ไฟไหม้ลุกลามกว่า 20 ชั่วโมง ควันดำเกิดไปทั่วท้องฟ้า ประชาชนโดยรอบต้องอพยพจากพื้นที่
นี่คือเหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกที่เกิดระเบิดขึ้นมา ซึ่งตัวโรงงานตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งโดยรอบนั้นเป็นจุดที่มีที่พักอาศัย บ้านเรือน คอนโดนเป็นจำนวนมาก จนเหตุการณ์นี้ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับผังเมืองไทย ที่มีโรงงานสารเคมี และที่อยู่อาศัย อยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน
The MATTER พูดคุยกับ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ท่าน อย่างรศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ซึ่งพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมนักผังเมืองไทย และผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธุ์น้อย ถึงอัคคีภัยที่เกิดขึ้นว่า สะท้อนปัญหาผังเมืองอย่างไร หรือกฎหมายผังเมืองที่มีอยู่นั้น มีการบังคับใช้แค่ไหน และในอนาคตเราควรจะแก้ปัญหา และวางแผนผังเมืองกันอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหานี้อีก ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านก็มองเช่นกันว่า แม้จะมีปัญหาผังเมือง แต่ก็ต้องเกิดการแก้ไขให้ได้ด้วย
เมื่อการระเบิดโรงงาน สะท้อนปัญหาผังเมือง กฎหมาย และแนวคิดการพัฒนาเมือง
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเป็นเหตุอัคคีภัย และอุบัติภัยจากการระเบิดของโรงงาน แต่มันก็นำมาสู่การตั้งคำถามต่อผังเมือง ซึ่งมีโรงงานสารเคมี และที่อยู่อาศัยจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่ง อ.พนิต ภู่จินดาบอกกับเล่าว่า จริงๆ แล้วมีกฎหมายที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ไม่มีการบังคับใช้ให้เกิดขึ้นจริง ทำให้โรงงานที่ตั้งมามากกว่า 30 ปีแล้ว ยังคงอยู่ในพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
“โรงงานนี้ตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 ผังเมืองสมุทรปราการฉบับแรกเกิดขึ้นปี พ.ศ.2544 หลังจากโรงงานนี้ตั้งขึ้น 12 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ณ วันที่เขาตั้งโรงงาน พื้นที่เป็นไร่ เป็นนา เขาหลีกเลี่ยงการอยู่ในเมืองแล้ว เพราะโรงงานเขาจะก่อให้เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2532 ยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิเลย มีแล้วแต่ไม่คิดว่าจะย้ายไป แล้วเขาก็ตั้งโรงงานได้แบบไม่ผิด ตั้งถูกต้องในพื้นที่ปลอดภัย พอปี พ.ศ.2544 ในผังเมืองรวมมีสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเป็นสีน้ำเงิน และในบริเวณนั้นเป็นสีแดง สีแดงคือ การเป็นพื้นที่สำนักงาน คลังสินค้า บรรจุภัณ และอื่นๆ ที่ต้องตอบสนองการขนส่งทางอากาศ
เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็เลยเกิดความขัดแย้ง คำถามคือ โรงงานผิดไหม วันที่ตั้ง เขาตั้งอย่างถูกกฎหมาย เมืองยังไม่มา ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่จะระเบิดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อคนมากมาย ในกฎหมายผังเมืองมีตั้งแต่ พรบ.ผังเมือง พ.ศ.2518 และฉบับ พ.ศ. 2562 มีกลไกที่จะแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว มาตรา 37 ในกฎหมายผังเมือง มาตรานี้มี 4 วรรค
วรรคที่ 1 จะบอกว่า ถ้ามีผังเมืองแล้วต้องทำตามกฎหมาย ห้ามใครสร้างผิดจากกฎหมาย ต่อมาในวรรคที่ 2 ระบุว่า ถ้าอยู่มาก่อนก็อยู่ต่อไปได้ เว้นแต่ที่อยู่มาก่อนขัดจากในสาระสำคัญจากของใหม่ เช่น ถ้าคุณเป็นโรงงานผลิตวัตถุระเบิดอยู่ในไร่ นาไม่ได้ส่งผลกระทบ แต่พอวันนึงเปลี่ยนจากไร่เป็นเมือง แบบนี้คุณอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะจะระเบิดใส่คนอื่น คณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจในการสั่งให้แก้ไข ปรับปรุงตามเงื่อนไขในเวลาที่กำหนด หรือแม้กระทั้งระงับการใช้งาน เพราะคุณจะทำอันตรายต่อคนอื่น ถ้าไม่ขัดแย้งอยู่ได้นะ ต่อให้ไม่ถูกต้องกับผังเมืองเช่น ไม่ก่อให้เกิดภัยภิบัติ มลภาวะสูงก็อยู่ได้ ก็อยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าขัดแย้งแบบนี้ไม่ได้
