หากเยาวชนโดนดำเนินคดีอาญาต้องทำอย่างไร แล้วจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง?
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ทั้งกับผู้ใหญ่และเยาวชนกันอยู่หลายครั้ง นำไปสู่ประเด็นว่า การดำเนินคดีอาญากับเยาวชนต้องทำอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ไหม แล้วต้องทำอย่างไรต่ออีกบ้าง
The MATTER สำรวจแนวทางและขั้นตอนการจับกุมเยาวชน ตามหลักการของศาลเยาวชนและครอบครัว พร้อมทั้งสอบถาม คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้รับผิดชอบดูแลคดีของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากประเด็นทางการเมือง เพื่อหาคำตอบว่าขั้นตอนและกระบวนการตั้งแต่การจับกุม จนถึงการควบคุมตัวเยาวชน ต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง?
การจับกุมเยาวชน
การจะจับกุมเยาวชนนั้นจะทำได้ในกรณีที่มีหมายจับหรือคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีที่
- กระทำความผิดซึ่งหน้า
- มีพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเยาวชนน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
- มีเหตุจะออกหมายจับเยาวชน แต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
- เป็นการจับเยาวชนที่หนีหรือจะหลบหนีระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
ในประเด็นนี้ คุ้มเกล้าเสริมว่า นอกจากการกระทำผิดซึ่งหน้าแล้ว ตำรวจสามารถจับกุมเยาวชนโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลได้ ในกรณีที่เยาวชนคนดังกล่าวมีเป็นไปได้ว่าจะก่อเหตุ และได้เฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่องจากเหตุที่เห็นซึ่งหน้า พร้อมย้ำว่า การออกหมายจับเยาวชน ควรเป็นกรณีสุดท้ายเท่านั้น โดยหลักการและแนวทางปฏิบัติจะไม่ออกหมายจับเยาวชน ส่วนในเด็กนั้น ไม่สามารถออกหมายจับได้โดยเด็ดขาด
การตรวจสอบการจับ
เป็นหน้าที่ของศาลเยาวชนที่จะต้องตรวจสอบว่า
- ตรวจสอบว่ามีการส่งตัวเด็ก หรือเยาวชนมาศาลภายใน 24 ชั่วโมงหรือไม่
- ศาลจะตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มี
- ตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่
- การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
- การปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คุ้มเกล้า กล่าวว่า การจับกุมเยาวชนนั้นจะทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่สามารถจับกุมเยาวชนผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีหมายจับได้ เมื่อจับแล้วจะต้องนำเด็กไปสถานีตำรวจ ณ ท้องที่ที่จับได้ เพื่อทำบันทึกจับกุม แล้วต้องรีบส่งให้พนักงานสอบสวนในคดีความผิดที่เกิดเหตุนั้น
พนักงานสอบสวนจะทำสำนวน เพื่อทำบันทึกต่อศาล แล้วก็แจ้งผู้อำนวยการสถานพินิจว่า ขณะนี้มีการจับเด็กและเยาวชน แล้วนำเด็กและเยาวชนที่ถูกจับไปที่ศาลเยาวชนภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับว่าชอบด้วยกฎหมายไหม
คุ้มเกล้า เล่าว่า ในแต่ละ สน.จะมีที่ปรึกษาทนายเด็กและเยาวชนที่เป็นเวรในแต่ละ สน.อยู่แล้ว หรือที่ศาลเยาวชนก็จะมีที่ปรึกษาทนายสำหรับเยาวชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับศาลที่นั้น ซึ่งที่ปรึกษาทนายจะต้องไปนั่งร่วมตรวจสอบการจับกุมด้วย
“ในทางปฏิบัติต้องยึดหลักนี้ เพราะถ้าไม่มีที่ปรึกษาทนายเข้าร่วม จะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา ก็มีที่ปรึกษาทนายเข้าไปร่วมในขั้นตอนตรวจสอบการจับกุมเยาวชนตลอด แต่ในกรณีที่เยาวชนถูกจับจากการต่อสู้เพื่อสิทธิและเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ปรึกษาทนายส่วนใหญ่จะมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ให้ความช่วยเหลือขนาดนั้น บางทีก็ให้รับสารภาพ บางทีก็ให้ปฏิเสธโดยไม่ได้ให้เหตุผลถึงการกระทำ เพื่อสะท้อนถึงเจตนาของการเข้าร่วมชุมนุม”
การควบคุมตัวเยาวชน
- ศาลอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลระหว่างดำเนินคดี
- ถ้าเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัย ศาลอาจควบคุมไว้ที่สถานพินิจหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร
- ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่น ในกรณีที่เยาวชนมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกิน 20 ปี
คุ้มเกล้าเล่าว่า ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กระบวนการทางอาญาของเด็กและเยาวชนต้องแยกขาดออกจากกระบวนการทางกฎหมายของผู้ใหญ่อย่างชัดเจน
“ในการควบคุมตัว ต้องกันเด็กออกจากผู้ใหญ่ เพื่อประกันเรื่องความปลอดภัยของเยาวชน การถูกปฏิบัติอย่างผู้ใหญ่ และการกระทบกระเทือนด้านจิตใจ เพราะวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตของเยาวชนยังไม่ผ่านอะไรมามากเท่าผู้ใหญ่ และเพื่อให้เป็นไปตามหลักการไม่ตีตราเด็ก ที่จะไม่ให้คนอื่นรู้ว่า เด็กคนนี้ถูกดำเนินคดี เป็นการปกปิดเรื่องการถูกดำเนินคดีอาญาให้มีคนรู้น้อยที่สุด มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐ ญาติพี่น้อง และตัวเด็กเท่านั้น”
“การแยกออกมามีเจตนาเพื่อไม่ให้เกิดการตีตราเด็ก และไม่ให้เรื่องเผยแพร่ไปในวงกว้างมาก อันนี้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ก็ต่างจากเยาวชนที่เป็นแกนนำ ซึ่งเขาต้องการเผยแพร่เรื่องการจับกุมตัวต่อสาธารณะ”
นอกจากนี้ คุ้มเกล้ายังย้ำด้วยว่า ในทุกๆ ขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายของเด็กและเยาวชนจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งจะจัดหามาจากฝั่งครอบครัวหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ เพื่อเป็นการประกันสิทธิในการเข้าถึงการมีทนายตามกระบวนการกฎหมายให้กับเยาวชนด้วย
คุ้มเกล้า เล่าด้วยว่า ในกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มักมีปัญหาในกระบวนการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่ามีการจับเด็กก่อน และจะจับเด็กไปที่ไหน แล้วต้องให้เด็กและผู้ปกครองมีสิทธิที่จะประสานงานให้จัดหาที่ปรึกษาทนายเด็กและเยาวชนมาให้ด้วย
“เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้ติดต่อผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นบุคคลที่เด็กและผู้ปกครองจัดหามาหรือไว้วางใจให้เข้าร่วมกระบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสถานที่ที่จับเด็ก หรือสถานที่ที่จะนำเด็กไปไว้ ให้ผู้ปกครองทราบโดยทันที ไม่ใช่จับไปก่อน เดี๋ยวไปถึงที่แล้วค่อยบอก แบบนี้ไม่ได้”
ทนายยังย้ำด้วยว่า การในจับกุมและดำเนินการทางกฎหมายกับเด็กและเยาวชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก แม้ว่าพวกเขาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม