เปิดปี 2022 มา นอกจากข่าว COVID-19 ที่ดูสถานการณ์รุนแรง ประเด็นการเมืองในต่างประเทศเองก็ร้อนแรงไม่ต่างกัน อย่างในคาซัคสถาน ประเทศในเอเชียกลาง ที่มีการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่ต้นปี และการรวมตัวก็ได้ลามไปทั้งประเทศ มีการออกมาไม่แสดงความพอใจต่อรัฐบาล ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเองก็ระดมตำรวจปราบปรามการชุมนุม และล่าสุดยังขอความร่วมมือจากกองกำลังระหว่างประเทศด้วย
เกิดอะไรขึ้นในคาซัคสถาน ทำไมประชาชนต้องออกมาประท้วง และทำไมการชุมนุมในประเทศ จึงต้องขอให้กองกำลังจากชาติอื่นมาช่วย ? The MATTER สรุปประเด็นต่างๆ มาอธิบายให้ฟังแล้ว
ทำไมชาวคาซัคสถานถึงออกมาประท้วง ?
การประท้วงในคาซัคสถานเริ่มต้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในมังกิสเต ภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตเชื้อเพลิง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติต่างๆ โดยมีสาเหตุการชุมนุมมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐบาลยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทำให้ LPG มีราคาพุ่งสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว แต่หลังจากนั้นความไม่พอใจของประชาชนก็แพร่ออกไปทั่วประเทศในภูมิภาคอื่นๆ และกลายเป็นการประท้วงต่อต้านการทุจริต และความยากจน
ประเด็นในการประท้วงยังรวมถึงการต่อต้านปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาล ภายใต้การนำของ ปธน.คาซึม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ซึ่งถึงแม้จะรับตำแหน่งผู้นำอยู่นั้น แต่ก็เป็นที่ทุกคนรู้ ชาวคาซัคสถานทุกคนรู้ ว่าอดีตประธานาธิบดี นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ปธน.คนแรกของประเทศ ที่ครองอำนาจยาวนานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ปี 1991-2019 แรกเริ่มที่ประเทศประกาศอิสรภาพนั้นยังคงมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง และการเลือกตั้งในปี 2019 นั้นก็เป็นเหมือนการจัดฉาก วางแผนมอบอำนาจให้หุ่นเชิดอย่างโตคาเยฟ ที่วางตัวไว้แล้ว
โดยเหล่าผู้ประท้วงได้เรียกร้องการปฏิรูป มาตรฐานค่าครองชีพที่ดีขึ้น การเลือกตั้งในท้องถิ่น จากปัจจุบันที่เป็นการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ จากประธานาธิบดี ไปถึงการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นการชุมนุมก็ไม่ได้มีการประสานงาน หรือวางแผนร่วมกันใดๆ เนื่องจากไม่มีแกนนำ รวมถึงไม่มีนักการเมืองฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะจัดการ และไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้มีบทบาทในประเทศ
ผู้ชุมนุมทำอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการอย่างไร และรัฐบาลตอบสนองอะไรบ้าง ?
ผู้ชุมนุมนับหมื่นได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนของคาซัคสถาน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1991 โดยผู้ชุมนุมได้เผา ทำลายสถานที่หลายแห่ง ทั้งเผาศาลากลางในอัลมาตีซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เข้ายึดสนามบินในเมืองหลวง และอีกหลายเมืองใหญ่ จุดไฟเผารถตำรวจ และสาขาภูมิภาคของพรรครัฐบาล
สำนักข่าว AFP เองยังได้รายงานว่า ด้านตำรวจเองได้ใช้ระเบิดช็อต และแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม รวมถึงยังมีรายงานว่าถึงจำนวนผู้บาดเจ็บ และถูกจับกุมที่แตกต่างกันไป โดยทางการได้ออกมากล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 13 ราย (มีรายงานว่าถูกตัดศีรษะ 2 ราย) มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 350 ราย และมีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 2,000 รายแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าพลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่เองก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ได้สังหารประชาชนไปหลายสิบรายในช่วงคืนก่อนวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคมด้วย
ด้านสำนักข่าว BBC รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กว่า 1,000 ราย โดย 400 รายกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 62 รายนั้นอยู่ในอาการสาหัส
สำหรับฝั่งรัฐบาลนั้น ภายหลังเกิดการประท้วง นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ประธานาธิบดีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยมีการจำกัดเคอร์ฟิวและการเคลื่อนไหวจนถึงวันที่ 19 มกราคม ทั้งยังมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ บล็อกโซเชียลมีเดียและแอปแชท ซึ่งรวมถึง Facebook, WhatsApp, Telegram และแอป WeChat ของจีนเป็นครั้งแรก
รวมถึงพยายามระงับความไม่พอใจของประชาชนด้วยการสั่งให้รัฐบาลลดราคา LPG ลง เพื่อให้มั่นใจถึงเสถียรภาพในประเทศ การเลื่อนการชำระหนี้เกี่ยวกับการเพิ่มอัตราค่าสาธารณูปโภคสำหรับประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน และการพิจารณาเงินอุดหนุนค่าเช่าสำหรับกลุ่มเปราะบางของประชากร แต่ถึงอย่างนั้นโตคาเยฟ ก็ประกาศที่จะให้กองทัพ และกองกำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนด้วย
ซึ่งเรื่องราวนี้ไม่ได้กลายเป็นการประท้วงในประเทศเท่านั้น เมื่อโตคาเยฟได้เรียกผู้ประท้วงว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ก่อการร้าย’ และได้ส่งสัญญาณให้มีกองกำลังมีระหว่างประเทศเข้ามา ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียเข้ามามีส่วนร่วมกับการประท้วงในคาซัคสถานด้วย จนอาจกลายเป็นประเด็นใหญ่มากขึ้น
รัสเซียมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร กองกำลังระหว่างประเทศมาจากไหน ?
กองกำลังระหว่างประเทศที่โตคาเยฟขอให้เข้ามาช่วงเหลือนั้น เป็นกองกำลังจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคง (CSTO) ที่ร่วมประกอบด้วย 6 ประเทศอดีตโซเวียต ได้แก่ รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน เป็นสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้นกองกำลังนี้มีไว้สำหรับประเด็นระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่รุกรานปัญหาภายใน นอกจากจะมีการรุกรานจากภายนอก ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ ปธน.ได้เรียกผู้ประท้วงว่าเป็นการก่อการร้าย เพื่อให้ประเด็นนี้ไปไกลกว่าแค่ปัญหาในประเทศด้วย
ด้วยเหตุนี้ กองกำลังที่เรียกว่า ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ ที่นำโดยรัสเซีย และเบลารุส จึงได้เดินทางไปถึงคาซัคสถานตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่กองกำลังชาติอื่นๆ จะตามเข้าไป โดยนิโกล พาชินยัน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย และประธานคนปัจจุบันของ CSTO กล่าวว่า “เพื่อรักษาเสถียรภาพและทำให้สถานการณ์ในคาซัคสถานเป็นปกติ” ท่ามกลางความกังวลว่า กองกำลังอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดสันติภาพ แต่เป็นความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับคาซัคสถาน และรัสเซียนั้น เป็นประเทศที่มีพรมแดนยาว และมีประชากรชาวรัสเซียเป็นจำนวนมากในคาซัคสถาน ทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่า คาซัคสถานมีความสอดคล้อง และสัมพันธ์กับรัสเซียทั้งในแง่ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งรัสเซียมีอิทธิพล ทั้งครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ CSTO ถูกเรียกเข้าแทรกแซง ซึ่งมีการมองว่าการเคลื่อนไหวอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีการมองว่าเป็นความท้าทายของรัสเซียต่ออำนาจเผด็จการในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะถือเป็นการจลาจลครั้งที่ 3 ของประเทศเผด็จการที่มีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย หลังจากการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในยูเครนในปี 2014 และในเบลารุสในปี 2020 ด้วย
นอกจากรัสเซียแล้ว คาซัคสถานยังถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เช่นกัน เพราะได้กลายเป็นประเทศสำคัญด้านพลังงาน โดยบริษัทใหญ่อย่าง Exxon Mobil และ Chevron ได้ลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในภาคตะวันตกของคาซัคสถาน ภูมิภาคที่เป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงนี้ จึงไม่รู้ว่าสหรัฐฯ เองจะมีท่าทีใดๆ กับการประท้วงที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่
การชุมนุมจะเป็นไปในทิศทางใด หลังกองกำลังนานาชาติเข้าไปแล้ว สถานการณ์จะสงบลงสู่สันติภาพ หรือรุนแรงมากขึ้นนั้น ประธานาธิบดีจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
aljazeera.com
reuters.com
theguardian.com (2)
nytimes.com
edition.cnn.com
bbc.com