วรรค 3 บอกว่า ถ้าสั่งแบบนี้ต้องมีค่าตอบแทน เพราะเขาไม่ได้ผิด วันแรกที่เขามาตั้ง เขาตั้งถูก ดังนั้นต้องชดเชยเขา แต่กลไกของเรามีกฎหมาย แต่ไม่ได้สร้างกลไกในการชดเชย โรงงานนี้ควรได้รับการสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง ให้เขาระงับการใช้งาน แล้วชดเชยให้เขาไปอยู่ที่อื่นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 แล้ว อันนี้ตามกฎหมายเลย แต่ไม่ได้ทำ ตัวกฎหมายไม่ได้ผิด แต่เพราะไม่ได้มีการสร้างกลไกตามกฎหมายนั้น ทำให้คณะกรรมการผังเมืองไม่กล้าสั่งให้ระงับ หรือแก้ไขปรับปรุง เพราะโรงงานก็จะถามว่า แล้วไหนล่ะเงินชดเชย เพราะไม่ได้สร้างกลไกว่าจะเอาชดเชยมาจากไหน ทั้งชดเชยโดยตรง คือ เจ้าของที่ดินที่ได้ประโยชน์ที่พัฒนาขึ้น ที่เขาสั่งให้พัฒนาจากโรงงานเขาจากถูกกลายเป็นผิดก็ต้องจ่ายชดเชยให้เขา เพราะคุณได้ประโยชน์ คุณทำหมู่บ้านจัดสรร ไปทำโรงแรม หรือจ่ายโดยอ้อม เช่น แลกสิทธิ์การพัฒนา ไปสร้างที่ใหม่ จะไม่เก็บภาษี แต่ที่ดินเดิมคุณจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น จะหาคนมาซื้อให้ หรือลดภาษี แต่ไม่มีกลไกนี้ พอไม่มี ผังเมืองก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ผังเมืองไปบังคับใช้ตามวรรค 2 แล้วเขาก็ถามว่าไหนคือ เงินชดเชยตามวรรค 3”
อาจารย์ยังเสริมอีกว่า แม้จะมีกฎหมายที่ชี้ถึงการจัดการพื้นที่แบบนี้ แต่ตั้งแต่มีกฎหมายนี้ออกมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ไม่เคยมีการบังคับใช้เลย ทั้งอาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้น และกฎหมายไม่ได้เข้าไปแก้ไขด้วย
“การบังคับใช้คือการบังคับคนอื่นให้ทำตามกฎหมาย แต่รัฐไม่ได้สร้างกลไกตามกฎหมายมา ถ้ากฎหมายบอกว่าต้องมีค่าชดเชย ค่าตอบแทน รัฐก็ต้องไปหาค่าตอบแทนมา กฎหมายไม่ได้ผิด แต่การทำให้เกิดกลไกที่ทำให้เกิดกฎหมายมันไม่เกิด กฎหมายบอกว่า ถ้าคุณไปเวนคืนที่ดิน รัฐบอกว่ารัฐสามารถออกกฎหมายเวนคืนที่ดินได้ กฎหมายบอกว่าต้องจ่ายชดเชย แต่ปรากฎว่ารัฐไม่ได้ไปตั้งงบประมาณมาชดเชย กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงบัดนี้ 40 กว่าปี รัฐไม่เคยใช้กฎหมายนี้เลย ทั้งกฎหมายผังเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2495 มีคำว่า ผังเมืองรวม กับผังเมืองเฉพาะ มีผังเมืองรวมที่เป็นผังสีเกือบพันฉบับ มีผังเมืองเฉพาะ 0 ฉบับ ไม่เคยใช้เลย แล้วบอกว่ากฎหมายผังเมืองไม่ดี เพราะไม่เคยใช้ให้ครบ”
“นี่ไม่ใช่ปัญหาแรก มันมีมาตั้งหลายทีแล้ว อย่างกรณีป้าทุบรถ ตรงนั้นก็เป็นพื้นที่สีเหลือง ผังเมืองบอกว่าตลาดต้องไม่เกิน 1,000 ตารางกิโลเมตร มันห้ามตลาดไม่ได้ เพราะคนจะซื้อผัก ซื้อของหรืออะไรต่างๆ จากไหน ตรงนั้นก็มีตลาด 1,000 ตารางเมตรจริงๆ แต่เป็น 5 ตลาดติดกัน กลายเป็น 5,000 ตารางกิโลเมตร จึงมีสินค้าที่เกินกว่าคนแถวนั้นจะซื้อ แต่เป็นคนจากที่อื่นๆ ที่มาซื้อ เพราะตลาดใหญ่ เราเลยเห็นคนขับรถที่โดนป้าทุบก็เป็นคนจากพื้นที่อื่น และนอกจากตลาดตรงนี้ มีอีกเยอะแยะ แต่ก็ไม่มีการแก้ปัญหา”
กลับมาที่โรงงานที่เกิดเหตุระเบิดในสมุทรปราการด้านอาจารย์ณัฐพงศ์ พันธุ์น้อย ก็มองว่าจากการระเบิดครั้งนี้ทำให้ มองเห็นประเด็นปัญหาในเรื่องผังเมืองได้ 2 ข้อใหญ่ๆ เช่นกัน คือ การที่เราไม่ควบคุมการเติบโตของเมือง และการไม่ปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เหมาะกับยุคสมัยนั้นๆ
“ประเด็นของเรื่องนี้คือว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงงาน ตัวโรงงานอาจจะเป็นเรื่องของมาตรฐาน อุตสาหกรรม การดูแลของเจ้าของโรงงาน แต่ประเด็นที่เราถกเถียงเพราะมันอาจจะเกิดการระเบิด และมันจะกระทบต่อชุมชนบริเวณนั้นในวงกว้าง จริงๆ เรามีพื้นที่เสี่ยงแบบนี้ไม่ใช่ที่สมุทรปราการเท่านั้น ที่กรุงเทพฯ เราก็มีคลังน้ำมัน เชื้อเพลงอยู่ที่คลองเตย โอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์การระเบิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่ ผมเชื่อว่าคำถามอยู่ที่ว่า ผังเมืองมันมีข้อผิดพลาด หรือทำไมเราถึงปล่อยให้มีความเสี่ยงแบบนี้เกิดขึ้นได้
เรื่องนี้ต้องตอบว่า ในกระบวนการการวาง หรือจัดทำผังเมืองของประเทศไทย มันมีสองปัญหาซ้อนกันอยู่ ปัญหาข้อที่ 1 คือ เราทำกฎระเบียบผังเมืองที่มาคุมการเติบโต หรือการพัฒนาของเมืองไม่ทันต่อการพัฒนาเมือง มันจึงเกิดการเติบโตของเมืองในพื้นที่ที่เมืองไม่ควรจะอยู่ อย่างโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความเสี่ยงต่อคลังพลังงาน คลังเชื้อเพลิงต่างๆ นี่คือมิติที่เราไม่ควบคุมการเติบโตของเมือง หรือ urban growth ผิดพลาด
ทั้งต้องดูอีกมุมหนึ่งด้วยว่า เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น การเติบโตของเมืองย่อมเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อประชากรกระจุกในกรุงเทพฯ มากขึ้น จะให้คนอยู่แค่บริเวณเมืองชั้นในก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อเราขยายตัวมาแล้ว สิ่งที่เราไม่เคยกระทำก็คือ การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เหมาะกับยุคสมัยนั้นๆ เราปล่อยให้ตัวโรงงานอุตสาหกรรมที่แต่เดิมอยู่ถูกที่ อยู่ที่เดิม และเมืองก็เติบโตไปสู่จุดนั้น
ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทย แต่ทั่วโลกมีเรื่องที่เมืองเติบโตจนเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมลพิษ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อุบัติภัย แต่ต่างประเทศมีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต่อพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุ อุบัติภัยไปสู่พื้นที่เมืองที่เหมาะสมในยุคสมัยนั้นมากขึ้น เราเรียกการจัดการนี้ว่า การพัฒนาพื้นที่ ‘brownfield’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมลพิษ อุบัติเหตุ แต่ถูกยกเลิกการใช้ที่ดินนั้น มาเป็นพื้นที่การรองรับการเติบโตของเมือง มันมีเรื่องนี้ทั่วโลก แต่เราละเลยเรื่องนี้มาตลอด สายการผังเมืองเราเรียกเรื่องนี้ว่า ‘urban redevelopment and rehabilitation’
ในต่างประเทศการปรับปรุงพื้นที่แบบนี้ ยกตัวอย่างเช่นที่ เมือง Humburg ของเยอรมนี มีการปรับท่าเรือเก่าที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง มาเป็นเมืองใหม่ชื่อ HafenCity หรือแม้แต่ใน Yogohama พื้นที่ชื่อว่า MinatoMirai แต่เดิมเป็นอู่ต่อเรือ พอเมืองขยายมาก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่พาณิชการณ์ขนาดใหญ่ริมน้ำ เป็นต้น
“เราขาดการดำเนินการในเรื่องนี้ กล่าวโดยสรุปผมว่าเราขาดเรื่อง Growth Management ถ้าเราไม่อยากให้เมืองโตไปถึงตรงนั้น ต้องบอกว่ากรมโยธาธิการผังเมือง หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งโดยกฎหมายนั้นมีบทบาทในการจัดทำผังเมืองรวม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายของไทยที่จะควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดิน หรือควบคุมเรื่องการเติบโตของเมือง เราทำเรื่องนี้ช้า จนเกิดการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ไปสู่พื้นที่ที่เสี่ยงภัย คือถ้าคุณคิดว่ามันเสี่ยง คุณต้องไม่ให้มันไปถึง แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันคือเรื่องการฟื้นฟูเมือง ในเมื่อเมืองเติบโตไปถึงตรงนั้น เราก็ไม่ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้มันสอดคล้องกับเมืองที่ได้เติบโตไปถึงตนนั้น
ปรากฏการณ์ในวันนี้ มันบอกเราว่า ถึงเวลาแล้ว ถ้าเราจะอยู่ในประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รักษาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยให้ประชาชน ผังเมืองต้องคิดแล้วว่า จะจัดการเรื่องนี้ยังไง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีกระแสต้านแน่นอน จากคนที่เคยได้ประโยชน์ที่ดินจากตรงนั้น แต่ผมว่ามันถึงเวลาที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและสร้างสรรค์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชน มันไม่ใช่การไปไล่อย่างไม่เป็นธรรม แต่มีเรื่องการออกไปแล้วได้รับค่าชดเชย ออกไปแล้วมีนิคมอุตสหกรรมรองรับ เกิดการแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างรัฐและเอกชน มันเป็นกลไกที่สามารถทำได้ และต่างประเทศทำมาแล้ว แต่เราละเลยการทำเรื่องนี้” อ.ณัฐพงศ์ย้ำ
อาจารย์ทั้งสองท่านมองเช่นกันว่า มีกฎหมาย มีสิ่งที่ระบุถึงการให้ย้ายโรงงาน หากมันไม่สอดคล้องกับเมือง และที่อยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมามันไม่เกิดขึ้นเพราะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้ออกไป ซึ่ง อ.พนิตเอง ก็มองปัญหานี้ว่า ต้องเป็นทั้งรัฐและประชาชน ทั้งยังต้องมีการเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย
“ผมไม่ได้คิดภาพภาครัฐอย่างเดียว ทำไมภาครัฐถึงไม่คิดเก็บเงิน เพราะประชาชนก็ไม่ยอมจ่ายหรอก ผังเมืองฉบับใหม่ให้ทำศูนย์การค้า ที่ต่างๆ ได้ แต่คนที่เคยอยู่โดยถูกต้อง ก็ต้องเอาเงินมาจ่ายให้เขา ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่ ต้องจ่ายเป็นหมื่นล้าน ก็ไม่มีใครยอมจ่ายแน่ๆ แต่รัฐต้องมีกลไก ไม่ให้ประชาชนจ่ายเต็ม เช่น ไม่เก็บภาษี ลดภาษี สร้างกลไกให้เขาได้ประโยชน์ แลกสิทธิในการพัฒนา อย่างมีที่ดินของรัฐ ก็ให้โรงงานเอาสิทธิพัฒนาไป 20 ปี รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ที่ดินที่รกร้าง ก็ให้เขาเอาไปใช้ แต่ถ้าเกิน 20 ปีก็จ่ายค่าเช่า รัฐต้องชดเชยตรงนี้ ประชาชนรอบๆ ก็จ่าย แต่ก็จะจ่ายน้อย รัฐไม่ต้องจ่าย แต่ได้เมืองที่ดี”
นอกจากประเด็นโรงงานที่ตั้งกันมายาวนาน ก็มีเรื่องของการอนุมัติบ้านจัดสรรที่ถูกพูดถึงขึ้น ซึ่ง อ.ณัฐพงศ์ก็ชี้ว่า เป็นเพราะเราไม่เคยใช้ผังเมืองในการควบคุม
“เราต้องมามองตรงนี้ มันคือประเด็นที่ผมบอก เรื่อง urban manage growth การจัดสรรที่ดิน ต้องมองสองมิติ มิติที่นึงคือการจัดสรรภายใต้ พรบ.จัดสรรที่ดิน ซึ่งบอกว่าจะจัดสรรที่ดินได้จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ผังเมืองกำหนดไว้ เหมาะสมกับการจัดสรรที่ดิน แต่เราไม่เคยใช้ผังเมืองในการควบคุม คนที่ไปจัดสรรเขาก็สามารถจัดสรรได้ถูกกฎหมาย เพราะมันไม่ได้มีกฎระเบียบว่าห้ามทำ ผังเมืองไม่ได้บอกว่าต้องทำที่ไหน พรบ.จัดสรรก็สามารถให้ทำได้ ถ้าเราจะอยู่กันโดยมองระยะยาว การผังเมืองมันเป็นเหมือนการทำข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมนั้น อย่างมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และมีสวัสดิการที่ดี มันเป็นสิ่งที่ออกมาเป็นกฎหมาย เรียกว่าผังเมืองรวม และเราสามารถจัดการ ห้ามไม่ให้มีบ้านจัดสรรไปอยู่ตรงนั้น ก็ย่อมทำได้ หรือแม้แต่อนุญาตให้มีบ้านจัดสรร และมีกลไกลยกเลิกโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทำได้”
ผังเมืองที่ไม่เอื้อต่อการอพยพ
เมื่อเกิดเพลิงไหม้ การระเบิดของสารเคมีแล้ว ได้มีคำสั่งให้ผู้ที่อยู่อาศัยในรัศมีโดยรอบอย่าง 5-10 กิโลเมตร อพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในการพูดถึงคือพื้นที่ดังกล่าวยังมีลักษณะไม่เอื้อต่อการอพยพด้วย ในประเด็นนี้ อ.ณัฐพงศ์บอกว่า ผังเมืองก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งถ้าในชีวิตประจำวันเอง เรายังไม่ได้รับความสะดวก ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงช่วงเวลาวิกฤตเลยด้วย
“เกี่ยวกับผังเมืองด้วยในส่วนมาก แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด การพัฒนาเชิงพื้นที่ของเราเป็นปัญหาเกี่ยวกับอพยพอยู่ ประเด็นของการอพยพอย่างมีประสิทธิภาพคือ หนึ่ง ต้องมีเส้นทางที่จะสามารถอพยพได้สะดวก สอง ต่อให้ไม่อพยพ ก็ต้องมีที่โล่ง ที่ไฟจะลุกไหม้มาไม่ถึง หรือมีที่กำบัง ในญี่ปุ่นมีพื้นที่โล่ง เตรียมไว้สำหรับอุบัติเหตุ อัคคีภัย เป็นจำนวนมาก ที่เขาทำแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่แผ่นดินไหว สิ่งที่ตามมาไม่ใช่เรื่องตึกถล่ม แต่คือเพลิงไหม้ หลังเขาเคยเกิดภัยพิบัติมาในปี ค.ศ.1923 เขาก็มีการปรับปรุง อาคารกันไฟ คืออาคารคอนกรีต วางไว้ว่าอาคารไหนต้องกันไฟ และยังมีการวางสวนสาธารณเป็นแนวกันไฟ และเป็นที่หลบไฟจากแผ่นดินไหว เพลิงไหม้”
“ทั้งถนนที่เป็นตรอก ซอก ซอยของเราเกิดโดยธรรมชาติ เกิดจากพื้นที่เกษตรกรรมเดิมของเรา ซอยในพื้นที่จัดสรรส่วนใหญ่เลยมักจะเป็นซอยตัน ไม่ได้เป็นซอยลูป เป็นเพราะมาจากพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะแปลงในภาคกลางของเราที่ทำนา เราเลยเอาหน้าแคบไปติดน้ำ ถ้าจะจัดสรรที่ดินก็จะได้ที่ดินแคบๆ จึงทำเป็นถนนเข้าไป พอถนนที่เข้าไปเป็นก้างปลา ไม่วนลูป การเข้าออกจึงเป็นทางเดียว เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงรถติดด้วย ในอดีตเป็นแบบนี้มาเป็นเพราะความผิดพลาดในการพัฒนาที่ดิน หรือเรียกว่าผังเมืองก็ได้ เราปล่อยให้มีการพัฒนาเมืองโดยไม่จัดรูปที่ดินมาก่อน ซึ่งเรามีเป็นกฎหมาย และมีทางญี่ปุ่นก็เคยมาช่วยเราเซ็ทเรื่องการจัดรูปที่ดินมาแล้วตั้งแต่อดีต
สิ่งนี้มันคือการที่ก่อนเราจะพัฒนาที่ดิน เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดๆ กัน ร่วมมือกันในการจัดรูปแปลงที่ดินของตัวเองให้เหมาะสมไปพร้อมๆ การวางโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการพัฒนาเมืองในอนาคต เช่น การทำถนนให้เป็นลูป ไม่ทำให้เป็นทางตัน หรือแม้แต่การทำสวนสาธารณะก็ช่วยได้ แต่เราไม่ทำ เราปล่อยเลย ไปถึงการเวนคืนที่ดิน เพื่อทำพื้นที่สาธารณะ อย่างที่บอกว่าการทำผังเมืองเป็นการตัดสินใจไปสู่อนาคตอย่างเด็ดขาด และสร้างสรรค์ ต้องยอมเจ็บปวดเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าในอนาคตมา การเวนคืนพื้นที่ให้ถนนต่อกัน เป็นโครงข่าย สามารถอพยพลี้ภัยได้ง่าย จริงๆ มันก็สะท้อนจากว่าวันปกติคุณรถติดหรือเปล่า ถ้าเราจะทำทางให้อพยพได้ง่าย มันคือการทำทางที่วันปกติของคุณ ถนนโฟลว์ และมีทางเลือกในการเดินทางได้เยอะๆ
สาธารณูปการมันคือพื้นที่โล่งสาธารณะ เราก็ไม่เห็นการมีพื้นที่เหล่านี้ เราเห็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่นสวนลุมพินี สวนรถไฟ สวนจตุจักร แต่พื้นที่ที่เป็นชุมชนแบบนี้ เราไม่ได้จัดเตรียมพื้นที่โล่งเอาไว้เลยในชีวิตประจำวัน ซึ่งชีวิตประจำวันมันคือพื้นที่พักผ่อน คือคอมมูนิตี้ ที่คนจะออกกำลังกาย มาเล่น มาพักผ่อน ซึ่งในวันที่เกิดวิกฤตแบบนี้ มันคือพื้นที่หลบภัย
จริงๆ ในไทย สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ ก็ส่งเสริมเรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่ สผ.ก็ไม่ใช่หน่วยงานที่จะมีทั้งงบประมาณ และบทบาท ถึงทำได้แค่เสนออกมาเป็นนโยบาย นี่คือเรื่องที่กรมโยธาธิการ การผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ สามารถสงวนรักษาพื้นที่ไว้เพื่อเป็นที่สาธารณะ รวมถึงการซื้อเวนคืนพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน
อีกเรื่องนึงก็คือการทำอาคารที่มีความเสี่ยงการทำอุบัติเหตุ อุบัติภัย คือการ redevelopment คือการทำลายอาคารที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และสร้างใหม่ให้กับเขา กล่าวโดยสรุปคือ
ปัญหาการหลบภัยมันสะท้อนให้เห็นว่าในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่ได้ service จากรัฐที่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ทั้งถนน และสาธารณูปการ ดังนั้นในวันที่เกิดวิกฤตเราไม่มีทางที่จะได้คุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าเราไม่ได้มันตั้งแต่ในชีวิตประจำวันตามปกติของเรา”
แม้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะเป็นอุบัติเหตุ มีการพูดถึงแผนรับมือฉุกเฉิน การรับมือวิกฤต แต่อ.ณัฐพงศ์ก็ชวนเราย้อนคิดว่า ถ้าหากทุกอย่างมันถูกต้องแต่แรก จัดการไม่ให้เกิดวิกฤตในพื้นที่ได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
