เมื่อพูดถึงเด็กกับลัทธิความเชื่อ กรณีที่เด็กถูกทำให้กลายเป็น ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และมีคนต่อคิวรอบูชากราบไหว้ด้วยความศรัทธา หลายๆ คนในสังคมไทยอาจมองประเด็นนี้ด้วยสับสน วิพากษ์วิจารณ์และส่งต่อข้อมูลด้วยความขบขัน ไปจนถึงก่นด่าด้วยความไม่เข้าใจ
หากถอยออกมาดูในภาพที่กว้างขึ้น เราอาจจะมองผลกระทบต่อเด็กในอีกบางแง่มุมเช่นกัน
ถ้ามองให้พ้นจากเรื่องความเชื่อและศรัทธา สิ่งที่น่ากังวลกว่า คือไม่ว่าจะเด็กคนนั้นจะอยู่กับลัทธิความเชื่อในฐานะผู้นำหรือผู้ตาม คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของเด็กที่ต้องเติบโตมาในลัทธิความเชื่อนั้นเป็นอย่างไร สิทธิของเด็กคนดังกล่าวถูกละเมิดหรือไม่ และเขาได้รับผลกระทบทางสภาพจิตใจรึเปล่า
เด็กที่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและอยู่ในภาวะเปราะบาง เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบทางจิตใจและสิทธิเด็กที่ถูกละเมิด The MATTER จึงสนทนากับ เคทธิยา ฉวัฒนะกุล นักจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว และ ทิชา ณ นคร นักสิทธิเด็กและเยาวชน
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่บูชาเด็ก
ก่อนไปฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ขอเริ่มด้วยการยกตัวอย่างกรณีการเลือก ‘กุมารี’ ในเนปาลให้อ่านก่อน เพื่อให้เห็นถึงกรณีการสร้างกลุ่มความเชื่อที่บูชาเด็ก ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิและผลกระทบต่อสภาพจิตใจ
ประเพณีที่ว่า คือการคัดเลือกเด็กหญิงวัยไม่กี่ขวบให้เป็น ‘กุมารี’ หรือก็คือเทพสตรีที่มีชีวิต ซึ่งกุมารีจะต้องเก็บตัวอยู่ในวัด แทบถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีประจำเดือน ซึ่งกุมารีศักดิ์สิทธิ์มาก ประชาชนเนปาลจำนวนมากบูชาและศรัทธาในตัวเธอ อย่างไรก็ดี การที่เด็กเล็กถูกบูชาแบบนี้ก็ยังถูกถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่นักสิทธิมนุษยชนที่มักมองว่า ประเพณีนี้คือการละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงขัดต่อเสรีภาพในหลายด้าน ทั้งการใช้ชีวิตและด้านการศึกษา
ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเด็ก Humanium ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อกุมารีหมดซึ่งสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต้องกลับมาเป็น ‘คนธรรมดา’ เพราะมีประจำเดือน การเปลี่ยนอัตลักษณ์ลักษณะนี้อาจทำให้พวกเธอรับมือกับการที่ตัวเองไม่ถูกเคารพบูชา และกลับไปใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ขณะที่บางคนต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจจากชีวิตที่เปลี่ยนแทบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
ซึ่งหลายๆ ข้อคิดเห็นจากทั้งนักจิตวิทยาเด็กและนักสิทธิเด็ก สอดคล้องคล้ายๆ กับกรณีเทพเด็กในเนปาลเหมือนกัน ทั้งในแง่การละเมิดสิทธิและผลกระทบทางจิตใจ
วัยเด็กและสิทธิเด็กที่หายไป
เราเดินทางไปถึงบ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม เพื่อสนทนากับทิชา ที่นอกจากจะเป็นนักสิทธิเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็น ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) ณ ที่แห่งนี้อีกด้วย ด้วยตำแหน่งและบทบาทที่มี เธอจึงเป็นผู้มีประสบการณ์ข้องเกี่ยวกับเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ อย่างโชกโชน
ทิชาให้ความสำคัญกับวัยเด็กมาก สำหรับเธอ วัยเด็กคือเรื่องราวและร่องรอยทุนชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ ดังนั้น การส่งเสริมและปกป้องให้เด็กๆ ได้อยู่กับ ‘ความเป็นเด็ก’ ตามหลักพัฒนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ปกครองและรัฐบาลต้องช่วยกันรับผิดชอบ
“ถามว่าละเมิดสิทธิอย่างไร ถ้าเราพูดถึงหลักการพัฒนาเด็ก เด็กทุกคนควรจะได้เติบโตภายใต้ความเป็นเด็กอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าครอบครัวจะต้องเป็นด่านแรกที่ทำให้เติบโตในฐานะที่เป็นเด็ก ส่วนหน่วยงานรัฐก็ต้องเข้าไปสนับสนุนหรือทำบริการสาธารณะให้เด็กได้เติบโตในพื้นที่ความเป็นเด็กอย่างเต็มที่” ทิชา บอกกับเรา
ฉะนั้น การที่เด็กต้องแปรสภาพเป็นผู้นำลัทธิหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงอาจทำให้เด็กต้องสูญเสียวัยเด็กไป หรือก็คือสิ่งที่ทิชานิยามว่า ‘ถูกพรากความเป็นเด็ก’ ซึ่งในส่วนนี้เธอขยายความด้วยว่า การถูกพรากความเป็นเด็กหรือปราศจากวัยเด็กอาจไม่ทำให้ใครขาดใจตาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจต้องออกตามหาวัยเด็กที่สูญหายอย่างหิวกระหาย ไม่ก็ต้องใช้ชีวิตในสังคมอย่างขาดสมดุล
การทำให้วัยเด็กหายไป สำหรับทิชาแล้ว ถือเป็นการกระทำของผู้ใหญ่ที่ละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน
ทิชายกตัวอย่างกรณี ‘ดาราเด็ก’ เพื่อเปรียบเทียบ โดยเธออธิบายว่า ดาราเด็กจำนวนหนึ่งไม่มีวัยเด็กของตัวเอง แม้ขณะนั้นอาจรู้สึกดี ร่ำรวย มีชื่อเสียง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดาราเด็กหลายคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่กลับต้องวิ่งหาวัยเด็กของตัวเอง บางคนหาเจอและได้เยียวยา แต่บางคนหาไม่เจอและพยายามหาที่พึ่ง และหนึ่งในที่พึ่งที่ถูกเลือก คือ สารเสพติด
นักสิทธิเด็กอธิบายต่อว่า การถูกพรากความเป็นเด็กไม่ใช่แค่กับกรณีดาราเด็กอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงเด็กคนอื่นที่ต้องใช้ชีวิตกับภารกิจ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบางอย่างด้วย
“เราเห็นเด็กอยู่กลางสปอตไลท์ เห็นคนมาแสดงความเคารพนับถือ เป็นภาพที่เราอาจคิดว่ามันดีงามกับเด็กๆ แต่เราแน่ใจใช่ไหมว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ความเป็นเด็กของเขาที่หายไปและการเติบโตอย่างผิดเพี้ยน มันจะไม่กลายเป็นบาดแผลของผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา”
“แล้วพอถึงวันนั้น เราไม่อาจย้อนทุกอย่างกลับมาได้” ทิชา กล่าว
เมื่อถามว่าการที่ปล่อยให้เด็กอยู่ในลัทธิความเชื่อ หรือกลายเป็นตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ทิชาตอบกลับถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือก็คือข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ผู้นำ 196 ประเทศทั่วโลกมาร่วมให้สัญญาว่าจะคุ้มครองดูและเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ไทยร่วมลงนามให้สัตยาบันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535
ทิชาอธิบายว่า 4 สิทธิใหญ่ที่ถูกระบุในอนุสัญญาสิทธิเด็ก ได้แก่
1) สิทธิที่จะมีชีวิตรอด
2) สิทธิที่จะได้รับการศึกษา
3) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
4) สิทธิที่เด็กจะมีส่วนร่วม
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ถึงแม้ว่าอนุสัญญาสิทธิเด็กเป็นกฎหมายภายนอกที่บังคับใช้ในประเทศไม่ได้ แต่ก็มีข้อบังคับผูกพันให้ไทยต้องรายงานสถานการณ์สิทธิเด็กในประเทศไทยและต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่ขัดแย้งกับอนุสัญญาฉบับนี้
ฟังดูเป็นอนุสัญญาที่คุ้มครองปกป้องสิทธิเด็กอย่างที่ควรจะเป็น แต่ทิชาอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับรัฐไทยด้วยว่า บ้านเราปฏิบัติตามอนุสัญญานี้อย่างจริงจังแล้วหรือยัง
จึงเป็นที่มาของการที่ทิชาเรียกร้องให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการเด็กฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงกรมศาสนา และสำนักพุทธ เข้าดูแลรับผิดชอบและตรวจสอบพูดคุยกับครอบครัวเด็กที่อยู่ในลัทธิความเชื่อ
“พม. ไม่ใช่ยักษ์หลับอย่างเดียว แต่เป็นยักษ์ที่กินยานอนหลับ หมายความว่าไม่ตื่นเลย .. เราไม่เห็นกลไกรัฐ โดยเฉพาะกระทรวง พม. รวมถึงสำนักพุทธและกรมศาสนาเช่นกัน ลุกขึ้นมาเพื่อเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ปกครองถึงข้อเท็จจริงเพื่อให้สังคมเห็นเหรียญอีกด้านด้วย”
สภาพจิตใจและพัฒนาการในสายตานักจิตวิทยา
หากจะต้องพูดเรื่องพัฒนาการและสภาพจิตใจเด็กในลัทธิความเชื่อ คงปฏิเสธที่จะคุยกับนักจิตวิทยาเด็กไม่ได้ เราจึงติดต่อเคทธิยา นักจิตวิทยาเด็ก ผู้เป็นเจ้าของเพจ ‘บันทึกไม่ลับนักจิตวิทยาเด็ก’ เพื่อขอความรู้
เคทธิยาเริ่มด้วยการอธิบายก่อนว่า เมื่อเห็นกรณีเด็กและลัทธิความเชื่อ สิ่งแรกที่น่าเป็นห่วงคือความปลอดภัยของเด็ก หรือก็คือ เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างปลอดภัยหรือไม่ ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กหรือไม่
การเลี้ยงดูอย่างปลอดภัย มีความหมายหลากหลายมิติ มิติแรกคือปลอดภัยด้านพัฒนาการ ซึ่งเคทธิยาอธิบายว่า เด็กวัยไม่กี่ขวบควรจะได้เติบโตอย่างธรรมชาติ ควรจะได้เล่น ควรจะมีอิสระ และควรจะได้ค้นหาตัวเองตามวัย ง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรพลาดโอกาสช่วงวัยเด็กไป
“เด็กคนหนึ่งควรที่จะได้มีชีวิตอิสระตามวัย ควรจะได้ลองเล่นกีฬา วาดรูป หรือถ้าชอบนั่งสมาธิวิปัสสนาก็ทำได้ เพียงแต่ว่าการสนับสนุนให้เขาเป็นเทพหรืออะไรสักอย่างมันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเขา”
“วันหนึ่งเด็กอาจจะโตขึ้นมาแล้วค้นพบว่าตัวเองสูญเสียโอกาสช่วงวัยเด็กไปแล้ว และถ้าหากเขาคนนั้นมาค้นพบทีหลังว่า เฮ้ย เราไม่ได้เป็นเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราเป็นคนธรรมดา มันก็เหมือนกับพลาดโอกาสที่เขาจะได้ทดลอง เรียนรู้ หาตัวเอง หรือใช้ชีวิตปกติตามวัย” เคทธิยากล่าว
การเลี้ยงดูอย่างปลอดภัยในมิติต่อมาจะว่าด้วยเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ในแง่นี้เคทธิยาชวนสังคมตั้งคำถามกับเรื่องภาพของเด็กในลัทธิที่มักถูกเผยแพร่สู่สายตาสังคม ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างผลกระทบต่อเด็กในอนาคตได้อีกเช่นกัน
และมิติสุดท้ายที่เคทธิยาอธิบายให้เราฟัง คือ มิติเรื่องผลกระทบทางจิตใจ การเลี้ยงดูอย่างปลอดภัยจะต้องห่างไกลจากการโดนกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งเธอประเมินว่าเด็กที่โตมาในลัทธิมักได้รับผลกระทบทางจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แบบที่มีปัจจัยกระตุ้นรอบตัว เช่น ต้องตกในความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงเกินไปสำหรับเด็กวัยเพียงไม่กี่ขวบ หรือต้องเผชิญกับการถูกทำข่าวในโทนตลกที่ก็สร้างผลกระทบกับเด็กเช่นกัน
นอกจากนี้ เด็กในลัทธิอาจได้รับผลกระทบด้าน ‘อัตลักษณ์’ ด้วย เคทธิยาชี้ว่า การที่อัตลักษณ์หรือตัวตนของเด็กถูกประกอบสร้างให้เชื่อว่าเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตัวเด็กก็จะเชื่อไปเช่นนั้น แต่หากวันหนึ่งเด็กเรียนรู้ หรือวันหนึ่งกระแสความสนใจเริ่มลดลง เด็กก็อาจมีภาวะไม่สามารถรับมือกับการที่ไม่มีใครสนใจมากเท่าที่เคยได้ จนอาจสะเทือนตัวตนและทำให้เด็กตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ตกลงฉันสำคัญไหม’ หรือ ‘ฉันเคยสำคัญและโดดเด่นมาก แต่วันนี้ ตกลงฉันเป็นใคร’ เป็นต้น
เคทธิยาเน้นย้ำว่า การที่เด็กได้ลองใช้ชีวิต ลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อสำรวจตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบ คือสิ่งสำคัญมากๆ ในการพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะช่วงอายุ 6-12 ปี เพราะการเก็บสะสมความชอบและไม่ชอบอะไรบางอย่าง จะมีผลต่อเนื่องกับอัตลักษณ์ที่เด็กจะพัฒนาเมื่อเติบโตขึ้นอีกขั้น
เมื่อเราถามว่า อนาคตของเด็กในลัทธิจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเด็กที่เป็นผู้นำความเชื่ออะไรบางอย่าง เคทธิยาวิเคราะห์ว่า เด็กอาจเติบโตมาได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเลย แต่อีกรูปแบบก็อาจเติบโตมาแบบผิดหวังชีวิตได้เช่นกัน เราจึงถามต่อว่า หากเติบโตมาเป็นจอมขมังเวทย์ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะแปลว่าเขาจบลงด้วยดีไม่ใช่หรอ ซึ่งเคทธิยาตอบกลับทันทีว่า “ใช่ เขาอาจไม่ได้จบลงแบบเลวร้าย แต่เป็นเกจิคนดังก็ต้องดูด้วยนะว่าเขาสุขภาพจิตดีไหม”
“แม้แต่หมอที่ดูปกติ เขาก็อาจเคยถูกบังคับให้เรียนเยอะในวัยเด็ก ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการถูกบังคับตีตราว่าเด็กเป็นเทพเลยนะ” เคทธิยา กล่าว
แล้วในฐานะคนในสังคม เราควรตอบสนองต่อปรากฏการณ์เด็กในลัทธิความเชื่ออย่างไร เคทธิยาให้ข้อมูลว่า บ้านเราอาจต้องเติมความรู้เรื่องสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็กให้มากกว่านี้
“จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับเด็กและโรงเรียนในไทย จะเห็นว่าความไทยๆ จะไม่สนใจเรื่องนี้มาก อยากให้สังคมมีความรู้เรื่องนี้มากกว่านี้ ไม่ต้องไปถึงขั้นสุขภาพจิตก็ได้ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการนำเสนอภาพและคลิปของเด็ก สังคมก็ควรมีความรู้กว่านี้ว่าเราไม่ควรส่งเสริม ไม่ควรแชร์ไลฟ์ หรือนักข่าวก็ไม่ควรจะไปถ่ายซ้ำซ้อน”
เคทธิยายังได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นักสังคมสงเคราะห์ หรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปดูแลสถานการณ์นี้ให้มากขึ้น
“อยากให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหานะ มันไม่ใช่แค่เรื่องตลกหรือเรื่องสนุก แต่จริงๆ คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง” เคทธิยา ทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่าข้อคิดเห็นจากทั้งมุมนักสิทธิเด็กและนักจิตวิทยาเด็ก กลุ่มคนที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กมากมาย ล้วนมีข้อกังวลต่อความเปราะบางของเด็กที่ต้องเติบโตท่ามกลางลัทธิความเชื่อไม่น้อยเลย ทั้งในแง่การละเมิดสิทธิ พัฒนาการ และการเจริญเติบโตตามวัย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยเรื่อง ‘วัยเด็กที่หายไป’ ที่ทั้งคู่ต่างพูดถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
อ้อ อีกเรื่องสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 พูดตรงกัน คือ การเรียกร้องให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปประสานดูแลเด็กที่อยู่ในลัทธิความเชื่ออะไรบางอย่าง อย่างน้อยๆ ก็เข้าไปพูดคุยเพื่อประเมินและหาทางปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กให้ได้
คำถามว่าสังคมจะไปต่อกับประเด็นเด็กและลัทธิความเชื่ออย่างไร เราคงไม่อาจรู้ได้ แต่คำตอบว่าสังคมควรจะเดินหน้าอย่างไรเพื่อรักษาสิทธิและสภาพจิตใจของเด็กในลัทธิคงมีแนวทางปรากฏอยู่บ้าง …ขึ้นอยู่ที่ว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตื่นจากการเป็น ‘ยักษ์หลับ’ มาจัดการเมื่อไหร่ก็เท่านั้น