สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ออกประกาศ งดเที่ยวบินในประเทศ บินเข้า-ออก 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป โดยเป็นคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคครั้งล่าสุดของรัฐบาล ตามที่ ศบค. ประกาศข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28)
คำสั่งดังกล่าว ระบุแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบิน และผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินในประเทศ เพื่อชะลอและยับยั้งการเดินทางเข้าหรือออก ในพื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามสายการบิน ‘บินรับ-ส่งผู้โดยสาร’ ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ยกเว้นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการเที่ยวนำร่อง (sandbox) หรือการขอลงเครื่องฉุกเฉิน แต่การขนส่งทางเครื่องบินยังสามารถทำได้ปกติ
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร
การบินพลเรือนออกประกาศเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้โดยสารถูกยกเลิกไฟลต์บินโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ของวันที่ 21 กรกฎาคม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งนำสภาวะการบินในประเทศกลับมาเป็นปกติ (เบื้องต้น 1 สิงหาคม นี้)
อย่างไรก็ตาม The MATTER ต่อสายถามทางการบินพลเรือน กรณีที่ผู้โดยสารนอกพื้นที่สีแดงเข้มต้องการบินในประเทศ เพื่อต่อเครื่องไปต่างประเทศจากสนามบินในพื้นที่จังหวัดสีแดง โดยไม่ออกนอกสนามบินเลย กรณี 21 กรกฎาคม เป็นต้นไป ทำได้รึเปล่า?
ทางการบินพลเรือนให้คำตอบว่า เส้นทางบิน ‘ระหว่างประเทศ’ ยังมีปกติ แต่ 21 กรกฎาคม เป็นต้นไป หากผู้โดยสารที่ต้องการบินในประเทศมาทรานซิสไปต่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) เพื่อบินต่อไปยังประเทศปลายทาง ‘จะทำไม่ได้’ เพราะจังหวัดสมุทรปราการคือพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ห้ามไฟลต์บินในประเทศเข้า-ออก ผู้โดยสารจากจังหวัดอื่น เบื้องต้นต้องเดินทางทางภาคพื้นดินมาขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิ หรือไม่ก็ต้องบินมาถึงพื้นที่ก่อนวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564
ด้านสายการบินที่ให้บริการในประเทศ เช่น AirAsia, Thai Vietjet Air, Bangkok Airways ฯลฯ ประกาศหยุดบินชั่วคราวในประเทศตั้งแต่ 21 กรกฎาคม
Thai Vietjet Air ระบุว่า จะให้บริการถึง 20 กรกฎาคม ก่อนหยุดเที่ยวบินทั่วประเทศ และได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารในเส้นทางบินภายในประเทศทุกเส้นทางของ Thai Vietjet Air ที่มีช่วงวันเดินทางระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ.2564 สองรูปแบบ คือ
1) เลือกเปลี่ยนวันเดินทางได้ฟรี 1 ครั้งในเส้นทางบินเดิม โดยไม่มีค่าธรรมเนียมและส่วนต่างค่าโดยสาร โดยกำหนดวันเดินทางใหม่อยู่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 (ยกเว้นช่วงระหว่างวันที่ 12 – 15 สิงหาคม | 13 และ 23 – 25 ตุลาคม | 18 – 21 พฤศจิกายน | 4 – 6, 10 – 12 และ 25 – 31 ธันวาคม พ.ศ.2564)
2) เลือกเก็บมูลค่าบัตรโดยสารเป็นวงเงิน (Credit Shell) สำหรับชำระค่าบริการของสายการบินในครั้งต่อไป โดยวงเงินมีอายุใช้งานได้ 90 วันนับจากกำหนดวันเดินทางเดิม
ขณะที่ Bangkok Airways ประกาศยกเลิกการให้บริการบางเที่ยวบินในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-สมุย (ไป-กลับ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป และยกเลิกการเปิดเที่ยวบินในประเทศอื่น ที่เดิมจะเปิด 1 สิงหาคม นี้ออกไปชั่วคราว ทางสายการบินบอกเพิ่มเติมว่า ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบสามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้ โดยจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสาร หรือสามารถขอคืนเงินค่าบัตรโดยสารเป็น Travel Voucher เพื่อใช้ซื้อบัตรโดยสารของสายการบินเดินทางครั้งต่อไป โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทาง
สายการบิน AirAsia ประกาศหยุดบินเส้นทางภายในประเทศ ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งเพื่อการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว จะได้รับการติดต่อโดยตรงจากสายการบินทาง SMS หรืออีเมลที่ระบุไว้ เพื่อเลือกรับข้อเสนอทางเลือกต่างๆ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไข
อ้างอิงข้อมูลจาก
#Brief #business #TheMATTER