เพราะมหาสมุทรของเรายังซ่อนสิ่งมีชีวิตลึกลับไว้อีกมากมาย ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบปลาฉลามสายพันธุ์เรืองแสงได้ใต้ท้องทะเลลึกที่ Chatham Rise นอกชายฝั่งตะวันออกของเกาะทางใต้ของประเทศนิวซีแลนด์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลัยคาทอลิกเลอวิง ( Université Catholique de Louvain) ประเทศเบลเยียม และสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติ (NIWA) ในนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ค้นพบปลาฉลามเรืองแสงทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ Dalatias licha (ฉลามไคท์ฟิน), Etmopterus lucifer (ฉลามโคมไฟท้องดำ) และ Etmopterus granulosus (ฉลามโคมไฟใต้)
สำหรับฉลามสายพันธุ์ไคท์ฟิน เป็นฉลามน้ำลึกสายพันธ์ุใหญ่ สามารถเติบโตได้ถึง 180 เซนติเมตร ปัจจุบันถือเป็นสัตว์เรืองแสงที่มีกระดูกสันหลังใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ซึ่งเหล่านักวิจัยเรียกฉลามสายพันธ์ุนี้ว่า ‘ฉลามเรืองแสงขนาดยักษ์’
ฉลามทั้ง 3 สายพันธุ์เป็นที่คุ้นเคยสำหรับเหล่านักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วในฐานะสัตว์เรืองแสง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบปรากฎการณ์เรืองแสงจากพวกมัน โดยกลุ่มนักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้นักชีววิทยาทางทะเลเข้าใจสิ่งมีชีวิตในทะเลมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีการศึกษาน้อยที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก
ตามปกติ ฉลามทั้ง 3 สายพันธ์ุจะอาศัยในเขตท้องทะเลที่เรียกว่า Mesopelagic หรือเขต ‘พลบค่ำ’ ในมหาสมุทรที่มีระดับความลึกระหว่าง 200-1,000 เมตร ซึ่งแสงแดดไม่สามารถส่องผ่านทะลุลงไปได้ นักวิจัยคาดการณ์ว่า คุณสมบัติเรืองแสงของกลุ่มปลาฉลามอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การอำพลางตัวที่พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อหลบเลี่ยงภัยคุกคาม นอกจากนี้ในกรณีของปลาฉลามไคท์ฟิน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกือบจะอยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร อาจจะใช้แสงสว่างเพื่อค้นหาเหยื่อ หรือเพื่ออำพลางตัวขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้เหยื่อ
ปรากฎการณ์เรืองแสงของเหล่าปลาฉลามนั้นเกิดจาก ‘Bioluminescence’ หรือ การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเกิดจากพลังงานจากปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกายที่ทำให้เกิดการปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของแสง ทั้งนี้
Jérôme Mallefet หัวหน้านักวิจัยจากห้องปฏิบัติการชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยลัยคาทอลิกเลอวิง กล่าวว่า หากพิจารณาความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรทั้งโลก กับการเกิดปรากฎการณ์เรืองแสงของปลาฉลามในโซนนี้ จะเข้าใจได้ว่าการเรืองแสงของสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกจะต้องมีบทบาทสำคัญบางประการต่อการจัดโครงสร้างระบบนิเวศมหาสมุทร ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดบทโลก
อย่างไรก็ตาม Mallefet กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่รู้รายละเอียดของการเรืองแสงของฉลามไคท์ฟิน และยังรู้สึกประหลาดใจกับการเรืองแสงบริเวณครีบหลัง ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และจุดประสงค์อะไร ซึ่งต้องมีการศึกษากันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/…/shark…/index.html…
https://www.theguardian.com/…/giant-luminous-shark…