ยูทูบ (YouTube) ประเทศไทย เติบโตอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งคือคนไทยเสพสื่อ ‘วิดีโอ’ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในยุค COVID-19 ที่คอนเทนต์ภาพเคลื่อนไหวดูจะเยียวยาจิตใจผู้คนได้ดีที่สุด โดยทางยูทูบบอกว่า นี่คือการที่ผู้คนใช้เทคโนโลยีในการตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวัน ทั้งในการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และเพื่อความสุข
ข้อมูลจาก Google ระบุถึงปี พ.ศ.2564 ว่า คนไทยใช้งานยูทูบเพิ่มมากขึ้นในสองแง่สำคัญคือ เพื่อความบันเทิง และเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ให้กับตัวเอง โดยมี 5 หมวดหมู่ที่ได้รับการรับชมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือ
การเงิน เวลาในการรับชมวิดีโอ +100%
คาราโอเกะ เวลาในการรับชมวิดีโอ +70%
ออกกำลังกาย เวลาในการรับชมวิดีโอ +50%
เกษตรกรรม เวลาในการรับชมวิดีโอ +50%
สารคดี เวลาในการรับชมวิดีโอ +45%
และไม่ใช่แค่ ‘การรับชมเพิ่มขึ้น’ เท่านั้น แต่จำนวนวิดีโอที่อัพโหลดก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยตั้งแต่มกราคม–กรกฎาคม มีจำนวนชั่วโมงคอนเทนต์ที่อัพโหลดเพิ่มขึ้นมากถึง 80% และที่น่าจับตาคือคอนเทนต์มีความหลากหลายและครีเอทีฟมากขึ้น เพื่อรับมือกับเทรนด์การรับชมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยปัจจุบัน จำนวนช่องที่มีผู้ติดตามทะลุล้าน มีมากกว่า 650 ช่อง และจำนวนช่องที่มีผู้ติดตามเกิน 100,000 คน ก็มีกว่า 7,000 ช่อง
- โอกาสของแบรนด์กับยูทูบ
รายงานจาก Google บอกด้วยว่า ในยุค COVID-19 ที่อัตราการรับชมวิดีโอเติบโตอย่างเห็นได้ชัดนั้นถือเป็นโอกาสของแบรนด์ด้วย เพราะผลวิจัยจาก Nielsen ระบุว่า โดยเฉลี่ยกว่า 40% ของผู้ชมอายุมากกว่า 18 ปีบนยูทูบคือผู้ชมที่แบรนด์สามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้นจากสื่อทีวี (incremental reach หรือการแบ่งงบจากสื่อทีวีมาใช้บนยูทูบ) และมีหลายแบรนด์/ธุรกิจที่เห็นผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน จากการวิเคราะห์ผลการลงโฆษณาในสื่อผสมหลากหลายแบบ (cross media reach report) ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือการที่แบรนด์สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วย machine learning เพราะผู้บริโภคในแต่ละเจเนอเรชั่นเลือกดูสื่อที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป
โดยในรายงานยกตัวอย่างแบรนด์ NIVEA ประเทศไทย ที่หันมาใช้งบสื่อสารบนยูทูบควบคู่กับสื่อทีวี และช่วยเพิ่มความถี่ในการเข้าถึงผู้ชมที่เคยเห็นโฆษณาบนสื่อทีวีมาก่อน
- เทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตของชาวอาเซียน
อีกข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานของ Google คือจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวม การระบาดร่วมสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ วันนี้ และการล็อกดาวน์ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตของชาวอาเซียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 ชั่วโมงใน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคระบุว่า เทคโนโลยีทำให้พวกเขารับมือกับสถานการณ์ระบาดได้ดีขึ้น
ขณะที่ใน พ.ศ.2564 Google ร่วมศึกษากับ Milieu Insight พบว่าช่วงมกราคม–สิงหาคม พ.ศ.2564 มี 2 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นในปี พ.ศ.2564 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2563 ซึ่งกว่า 50% ของคนที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้นในปี พ.ศ.2564 ใช้เวลาออนไลน์เพิ่มขึ้น 1–2 ชั่วโมงต่อวัน ในแง่ของความบันเทิง การซื้อของ หรือการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยเมื่อต้องออกไปพบปะสังสรรค์
โดยกิจกรรมบนโลกโซเชียลที่นิยมมากที่สุดคือ ความบันเทิง (เล่นเกม/ดูวิดีโอ/อ่านหนังสือ/ฟังเพลง/ฟังพ็อดแคสต์) คิดเป็น 80% ของกลุ่มสำรวจในอาเซียน และ 83% ของกลุ่มสำรวจคนไทย
กิจกรรมที่นิยมรองลงมา ได้แก่ การช้อปปิ้งออนไลน์ ค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ จองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน (72% อาเซียน | 64% ประเทศไทย)
และการสื่อสาร โซเชียลมีเดีย ข้อความ วิดีโอคอล (71% อาเซียน | 68% ประเทศไทย)
ธุรกรรมทางการเงิน ลงทุน โอนเงิน จ่ายบิล (54% อาเซียน | 64% ประเทศไทย)
การศึกษาและการทำงาน เพิ่มทักษะ (45% อาเซียน | 42% ประเทศไทย)
โดยมากถึง 67% ระบุว่า อยากทำงานในรูปแบบ work from home ต่อไป และชอบในการทำงานแบบไฮบริด (hybrid work arrangement) สลับระหว่างเข้าออฟฟิศกับทำงานที่บ้าน โดยมองว่าโรคระบาดทำให้พฤติกรรมดิจิทัลเปลี่ยนไปอย่างถาวร และเทคโนโลยีทำให้พวกเขายังคงเข้าถึงชีวิตประจำวันได้ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก