ถ้าพูดเรื่องเงินในช่วงนี้บางคนอาจจะเริ่มกังวลใจขึ้นมา เพราะได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่า เรากำลังเข้าใกล้ ‘ช่วงเศรษฐกิจถดถอย’ (economic recession) อยู่หรือเปล่า? บางแห่งก็บอกว่ามันมาถึงแล้วต่างหาก
ถ้าดูนิยามแบบตรงๆ ของ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ ช่วงเวลาที่กิจกรรมการผลิตและขายภายในประเทศ หรือ GDP ลดลงอย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน โดยในเว็บไซต์ oberlo อธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ดีนั้นจะเริ่มจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่พร้อมควักกระเป๋าตังค์จ่าย ทำให้กิจการต่างๆ เริ่มเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างสูงขึ้น แล้ววนกลับมาที่คนมีกำลังซื้ออีกครั้ง
แต่เศรษฐกิจถดถอยกลับตรงข้าม เพราะผู้คนกำเงินแน่นไม่อยากใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมาจากหลายสาเหตุด้วยกันทั้งผลกระทบที่ลากยาวมาตั้งแต่วิกฤตโรคระบาด สงครามยูเครน-รัสเซีย ราคาน้ำมันและข้าวของต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไปจนถึงการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ทำให้การกู้ยืมมาใช้จ่ายหรือขยายธุรกิจกลายเป็นเรื่องยากขึ้น
เมื่อผู้คนไม่อยากใช้จ่ายทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง ไม่สามารถให้ค่าตอบแทนสูงๆ หรือจ้างพนักงานจำนวนเท่าเดิมอีกต่อไป ตามมาด้วยการลดเงินเดือน ปลดพนักงาน หรืออาจไปถึงขั้นล้มละลาย สั่นคลอนความมั่นคงทางรายได้ของผู้คน
แม้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าเรากำลังอยู่ตรงจุดไหนของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การเตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อนก็อาจจะช่วยให้วันข้างหน้าของเราไม่มืดมนจนเกินไป
1. เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน (emergency fund)
บทความจากเว็บไซต์ investopedia กล่าวว่า ขั้นแรกคือการมีเงินเก็บเพียงพอค่าใช้จ่ายทั้งเดือนโดยไม่ต้องทำงานหรือที่เรียกว่า ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ บางคนอาจจะเก็บเผื่อช่วง 3-6 เดือน หรือมากน้อยแตกต่างกันตามรายได้และภาระรับผิดชอบในชีวิต ซึ่งเงินก้อนนี้ทำให้เราสามารถตั้งได้หลักโดยไม่ต้องกู้ยืมเพิ่ม เมื่อมีค่าใช้จ่าย ‘ฉุกเฉิน’ เช่น การทดแทนช่วงที่เราขาดรายได้หรือไม่มีงานทำ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมรถ ฯลฯ
2. จ่ายเงินตรงเวลา เพื่อรักษาเครดิต
อีกหนึ่งคำแนะนำจาก cnet.com คือการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะค่าบัตรเครดิตหรือภาระหนี้สินอื่นๆ ให้ตรงเวลา หรือพยายามเคลียร์หนี้ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ย และยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเรามี ‘เครดิต’ ที่ดีกับธนาคาร เพราะวันที่เราจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน แต่เป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย การมีเครดิตที่ดีและน่าเชื่อถือจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญก่อนธนาคารจะอนุมัติการกู้ยืม
3. บริหารความเสี่ยงของการลงทุน
นอกจากการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินและชำระหนี้สินต่างๆ แล้ว สำหรับคนที่กำลังลงทุน อีกคำแนะนำจาก investopedia คือ “การลงทุนควรให้ความรู้สึกมั่นคงทางการเงิน ไม่ใช่ความตื่นตระหนก” ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการประเมินใจและเงินในกระเป๋าว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ตัวเลขสีแดงในพอร์ตอาจชวนให้หลายคนเครียดและหดหู่ได้ แต่หากไม่ใช่เงินที่เราต้องรีบใช้หรือ ‘เงินร้อน’ รวมทั้งกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในหลายๆ ประเภท ก็อาจลดความกังวลได้มากกว่า เพราะในระยะยาวตัวเลขติดลบก็อาจจะกลับมาดีขึ้นได้ในอนาคต
4. เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่าความไม่แน่นอนด้านหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือน หรือการโดนเลย์ออฟมีโอกาสเกิดขึ้นสูงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นการเพิ่มทักษะบางอย่างให้กับตัวเองก็เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการทำงานในอนาคต โดยเอมิลี หลิว (Emily Liou) ผู้ก่อตั้ง Cultivitae ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่าเธอจะเลือกสมัครงานที่ตรงกับ job description 70% ส่วนอีก 30% เผื่อไว้สำหรับโอกาสการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และการเติบโต เพราะเธอมองว่านอกจากความรู้สึกท้าทายในการทำงานแล้ว ในวันที่เราจำเป็นต้องออกจากงานหรือหางานใหม่ วิธีนี้อาจจะช่วยให้เรามีโอกาสการทำงานที่กว้างขึ้น
5. เช็กสิทธิและสวัสดิการที่มี
สำหรับคนที่เคยทำงานประจำแล้วเผชิญกับการว่างงาน อีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้อุ่นใจขึ้นได้ คือเงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม โดยคนที่เข้าเกณฑ์นี้ต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งกรณี ‘ถูกเลิกจ้าง’ จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน ส่วน ‘การลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง’ จะได้รังเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องขึ้นทะเบียนรายงานตัวผ่าน e-service.doe.go.th ภายในสองปี นับตั้งแต่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
ฟาร์นูช โทราบี (Farnoosh Torabi) บรรณาธิการ CNET Money และผู้จัดพอดแคสต์ So Money บอกว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือเศรษฐกิจถดถอยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรเศรษฐกิจปกติ และแผนการเงินระยะยาวมีโอกาสจะเจอช่วงขาลงอยู่บ่อยๆ ซึ่งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยราวๆ สิบครั้ง โดยปกติจะสิ้นสุดหลังจากผ่านไปหนึ่งปีหรือเร็วกว่านั้น ในทางตรงกันข้าม (และถือว่าเป็นข่าวดี) คือช่วงเวลาของการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้บ่อยและยาวนานกว่า”
ทว่า มันก็เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก หากวันข้างหน้าเราต้องอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ สิ่งสำคัญคงเป็นการปรับตัวตามเงื่อนไขชีวิตและรับมือเท่าที่สามารถทำได้ พร้อมกับความเชื่อที่ว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ผ่านพ้นไปอย่างที่เคยเป็นมา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattansitubon