การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ยังกระทบต่อชีวิตผู้คนในมิติทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศเอเชีย เพราะสถานการณ์จากภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดระดับน้ำทะเลสูง เกิดผลกระทบต่อประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ อยู่แถบชายฝั่ง และอยู่ในเขตร้อน ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่เกินครึ่ง โดยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นนั้นจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร อายุเฉลี่ยของประชากร ตลอดจนเศรษฐกิจประเทศ
บทความของ Nikkei อ้างอิงจากผลการศึกษาของ OECD พบว่าเมืองท่าใหญ่ๆ จำนวน 13 แห่ง จาก 20 แห่ง ในเอเชียจะเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดจากอุทกภัย โดยกวางโจวที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าทางตอนใต้ของจีนนั้น จะได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงปี ค.ศ.2050 หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.2 เมตร
นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบด้านการประกอบอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ยากจนของเอเชีย หากภาคการเกษตรได้ผลผลิตพืชน้อยก็ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็เพราะเกษตรกรรมคิดเป็น 10.3% ของ GDP ทั้งหมด
ที่สำคัญ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (The Asian Development Bank) ได้คาดการณ์ว่าภาคการประมงระดับภูมิภาคก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนั้นทำลายทรัพยากรปะการังให้ตายลงไป โดยคิดมูลค่าความเสียหายเป็น 57.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2050
หากมองย้อนกลับไป ต้องยอมรับว่าเอเชียได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีอัตราเพิ่มขึ้นรวดเร็วนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นก็เพราะผู้คนต่างดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย หากดูเฉพาะช่วงปี ค.ศ.2000–2009 พบว่ามีการบันทึกการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่า 3,500 ครั้ง ทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นเกือบมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับที่เคยบันทึกเรื่องดังกล่าวเมื่อห้าสิบปีก่อน
แม้ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญหรือลานีญาจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเป็นอย่างมาก แต่พฤติกรรมมนุษย์ก็ส่งผลไม่น้อยเช่นกัน โดยรายงานจาก U.N. Intergovernmental Panel ปี ค.ศ.2021 ได้ระบุว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีส่วนที่เร่งให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การเกิดภัยพิบัติ
หากกล่าวถึงมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติในประเทศแถบเอเชียแล้วนั้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า ประเทศจีนประสบอุทกภัยเมื่อปี ค.ศ.1998 คิดมูลค่าความเสียหายประมาณ 47 พันล้านดอลลาร์ฯ และหากกล่าวถึงมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี พ.ศ.2554 ของไทยนับเป็นการสูญเสียที่มีมูลค่ามากที่สุด คิดเป็น 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่สำคัญ ยังมีการคาดการณ์ว่าฤดูมรสุมในประเทศแถบเอเชียนั้นจะรุนแรงและยาวนานขึ้น เพราะยิ่งอากาศอุ่นขึ้นก็จะส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรระเหยออกไปและกลายเป็นฝนตกมากขึ้น ทั้งนี้ หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 0.28–0.55 เมตร เมืองหลวงและเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ทำเลลักษณะดังกล่าวอาจจมหายไปภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งเมืองลักษณะที่ว่านั้นก็คือกรุงมะนิลาและกรุงเทพ
นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อสุขภาพของประชากรในประเทศด้วย เมื่อแหล่งอาหารน้อยลงและเกิดโรคระบาดมากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อโรคมากขึ้น รวมทั้งผู้คนประสบภาวะทุพพลโภชนาการและเป็นโรคลมแดด โดย WHO ระบุว่า แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจำนวน 150,000 ราย จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละ 250,000 ราย ตั้งแต่ปี ค.ศ.2030–2050 โดยประชากรในประเทศแถบเอเชียจะเสียชีวิตขากโรคลมแดด ภาวะขาดสารอาหาร มาลาเรีย ไข้เลือดออก และโรคท้องร่วง มากกว่า 64,000 ราย
เมื่อว่ากันถึงผลกระทบต่อผลิตผลของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแถบนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง คิดเป็น 10% เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และหากเกิดภัยแล้งนานกว่าเก่า เกษตรกรในประเทศเหล่านี้อาจปลูกข้าวได้ลดลง คิดเป็น 8% ในช่วงกลางศตวรรษ
อ้างอิงข้อมูลจาก