เนื่องจากคอลัมน์วันนี้ตรงกับวันเด็กแห่งชาติของไทยพอดี (ซึ่งก็คงตรงทุกปีเพราะลงวันเสาร์) ทำให้อยากจะชวนคุยเรื่องที่สำคัญที่สุดในวันเด็ก นั่นคือเรื่องของรถถัง เอิ่ม…ไม่ใช่สิ เรื่องของ ‘เด็ก’ ที่จะเป็นอนาคตของชาตินี่ล่ะครับ เวลาเราพูดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เราก็มักจะได้เห็นสื่อต่างๆ ไปถามเด็กๆ ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไรกันอยู่เสมอ คำตอบที่เอาออกรายการหรือออกสื่อก็คงต้องเลือกมาระดับหนึ่งล่ะ ไม่อย่างนั้นอาจจะได้เห็นเด็กอยากจะเป็นจอมมารล้างโลกออกอากาศก็ได้
เอาจริงๆ นอกจากคำถามออกรายการแบบนี้แล้ว ก็งงๆ ว่า บ้านเราที่เห็นทำโพลเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ถามได้ทุกเรื่อง แต่เรื่องอนาคตของเด็กนี่กลับไม่ค่อยเห็นโพลหรือเห็นข้อมูลย้อนหลังเลยนะครับ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าทำโพลขึ้นมาแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ทหารจะได้เป็นอันดับหนึ่งไหม เพราะสามารถเลื่อนระดับเป็นนายกฯ ได้ตามสะดวกด้วย หรือตำรวจเป็นอาชีพในฝันของเด็กชายไหม เด็กผู้หญิงอยากจะเป็นอะไร เด็กในเมืองกับเด็กนอกเมืองมีความเห็นต่างกันแค่ไหน คิดแล้วก็น่าสนใจครับ
สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่ชอบเรื่องการจดบันทึกเก็บสถิติข้อมูลเหลือเกิน มีเหรอครับที่ข้อมูลเรื่องอนาคตหนูอยากเป็นอะไรจะพลาดไปได้ ซึ่งเท่าที่ไล่ดูก็มีสองเจ้าที่เก็บข้อมูลแล้วเปิดเผยกับสื่อเป็นข่าวประจำทุกปี นั่นคือ Japan Association for Financial Planners (JAFP) และบริษัทประกัน Dai-Ichi Life ซึ่งสองเจ้าข้อมูลก็ออกมาแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง พอไล่ดูข้อมูลย้อนหลังแล้วก็พบอะไรน่าสนใจไม่น้อย เลยอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังสักหน่อยครับ
เริ่มจากข้อมูลของ JAFP ก่อนนะครับ เขาเริ่มเก็บข้อมูลย้อนหลังแบบแยกเพศตั้งแต่ช่วงปี 2009 ที่ไล่ดูแล้วก็พบความน่าสนใจคือ ช่วงแรกๆ อาชีพฮิตสุดของเด็กผู้ชายคือ นักกีฬาเบสบอล กีฬาฮอตของชาวญี่ปุ่น แต่พอเข้าปี 2013 เป็นต้นมา อาชีพฮิตสุดกลับกลายเป็นนักฟุตบอลแทน โดยมีปี 2015 เพียงปีเดียวที่อาชีพแพทย์แซงมาได้อันดับหนึ่ง ก็ชวนคิดเหมือนกันนะครับว่าทำไมโพลออกมาแบบนี้ หรือเป็นเพราะนักฟุตบอลมีโอกาสไปเล่นและสร้างชื่อเสียงในต่างแดนได้มากกว่า ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ เพราะสำหรับเบสบอลแล้วกว่าจะได้ไปเล่นในเมเจอร์ลีกที่อเมริกานี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การสำรวจที่ออกมาเมื่อกลางปีก่อนพบว่า อันดับที่ 14 คือ YouTuber ครับ กลายเป็นอาชีพใหม่ที่เด็กญี่ปุ่นสนใจไปแล้ว
ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น นักสร้างเกม ที่ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา แม้จะไม่ได้ที่หนึ่ง แต่ก็เป็นที่นิยมของเด็กญี่ปุ่นและวนเวียนอยู่ในอันดับสูงๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้นก็มีกีฬาอื่นเช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ หรือเทนนิส ที่นักกีฬาญี่ปุ่นโชว์ผลงานได้ดีก็ติดชาร์ตมาเรื่อยๆ พอมีตำรวจให้เห็นบ้าง แต่แปลกที่ไม่มีกองกำลังป้องกันประเทศเลยนะครับ และที่น่าสนใจมากๆ คือการสำรวจที่ออกมาเมื่อกลางปีก่อนพบว่า อันดับที่ 14 คือ YouTuber ครับ กลายเป็นอาชีพใหม่ที่เด็กญี่ปุ่นสนใจไปแล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกใจนะครับ เพราะในญี่ปุ่นเองก็มี YouTuber ดังๆ เหมือนกัน แต่ก็สงสัยว่าหลังจาก YouTuber หลายรายก่อปัญหาเป็นที่โดนด่าไปก็ไม่รู้ว่าจะยังฮิตอีกรึเปล่า (ยังไม่นับเรื่องตา Logan Paul ไปก่อเรื่องในญี่ปุ่นอีก)
วนไปดูฝ่ายหญิงกันบ้าง ดูเหมือนอาชีพฮิตๆ จะสลับกันระหว่างแพทย์กับปาตีซีเย (หรือคนอบขนมนั่นเอง) ก็ดูเป็นสองด้านที่น่าสนใจดีครับ ด้านหนึ่งก็วิชาการไปเลย อีกด้านหนึ่งก็เป็นสกิลไป และอีกอาชีพหนึ่งที่ฮิตในหมู่เด็กผู้หญิงคืออาชีพดูแลเด็กในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน นอกจากนั้นก็เป็นอาชีพอื่นวนเวียนกันไป เช่น อาจารย์, พยาบาล, พนักงานเสริมสวย, ออกแบบแฟชั่น, เภสัชกร และสัตวแพทย์ ก็ดูเป็นอาชีพที่มีโน้มไปทางเหมาะกับเพศหญิงเกือบทั้งหมด ที่น่าสนใจคือไม่มีนักกีฬาเลยครับ ขนาดว่านักสเกตน้ำแข็งลีลาหญิงชาวญี่ปุ่นโชว์ผลงานดีมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีเด็กอยากเป็นบ้าง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องการฝึกซ้อมและค่าใช้จ่าย ฟังดูก็น่าเสียดายเหมือนกัน
ข้ามมาทางฝั่งของบริษัทประกัน Dai-Ichi Life กันหน่อย ของฝ่ายหญิงก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ เพราะว่าตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา อันดับหนึ่งคือ ’ร้านอาหาร/ของกิน’ ซึ่งก็คงรวมร้านอาหาร ร้านขนม และปาตีซีเยต่างๆ เข้าด้วยกัน พลังโหวตเลยเยอะมหาศาล ครองอันดับหนึ่งยาวๆ อาชีพอื่นๆ ที่ฮิตรองลงมาก็เช่น ครูโรงเรียนอนุบาล/เนอร์สเซอรี่ นอกนั้นก็จะคล้ายๆ กับของ JAFP ที่เป็น พยาบาล, ครูสอนในโรงเรียน, ครูสอนทักษะต่างๆ (เช่น เปียโน), แพทย์, ดารา และทำร้านดอกไม้ด้วย ก็น่ารักดีครับ โดยเฉพาะเหตุผลที่เด็กบอกว่าอยากทำอาหารเพราะอยากให้คนได้ยิ้ม หรืออยากจะทำขนมที่แม้แต่คนป่วยก็กินได้
ส่วนของฝ่ายชายก็คล้ายกันคือ หลังจากแซงเบสบอลได้ในปี 2010 นักฟุตบอลก็ลากยาวครองแชมป์มาโดยตลอด โดยที่ก่อนนั้นมีครั้งเดียวคือในปี 2003 ที่นักฟุตบอลแซงมาได้ ก็ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะปี 2002 ญี่ปุ่นเขาเพิ่งจัดฟุตบอลโลก กระแสมันก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจมากๆ คือ ปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่อาชีพนักวิจัยกลับมาติดอันดับหนึ่ง คาดว่าเป็นเพราะอิทธิพลของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยในปี 2016 ก็มี Ohsumi Yoshinori ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ และปี 2015 มี Kajita Takaaki ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ซึ่งเด็กก็ให้ความเห็นว่าอยากจะรักษาโรคมะเร็งให้ได้ หรืออยากจะสร้างหุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนเล่นได้…ดูมีความมุ่งมั่นดีนะครับ
อ่านความเห็นของเด็กๆ ดูแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อเด็กๆ ที่สุดคือ แรงบันดาลใจนี่ล่ะครับ ผู้ใหญ่ทำตัวอย่างไร เด็กก็เอาอย่าง อยากจะให้เด็กมุ่งมั่นสร้างอนาคตที่ดีก็สร้างสังคมที่มีแรงบันดาลใจดีๆ ให้เด็กก่อนนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.jafp.or.jp/personal_finance/yume/syokugyo/files/ranking.pdf
www.jafp.or.jp/personal_finance/yume/syokugyo/files/count_2016.pdf
event.dai-ichi-life.co.jp/campaign/minisaku/otona.html
www.nikkei.com/article/DGXMZO25319290U8A100C1CR8000