’วันมหาวิปโยค’ คืออีกชื่อหนึ่งที่ถูกจดจำถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในปี 2516 วันที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมหาศาลออกมาร่วมเดินขบวนไล่รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร จนเกิดเหตุปะทะและมีผู้เสียชีวิต–ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
สารตั้งต้นของเหตุการณ์นี้ เริ่มจากการที่จอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ทำให้ทหารขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศอย่างยาวนานจนผู้คนเริ่มเบื่อหน่าย
จากนั้นในเดือนเมษายน 2516 ดันเกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ของทางการตกที่จังหวัดนครปฐม ก่อนจะถูกพบว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเพื่อไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร เนื่องจากพบซากสัตว์ป่า ปืนล่าสัตว์ และอาวุธจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่
เหตุเฮลิคอปเตอร์ตกทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกหนังสือ ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ จนอธิการบดีไม่พอใจ และลบรายชื่อผู้จัดทำ 9 รายออกจากทะเบียนนักศึกษา ก่อนจะถูกประท้วงจนต้องยอมคืนสถานะ และลาออกจากตำแหน่ง
ต่อมา เกิดกระแสเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากการยกร่างรัฐธรรมนูญล่าช้ามาก ประชาชนจึงไม่พอใจและประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนจอมพลถนอมสั่งควบคุมตัวผู้ชุมนุม 13 ราย ซึ่งการคุมขังโดยรัฐครั้งนั้น นำมาสู่การประท้วงครั้งใหญ่โดยมวลชนมหาศาล
เหตุเฮลิคอปเตอร์ตก และกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในท้ายที่สุด
1 วันก่อนเกิดเหตุ ตัวแทนนิสิตนักศึกษาได้เข้าเจรจากับจอมพลประภาส จารุเสถียร และเข้าเฝ้าในหลวง ร.9 จากนั้นประชาชนได้เคลื่อนขบวนไปบริเวณสวนจิตรลดา ก่อนจะเกิดการปะทะ
เช้าตรู่ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นระหว่าง ทหาร–ตำรวจ และประชาชน รัฐบาลส่งทหาร–ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน
ท้ายที่สุดจอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่ง โดยที่เจ้าตัว พร้อมด้วยจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ (คนสนิท) และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร (ลูกชาย) ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ (ก่อนที่จอมพลถนอมจะกลับมาในปี 2519 และกลายเป็นหนึ่งในชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ)
เหตุการณ์นี้มักถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน ‘ชัยชนะของประชาชน’ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 14 ตุลาฯ เพิ่งถูกตีความใหม่ว่าไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริงของประชาชน ด้วยมุมมองจากหลายมิติ เช่น
– ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะถ้าชนะจริงๆ จะต้องไม่เกิดการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์อื่นๆ หลังจากนั้นอีก เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในปี 2519 หรือเหตุการณ์เมษา–พฤษภา ในปี 2553 เป็นต้น
– ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะเป็นชัยชนะที่ไม่ยั่งยืน โครงสร้างอำนาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง และไม่ได้ชนะด้วยประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการต่อสู้ที่เอาชนชั้นนำจารีตมาสู้กับชนชั้นนำเผด็จการทหารเท่านั้น
– ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะผู้กระทำผิดในรัฐบาลทหารยังคงลอยนวลพ้นผิด แค่ต้องลี้ภัย และไม่เคยถูกลงโทษจากความรุนแรงที่ก่อไว้
แล้วคุณล่ะ จดจำเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างไร และคิดว่าเป็นชัยชนะของประชาชนจริงๆ ไหม
#OnThisDay #14ตุลา #TheMATTER