ในเวที #ม็อบสมรสเท่าเทียม ของภาคีสีรุ้ง ได้มีการเปิดเวทีให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และสมรสเท่าเทียม โดยมีเวลาเท่าเทียมกัน 5 นาทีทุกพรรค ซึ่งมีพรรคที่ตอบรับคำเชิญมาแสดงวิสัยทัศน์ 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคสามัญชน
ปกป้อง ชานันท์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เป็นคนแรกที่ได้ขึ้นพูดบนเวที ปกป้องกล่าวว่า สมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่ของชายหญิง แต่ของทุกเพศ “หากกฎหมายระบุว่าแค่ชายหญิง เป็นการผลักให้ชายหญิงเป็นอภิสิทธิ์ชน และเพศหลากหลายเป็นคนชายขอบ และเราต้องแก้กฎหมาย ม.1448 เพื่อให้ทุกคนสมรสกันได้”
ตัวแทนจากเพื่อไทยยังชี้ว่า คำกล่าวที่ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ LGBT ไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งสิ่งที่รัฐบาลทำ กับการให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะยิ่งผลักดันให้เกิดปัญหา เพราะกฎหมายนี้ ไม่มีคำว่าคู่สมรส และยังไม่เท่าเทียมกัน “ไม่ควรผลักให้ LGBTQ เท่านั้นเป็นคู่ชีวิต แต่ต้องให้เป็นคู่สมรส” ปกป้องกล่าว
สำหรับ ส.ส.พรรคก้าวไกล เตอร์ – ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ได้ขึ้นกล่าวย้อนไปถึงสมัยพรรคอนาคตใหม่ว่า พรรคเกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างความเท่าเทียม “พรรคอนาคตใหม่ เคยผลักดันให้มี ส.ส.LGBT ในสภา ถึง 4 คน เคยนำวาระความหลากหลายทางเพศเข้าสภา แม้โดนปัดตก มาถึงก้าวไกล เรายังคงยึดมั่นอุดมการณ์เดิม ทั้งความเท่าเทียม คนเท่ากัน มีคณะทำงานความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งคุ้มครองเพศอื่นๆ ด้วย”
ส.ส.ก้าวไกล ยังชึ้ว่า เรื่องสมรสเท่าเทียม พรรคเราให้ความสำคัญตลอด และทางพรรคได้ผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้เข้าไปในสภาแล้ว เหลือเพียงจะถูกหยิบมาพิจารณาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
นาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิมนุษยชนเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ซึ่งตอนนี้มาทำงานการเมือง ได้มาเป็นตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย โดยเธอเริ่มกล่าวว่า คนเราจะเท่าเทียมกันได่ด้วยศักดิ์ศรี “ในนามพรรคไทยสร้างไทย เทยเลยต้องมาสร้างไทย ประเทศไทยมี LGBTQ เท่าไหร่ รัฐก็ไม่สำรวจประชาการ แต่จากการสำรวจคนที่เปิดเผย มีประมาณ 5 ล้านคน”
โดยเธอชี้ว่า ใน 5 ล้านนี้ มีเพียง 1% ที่เข้าถึงโอกาส เป็นชนชั้นนำ แต่ 99% เป็นพนักงานบริการ ถูกมองว่าเป็นกระหรี่ “แต่ไม่ว่า 99% หรือ 1% ก็เป็นพลเมืองชั้น 2 เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสมรสเท่าเทียม” และ “การสมรสไม่ใช่แค่รสนิยม แต่คือศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมของคน” เธอกล่าว
มาถึงพรรคที่ 4 อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ได้มาเป็นตัวแทนพรรคในวันนี้ เขาเริ่มใช้เวลา 5 นาทีด้วยการกล่าวว่า “เราอบอุ่นที่มาอยู่ท่ามกลางผู้คนหลากหลายในสังคม ที่สำคัญอยากรับฟังความต้องการ เพื่อไปปรับให้สอดคล้องกับนโยบายเท่าเทียมทางเพศ” ทั้งยังชี้ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่แบ่งแยกเพศ และมีหัวหน้าพรรคที่เป็นผู้หญิง
เขาเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้น การแสดงออกไม่ตรงกับเพศกำเนิด ไม่ได้รับการยอมรับ บางคนตัดพ่อแม่ แต่ในปี พ.ศ. 2558 ที่มีการออกบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ เขาได้มีโอกาสเล็กๆ ในการผลักดันกฎหมายนี้ และในปัจจุบันสังคมนี้ยังคิดว่าชายเป็นใหญ่อยู่ และสังคมก็ยังไม่ยอมรับเพศทางเลือก ทั้งๆ ที่ความสามารถของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่เป็นสองรองใคร”
พรรคสุดท้าย คือพรรคสามัญชน ซึ่งมีวาดดาว ชุมาพร หนึ่งในผู้เสนอแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม ม.1448 เป็นตัวแทน “ที่นั่งๆ อยู่ได้แต่งงาน ได้คำนำหน้านาม ได้ประชาธิปไตยหรือยัง” นี่คือคำถามจากวาดดาว เธอกล่าวอีกว่า พรรคสามัญชนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบรากหญ้า แม้ไม่ได้อยู่ในสภา แต่อยู่ในม็อบกับทุกคนมาโดยตลอด
“เราต้องการ 1 ล้านรายชื่อ ที่จะบอกว่าสภาต้องฟังเสียง และไม่ว่าตุลาการ หรือปิตาธิปไตย อย่ามาหยุดยั้งเรา เราต้องการรายชื่อจากพี่น้องคนธรรมดา และถ้าเขาไม่ฟังเรา ครั้งหน้าก็ไม่ต้องเลือก ฟังทุกพรรคให้ดีๆ ถ้าทำได้ กาต่อ ถ้าทำไม่ได้ ไม่ต้องเลือก เราต้องลุกมาต่อสู้ประชาธิปไตยทั้งทางตรง และในสภา
“พรรคสามัญชนไม่มีอะไรจะสัญญา มากกว่าการทำงานร่วมกันกับพี่น้อง ยกเลิก 112 พรรคเราก็ทำมาแล้ว” วาดดาวกล่าว ก่อนจะปิดท้ายด้วยการพูดกับผู้ชุมนุมว่า “ปิตาธิปไตยจงชิบหาย ประชาธิปไตยจงเจริญ”