่ได้
.
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูจิก็ได้ทยอยออกมาปรับราคาสินค้าลงถาวรหลายต่อหลายครั้ง ในหลายประเทศด้วย โดยบางครั้งก็ปรับราคาลงกว่า 1,000 สินค้าพร้อมกัน
.
การปรับราคาลงถาวรหลายครั้ง อาจเป็นเรื่องที่สะกิดให้เห็นว่า หรือการแข่งขันในตลาดด้วยราคาที่ตั้งมาแต่แรกจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก? นักการตลาดหลายคน ก็พูดไปในทำนองเดียวกันว่า เพราะมีแบรนด์ไลฟ์สไตล์จากจีนที่เข้ามาบุกตลาด เปิดสาขาทั่วประเทศ ขายสินค้าที่ดีไซน์ทันสมัย กลิ่นอายคล้ายกัน แต่ราคาย่อมเยาว์กว่าหลายช่วงตัว นั่นเป็นเหตุผลที่ทางมูจิต้องทยอยปรับราคาลงมาถาวรเพื่อขายสู้ให้ได้ จากก่อนหน้านี้ที่จะมีการเซลล์เป็นช่วงๆ เท่านั้น
.
ขณะเดียวกันกรณี COVID-19 ก็ทำให้หน้าร้านมูจิในหลายประเทศต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก และญี่ปุ่นมีการปิดกว่าครึ่ง ซึ่งทั้งสองโซนที่เป็นรายได้หลัก ทำรายได้ให้บริษัทก็เกินครึ่งไปแล้ว
.
ซึ่งดูมีเค้า เพราะเราลองแงะงบประมาณรายได้ของมูจิออกมา ผลกำไรของพวกเขาก็ลดลงเยอะเหมือนกันในปี ค.ศ.2019 บริษัทมูจิ รีเทล ในไทย มีรายได้รวม 1,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.34% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 71.52 ล้านบาท ลดลง 10.36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
.
ขณะที่มูลค่าหุ้นบริษัทแม่ของมูจิ ‘เรียวฮินเคคาขุ’ (Ryohin Keikaku) ได้โตกว่า 3 เท่าในระหว่างปี 2013-2018 และขึ้นจุดสูงสุดในปี 2018 แต่ 2 ปีที่ผ่านมา หลายบททดสอบก็ทำให้ตกลงต่อเนื่อง 60% จนมูลค่าบริษัทหายไปกว่า 2 แสนล้านบาท
.
ซึ่งแม้ว่าวันนี้ พวกเขาจะยังทำกำไรจากทั่วโลกได้ปีละเกินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ขายดีเท่าเดิม เพราะกำไรชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ราว 3 ปีก่อน
.
ลองประกอบสร้างเหตุผลขึ้นมา น่าจะมองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าทำไมตั้งแต่ปีที่แล้ว เราจึงเห็นการปรับราคาลงถาวรของมูจิถี่ขึ้น
.
ก็น่าจะเป็นทั้งเรื่องของการปรับราคาให้ลูกค้าซื้อในบ้านเกิดตัวเองได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอบินมาช้อปที่ญี่ปุ่น เพราะบินมาไม่ได้อยู่แล้ว และเป็นการระบายคลังสินค้าที่มีการสต็อกเอาไว้สำหรับช่วงเวลาที่ทุกหน้าร้านเปิดได้เป็นปกติ
.
“ผมมีวิสัยทัศน์ว่าในปี ค.ศ.2030 มูจิจะมีสาขาในเมืองหลักทุกเมืองของโลก และคนจะซื้อของของมูจิเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน” ซาโตรุ มัตสึซากิ ประธานบริษัทเรียวฮินเคคาขุ บอกเล่าความคาดหวังเอาไว้ ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง
.
การจะไปให้ถึงจุดนั้น ก็คงต้องผ่านช่วงขรุขระนี้ไปก่อน ถือว่าเป็นบททดสอบครั้งประวัติศาสตร์เหมือนกัน สำหรับแบรนด์ดีไซน์เรียบง่าย ที่มีผลกำไรไม่เคยเรียบง่ายมาตลอด จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งในฐานะที่เปิดบริษัทมากว่า 40 ปี นี่อาจจะเป็นการก้าวข้ามครั้งสำคัญเลยทีเดียว
.
มูจิ (MUJI) หรือชื่อเต็มคือ Mujirushi Ryohin แปลว่าสินค้าคุณภาพดีไม่ต้องมียี่ห้อ ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 ผลิตสินค้ามุ่งเน้นเรื่องของคุณภาพดีกว่า 7,000 รายการ ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เสื้อผ้า อาหาร และขยายสาขาไปทั่วโลกกว่า 1,000 สาขา ทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
.
ในประเทศไทย เปิดกิจการครั้งแรกในปี 2006 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทแม่ เรียวฮินเคคาขุ และเครือเซนทรัล โดยใช้ชื่อว่า บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันมีกว่า 20 สาขาในประเทศไทย
.
https://www.facebook.com/muji.thailand/