ผู้คนอ่านอย่างไรบนอินเทอร์เน็ต มองลึกลงไปกว่ายอดคลิกวิว มีเพียงน้อยคนอ่านจนจบ คนส่วนมากอ่านไม่ถึงครึ่ง คนที่แชร์บทความกว่า 59% ไม่ได้อ่านก่อนแชร์ คนคอมเมนต์กว่า 70% อ่านแค่หัวข้อ และทำยังไงให้บทความเข้าถึงข้อมูลสำคัญและอ่านง่ายขึ้น
โลกเต็มไปด้วยบทความที่เตะตามากมาย มีบทความใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาบนโลก ชวนกดให้อยากรู้ ไม่ว่าจะด้วยหัวข้อประเด็นน่าสนใจ ชื่อเรื่องเตะตา ปกสวยงาม นักเขียนที่เราชอบ ฯลฯ เคยไหมที่แชร์ไปยังไม่ได้อ่าน ไม่ต้องรู้สึกผิดไป การแชร์โดยไม่ได้อ่านไม่ใช่เรื่องประหลาด
นอกจากกองหนังสือที่ทิ้งมาวางประดับจนกลายเป็นงาน decor ตกแต่งบ้านมากกว่าอ่าน ในบราวเซอร์เต็มไปด้วยบทความที่เปิดค้างไว้มากมาย บทความนับไม่ถ้วนถูกบุ๊กมาร์กเก็บไว้ แม้ไม่เคยได้กลับมากด ลิงก์ที่แชร์ไปแปะไว้ก็ยังไม่ได้อ่าน เปิดเว็บหลายหน้าพร้อมกันมากมายจนตาลาย จะอ่านอย่างไรหมด
จริงๆแล้ว ชิทแชทสมอลล์ทอล์คที่ใส่มาด้านบน อาจไม่สำคัญเลยกับผู้อ่านจำนวนมาก พวกเขาอาจจะกดปิดไปอย่างไวตั้งแต่ย่อหน้าแรก คนส่วนใหญ่คลิกเข้ามาบทความนี้ด้วยจุดมุ่งหมายตามชื่อเรื่อง พวกเราอ่านอย่างไรบนเน็ต พวกคุณรีบเร่งและต้องการสาระสำคัญ งั้นเข้าประเด็นเลยแล้วกัน
เธอน่าจะอ่านบทความนี้ไม่จบ
ในปี 2013 จริงๆ Slate.com ได้ออกบทความ You Won’t Finish This Article แม้จะแชร์ คอมเมนต์ คลิกเข้าไปดู แต่ผู้คนไม่ได้อ่านบนอินเทอร์เน็ตด้วยความแข็งขันอย่างที่เข้าใจ เป็นบทความที่ตรึงใจเรามาก อ่านแล้วสะอึก สรุปพฤติกรรมของคนอ่านบทความออนไลน์ ที่ศึกษาผ่าน Chartbeat คือการเก็บว่าคนมองส่วนไหนในบทความบ้าง สรุปไว้ดังนี้
- คนอ่านเรียงคำอย่างตั้งใจทุกคำแค่ในบทความที่เขาสนใจจริงๆ เท่านั้น
- น้อยคนอ่านทุกคำ ส่วนมากพวกเขาแค่กราดตา สแกนดูรวมๆ แบบไวๆ หยิบคำที่สนใจ และประโยคที่ใช่
- ยิ่งมีคำมาก ผู้อ่านก็ยิ่งจากไป ไม่ใช่แค่เพียงที่ Slate ไม่เกี่ยวว่าใครเขียน แต่มันเป็นเช่นนี้ทุกที่ในออนไลน์
- น้อยคนอ่านจนจบ คนส่วนมากอ่านไม่ถึงครึ่งด้วยซํ้า
- คนจำนวนมากทวีต/แชร์บทความที่ยังไม่ได้อ่านดีด้วยซํ้า ถ้าเจอใครแนะนำให้อ่านบทความไหน เดาได้ว่าเขาอาจจะยังไม่ได้อ่านสิ่งที่เขาแชร์
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาอื่นๆ ที่สนับสนุนว่าผู้คนอ่านน้อยแค่ไหนในเน็ต
- Jakob Nielsen แห่ง Nielsen Norman Group เก็บข้อมูล Eye-Tracking ในการอ่านบทความ 20 % ของบทความออนไลน์จะถูกอ่าน คนส่วนมากเมื่อเข้ามา หากไม่พบสิ่งที่สนใจ จับใจ พวกเขาก็จะจรจากไปอย่างไว
- Harald Weinreich ได้สรุปไว้ว่า 17% ของคนที่เข้ามา ออกไปในเวลา 4 วินาที มีเพียง 4 % ที่อยู่นานกว่า 10 นาที ซึ่งพวกเขาอาจจะแค่เปิดทิ้งไว้ก็ได้
