งานอดิเรกของผมคือการนั่งอ่านความคิดเห็นของ IO ตามเพจชื่อดังต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในแนวทางการตอบไม่ตรงคำถาม โพสต์อวยรัฐบาลแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือโพสต์ด้อยค่าฝ่ายต่อต้าน ความเห็นเหล่านี้ซ้ำซากและชวนเลื่อนผ่าน กระทั่งเจอกับ ‘เพชรเม็ดงาม’ ที่อดไม่ได้จนต้องเข้าไปทะเลาะด้วย
IO คนนั้นเป็นบัญชีเจ้าประจำที่แวะเวียนมาปกป้องรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ แต่คราวนี้มาแปลกเพราะไปแตะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีใจความหลักคือเขา ‘ไม่เชื่อ’ เรื่องสภาวะโลกร้อน พร้อมปรามาสพวกที่เชื่อเรื่องดังกล่าวว่าถูกจูงจมูกโดยองค์กรสหประชาชาติซึ่งมีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังที่หวังจะใช้มาตรการจำกัดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คอยขัดแข้งขัดขาคู่แข่งบนเวทีโลกอย่างประเทศจีน
อ่านแล้วต้องขยี้ตาแล้วอ่านใหม่ ผมเข้าใจว่าเขาน่าจะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดนี้อย่างจริงจัง เพราะในขณะนั้นใบกระท่อมยังคงผิดกฎหมาย และคนที่รักรัฐบาลสุดจิตสุดใจก็คงไม่นั่งดื่มเครื่องดื่มมึนเมาตอนกลางวันแสกๆ ช่วงล็อกดาวน์ เพราะอาจถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของคลัสเตอร์ใหม่
ความเห็นบ้งๆ เช่นนี้ไม่ต่างจากการเหยียบหน้าเหล่านักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการค้นพบของ โฌแซ็ฟ ฟูรีเย (Joseph Fourier) เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ว่าชั้นบรรยากาศทำให้โลกอบอุ่นขึ้น หากเทียบกับดาวเคราะห์ที่ไม่มีชั้นบรรยากาศ ผลการทดลองของ จอห์น ทินดาลล์ (John Tyndall) นักฟิสิกส์ชาวไอร์แลนด์ที่พบว่าการสร้างความอบอุ่นของชั้นบรรยากาศเกิดจากคุณสมบัติของแก๊สโปร่งใส เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ที่กักเก็บไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนกลับคืนสู่อวกาศทั้งหมด ก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) นักเคมีชาวสวีเดนก็คาดว่าสาเหตุของยุคน้ำแข็งเกิดจากการที่คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดต่ำลง และการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมจะทำให้โลกร้อนขึ้น
สายธารความรู้เรื่องสภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นในหนึ่งหรือสองทศวรรษนี้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมต่อเนื่องมานานนับศตวรรษ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์แทบจะเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าวิกฤติภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ซึ่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
แต่คำพูดปากเปล่าอย่างเดียวคงไม่พอ ผู้เขียนเลยขอชวนมาหาคำตอบเพื่อคลายสงสัยว่าสภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เกิดจากมนุษย์แน่หรือเปล่า โลกร้อนเป็นโทษหรือว่าเป็นคุณ และสุดท้ายคือบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โลกร้อนหรือไม่ ดูกราฟเดียวก็พอ!
เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2558 มีกราฟชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นที่แพร่หลายอย่างมากบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะฝั่งคนที่กังขากับประเด็นดังกล่าว กราฟนั้นอยู่ในบทความที่ชื่อว่า ‘กราฟเรื่องโลกร้อนหนึ่งเดียวที่คุณจำเป็นต้องรู้นับตั้งแต่วินาทีนี้ (THE ONLY GLOBAL WARMING CHART YOU NEED FROM NOW ON)’ โดยมีการแสดงค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในหน่วยฟาร์เรนไฮต์ตั้งแต่ ค.ศ.1880–2015
อ้าวเฮ้ย! ไหนบอกว่าโลกร้อนแต่ทำไมกราฟนิ่งสนิทราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนก็โกหกกันทั้งนั้นสิครับ
แต่เดี๋ยวก่อน สังเกตไหมครับว่ามีอะไรแปลกๆ ที่แกนตั้ง ทั้งที่ข้อมูลก็ขยับอยู่ในช่วงแคบๆ ราว 55–60 องศาฟาร์เรนไฮต์ แถมเป้าหมายของกราฟดังกล่าวก็คือแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ทำไมคนทำกราฟใจดีแถมช่วงมาให้ตั้งแต่ 0–110 ทิ้งพื้นที่ว่างเหลือไว้ถมถืดราวกับกลัวหมึกสีส้มจะหมด
พอต่อมเอ๊ะเริ่มทำงานก็เริ่มจะมองเห็นความ ‘จงใจ’ แสดงข้อมูลให้เสมือนหนึ่งว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ความจริงแล้วการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยก็สร้างผลกระทบมหาศาล หากใครพอคุ้นหูกับข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) คงพอจำได้ว่าเหล่าผู้นำจากทั่วทุกมุมโลกต่างร่วมกันเคาะเป้าหมายว่าจะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียสเพราะจะทำให้เกิด ‘ความเสียหายในระดับที่ไม่อาจฟื้นฟูได้’
ผู้เขียนชวนให้มาลองดูอีกกราฟเปรียบเทียบนะครับ กราฟนี้จัดทำโดยองค์การ NASA ซึ่งแสดงความผิดปกติของอุณหภูมิ (temperature anomaly) โดยยึดอุณหภูมิเมื่อปี ค.ศ.1880 เป็นปีฐานแล้วแสดงการ ‘เบี่ยงเบน’ ออกจากอุณหภูมิเฉลี่ยดังกล่าว จะเห็นว่านับตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1980 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นราว 1.02 องศาเซลเซียส หรือ 1.84 องศาฟาร์เรนไฮต์
แต่ต่อให้เห็นกราฟนี้แล้วก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับง่ายๆ นะครับ บางคนอาจไพล่ไปถึงปัญหาในการวัด เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการที่สถานีวัดอุณหภูมิส่วนใหญ่อยู่ในเมืองซึ่งเผชิญกับภาวะเกาะความร้อนในพื้นที่เมือง (Urban Heat Island) ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าหากเทียบกับพื้นที่รอบนอก ดังนั้นโลกที่ร้อนขึ้นจึงเป็นเรื่องหลอกตาเพราะเกิดจากการวัดที่ผิดพลาดเท่านั้น
โอเค ไม่เป็นไรครับ แต่สิ่งที่สมมติฐานเรื่องความร้อนในเขตเมืองไม่สามารถใช้อธิบายได้คือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งไม่ได้ตั้งอยู่ในเมือง ข้อมูลจากดาวเทียมโดยองค์การ NASA พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 พบว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 99 มิลลิเมตร ผมเชื่อว่าเจอข้อมูลนี้เข้าไปเหล่าคนขี้สงสัยก็อาจไปต่อไม่ถูก
สู้รบปรบมือกันถึงตรงนี้ คู่ต่อสู้ของคุณอาจยอมรับกลายๆ ว่าโลกร้อนเกิดขึ้นจริง แต่อย่างเพิ่งรีบดีใจไปนะครับ เพราะยังมีต่อยกที่สองว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดจากมนุษย์
โลกร้อนจริงก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ!
หากใครยังจำบทเรียนตั้งแต่สมัยมัธยมได้ก็คงพอนึกออกว่า จากอดีตจวบจนปัจจุบันโลกก็มีทั้งช่วงที่ร้อนสุดขั้วและเย็นสุดขีด ดังนั้นสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตระหนกตกใจอะไรเพราะเป็นเพียงวัฏจักรตามธรรมชาติ และที่สำคัญคือเราทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจเพราะมนุษย์ไม่ใช่สาเหตุของวิกฤติดังกล่าว
ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ผิดนะครับ เพราะมีหลากหลายปัจจัยตามธรรมชาติที่ทำให้อุณหภูมิของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แต่อัตราเร็วในการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นเชื่องช้ามากอยู่ในหลักระดับพันปี แต่สภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงศตวรรษด้วยซ้ำ โดยมีปัจจัยเดียวที่อธิบายได้ก็คือกิจกรรมของมนุษย์
นับตั้งแต่ราว 50 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มเห็นพ้องต้องกันว่ามนุษย์คือสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน เพราะแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีความชัดเจนเกินกว่าจะอธิบายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ราว 90 เปอร์เซ็นต์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นมีสาเหตุจากมนุษย์เป็นอันดับหนึ่ง นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากในวงการที่ทุกคนต่างมีทฤษฎีและความคิดเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่น 90 เปอร์เซ็นต์ก็ยังมีช่องว่างให้ผิดพลาดอีกตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่หรือ? หลายต่อหลายครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนน้อยซึ่งคิดเห็นตรงกันข้ามกับนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่กลับเป็นฝ่ายถูก ดังนั้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจเป็นแบบนั้นก็ได้ แล้วจะรีบด่วนตัดสินใจไปทำไม มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือเปล่า? … อ่านแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ
ก่อนจะไปต่อผมขอนอกเรื่องไปพูดถึงสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC ที่หลายคนอาจเคยได้ยินแต่เกิดไม่ทัน สารดังกล่าวคือตัวการทำลายโอโซนซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศสำคัญที่คอยปกป้องเราจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ เพื่อปกป้องมนุษยชาติจากหายนะ ผู้นำจากหลากหลายประเทศจึงร่วมลงนามในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1987 เพื่อลดละเลิกการใช้สารดังกล่าวซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
แต่ทราบไหมครับว่า ขณะที่มีการตัดสินใจดังกล่าวเราแทบไม่มีหลักฐานหนักแน่นในการยืนยันว่าสาร CFC คือตัวการทำลายชั้นโอโซนจริงๆ แต่ทุกประเทศตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เพราะเมื่อพิจารณาระดับผลกระทบแล้วมันก็ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเองก็ไม่ต่างกัน การเห็นพ้องต้องกันกับงานวิจัย 90 เปอร์เซ็นต์ก็ควรจะมีน้ำหนักพอให้เราเดินหน้าแก้ไขปัญหา เนื่องจากถ้าต้องรอให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สมบูรณ์แบบถึงตอนนั้นปัญหาก็อาจบานปลายเกินที่จะแก้ไข
โลกร้อนมีประโยชน์มากกว่าโทษ?
อ่านไม่ผิดหรอกครับ มีผู้เชี่ยวชาญบางคนก็มองว่าสภาวะโลกร้อนที่ประโยชน์ต่อบางประเทศในเขตหนาวและเขตอบอุ่น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งน้ำแข็งที่ละลายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเดินเรือ
ประโยชน์เหล่านั้นฟังดูสมเหตุสมผล แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีเยอะกว่านั้นมาก เช่น ประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยอาจมีสภาพอากาศร้อนจนเพาะปลูกไม่ได้ หรือกระทั่งไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ หรือเหล่าประเทศหมู่เกาะอาจจมหายไปเนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประชากรจำนวนหลายร้อยล้านคนในประเทศเหล่านี้จะต้องกลายเป็นผู้อพยพเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจลุกลามเป็นวิกฤติผู้อพยพที่สั่นคลอนความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลก
นอกจากนี้ หลายคนอาจหลงลืมไปว่าวิกฤติภูมิอากาศมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น หากใครรู้สึกว่าช่วงหลังๆ นี้ได้ยินข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติแทบทุกปี ตั้งแต่ไฟป่าที่ออสเตรเลีย คลื่นความร้อนที่แคนาดา หรือน้ำท่วมในสหภาพยุโรป คุณไม่ได้คิดไปเองหรอกครับว่าเหตุการณ์วิกฤติเหล่านี้เกิดบ่อยขึ้นจริงๆ
เว็บไซต์ Our World in Data ได้รวบรวมการรายงานภัยธรรมชาติจากทั่วโลกในแต่ละปี อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำผิดปกติ ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด และแผ่นดินไหว จากกราฟดังกล่าวเราจะเห็นแนวโน้มภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องบางประการที่ทำให้ต้องระมัดระวังหากจะเปรียบเทียบตัวเลขในปัจจุบันกับตัวเลขย้อนหลังกลับไปในอดีตไกลๆ เพราะเทคโนโลยีในการตรวจจับและรวบรวมข้อมูลในตอนนี้ก้าวหน้ากว่าในอดีตมาก ดังนั้นจำนวนภัยพิบัติในศตวรรษที่ 20 อาจจะมีรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
ปัจจุบันคงมีเหลือแค่ไม่กี่คนที่กล้าพูดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประโยชน์กับประเทศเขตอบอุ่นเพราะปีนี้กลุ่มประเทศดังกล่าวเจอภัยพิบัติที่เลวร้ายรุนแรง ตั้งแต่คลื่นความร้อนที่รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งปกติอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ราว 16.4 องศาเซลเซียส แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมากลับมีรายงานว่าอุณหภูมิที่ชุมชนแห่งหนึ่งพุ่งขึ้นเป็น 47.9 องศาเซลเซียส ส่วนอุทกภัยครั้งใหญ่ในสหภาพยุโรปก็ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน
ถ้าใครมาบอกว่าโลกร้อนมีประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ตอกกลับไปได้เลยว่าพิษภัยที่มาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจนั้นเลวร้ายรุนแรงกว่ากันเยอะ
สหรัฐอเมริกากับวิกฤติภูมิอากาศ
ประเด็นสุดท้ายว่าด้วยทฤษฎีสมคบคิดว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ตัวตั้งตัวตีเรื่องสภาวะโลกร้อน องค์กรดังกล่าวอยู่ใต้ร่มองค์การสหประชาชาติซึ่งสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลอย่างมาก หากเราลองเชื่อมโยงแบบคิดเองเออเองก็จะได้ประมาณว่า สหรัฐอเมริกาปลุกปั่นเรื่องโลกร้อนขึ้นมาโดยหวัง ‘เตะตัดขา’ คู่แข่งทางการค้าอย่างจีนที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล พร้อมทั้งใช้เป็นเหตุผลในการด้อยค่าเหล่าประเทศที่ไม่สยบยอมต่ออเมริกา
อ่านจบแล้วอดไม่ได้ที่จะต้องกลั้นขำ เพราะสหรัฐอเมริกานี่แหละครับคือตัวตั้งตัวตีในการ ‘ด้อยค่า’ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนเวทีโลก ตั้งแต่การถอนตัวจากพิธีสารเกียวโตที่บังคับให้ประเทศพัฒนาแล้ว 37 ประเทศ และสหภาพยุโรปลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเมื่อปี ค.ศ.2001 มาจนถึงยุคประธานาธิบดีทรัมป์ที่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเป็นอย่างแรกๆ หลังจากได้รับตำแหน่ง แม้ประธานาธิบดีไบเดนจะนำอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ความไม่คงเส้นคงวานี้คงพอจะสะท้อนความ ‘ลุ่มๆ ดอนๆ’ ของสหรัฐอเมริกาในเรื่องวิกฤติภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี
แต่เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องอิดออดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่ในปัจจุบันผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีอันดับหนึ่งคือประเทศจีน?
คำตอบก็คือหากมองย้อนกลับไปถึงระดับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ‘สะสม’ เช่น การประมาณการปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ.1751–2017 โดยเว็บไซต์ Our World in Data จะพบว่าประเทศที่ครองอันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกาซึ่งปล่อยคาร์บอนสูงลิ่ว และมากกว่าจีนเกือบสองเท่า
แนวคิดหนึ่งที่มักถูกมองข้ามในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนคือความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (environmental justice) ซึ่งจะมองว่าภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่าเทียมกันโดยจะต้องพิจารณาตาม ‘งบประมาณคาร์บอน’ ที่สามารถปล่อยได้ของแต่ละประเทศ
หากมีการปันส่วนงบประมาณคาร์บอนอย่างเท่าเทียม ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนย่อมมีงบประมาณคาร์บอนเหลือเฟือเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เพราะที่ผ่านมาสร้างภาระให้กับโลกน้อยมากๆ ในขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต้องแบกรับภาระหนัก นอกจากงบประมาณจะถูกใช้จนหมดแล้วยังเสมือนว่าไป ‘กู้ยืม’ งบประมาณคาร์บอนของประเทศอื่นมาใช้ จึงต้องเร่งดำเนินการทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือถ้าให้ดีก็ควรทำให้ติดลบด้วยซ้ำ
แนวคิดดังกล่าวทำให้ประเทศพัฒนาแล้วเสียเปรียบเต็มๆ เพราะต้องรับผิดชอบมากกว่า กลุ่มสหภาพยุโรปเลือกเดินทางยากและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแม้ว่าจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาบ่ายเบี่ยงมาตลอดกระทั่งสมัยประธานาธิบดีโอบามาซึ่งปรับท่าทีแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น แต่การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ทำให้โลกเห็นว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมจะเปลี่ยนใจได้ทุกเมื่อ
การกล่าวอย่างเลื่อนลอยว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องโลกร้อนจึงเป็นการกล่าวหาของคนที่อาจจะไม่ประสากับข่าวสิ่งแวดล้อม แต่หลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดและหยิบมาใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ
จะปกป้องรัฐบาล สนับสนุนวัคซีนจีน ด้อยค่าผู้ชุมชน หรือต่อต้านสหรัฐอเมริกาก็ไม่เป็นไร เพราะเราต่างพยายามเข้าใจถึงจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่เรื่องโลกร้อนเป็นไม่กี่เรื่องที่เราต้องขอร้องกัน ถือว่าเห็นแก่ลูกแก่หลานเถอะครับ เพราะไม่มีใครปลอดภัยในโลกใบที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสหรอกนะครับ ไม่ว่าคุณจะยึดแนวคิดทางการเมืองใดก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
The past, present and future of climate change
Climate Change: How Do We Know?
The Science of Climate Change Explained: Facts, Evidence and Proof
Illustration by Sutanya Phattanasitubon