“พวกเรามอบทั้งชีวิต เวลา และร่างกายให้แก่องค์กรนี้ (สตาร์บัคส์) บอกฉันหน่อยว่าทำไมฉันถึงไม่ควรได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น” เฮเลย์ ฟาแกน บาริสต้าที่ทำงานให้สตาร์บัคส์มนานาน 5 ปี ได้รับค่าจ้าง 22 ดอลลาร์/ ชั่วโมง กล่าวกับ Recode
ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา คลื่นความเท่าเทียมในที่ทำงานได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ หลังมีการจัดตั้ง Starbucks Worker United ขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองบัฟฟาโลว์ รัฐนิวยอร์ค ก่อนที่กระแสดังกล่าวจะกระจายตัวไปทั่วสหรัฐฯ และมี 17 ร้านแล้วที่เริ่มโหวตตั้งสหภาพ ขณะที่อีก 170 แห่งกำลังเตรียมโหวตในเร็วๆ นี้
พนักงานสตาบัคส์บางคนบอกกับ Recode ว่า สาเหตุหลักคือเรื่องค่าแรง แต่สำหรับ เรสซี่ เมอร์คาโด เหตุผลที่เขาออกมาเรียกร้องเริ่มต้นขึ้นหลังเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งถูกชายคนหนึ่งฟาด เพราะขอดูบัตรยืนยันว่าฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว ขณะที่ โฮป ลิปปี้ บอกว่าสตาร์หลอกลวงพวกเขามาตลอดด้วยคำว่า “พาร์ทเนอส์ (Partners)” แต่ไม่เคยปฏิบัติต่อพวกเขาแบบนั้นจริงๆ
มันเป็นหลากหลายเหตุผลที่ทำให้พนักงานเหล่านี้ออกมารวมตัวกัน แต่แล้วทำไมการรวมตัวของกลุ่มแรงงานถึงสำเร็จที่สตาร์บัคส์ ขณะที่บริษัทอีคอมเมิชระดับโลกอย่าง Amazon ที่ก่อตั้งสหภาพของตัวเองขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ถึงมีกระบวนการเป็นไปอย่างกะท่อนกะแท่น
- ทำไมสตาร์บัคส์ ?
รีเบคกา จีวอน ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยรุจเกอร์ เปรียบสถานการณ์ของสตาบัคส์ว่า “Perfect Strom” ประการแรก สตาบัคส์มักชูแนวคิดที่ก้าวหน้า ตั้งแต่ประเด็นกาแฟไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งแนวคิดนี้หลายครั้งมันก็นำภัยมาสู่ตัวองค์กรเอง เช่น ชื่อเสียงของบริษัทหลังกรณีที่พนักงานคหนึ่งโทรหาตำรวจเพื่อให้มาจับชายผิวสีน่าสงสัย ที่แค่มาซื้อกาแฟ
และด้วยแนวคิดที่ก้าวหน้านี่เองที่ทำให้สตาร์บัคส์ดึงดูดคนเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางกระแสความเท่าเทียมและยุติธรรม เช่น แคมเปญ Black Lives Matter หรือ Metoo และนั่นทำให้แกนนำสหภาพแรงงานครั้งนี้ของสตาร์บัคส์ส่วนใหญ่เป็นคนอายุต้น 20 ปี ที่มีความคิดคล้ายกัน เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ และที่สำคัญคุ้นชินกับเทคโนโลยีจนสามาถรวมตัวกันได้แม้อยู่คนละรัฐ ผ่านการจัดประชุมใน Discord หรือสร้างสื่อและเผยแพร่แนวคิดของตัวเองผ่าน TikTok
“พวกเราถูกบังคับให้มาอยู่บนโลกใบที่พวกเราเป็นเจ้าของอะไรไม่ได้สักอย่าง แม้แต่ชีวิตตัวเอง” เมอร์คาโด ซึ่งทำงานอยู่กับสตาร์บัคส์สาขาบรู๊คลิน และกำลังเรียนด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวกับ Recode “มันไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างวัย แต่มันคือเรื่องของสิ่งที่พวกเราได้รับและเครื่องมือที่เราจะนำมาเปลี่ยนแปลงมัน” เมอร์คาโดเสริม
ประการที่สอง โรคระบาด สภาพการทำงานที่ต้องพบปะผู้คนตลอดเวลา จึงทำให้พนักงานสตาร์บัคส์ไม่ต่างจากทีมแพทย์และพยาบาลในช่วงโรคระบาด โดย แบรนดี อัลดุก จากสาขาเมืองควีนกล่าวว่า “พวกเขาเรียกผมว่า ‘พาร์ทเนอร์’ แต่ยอมให้ผมตายอยู่บนพื้นตรงนี้ ถ้าทำเงินให้พวกเขา” พนักงานสตาร์บัคส์หลายคนมองว่างานของพวกเขามีความเสี่ยง แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนเท่าที่ควร ซึ่งสร้างความไม่พอใจนายจ้างเข้ามาร่วม
ประการที่สาม เจตจำนงค์ของพนักงาน จีวอน ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่า การที่พนักงานสตาร์บัคส์ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ด้วยตัวเองคือปัจจัยหลัก เธอกล่าวว่า “มันไม่มีใครมาออกคำสั่งจากบน-ล่างว่า สาขาไหนจะจัดตั้งหรือมไม่ มันขึ้นอยู่กับพนักงานในแต่ละร้านทั้งหมด” เธอกล่าวว่า การปราศจากการแทรกแซงหรือหนุนหลังเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้สหภาพแรงงานเกิดขึ้นในสตาร์บัคส์
- ข้อเรียกร้องของพวกเขาคืออะไร?
ในเว็บไซต์ sbworkersunited ของสหภาพแรงงานสตาร์บัคส์ระบุว่า “พวกเราไม่ใช่กลุ่มแอนติสตาร์บัคส์ แต่เราคือสตาร์บัคส์” พร้อมระบุว่าพวกเขาเพียงต้องการทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลย “มีคนน้อยเกินไป ทำงานหนักเกินไป เหนื่อยล้าเกินไป และหมดแรงเกินไป” ดังนั้น สหภาพต้องการเพียงมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของบริษัท และสร้างระบบที่เป็นธรรม อิสระ และให้คนทำงานได้ทำงานเพื่อองค์กรจริงๆ
คำกล่าวจากเว็บไซต์ดูคล้ายจะเป็นแนวคิดที่ต่อรองได้ ขณะเว็บไซต์ Eater รายงานว่า พนักงานคนหนึ่งบอกพวกเขาว่า ต้องการค่าแรงขั้นต่ำ 25 ดอลลาร์/ ชั่วโมง สำหรับบาริสต้า และต้องการให้มีสวัสดิการ เช่น โครงการดูแลด้านสุขภาพจิต ขณะที่พนักงานอีกรายหนึ่งบอกกับ Decode ว่า เธอต้องการ “นั่งลงกับผู้บริหารระดับสูงของสตาร์บัคส์ และร่วมกันวางแผนที่ทำให้ลูกจ้างแบบเรารู้สึกมีคุณค่า เหมือนที่พวกเขาชอบพูด”
หรืออาจสรุปได้ว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขายังคงเปลี่ยนได้ตลอดขึ้นอยู่กับอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามองเห็นร่วมกันในตอนนี้คือ พวกเขาสร้างอำนาจต่อรองในที่ทำงานขึ้นมาให้ได้
- สตาร์บัคส์ว่าอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้บริหารและกลุ่มทุนจะโอเคกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบริษัท พวกเขาออกแถลงการณ์ว่า “พวกเรารับฟังและเรียนรู้จากพาร์ทเนอร์ทุกคนในร้านเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่เราทำกับทุกร้านทั้งประเทศ” และก่อนหน้านี้ก็มีการประกาศจะขึ้นค่าแรงเป็น 17 ดอลลาร์/ ชั่วโมงในช่วงฤดูร้อนมาก่อนแล้ว
นอกจากข่าวการเพิ่มค่าแรง สตาร์บัคส์ยังตอบโต้ด้วยการเปิดเว็บไซต์ We are one Starbucks พยายามเผยแพร่ข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้พนังงานต่อต้านการจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยเว็บไซต์ระบุว่า “พวกเราคิดว่าสหภาพไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสตาร์บัคส์ เพราะเรารู้ว่าปัญหาที่แท้จริงสามารถแก้ไขได้ด้วยความสัมพันธ์ทางตรงกับพาร์ทเนอร์แต่ละคน” นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังระบุถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แก่พนักงาน เช่น ประกันสุขภาพ, ค่าเล่าเรียน รวมถึงบัตรสมาชิก Spotify แบบพรีเมียม
