เพียงชั่วข้ามคืน กรณีเยาวชนวัย 15 ปี ที่ขับรถหรู BMW ฝ่าไฟแดงด้วยความเร็วจนชนบัณฑิตวิศวะป้ายแดงจนเสียชีวิตคาที่ ก็กลายเป็นคดีดังที่สังคมให้ความสนใจและใครๆ ก็พูดถึง
เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์นี้บ้าง? เยาวชนมีท่าทีปัดความรับผิดชอบจริงไหม? ทำไมอยู่ๆ ก็มีการพูดถึงกฎหมายและการเอาผิดเยาวชน? เชื่อว่าใครหลายคนอาจยังสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น The MATTER จึงขอสรุปเหตุการณ์ ดังนี้
1. กลางดึกของคืนวันที่ 1 ต.ค. 65 ระหว่างที่ เต้–ธนพล แก้วมูล กำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับจากที่ทำงาน เขาถูกชนด้วยรถยนต์ BMW จนเสียชีวิตคาที่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
2. ธนพลเสียชีวิตด้วยวัย 24 ปี เขาคือบัณฑิตจบใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วยคะแนนเกียรตินิยม ก่อนเสียชีวิตเขาทำงานเป็นพนักงานดูแลระบบเครือข่ายของ รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกำลังวางแผนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท
3. สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันว่า ผู้ขับขี่เป็นเยาวชนวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น และจากการตรวจสอบด้วยกล้องวงจรปิดก็พบว่า รถเก๋งขับฝ่าไฟแดงด้วยความเร็ว จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต
4. ด้านเยาวชนและเพื่อนวัยรุ่นอีก 3 รายที่โดยสารอยู่ในรถยนต์ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ก็มีอาการตกใจ และยืนรอแสดงตัวกับตำรวจ ณ จุดเกิดเหตุ
5. งานศพของธนพลถูกจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น (2 ต.ค. 65) โดยที่พ่อของเขาต้องหยิบยืมเงินมาเพื่อจัดงานศพ ในตอนแรกมีการเรียกร้องค่าทำศพจากคู่กรณี 250,000 บาท แต่คู่กรณีนัดให้ไปที่โรงพัก มีท่าทีคล้ายบ่ายเบี่ยง เมื่อไปถึงตำรวจก็บอกว่าหากจะรับเงินให้อ่านเอกสารให้ดี เขาจึงตัดสินใจไม่รับเงินที่เรียกร้องไปตอนแรก เพราะกลัวจะเสียรูปคดี
“เด็กเยาวชนไม่น่าขับรถไวขนาดนี้ แล้วปล่อยให้ขับรถเร็วขนาดนี้ มันเป็นไปได้ยังไง” คือคำพูดจากปากผู้เป็นพ่อ ซึ่งผู้ปกครองของธนพลยืนยันว่าไม่คิดเอาความตายของลูกมาแลกเป็นเงิน และจะสู้คดีให้ถึงที่สุด
อย่างไรก็ดี ในวันแรกที่จัดงานศพ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเยาวชนผู้ก่ออุบัติเหตุมาร่วมงานแต่อย่างใด
6. ต่อมา พนักงานสอบสวนประสานครอบครัวของเยาวชนผู้ก่อเหตุ และนัดให้มาสอบปากคำในวันที่ 3 ต.ค. 65 และในวันนั้น พ.ต.ท.ไพศาล ปันเร็ว สารวัตรสอบสวนผู้เป็นเจ้าของคดี เผยว่า เยาวชนผู้ก่ออุบัติเหตุไม่ได้มาตามนัด โดยทางครอบครัวแจ้งว่าเขา ‘ติดสอบ’
7. ในวันเดียวกัน มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง (@Namfahnew02) อ้างว่าผู้ตายคือเพื่อนสนิทของพี่ชายตน เธอโพสต์ร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโพสต์คลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นคลิปของกลุ่มเยาวชนยืนออกันบริเวณรถยนต์ โดยมีเสียงบรรยายในคลิปที่พูดว่า “เธอจะไม่ลงไปดูเขาหน่อยเหรอ”
นอกจากนี้ เธอระบุว่า ผู้ก่อเหตุได้ถ่ายสตอรี่เก็บไว้ และโพสต์รูปที่มีลักษณะคล้ายสตอรี่ไอจี ซึ่งเป็นภาพของรถยนต์สภาพพังยับ และมีข้อความ “แยกไฟมทส ปลอดภัยดีทั้ง 3 คน ผม เดฟ เดล แต่รถพังยับเลย ชนมอเตอร์ไซค์” อยู่ในภาพ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการยืนยันจากฝ่ายใดว่านี่เป็นภาพจริงหรือไม่ แต่สภาพรถ–สภาพแวดล้อมในภาพสตอรี่ มีลักษณะตรงกับภาพเหตุที่เกิดขึ้น
8. คดีนี้ได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะรูปการณ์ที่เกิดขึ้นชวนให้ใครหลายคนนึกถึงคดีรถหรูชนคนในอดีต เช่น คดีแพรวา คดีบอสกระทิงแดง เป็นต้น ดังนั้น การปฏิเสธไม่เข้าสอบปากคำ ผนวกกับพฤติกรรมหลังเกิดอุบัติเหตุ จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้โลกออนไลน์เดือดดาลกับคดียิ่งกว่าเดิม
9. เดือดดาลขนาดไหน? เดือดดาลขนาดที่ว่า แฮชแท็ก #เด็ก16ผ่าไฟแดงชนคนตาย ถูกทวีตถึงแล้วอย่างน้อย 490,000 ครั้ง โดยที่เนื้อหาส่วนมากแสดงความไม่พอใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น เรียกร้องให้เยาวชนถูกลงโทษ เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บัณฑิตที่ต้องเสียชีวิต และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทย
10. บางส่วนมีการขุดคุ้ยประวัติของเยาวชนผู้กระทำผิด จนมีการอ้างว่าเยาวชนผู้ก่อเหตุคือนักกีฬาเทนนิสตัวแทนมหาวิทยาลัยที่มีสิทธิเข้าแข่งชันในระดับชาติ ซึ่งข้อมูลนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากฝ่ายใดเช่นกัน
11. จนกระทั่งวันนี้ (4 ต.ค. 65) พ.ต.ท.ไพศาล เผยว่า ผู้ปกครองได้พาเยาวชนผู้ขับรถยนต์ BMW เข้ามาพบพนักงานสอบสวนตั้งแต่ช่วงเย็นของเมื่อวาน ด้านพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่เยาวชนคนขับไว้ 3 ข้อหา ได้แก่ 1) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต 2) ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง และ 3) ไม่มีใบอนุญาตขับขี่
ทั้งนี้ สารวัตรสอบสวนผู้เป็นเจ้าของคดีเผยด้วยว่า คดีนี้ไม่ซับซ้อน เยาวชนคนขับยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างตามพยานหลักฐาน ยืนยันว่าไม่พบการดื่มแอลกอฮอล์ และพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งต่อให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องศาลต่อไป
12. ร่างของธนพลถูกฌาปนกิจในวันนี้ โดย พ.ต.ท.ไฟศาล ให้ข่าวว่า ผู้ปกครองจะพาตัวเยาวชนผู้ขับไปร่วมงานฌาปนกิจที่วัดดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ด้วย
13. จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวเน็ตบางส่วนได้ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของโทษ และกฎหมายที่คุ้มครองเยาวชน เนื่องจากเยาวชนผู้กระทำผิดจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ทำให้หลายคนกังวลว่าเยาวชนรายนี้อาจรับโทษไม่สมกับสิ่งที่กระทำไว้
14. นอกจากนี้ ชาวเน็ตยังยกคำคมจากซีรีส์ ‘Juvenile Justice’ ซีรีส์ที่เล่าเรื่องของผู้พิพากษาศาลเยาวชนผู้รังเกียจเยาวชนที่ทำผิดกฎหมาย มาอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าได้รับความสนใจอย่างมาก
15. ขณะที่บางส่วนก็ตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของผู้ปกครอง ซึ่งสภาทนายความที่ประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือในคดีนี้ อธิบายว่า บิดามารดาของเยาวชนผู้ก่อเหตุอาจต้องร่วมรับผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว นอกจากนี้ สภาทนายวามอธิบายไว้ด้วยว่า เยาวชนผู้ก่อเหตุได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้สื่อมวลชนไม่สามารถเสนอชื่อจริงและที่อยู่ของผู้ก่อเหตุได้
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคดีเยาวชนซิ่งรถหรูชนคนเสียชีวิตเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ใครหลายคนยังคงเรียกร้องเรียกร้องให้มีการเอาผิดเยาวชนผู้ก่อเหตุอย่างเป็นธรรม เพื่อความยุติธรรมของ ธนพล ชายที่ต้องจากไปด้วยวัย 24 ปี
อ้างอิงจาก
https://www.dailynews.co.th/news/1532395/
https://www.komchadluek.net/news/local/531765
https://mgronline.com/local/detail/9650000094543
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7296745
https://www.bangkokbiznews.com/news/1030181
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1030513
https://twitter.com/Namfahnew02/status/1576777309419601923