เวลาล่วงเลยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 – จนถึงวันนี้ ความฝันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะมี ‘สมรสเท่าเทียม’ ก็ยังค้างคาอยู่ในสภาฯ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เข้าใกล้ถึงฝั่งเต็มที
หลังจากผ่านการเห็นชอบในวาระ 1 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และคณะ ก็เดินทางมาสู่ขั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จนดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
แต่เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการลงมติมาพร้อมกับร่างที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกัน 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. สองฉบับ (ของคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์) และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของคณะรัฐมนตรี ทำให้ในขั้นตอนล่าสุด สภาฯ จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านขั้นคณะกรรมาธิการมาแล้ว 2 ฉบับ คือ
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เนื่องจากยึดตามร่างของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก จึงจะขอเรียกว่า ‘‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’)
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ….
และทั้งสองฉบับก็ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระของการประชุมสภาฯ เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ผู้แทนของประชาชนลงมติรับหรือไม่รับร่างกฎหมายเหล่านี้ต่อไป …แต่ในขณะเดียวกัน ความหวังก็มาพร้อมกับความกังวล ว่าจะทันพิจารณาในสภาฯ หรือไม่ เนื่องจากเหลือการประชุมอีกไม่กี่ครั้ง ก่อนที่จะหมดสมัยปัจจุบัน
ในระหว่างนี้ The MATTER ชวนเปรียบเทียบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อีกครั้ง ในเวอร์ชันที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ เพื่อกางให้เห็นกันว่า ร่างกฎหมายฉบับใด ให้สิทธิกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากน้อยกว่ากัน
ทำไมต้องสมรสเท่าเทียม?
สาระสำคัญมากๆ ของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็คือการมอบสิทธิให้กับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ในศักดิ์ศรีการเป็น ‘คู่สมรส’ ตามกฎหมาย โดยกำหนดชัดเจน ให้แก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการสมรส ในมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) จากเดิมที่เป็นระหว่าง ‘ชายและหญิง’ ให้เป็น ‘บุคคลทั้งสองฝ่าย’
ในแง่นี้ คู่สมรสไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็จะมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกประการ ต่างจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่สร้างสถานะทางกฎหมายแยกออกมาใหม่เป็น ‘คู่ชีวิต’ และถึงแม้จะมีการมอบสิทธิมากแค่ไหนในร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม แต่สิ่งที่ ‘คู่ชีวิต’ จะไม่มี ก็คือสิทธิของ ‘คู่สมรส’ ที่ปรากฏในกฎหมายฉบับอื่นๆ ด้วย
ตัวอย่างสิทธิที่ ‘คู่สมรส’ จะได้ ตามกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจาก ป.พ.พ. ประกอบด้วย
- รับมรดกจากอีกฝ่ายไม่ต้องเสียภาษีมรดก (พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558)
- สิทธิรับประโยชน์ทดแทน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533
- สิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรส (พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505)
แต่แค่เฉพาะที่ปรากฏใน ป.พ.พ. และในการแก้ไข ป.พ.พ. โดยร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ยังมีอีกหลายสิทธิ ที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้ให้ อาทิ
- สิทธิในการหมั้น
- สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ กรณีที่การจดทะเบียนเป็นโมฆะ
- สิทธิในการเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ กรณีอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ กรณีที่การจดทะเบียนเป็นโมฆะ
สำรวจร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ เป็นการออกกฎหมายใหม่แยกออกมา โดยไม่ได้เข้าไปแก้ไขเนื้อหาใน ป.พ.พ. แต่อย่างใด ความกังวลหลักๆ ของวิธีแบบนี้คือ แม้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้สถานะและสิทธิในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ แต่ร่างกฎหมายนี้ก็อาจกลายเป็นการกีดกันให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
พรรคก้าวไกล เคยอธิบายในเรื่องนี้ว่า “ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นแนวทางที่ตรงจุดมากกว่า ในการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสี่ยงจะตอกย้ำการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+ แยกออกไป และเปิดบทสนทนาในการมาไล่พิจารณาว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้รับสิทธิข้อไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากเรายึดหลักการว่าทุกคู่รักควรมีสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันอย่างแท้จริง”
อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการแล้ว ก็รับรองสิทธิบางอย่างไม่ต่างกับคู่สมรส ยกตัวอย่างเช่น
- ให้อำนาจคู่ชีวิตจัดการแทนผู้เสียหาย
- สิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
- สิทธิรับบุตรบุญธรรม
- สิทธิรับมรดก
- สามารถจดทะเบียนกับชาวต่างชาติได้
ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากเอกสารท้ายร่าง มีส่วนหนึ่งที่ระบุถึงอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แพงกว่าอัตราสำหรับคู่สมรสอย่างน้อย 5 เท่า เช่น ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนอกสถานที่ ที่ ‘คู่ชีวิต’ ต้องจ่ายถึง 1,000 บาท ในขณะที่ ‘คู่สมรส’ จ่าย 200 บาท
แต่ล่าสุด คณะกรรมาธิการก็ได้แก้ไขเรื่องดังกล่าวในเอกสารท้ายร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ดีขึ้นแล้ว โดยลดอัตราค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนอกสถานที่ ให้เหลือ 200 บาท เท่ากับคู่สมรส และลดค่าธรรมเนียมการคัดและรับรองสำเนาทะเบียนคู่ชีวิต จาก 100 บาท เหลือ 10 บาท ส่วนค่าเดินทางสำหรับนายทะเบียน มีการเพิ่มข้อความว่า ให้จ่ายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง
หนทางอีกยาวไกล
ในขั้นคณะกรรมาธิการ ทั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ยังมีอยู่หลายมาตรา ที่มีกรรมาธิการหรือผู้แปรญัตติขอสงวน นั่นแปลว่า เราต้องรอฟังการชี้แจงของคณะกรรมาธิการในประเด็นนั้นๆ อีกครั้งในสภาฯ
ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 5/10 ที่ว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรมของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีผู้แปรญัตติขอสงวน อย่างเช่น ในมาตรา 15 และ 38/1 ที่ว่าด้วย การนำบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ว่าด้วยครอบครัว บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของคู่สมรสหรือสามีภริยาตามกฎหมายอื่น และบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ว่าด้วยบิดามารดา มาใช้โดยอนุโลม
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา และวาระ 3 ซึ่งเป็นการพิจารณากฎหมายทั้งฉบับ เมื่อไร
หลังจากนั้น แม้ร่างกฎหมายอาจจะผ่าน แต่ก็ยังต้องลุ้นกันต่อในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญ (ถ้านายกฯ หรือมี ส.ส. และ ส.ว. เห็นว่าต้องให้ศาลพิจารณา) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
แต่ก่อนอื่นใด สิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีความหมายแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการลงมติของผู้แทนประชาชนในสภาฯ