ทหารสหรัฐฯ กลุ่มสุดท้ายเดินทางออกจากสนามบินในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานแล้ว ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนของคืนวันจันทร์ (เวลาอัฟกานิสถาน) ถือเป็นการยุติสงคราม 20 ปี ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศนี้ ท่ามกลางการเฉลิมฉลองของนักรบตาลีบัน ที่ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเฉลิมฉลองทั่วเมืองในช่วงเช้าตรู่ของวันอังคาร ขณะที่ตาลีบันเองก็ได้ประกาศว่าประเทศได้รับอิสรภาพอย่างสมบูรณ์แล้ว
แม้สหรัฐฯ จะถอนทหารทันก่อนเดดไลน์ที่กำหนดไว้ (31 สิงหาคมนี้) แต่การสิ้นสุดสงครามที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษก็ได้ทิ้งอะไรหลายๆ อย่างไว้ให้กับชาวอัฟกัน รวมถึงยังเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประเทศนี้ ทั้งในการปกครอง การเมือง และสังคม ซึ่งอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ต่อจากนี้จะเป็นในรูปแบบไหน รวมถึงการจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย ISIS-K ที่เพิ่งก่อเหตุระเบิดไปเมื่อสัปดาห์ก่อนจะเป็นอย่างไร The MATTER จะมาอธิบายให้แล้ว
อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน
“ทหารอเมริกันคนสุดท้ายออกจากสนามบินคาบูล และประเทศของเราได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ ขอบคุณพระเจ้า” ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบันทวีตข้อความบนทวิตเตอร์หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารกลุ่มสุดท้ายไป และสนามบินกลับมาอยู่ในการควบคุมของตาลีบัน พร้อมด้วยการเตรียมเริ่มประกาศจัดตั้งรัฐบาล และโฉมหน้าการปกครองใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศนี้
กลุ่มตาลีบันที่เข้ายึดครองเมืองหลวงของประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ ได้ทยอยถอนทหารกลับประเทศ ตาลีบันก็ได้ส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมจะปกครองประเทศที่มีประชากรเกือบ 40 ล้านคนนี้ พวกเขากล่าวว่าจะทำงานในรูปแบบใหม่กับรัฐบาลใหม่ด้วย โดยเป็นที่แน่ชัดว่าการปกครองของตาลีบันจะนำหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงกฎหมายชารีอะห์มาประกอบ
โดยล่าสุด ผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบันได้ยืนยันกับสำนักข่าว VOA ว่า ตาลีบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะรวมสมาชิกทั้งหมดของราห์บารี ชูรา หรือสภาผู้นำทั้งหมดไว้ โดยการหารือนี้มีทั้งผู้บัญชาการสูงสุดของตาลีบัน หัวหน้าเครือข่ายต่างๆ และกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมมีการระบุว่า คณะรัฐมนตรีอาจมีสมาชิกมากกว่า 26 คนและอาจรวมถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้นำ ด้วยความคาดหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะได้ยอมรับทั้งจากในประเทศ และนอกประเทศ
แม้ว่าตาลีบันจะประกาศพร้อมปกครองประเทศ แต่ก็ยังมีความกังวลหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังทหารสหรัฐฯ ถอนตัวออกแล้ว อย่างประเด็นสำคัญคือ การล้างแค้นประชาชนที่เคยต่อต้านตาลีบัน ซึ่งก่อนหน้ากลุ่มตาลีบันจะได้ให้สัญญาการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ต่อต้านพวกเขา แต่ประชาชนบางส่วนก็มองว่า มันเป็นสัญญาที่พวกเขาอาจไม่มีอำนาจที่จะรักษา โดยนักการทูตอาวุโสในอัฟกานิสถานกล่าวว่าพวกเขาอาจไม่มีคำสั่งและการควบคุมที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดการไล่ล่า และความไม่ปลอดภัยของคนบางส่วนอยู่ดี
สำหรับชาวอัฟกันที่อาจตกอยู่ในอันตรายเพราะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ หรือกองกำลังพันธมิตร การถอนทหารของสหรัฐฯ ถือเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวของพวกเขา โดยชาวอัฟกันคนหนึ่งที่ทำงานให้กับโครงการของอเมริกากล่าวกับสำนักข่าว USA TODAY ในวันที่สหรัฐฯ ถอนทหารหมดว่า “ไม่มีทางเลือกสำหรับเรา เราแค่ต้องซ่อนตัว” ดังนั้นประเด็นการนิรโทษกรรมคงเป็นหนึ่งเรื่องที่เราต้องจับตาดูว่า จะเกิดขึ้นจริงในประเทศนี้อย่างที่สัญญาไหม
นอกจากเรื่องนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยธรรมต่างๆ ที่ UN เป็นกังวล เช่นการขาดแคลนอาหาร สิทธิของผู้หญิง การอพยพลี้ภัย ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ผู้นำระดับสูงของตาลีบันก็ประกาศว่าพวกเขาต้องการ “ระบบกลางที่เข้มแข็งซึ่งเคารพหลักนิติธรรม ปราศจากการทุจริต และพลเมืองทุกคนมีโอกาสรับใช้ชาติ” แต่ถึงอย่างนั้นเราคงต้องติดตามกันว่าสัญญาต่างๆ ที่ตาลีบันให้ไว้ว่าจะทำในตอนยึดประเทศได้ จะสำเร็จจริงแค่ไหน และรูปแบบรัฐบาล หรือการปกครองที่กำลังหารือนี้จะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามกัน
ก่อนหน้านี้ The MATTER ได้สัมภาษณ์ อ.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มศว ผู้เชี่ยวชาญการเมืองตะวันออกกลาง ถึงการวิเคราะห์อนาคตของอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://thematter.co/social/20-years-war-of-afghanistan/152470
สหรัฐฯ กับอัฟกานิสถาน
แน่นอนว่าเมื่อยุติสงครามแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้ก็จะเปลี่ยนไป โดยหลังจากภารกิจถอนทหารเสร็จสิ้น แอนโทนี่ เจ บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็ได้ประกาศทันทีว่า ต่อจากนี้จะถือเป็น หน้าบทใหม่ของการมีส่วนร่วมระหว่างสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน “ภารกิจทางทหารสิ้นสุดลงแล้ว และภารกิจทางการทูตได้เริ่มต้นขึ้น” เขากล่าว
แม้ว่าโจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ จะประกาศว่าพวกเขาไม่ไว้ใจกลุ่มตาลีบัน แต่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าต้องมีการติดต่อในเชิงการทูต เพื่ออพยพชาวอเมริกันบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ และพันธมิตรชาวอัฟกันที่ต้องการออกนอกประเทศด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ตอนนี้สหรัฐฯ ก็ได้อพยพย้ายนักการทูตออกมาจากอัฟกานิสถาน และย้ายการดำเนินงานไปยังกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ชั่วคราว โดยเหตุผลว่า สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่แน่นอน
บลินเคนยังประกาศแนวการทูตของสหรัฐฯ อีกว่า จะไม่ปิดทางติดต่อร่วมมือกับตาลีบัน แต่การร่วมมือนั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลหลักข้อเดียวคือ ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งหากสหรัฐฯ สามารถร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานในลักษณะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกา นำความมั่นคงมาสู่ภูมิภาค สหรัฐฯ ก็จะทำ “แต่เราจะไม่ทำบนพื้นฐานของความไว้วางใจหรือศรัทธา” บลินเคนกล่าว ดังนั้นเราคงได้เห็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่อาจเป็นความร่วมมือ มากกว่าการสู้รบที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
อัฟกานิสถาน และ ISIS-K
ก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไม่กี่วัน กลับเกิดเหตุระเบิดพลีชีพ ที่สนามบินในกรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 ราย รวมถึงทหารสหรัฐฯ 13 ราย โดยมีผู้ก่อเหตุคือกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซัน (ISIS-K) กลุ่มติดอาวุธมุสลิมสายสุดโต่ง ที่เป็นเครือข่ายของกองกำลัง ISIS ในอิรักและซีเรีย เหตุการณ์นี้ก็ทำให้สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยโดรนไร้คนขับโจมตีกลับที่ซ่องสุมของกองกำลัง ISIS-K ที่ทางจังหวัดนันการ์ฮาร์ ของอัฟกานิสถาน
นักรบ ISIS-K กลายเป็นศัตรูสำคัญของตาลีบัน โดยพวกเขามองว่าตาลีบันละทิ้งญิฮาดและสนามรบ เพื่อสนับสนุนการเจรจาข้อตกลงเพื่อสันติภาพ และยังมองว่าตาลีบันเป็นผู้ละทิ้งความเชื่อ ทำให้การฆ่าตาลีบันของพวกเขาถูกกฎหมายภายใต้การตีความกฎหมายอิสลาม
ซึ่งหลังการถอนทหาร สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศให้ตาลีบันจัดการกับกลุ่ม ISIS-K ด้วยตัวเองด้วย โดยหลังจากการยึดครองอัฟกานิสถานของตาลีบัน มีรายงานว่าพวกเขาได้ปล่อยตัวนักโทษหลายพันคนจากสถานกักกัน และเรือนจำ ซึ่งในจำนวนนี้มีนักโทษของ ISIS-K หลายพันคน ทาง พล.อ.เคนเนท แมคเคนซี่ จูเนียร์ ผู้บัญชาการ CENTCOM ของสหรัฐอเมริกาก็ประเมินว่ามีนักรบ ISIS-K กว่า 2,000 คน ในอัฟกานิสถานตอนนี้ และเป็นหน้าที่ของตาลีบันในการรับมือกับกลุ่มติดอาวุธนี้ หลังสหรัฐฯ ถอนทหารแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น ทำเนียบขาวก็ประกาศว่า พวกเขามีความสามารถในการจัดการกลุ่มก่อการร้ายในอนาคต ด้วยประสิทธิภาพของอาวุธโจมตีที่ไร้พรมแดน เช่นจากการส่งโดรนไร้คนขับไปจัดการ ดังนั้นแม้จะให้ตาลีบันจัดการแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะยังเห็นปฏิบัติการของสหรัฐฯ ที่อ้างว่าเพื่อป้องกันการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานอีกก็เป็นได้