- 70% ของคนที่มาคอมเมนต์แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก ในหัวข้อบทความวิทยาศาสตร์ อ่านแค่เพียงหัวข้อ
- Forbes เขียนบทความชื่อ “59 Percent Of You Will Share This Article Without Even Reading It” หรือ “พวกคุณ 59 % จะแชร์บทความนี้ก่อนที่จะได้อ่านเสียอีก” พบว่าลิงก์บทความในเฟซบุ๊กกว่า 59% ถูกแชร์โดยไม่ได้อ่าน ดังนั้น Headline หรือชื่อบทความจึงมีความหมายในการตัดสินใจอ่านมาก ชื่อเรื่องกลายเป็นตัวบทความเสียเองเพราะเป็นสิ่งที่เดียวที่คนจะอ่านก่อนแชร์
มีผู้อ่าน 2 ประเภทที่อ่านบทความนี้ไม่เหมือนกัน
คนเขียนหลายคนอาจคิดว่าคนอ่านจะอ่านงานของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ อ่านทุกคำเรียงไปเหมือนที่เขาอุตส่าห์ตั้งใจเขียน เก็ตทุกมุกที่แอบสอดใส่ไปในบทความ คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามไปถ้าไม่ได้ไฮไลต์มุกเหล่านั้นที่อุตส่าห์ใส่มา
พบว่าผู้อ่านแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก
- Methodical Reader คือคนที่อ่านเรียงคำทุกคำ เริ่มจากต้นจนจบ
- พวกเขาไม่สแกนดูก่อนเลย อ่านครบ
- อ่านซํ้าบางส่วนที่สงสัย
- พวกเขาอาจหาบทความต่อไปจากเมนูที่เรียงไว้
- Scanner Reader คนส่วนใหญ่บนอินเทอร์เน็ตอ่านแบบนี้ พวกเขาจะมองเร็วๆ สแกนกวาดตาหาข้อมูลที่ต้องการ พวกเขาหาบทความต่อไปอ่านจากลิสต์บทความที่เรียงราย ผู้เขียนเหล่านี้จะเข้าถึงข้อมูลได้ไวขึ้นหากบทความมีโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อการกราดสายตาเพื่อหยิบหาคำสำคัญ จากสิ่งเหล่านี้
- Hilighted Words (คำที่ถูกไฮไลต์)
- Meaningful Headings (หัวเรื่องที่มีความหมาย)
- Short Paragraph (ย่อหน้าขนาดสั้น)
- Scannable List (ลิสต์ที่สแกนได้)
คนอ่านสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ อ่านจากต้นจนจบตามขั้นตอน (Methodical) ในขณะที่คนอ่านออนไลน์ส่วนมากเป็นคนอ่านแบบกวาดตา Skim (Scanner)
การเขียนคือการออกแบบประสบการณ์ชนิดหนึ่ง
หากมองงานเขียนว่าเป็นงานออกแบบหนึ่งชิ้น สารที่อยากจะสื่อคืออะไร ผู้อ่านคือใคร เล่าอย่างไรได้บ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ฯลฯ หลักการเขียนให้อ่านง่ายขึ้นต่อไปนี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือเคล็ดลับจากนักเขียน แต่มาจากหลักการของ User Experience Design (UX) คือ การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน
ขอสรุปมาว่างานเขียนแบบไหนช่วยให้อ่านง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ที่แค่กวาดตามองหาข้อมูลที่สำคัญพบได้ง่าย
Guideline วิธีเขียนที่ช่วยให้คนที่อ่านไวๆ เข้าถึงข้อมูลสำคัญได้ง่ายขึ้น
- ไฮไลต์คำสำคัญ
- ใช้ Sub-head (หัวเรื่องรอง) ที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีความหมายชัดเจน ไม่ใช่ลีลาฉลาดเล่นคำแต่งงว่าแปลว่าอะไร
- มีหนึ่งใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า ให้เริ่มต้นด้วยข้อสรุปเลยอย่าลีลา ถ้าเขาสนใจอาจจะอ่านเพิ่มเติมเอง
- เขียนให้สั้นลง ใช้จำนวนคำเพียงครึ่งเดียวของบทความที่เขียนบนกระดาษ
- ใช้ภาษากระชับ (concise) ไม่ย้วยยืดจนงง
- ใช้ภาษาของมุมมองที่เป็นกลาง (objective language)
การนำมุมมอง UX มาคิดกับการเขียน เป็นการมองว่าบทความออนไลน์เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ได้รับผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ในโลกของ UX จะมองว่าการที่คนไม่อ่านไม่ใช่ความผิดของผู้อ่าน อาจเพราะบทความไม่ได้ออกแบบมาให้อ่านง่าย (ซึ่งไม่ต้องง่ายก็ได้) Guideline นี้จึงคำนึงถึงการเข้าถึงได้ง่ายเป็นหลัก ซึ่งลีลา เทคนิค ความสนุก วิธีการเล่า การเลือกคำ หรือชั้นเชิงก็อาจเป็นอีกเรื่อง
คงจะดีถ้าผู้เขียนออกแบบให้บทความสามารถสนุกได้ทั้งคนที่อ่านเรียงจากต้นจนจบ และคนอ่านแบบสแกนผู้รีบอ่านให้ได้ข้อมูลที่เขาต้องการ
แน่นอนว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำนี้ตลอดเวลา โครงสร้างที่อ่านง่ายช่วยตอบโจทย์ในด้านการทำให้คนที่อ่านไวๆ เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ไม่ได้ทำให้งานเขียนออนไลน์ออกมาเหมือนๆ กันเสมอไป หมดวิญญาณไปเสียทีเดียว งานเขียนจะสนุกย่อมเกิดจากลีลาวิธีการเล่าและการเลือกใช้คำ ประสบการณ์ที่หยิบมาอ้างบวกกับหลายๆ อย่าง ซึ่งผู้เขียนคนแต่ละคนคงแตกต่างกันอยู่ดี
งานเขียนที่อ่านยากจะเหลือที่ยืนไหมในโลกนี้
McSweeny’s เขียนเรียงความประชดว่า สมัยนี้โลกคงไม่มีที่ยืนสำหรับนักเขียนคลาสสิกที่ตายไปแล้วแหละ เพราะวีดีโออาจจะเป็นอนาคตของโลกคอนเทนต์ บทความที่ซับซ้อน คำที่ยืดยาว ศัพท์ยาก คงอ่านยากเกินไปต้องใช้เวลาจนไม่มีที่ว่างเหลือเผื่อใจให้ Ulysse จาก Jame Joyce ผู้ชอบประดิษฐ์คำใหม่ คงซับซ้อนและเข้าใจยากเกินไปสำหรับ Bell Jar จาก Sylvia Plath มีเนื้อหาเกี่ยวการฆ่าตัวตาย คงเศร้าโศกเกินไปกว่าผู้จ่ายค่าโฆษณาจะยอมรับได้
พูดกันจริงๆ ถ้าไม่ประชด ยังมีคนบนโลกนี้เราก็ยังต้องการงานเขียนยากๆ อยู่ เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้การอ่านงาน Jame Joyce ให้จบในโลกสมาธิสั้นนี้คงเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน แต่ก็กลายเป็นเป้าหมายใหญ่ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง คงคล้ายที่บางคนหวังพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สักวัน แต่การเดินธรรมดาบนพื้นราบก็จะดำเนินต่อไปเพราะสะดวกกว่า แต่ไม่เป็นไร จากการสำรวจในปี 2009 พบว่า คนประมาณ 60% แสร้งหลอกบอกว่าเคยอ่านหนังสือที่พวกเขาไม่เคยอ่าน
ในฐานะผู้อ่านที่รักความหลากหลาย บางวันก็อยากอ่านงานง่ายๆเพื่อให้เข้าใจแนวคิดและข้อมูลบางอย่างที่ยาก บางวันก็อยากอ่านแค่คำคมสร้างแรงบันดาลใจแบบเสพง่ายถ่ายไว บางวันก็หยิบวรรณกรรมสำนวนยากๆ มาอ่านบ้างตามวาระ
อินเทอร์เน็ตจะช่วยกระจายถ่ายความรู้ด้วยต้นทุนตํ่า
หากบทความบนเน็ตพบอุปสรรคที่คนไม่ตั้งใจอ่านจนจบ ไปมองเอกสารวิชาการก็แอบเศร้าอีกทาง ทุกปีมีบทความวิชาการผลิตออกมา 1.8 ล้านชิ้น มีงานวิจัยว่าเอกสารวิชาการกว่าครึ่งไม่เคยถูกอ่านโดยคนอื่นเลย นอกจากผู้เขียนเอง และกองบรรณาธิการของวารสารที่ตีพิมพ์ และกว่าครึ่งไม่เคยถูกใช้อ้างอิงใดใด น่าเศร้าที่ความรู้ที่ถูกผลิตมาต้องไปเก็บไว้ในซอกหลืบ มีกำแพงค่าดาวน์โหลดที่แสนแพง หรือไม่ถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายทางอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนตํ่าจะช่วยกระจายพาข้อความเราไปให้ถึงมวลชน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องอ่านบทความทุกชิ้นที่ถูกโยนใส่หน้าเขา ตามที่ผุดขึ้นมาบน News Feed จริงๆ บทความออนไลน์ก็ต้องแข่งขันกับรูปหมา รูปแมว เพื่อนสาวแซ่บใส่บิกินี่ เอ็มวีเพลงใหม่ มีมคาราโอเกะชั้นใต้ดิน พระนพดล ซึ่งแพ้ก็ได้ไม่เป็นไร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมามีกลุ่มเป้าหมายของมัน ความจริงของโลกคือ เอาใจทุกคนไม่ได้
งานเขียนที่อ่านง่ายอาจเป็นประตูไปสู่บทความที่ยากขึ้น อาจนำพาให้ใครสักคนเริ่มสนใจขุดลึกบางหัวข้อต่อไปได้ โลกยังต้องการคนที่ย่อยเรื่องยากๆ ให้เข้าถึงการรับรู้ของมวลชนส่วนใหญ่อยู่อีกมาก
ผู้อ่านระดับ Advance อาจรู้สึกว่าบทความนี้ลึกไม่พอ อาจจะเลือกอ่านงานวิจัยเพื่อดูว่าตัวเลขทั้งหลายที่เอามาอ้าง มีวิธีการทดลองอย่างไร เขาก็สามารถทำได้ เพราะได้ใส่ลิงก์ให้ไปศึกษาขุดต่อตามที่เขาพอใจ แต่ประตูและกำแพงการเข้าถึงความรู้จากบทความวิชาการมีอยู่จริง อย่างน้อยก็มีราคาแพงสำหรับคนทั่วไปที่จะดาวน์โหลดหรือเข้าถึง เชื่อว่าผู้อ่านจำนวนมากยังต้องการบทความที่อ่านง่ายๆ เพื่อสรุปให้กระชับสั้นเข้าใจง่ายใช้เวลาไม่มาก
งานเขียนที่อ่านง่ายอาจเป็นประตูไปสู่บทความที่ยากขึ้น อาจนำพาให้ใครสักคนเริ่มสนใจขุดลึกบางหัวข้อต่อไปได้ โลกยังต้องการคนที่ย่อยเรื่องยากๆ ให้เข้าถึงการรับรู้ของมวลชนส่วนใหญ่อยู่อีกมาก งานวิจัยนั้นทำได้ยากและใช้เวลายาวนาน คงจะน่าเสียดายถ้ามันจะถูกอ่านเพียงคนจำนวนหยิบมือ ผู้เขียนมือสมัครเล่นอย่างเราคงไม่ได้ไปแทนที่นักวิชาการหรือนักวิจัย ได้แต่หยิบการค้นพบของเขามาบอกต่อ และหวังว่าจะมีคนสนใจอ่านมันเหมือนที่เราสนใจ