“อันดับแรก เรากลับไปที่สิ่งที่ควรจะมี ควรจะเป็นก่อน อย่างเช่น โรงงานที่เสี่ยงไม่ควรต้องมี นี่คือเรื่องพื้นฐาน ถ้าเราใช้สารเคมีที่อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ คนรับผิดชอบต้องมีมาตการ หรือมาตฐานในการรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่เรื่องไฟช็อต ไฟไหม้ สายไฟในโรงงานต้องตรวจตราแค่ไหน ก่อนเราจะมองถึงแผนรับมืออุบัติเหตุ อุบัติภัย โดยเฉพาะครั้งนี้ จริงๆ มันป้องกันได้ จริงๆ เราต้องมองว่ามีแผน เราต้องไปคิดมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงาน หรือของในชีวิตของเรา เราปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมี และไม่ได้มีมาตรการดูแลที่ตามมาตรฐานเกิดขึ้นได้ ต่อให้มีมาตรการจัดการภาวะวิกฤต เราก็จะเจอภาวะวิกฤตเสมอ
อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความผิดพลาด แต่สิ่งที่เราต้องมองอันดับแรกคือทำยังไงต้องไม่พลาด ถ้าเราจะอยู่อย่างปลอดภัย และยั่งยืน การรับมือกับวิกฤตก็ต้องมีการรับมือ แต่ถ้าเราเอาเรื่องนี้โดยมองว่า ชีวิตเราต้องเจออุบัติเหตุ อุบัติภัย เอาสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง ผมว่าแปลก”
ผังเมืองของไทย และความต้องการให้เอาผังเมืองเป็นตัวตั้ง และพัฒนาไปสู่เมืองในอนาคต
หลังมีการพูดถึงผังเมือง รูปหนึ่งที่มีการแชร์กันเป็นจำนวนมาก คือรูปผังเมืองสีๆ ซึ่งจากโรงงานจะเห็นได้ว่า อยู่ในพื้นที่สีแดง แต่มีที่อยู่อาศัย เข้าไปตั้งในพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม เราจึงถามอาจารย์ทั้งสองคนว่า ถ้าเช่นนั้น แผนผังนี้ เราควรมองมันอย่างไร
อ.ณัฐพงศ์บอกกับเราว่า อยากให้มองว่าผังเมือง หรือผังสีๆ มันคือภาพอนาคตที่เราอยากได้ “ทีนี้ภาพอนาคตที่เราอยากได้ ผังเมืองก็ใช้อำนาจใน พรบ.ผังเมืองปี 2562 ในการที่จะปรับใช้มัน วันนี้เราเป็นแบบนึง ผังสีๆ คืออนาคต ดังนั้นผังเมืองนั้น มันต้องมีกลไก เราเรียกเป็นภาษาเทคนิกว่า ข้อกำหนด และมาตรการที่ทำให้เราไปสู่อนาคตนั้นได้ ผังเมืองต้องมองว่ามันเป็นอนาคตที่เหมาะสมหรือไม่ และมันมีวิธีการที่ เหมาะสมต่อการพาเราไปยังอนาคตหรือไม่”
“ผมไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ผังเมืองปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเรามองเรื่องอุบัติเหตุ อุบัติภัย เราคงต้องเอาโรงงานออก แต่ถ้ามองเป็นการสร้างงาน มันก็เป็นเงินที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเงินสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลได้ และโรงงานดูแลมาตรฐานของตัวเองได้ การมีโรงงานผิดหรือเปล่า แต่เรื่องนี้มันคือสิ่งที่ท้องถิ่น คือ พรบ.การผังเมืองได้มอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำผังเมือง ท้องถิ่นซึ่งแน่นอนมาจากประชาธิปไตย ผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับกระบวนการการทำผังเมืองนั้น ต้องร่วมกันเขียนอนาคต ว่าอนาคตของคุณ อยากเป็นยังไง ดังนั้นถ้าเราจะบอกว่าผังเมืองไม่ถูกต้อง มันก็พูดไม่ได้ มันต้องถามว่า อบจ.กับประชาชนอยากได้อะไรในอนาคต”
โดยอาจารย์ชี้ว่า เรียกได้ว่า คือทั้ง รัฐ เอกชน ประชาชนเป็นสำคัญ และจะบวกองค์กรการศึกษาเข้าไปด้วยก็ได้ แต่หลักๆ คือ 3 หน่วยนี้ที่ต้องพูดคุยกัน
“เราจะจบที่สี แต่เราไม่เคยถามคำถามที่สองว่า อะไรคือวิธีการที่ไปสู่อนาคตนั้น สังคมไทย หรือแม้แต่รัฐ ภาคเอกชน คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าสีมันคือสีอะไร แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้นอย่างเดียว กลไกที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมที่จะไปสู่อนาคตนั้นคืออะไร อันนี้เป็นศาสตร์ที่รัฐต้องออกแบบ และมองร่วมนี้ให้ขาด เราจะมองเรื่องนี้ไปสู่อนาคตด้วยกัน อย่างถ้าเราจะบอกว่าเราไม่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ตรงนี้แล้ว ไปบังคับเชิงกฎหมายก็ทำได้ แต่แน่นอนมันก็เกิดการทะเลาะลุกฮือของเจ้าของ ดังนั้นการผังเมืองจึงไม่ใช่แค่การบอกว่าไม่ต้องการอะไร และไล่ออกไป แต่เราจะให้เขาออกจากตรงนี้อย่างเป็นธรรมอย่างไร เป็นอีกขั้นตอนนึง