ขณะที่ทางด้าน Eaters รายงานว่าพวกเขาได้คุยกับพนักงานสตาร์บัคส์หลายคนที่ให้ข้อมูลว่า ทางส่วนกลางส่งคนเข้ามาจับตาดูกิจกรรมของสหภาพหลายครั้ง ทั้งในเมืองบัฟฟาโลว์, เมมฟิส และเทเนซี ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้ไล่พนักงานคนหนึ่งออก โดยระบุว่าพนักงานคนนั้นฝ่าฝืนนโยบายของบริษัท แต่ทางด้านสหภาพตอบโต้ว่า บริษัทไล่พนักงานคนนั้นเพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพต่างหาก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าสตาร์บัคส์พยายามยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อชะลอการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่มันไม่ง่ายนัก เพราะตั้งแต่ปี 1935 สหรัฐฯ ได้ตรากฎหมายสหภาพแรงงานไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (National Labor Relations Board) เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้าง-สหภาพ และรับผิดชอบเรื่องการตั้งสหภาพทั่วสหรัฐฯ และองค์กรนี้เอง ที่เป็นผู้ปัดตกข้อเสนอชะลอสหภาพของสตาร์บัคส์
- บทเรียนคลื่นความเท่าเทียมในที่ทำงานของสหรัฐฯ
พูดได้ว่าสตาร์บัคส์เป็นตัวอย่างของการลุกขึ้นมาของคนทำงานเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในที่ทำงาน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าระหว่างกระบวนมีทั้งจุดเริ่มต้นจากความไม่พอใจที่สุมขึ้น ความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคระบาด การต่อสู้เพื่อรวมตัวเรียกร้อง ตลอดจนการแทรกแซงจากอีกฝั่งเพื่อต่อต้านการรวมตัวของคนทำงาน
สำหรับประเทศไทยที่ค่าแรงไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพอาจมีอีกกรณีหนึ่งที่ควรศึกษา ‘ขบวนการ 15 ดอลลาร์/ ชั่วโมง’ ซึ่งร่วมกันนัดหยุดงานเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังสัมผัสว่าตัวเองรู้สึกไม่เป็นธรรมในสภาพการจ้างงานที่มีโรคระบาดรายล้อมตัว ซึ่งสุดท้ายสำเร็จและทำให้มีการขึ้นค่าแรงทั่วสหรัฐฯ
การรวมตัวเพื่อต่อรองในที่ทำงาน หรือสิ่งที่สหภาพคนทำงาน เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ อาจเป็นกระแสที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ท่ามกลางโลกที่ผันผวนจากเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ โรคระบาด ภาวะโลกร้อน รวมถึงความไม่เสถียรทางการเมือง ผู้คนอาจเรียกร้องหาอะไรที่มั่นคงในชีวิตบ้าง ซึ่งอย่างน้อยอาจเป็นในที่ทำงาน
ส่วนถ้าใครอยากสนับสนุนสหภาพแรงงานสตาร์บัคส์ พนักงานคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานได้แนะนำกับ Eater ไว้ว่า “ลูกค้าทุกคนสามารถช่วยสหภาพได้ด้วยการโทรหาสตาร์บัคส์ แล้วบอกพวกเขาให้หยุดแทรกแซงการจัดตั้งแรงงานเสียที” หรืออีกวิธีหนึ่งที่อาจทำได้ง่ายกว่านั้น เขาแนะนำว่า “ให้ทิปพนักงงาน, เขียนโน๊ตให้กำลังใจพวกเขา และอวยพรให้พวกเขาโชคดีกับสหภาพ ทั้งหมดนี้คือวิธีช่วยพวกเราที่ดีที่สุดแล้ว”
อ้างอิง:
https://www.vox.com/recode/22993509/starbucks-successful-union-drive
https://sbworkersunited.org/new-page-1
https://www.eater.com/22925565/starbucks-union-wave-explained
https://www.nytimes.com/2022/04/08/business/economy/starbucks-union-new-york-vote.html