ชีวิตของคนอ่านไม่ได้มีแค่งานของเรา
หากเป็นไปตามผลการศึกษาที่ว่าเพียง 20 % ของบทความนี้จะถูกอ่าน และน้อยคนจะอยู่กับเราไปจนจบบทความ คนส่วนใหญ่คงมาไม่ถึงย่อหน้านี้ คนส่วนมากเข้ามาแล้วหากไม่พบสิ่งที่สนใจ พวกเขาก็จะจากไป พวกเขาใจร้ายรึเปล่า อาจไม่ใช่ พวกเขาอาจแค่มีสิ่งที่สนใจกว่า หรือไม่มีเวลา มีอะไรที่น่าทำอีกตั้งมากมายบนโลกนี้ พวกเขาอาจจะยุ่งมีงานที่ต้องทำ มีหนังรอดูบน Netflix มีไอดอลสาววัยขบเผาะให้ติดตาม ทำไมบทความใดใดต้องมีความหมายกับชีวิตเขาด้วย
หากเป็นคนชอบอ่านอะไรยาวๆ ก็อย่าโกรธเคืองดูแคลนที่บางบทความที่เขียนมาโคตรสั้นสรุปโคตรไว ใช้หัวข้อโคตรคลิกเบตหลอกให้คลิกอ่าน บทความเหล่านั้นอาจออกแบบมาให้คนชอบอ่านสั้นๆ ไวๆ สแกนแล้วก็ไป คนที่ไม่ชอบอ่านสามารถเข้ามาร่วมเป็นนักอ่านได้ เพื่อได้สาระสำคัญที่เขาต้องการ แล้วไปทำอย่างอื่นต่อที่ชอบ
อนาคตบทความอาจจะหายไปถ้าคนไม่ต้องการ ถูกทดแทนด้วยวีดีโอ จิตวิญญาณแห่งการเล่าเรื่องก็จะคงอยู่ต่อไปกับมนุษย์ต่อไป แค่เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีเล่าไป
หลายคนอาจน้อยใจบทความออนไลน์ว่าแสนแห้งไร้หัวใจ เกิดมาเพื่อทำลายตัวหนังสือกระดาษ ตัดพ้อว่าไม่มีวันเท่าเทียมเทียบแผ่นกระดาษมีผิวสัมผัสบนหนังสือที่มีกลิ่นมีจิตวิญญาณ บทความออนไลน์มีข้อดีในด้านกระจายความรู้ ข่าวสาร และข้อมูลไปสู่มวลชนในวงกว้างกว่า ไวกว่า ในราคาถูกกว่า อาจพาคนใหม่ๆ เข้ามาสนใจบางเรื่องที่เขาไม่เคยรับรู้ว่ามีอยู่บนโลกได้
บทความดีดีอาจจะเปลี่ยนชีวิตบางคนได้ ความรู้ใหม่ๆ อาจมีประโยชน์กับการเลือกทางดำเนินชีวิต หรือสนใจอยากรู้โดยไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไมก็ทำได้ ไม่ว่าคอนเทนต์จะมาในกายหยาบแบบไหน เช่น บทความ หนังสือ หรือวีดีโอคลิปสั้น อนาคตบทความอาจจะหายไปถ้าคนไม่ต้องการ ถูกทดแทนด้วยวีดีโอ จิตวิญญาณแห่งการเล่าเรื่องก็จะคงอยู่ต่อไปกับมนุษย์ต่อไป แค่เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีเล่าไป
คนเขียนบทความออนไลน์มีทุกข์เหมือนกัน นอกจากทำให้คนสนใจ ยังต้องทุกข์ว่าคนส่วนใหญ่ที่แชร์ไปอาจไม่ได้อ่านจริงๆ ไม่ว่าจะตั้งใจเขียนนานแค่ไหน แต่เฮ้ย! ไม่เป็นไร นอกจากคนที่ Edit และตัวผู้เขียนเอง
คงจะมีคนบางส่วนจำนวนหนึ่งที่ได้อ่านจนจบครบทุกคำ หวังว่าเขาจะได้พบประสบการณ์ที่ดี ได้ข้อมูลที่มีความหมาย คุ้มค่ากับเวลาที่มีค่าของเขา แล้วอินเทอร์เน็ตก็สวยงามอีกครั้ง เมื่อพาสิ่งที่เราอยากเขียนไปพบกับคนที่อยากอ่าน ท่ามกลางมหาสมุทรของผู้คนและข้อมูลเป็นล้าน
อ้างอิงข้อมูลจาก