ถ้าคนที่ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่เต็มตัว ทำความผิด ควรจะให้เขารับโทษยังไง?
เป็นประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อมีกรณีที่เยาวชนทำความผิด อย่างกรณีของ ‘แพรวา 9 ศพ’ ที่เกิดขึ้นในปี 2553 หรือกรณีล่าสุด ‘เด็ก 16 ผ่าไฟแดงชนคนตาย’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สะท้อนว่าสังคมยังคงถกเถียงและตั้งคำถามถึงกฎหมายการรับผิดของเด็กและเยาวชน
เหตุที่เกิดขึ้น นำมาสู่กระแสเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเอาผิดเด็กและเยาวชน และเพื่อให้เข้าใจกันอย่างชัดเจน The MATTER เลยขอชวนดู 4 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ได้แก่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, ประมวลกฎหมายอาญา, และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้เห็นว่าเด็กต้องรับโทษอย่างไร หรือมีสิทธิอะไรบ้าง เมื่อทำผิดกฎหมาย
ว่าด้วยเรื่องของคำนิยาม แบบไหนที่เรียกว่า เด็ก-เยาวชน
- พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
เป้าหมายของกฎหมายนี้ คือการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ด้วยมุมมองว่าวุฒิภาวะของเด็กและเยาวชนต่างจากผู้ใหญ่ จึงอาจเป็นสาเหตุที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิด
พ.ร.บ. นิยามความหมายของเด็กและเยาวชน ไว้ดังนี้
- เด็ก คือ บุคคลที่อายุไม่ถึง 15 ปี
- เยาวชน คือ บุคคลที่อายุระหว่าง 15-18 ปี
มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กและเยาวชนทำความผิด ให้ยึดอายุของเด็กและเยาวชนในวันที่กระทำความผิด
ในกฎหมายยังกำหนดไว้ด้วยว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นองค์กรท่ีมีอำนาจพิจารณา พิพากษา และมีคำสั่งในคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตาม พ.ร.บ. อื่นๆ
จะเห็นได้ว่าเนื้อกฎหมายจะมีลักษณะคุ้มครองและให้สิทธิเด็กและเยาวชน โดยจะเน้นแก้ไขและบำบัดฟื้นฟูเด็กอยู่พอสมควร เช่น มาตรา 41 ระบุว่า ระหว่างที่เด็กและเยาวชนอยู่ในสถานพินิจ ต้องให้การศึกษาเล่าเรียน หรือให้ทำสิ่งที่เหมาะสมอื่นๆ เป็นต้น
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
กฎหมายนี้จะให้คำนิยามคำว่า ‘เด็ก’ ต่างจาก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ โดยนิยามว่า ‘เด็ก’ เป็นบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่รวมผู้ที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
ใน พ.ร.บ. นี้ จะมีมาตราที่กำหนดว่า การปฏิบัติต่อเด็ก จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
อีกหนึ่งมาตราที่น่าสนใจจาก พ.ร.บ. นี้ คือ มาตรา 26 (3) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการทำความผิด ส่งผลให้ผู้ที่ฝ่าฝืนโดยยินยอมให้เด็กทำผิด-ทำให้เสี่ยงต่อการทำผิด ก็อาจต้องรับโทษทางอาญา
ว่าด้วยบทลงโทษทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชน ถ้าทำผิดจะได้รับโทษแบบไหน?
- ประมวลกฎหมายอาญา (ม.73-76)
เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับผิดของเด็กและเยาวชนมากที่สุด
มาตรา 73 ระบุว่า ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้ ดังนี้
- ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก และปล่อยตัว หรือจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็ได้
- วางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำอีก จะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท
- ส่งตัวไปสถานศึกษา, สถานฝึกและอบรม, สถานแนะนำทางจิต, หรือสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี
- กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติก็ได้ โดยแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุม
- ส่งมอบตัวให้ไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน
มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ถ้าทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และตัดสินว่าจะสั่งลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษทางอาญาแบบคนทั่วไป จะให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจกำหนดให้ดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรา 74
มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจให้ลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
แล้วถ้ากระทำผิดซ้ำล่ะ จะเป็นยังไง? ในส่วนนี้ กฎหมายระบุว่า ไม่สามารถที่จะเอาความผิดเดิมที่เคยทำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษได้ ไม่ว่าจะกระทำผิดซ้ำกี่ครั้งก็ตาม
ก่อนหน้านี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าอายุไม่เกิน 10 ปี ก็จะได้รับการยกเว้นโทษ แต่กฎหมายใหม่เปลี่ยนช่วงอายุเป็น 12 ปี ซึ่งเกณฑ์นี้เพิ่งถูกบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่าน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
ส่วนที่ต้องปรับจาก 10 ปี เป็น 12 ปี ก็เพราะรัฐสภาต้องการให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ หรือก็คือ ข้อแนะทั่วไปของสหประชาชาติ ฉบับที่ 10 ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
นอกจากเด็กแล้ว มีใครต้องรับโทษอีกไหม
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกฎหมายนี้ ก็มีท่อนที่พูดถึงการกระทำความผิดของเยาวชนเอาไว้เหมือนกัน ซึ่ง มาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า ผู้ที่จงใจหรือประมาท และทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ผู้กระทำจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
และเมื่อมาดูต่อในมาตรา 429 ซึ่งระบุว่า แม้บุคคลนั้นจะไร้ความสามารถเพราะเป็น ‘ผู้เยาว์’ ก็ต้องรับผิดในสิ่งที่ละเมิด ดังนั้น พ่อแม่-ผู้อนุบาลของบุคคลนี้จะต้องรับผิดชอบร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว
โดยสรุปก็คือ หากเด็กกระทำผิด ผู้ปกครองอาจต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่ง โดยการชดใช้สินไหมทดแทนอยู่ เว้นแต่ดูแลด้วยความระมัดระวังแล้ว
รายละเอียดกฎหมายที่เล่าให้ฟัง คือส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดและลงโทษเด็กและเยาวชน ซึ่งเนื้อหาก็สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน พร้อมๆ ไปกับการพยายามปรับปรุงและฟื้นฟูเด็กและเยาวชนคืนสู่สังคม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่ก็เป็นเพียงตัวบทกฎหมาย ในทางปฏิบัติ เชื่อว่าใครหลายคนก็อาจยังไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมไทยขนาดนั้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดคดีที่กระทำโดยเด็กและเยาวชน สังคมมักจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อกฎหมายเอาผิดเยาวชน เช่น โทษเบาเกินไป กฎหมายปกป้องเด็กมากเกินไป ไม่ยุติธรรมกับผู้เสียหาย และเสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งมีการเสนอแก้ไขในหลายมิติ บ้างเสนอให้เพิ่มโทษหนักกว่านี้ ให้ปรับปรุงเกณฑ์อายุเด็กใหม่ ให้ตัดสินเหมือนคนธรรมดาในบางอาชญากรรม เช่น ยาเสพติด คดีทางเพศ เมาแล้วขับ เป็นต้น บ้างก็เสนอให้พ่อแม่-ผู้ปกครองรับผิดชอบมากกว่านี้
ขณะที่บางส่วนก็มีจุดยืนว่า กฎหมายควรทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนต่อไป และให้ปรับปรุงพัฒนาในส่วนของกระบวนการฟื้นฟูปรับปรุงเด็กและเยาวชน พร้อมๆ กับการพัฒนาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆ ที่ช่วยลดอาชญากรรมในสังคม ถึงจะยั่งยืนกว่า
แล้วคุณล่ะ คิดว่าการดำรงอยู่ของกฎหมายการรับผิดของเด็กและเยาวชน เหมาะสมแล้วหรือยัง?
อ้างอิงจาก