สิ่งที่อยากให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ มองว่า สีๆ ตอบโจทย์อนาคตที่อยากไปหรือเปล่า มีวิธีการที่เป็นประสิทธิภาพ และเป็นธรรมเพื่อไปสู่ตรงนั้นหรือเปล่า”
ขณะที่ อ.พนิต ยังชี้ให้เราเห็นถึงแผนที่สีๆ นี้ว่า มีเรื่องของความเป็น จ.สมุทรปราการ และจ.กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้วางแผนร่วมกันแล้ว แม้ว่าจะมีพื้นที่ที่ติดกัน
“เราแยกแทบไม่ออกระหว่างกรุงเทพ และสมุทรปราการเพราะมันพัฒนาต่อเนื่องกัน แต่จริงๆ มันถูกวางผังเมืองแยกกัน ข้างสีแดงตัวนี้ ข้างขวาเป็นสนามบิน ขอบสีแดงคือขอบจังหวัด พอข้ามมากรุงเทพ คือสีเหลือง คือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย โดยหลักข้างๆ สีแดงจะต้องเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และหนาแน่นปานกลาง เป็นวงซ้อนกันออกมา แต่อันนี้ที่ติดกันเพราะสีแดงเป็นของสมุทรปราการ สีเหลืองเป็นของกรุงเทพ แต่เอามาวางติดกัน มันเลยเป็นอย่างนี้ ที่เมื่อวาน (5 กรกฎา 64 – วันเกิดเหตุเพลิงไหม้) เรากังวลเรื่องลมเปลี่ยนทิศ โดนบ้านจัดสรรคนที่ได้รับความเดือดร้อนเพราะแบบนี้
มหานครมันใหญ่ กินพื้นที่ข้ามเขตการปกครองของเมืองหลวง เขาควรวางผังทีเดียว ไม่แยกกัน เพราะคนก็แยกแทบไม่ออก คุณอยู่นนทบุรีก็มีวิธีชีวิตแบบกรุงเทพ เพราะเป็นมหานครแล้ว แต่กรุงเทพเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปกครองตนเองแล้ว คือจริงๆ มันต้องการโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกรุงเทพ แต่วางแยกกัน
จริงๆ ควรจะวางไปด้วยกัน ตัวอย่างประเทศแบบสแกนดิเนเวีย เขามีเมืองหลวงใหญ่ เมืองหนาว คนก็มากระจุกตัว วิธีการของเขาคือใช้รัฐบาลเป็นคนวางผังภาคมหานครไปเลย เพราะเขาถือว่ามันเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ เป็นหัวใจ เขาก็ใช้รัฐบาลเป็นผู้ปกครองภาคมหานครด้วย” อ.พนิตยกตัวอย่าง
จะทำอย่างไรไม่ให้ผังเมือง ถูกมองว่าเป็นปัญหาอีก ?
แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่พื้นที่ ซ.กิ่งแก้ว ในสมุทรปราการที่มีพื้นที่เสี่ยงของโรงงาน กับที่อยู่อาศัยติดกัน แต่ยังมีอีกหลายจุดทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัญหาของผังเมืองในครั้งนี้ ก็เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุระเบิด ทำให้คนตระหนักถึงปัญหา เราจึงถามผู้เชี่ยวชาญผังเมืองกันต่อว่า จะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ หรืออุบัติภัย แล้วคนถึงตระหนักกันว่า ผังเมืองมีปัญหา
อ.พนิตยังคงย้ำแนวคิดว่า การพัฒนาต่างๆ ต้องใช้ผังเมืองเป็นตัวนำ เป็นแม่บทในการพัฒนา “การขออนุมัติโครงการทั้งหลายต้องบอกว่าตามผังเมือง และมันจะไปตรงตามกันทั้งหมด ไฟฟ้า ประปา ถนน การจัดเก็บขยะมูลฝอย มันจะไปด้วยกันทั้งหมด ตรงนี้ มันจะไม่มีปัญหาว่า มีไฟฟ้าแล้ว แต่ไม่มีถนน หรือมีถนน แต่ไม่มีประปา สิ่งต่างๆ มันจะไปพร้อมกัน พัฒนาไปพร้อมๆ กัน
แล้วตรงไหนที่ผังเมืองไม่ให้ ก็จะไปสร้างไม่ได้ เพราะขออนุมัติงบประมาณไม่ได้ ดีหรือไม่ดี มันจะไปพร้อมๆ กัน และถ้าไม่ดี 5 ปีก็จะแก้ใหม่ ระหว่างนั้นก็ขอแก้ไขได้ ผังเมืองไม่ได้อยู่ตลอดไป ทุก 5 ปีต้องทำประเมินผล ต้องแก้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นตอนทำ ไม่ได้คิดว่าจะมีรถไฟความเร็วสูง แต่รถไฟมา ก็ไม่ต้องรอ แก้ได้เลย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เอาผังเมืองให้เป็นแม่บทพัฒนากายภาพ และมันจะเดินไปด้วยกัน”
ขณะที่ อ.ณัฐพงศ์เอง ก็อยากให้ภาคประชาชน ได้ตระหนักร่วมกันว่า เมื่อผังเมือง หรือเมืองมีปัญหา ประชาชนจะมีความรู้สึกร่วมว่า พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาแบบนี้ไม่ได้ “ทุกครั้งที่มีปัญหา คนเดือดร้อนคือประชาชน ผมให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นถ้าเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ หน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ต้องยกประเด็นให้คนรับรู้ได้ว่า สถานการณ์ที่คุณเป็นอยู่ สิ่งที่คุณอยู่ มันเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน เงินทองแค่ไหน แล้วก็ตั้งกระบวนการให้มาหาทางออกร่วมกัน
จริงๆ มันไม่ใช่แค่ระเบิด น้ำท่วมก็ผังเมือง กัดเซาะชายฝั่ง รถบรรทุกข์แหกโค้งไปชนโรงเรียนก็เป็นเรื่องผังเมือง ในฐานะคนสอนผังเมืองเราก็น้อยเนื้อต่ำใจว่าอะไรๆ เราก็ผิด แต่มันไม่ใช่เราผิด เราทุกคนต้องเริ่มมองได้แล้วว่า เราจะอยู่อย่างนี้หรอ เราจะอยู่แบบเสี่ยงตาย ไม่มีโอกาสทำมาหากิน หรือสภาพแวดล้อมแย่ไปเรื่อยๆ หรอ ความรู้สึกร่วมพวกนี้สำคัญ
การจะแก้ปัญหานี้ได้ มันคือการสร้างความตระหนักว่า เรามีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ และเอาความรู้ มาร่วมกันแก้ปัญหานี้ ในศาสตร์ของการผังเมือง จริงๆ มีหลายศาสตร์มาก มีประสบการณ์แบบเดียวเกิดขึ้นทั่วโลก การเป็นสากลระบบวิธีคิดแบบนี้มีอยู่ มันคือปัญหาที่มนุษย์ที่เจอ และพยายามแก้ปัญหาร่วมกันมาแล้ว แต่มันไม่ถูกหยิบมาใช้ ผมว่าเราเองไม่ได้ตระหนักจริงๆ ว่าเราไม่ควรอยู่กันแบบนี้ ต้องดีกว่านี้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราหยิบความรู้มาใช้ และไปข้างหน้า”
สำหรับคำตอบแรก อ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า อาจจะเป็นนามธรรม แต่ก็สามารถแสดงออกมาเป็นรูปธรรมผ่านวิธีต่างๆ ด้วยได้เช่นกัน “มีวิธีได้หลายวิธี อย่างที่กดดันรัฐก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่อย่างที่บอกว่า การผลักดันไปมันเป็นเรื่องการคิดอย่างสร้างสรรค์ ในกรณีนี้ มันมีอีกหลายวิธีในการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐของเรา มันอาจจะไม่ได้จัดการได้อย่างรวดเร็วตอนนี้ มันมีหลายๆ เรื่องที่เราทำกันได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งรัฐขนาดนั้น เช่น ถ้ากลุ่มเจ้าของที่ดินตกลงกันว่า ถ้าจะมีสวนสาธารณะ หรือมีทางออกไปแล้วมูลค่าที่ดินขึ้น ก็มาแชร์กันว่าจะทำทางออกยังไง
แต่โดยสรุปผังเมืองเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของรัฐ ในฐานะตัวแทนของประชาชน เพราะมันจะต้องบาลานซ์ผู้ได้ ผู้เสีย รัฐจะต้องมีความเป็นกลาง และมีวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคตว่า เราจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ร่วมกันตรงนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปสู่อนาคต แต่ก็ต้องตัดสินใจอย่างเที่ยงธรรม”
สุดท้ายเราถามเสริม อ.ณัฐพงศ์ว่า แต่รัฐในตอนนี้ อาจจะไม่ได้มองเห็นว่าปัญหานี้คือเรื่องสำคัญหรือเปล่า ซึ่งอาจารย์ก็สรุปกับเราว่า เรื่องทั้งหมดคือคุณภาพชีวิต และที่ผ่านมาผลการกระทำของรัฐก็ได้สะท้อนออกมาให้เราเห็น
“ผมไม่กล้าตอบแทนรัฐ เพราะผมไม่รู้ว่าในใจเขาคิดยังไง แต่ผมคิดว่า โดยการกระทำ เราเห็นมาโดยตลอดว่า ทางเท้าของเราแย่ ระบบการรักษาพยาบาลเราแย่แต่ต้น จะไปโรงพยาบาลรัฐต้องต่อแถวรอแต่เช้า เรารู้ว่าโรงเรียนรัฐถ้าเรียนไปอาจจะสู่โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ มีพ่อแม่ที่ดิ้นรนให้ลูกได้เรียนเอกชน หรือไม่ก็ส่งไปต่างประเทศ เรารู้ว่าระบบขนส่งมวลชนเราแย่ เราเลยพยายามซื้อรถยนต์ ด้วยการกระทำที่ผ่านมา ด้วยผล เราอาจจะกล่าวได้ว่า รัฐของไทยเราไม่ว่าจะส่วนกลาง หรือท้องถิ่น อาจจะเพิกเฉยต่อคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชน ซึ่งมันคือสิ่งพื้นฐานที่สุดแล้ว เพราประชาชนคือทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยกันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมที่ดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ แต่เรากลับเพิกเฉยคุณภาพชีวิตพื้นฐานประชาชน ผมว่าการมองไปสู่อนาคตไกลๆ และมองว่าเราเหยียบอยู่บนพื้นดินแบบไหน และเรารู้ว่าคุณภาพชีวิตเราตอนนี้เป็นยังไง ผลของการกระทำของรัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลคุณภาพชีวิต”
แต่แม้รัฐอาจจะล้มเหลว แต่อาจารย์ก็กล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า “ผมก็มองว่าแม้จะมีปัญหา แต่เราทำได้ เรามีองค์ความรู้ และเราอยู่กันแบบนี้ไม่ได้”