จากคำสั่งห้ามเที่ยวบินในประเทศบินเข้า-ออก 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเมื่อ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้หลายสายการบินในประเทศตัดสินใจประกาศ ‘งดบินในประเทศ’ ในเดือนกรกฎาคมทั้งเดือน และรอคอยคำสั่งใหม่จากทางรัฐบาลให้กิจการกลับมาดำเนินได้
ทว่า ระหว่างที่ปิดกิจการนั้น หลายสายการบินก็ต้องแบกต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และอื่นๆ เอาไว้ทั้งที่ไม่สามารถรันกิจการได้เป็นปกติ ทำให้เมื่อ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา AirAsia ตัดสินใจประกาศงดจ่ายเงินพนักงาน 100% ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ที่กำลังจะถึงนี้ พร้อม ‘หยุดประกอบการกิจการหนึ่งเดือน’ โดยอ้างถึงสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนในบริษัทที่ถูกกระทบ ทั้งนี้ทาง AirAsia คาดหวังว่าสถานการณ์เดือนกันยายนจะกลับมาเป็นปกติ ทำให้บริษัทจ่ายเงินพนักงานได้
โดยแถลงการ AirAsia ระบุว่า
“บริษัทฯ ได้พยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุดมาตลอด รวมทั้งหาเเหล่งเงินทุนต่างๆ มาบรรเทาผลกระทบ แต่สถานการณ์ภายนอกพัฒนาไปรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีความจำเป็นต้องประกาศแจ้งมาตรการระยะสั้น เพื่อเลื่อนเเละเเบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงาน ในเดือน ก.ค.–ส.ค. 2564”
ทั้งนี้ สำหรับเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2564 การจ่ายเงินจะเป็นไปดังนี้
- พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เลื่อนจ่ายเงินเดือนทั้งหมดไปในเดือน กันยายน พ.ศ.2564
- พนักงานระดับปฏิบัติการขึ้นไปที่ Active จ่ายเงินเดือน 50% และเลื่อน 50% ที่เหลือไปเดือน กันยายน พ.ศ.2564
- พนักงานที่ Inactive เลื่อนการจ่ายเงิน 25% ไปในเดือน กันยายน พ.ศ.2564
ส่วน สิงหาคม พ.ศ.2564 บริษัทจะหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว จึงมีความจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดปฏิบัติงาน 100%
ไม่ต่างจากสถานการณ์ของ Thai Lion Air ที่ก็ยื้อกิจการชนิดน่าจะหมดหน้าตักเหมือนกัน เพราะหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ซึ่งทางบริษัทแถลง ‘หยุดกิจการชั่วคราว’ ในวันเดียวกันกับ AirAsia พร้อมบอกว่าน่าจะต้องหยุดพักงานพนักงานอีกระยะ และจะแจ้งให้ทรัพยากรบุคคลเร่งติดต่อประกันสังคมเพื่อชดเชยพนักงาน และจะเยียวยาพนักงานอย่างเหมาะสม ยันพร้อมกลับมาดำเนินกิจการทันทีที่รัฐบาลประกาศ และย้ำให้พนักงานเข้าใจว่า ‘เป็นการชั่วคราวเท่านั้น’
สายการบินเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระบาดช่วงหลายปี พ.ศ.2562 และการระบาดระลอกล่าสุดที่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ตัวเลขเฉียดเพดาน 2 หมื่นคน ก็ถูกคำสั่งห้ามบินเข้าออก 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (สนามบินดอนเมือง) นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดการระบาด หลายสายการบินที่ประกอบการกิจการในประเทศไทย พยายามเรียกร้องของ ‘ซอฟต์โลน’ เงินกู้เพื่อต่อชีวิตกิจการ แต่ยังไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล แม้ก่อนหน้านี้เคยสัญญาว่าจะจัดการให้ และในวงเงินของ พรก.เงินกู้ สู้ COVID-19 ก็มีส่วนที่จะนำมาปล่อยซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำอุ้มกิจการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด
ทำให้ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบินในไทย ได้แก่ Bangkok Airways, Thai AirAsia, Thai AirAsia X, Nok Air, Thai Smile Airways, Thai Lion Air และ Thai Vietjet ได้ออกมาร่วมแถลงการณ์ออนไลน์ผ่านประชุมนัดพิเศษ โดยมี นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ สมาคมสายการบินประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bangkok Airways เป็นหัวเรือใหญ่
พุฒิพงศ์ระบุว่า ทางสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตั้งเเต่การระบาดของ COVID-19 รอบเเรก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 จากนั้นเข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563 เพื่อขอให้เร่งพิจารณา และส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการตอบรับใด ทั้งหมดรวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือรวม 17 เดือน
ซึ่งการรวมตัวกันแถลงการณ์รอบนี้ ทางสมาคมสายการบินประเทศไทยระบุได้ปรับลดวงเงินซอฟต์โลนลงแล้ว รวมจาก 2.4 หมื่นล้านบาท (7 สายการบิน) เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อประคองพนักงานรวมกว่า 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลังนี้ พุฒิพงศ์บอกด้วยว่า อยากให้รัฐพิจารณาเร็วที่สุดเพราะนี่คือ “ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว”
ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ พร้อมแบกค่าใช้จ่ายหนี้สิน และเงินเดือนพนักงานราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งประเมินว่าหากให้หยุดบินเกิน 3 เดือน อาจจะไม่เหลือสายการบินไหนกลับมาให้บริการได้อีกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก