เป็นการลงมติดีลโทรคมนาคมครั้งใหญ่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน
หลังการพิจารณายืดเยื้อเกือบ 11 ชั่วโมง วันนี้ (20 ตุลาคม) มีรายงานเอกสารระบุว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ‘รับทราบ’ การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โดยกำหนดเงื่อนไขปฏิบัติ/มาตรการเฉพาะ
ที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้พิจารณาข้อกังวลไว้จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ กล่าวคือ
1) ข้อกังวลด้านอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ
2) มาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ
3) ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ
4) ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่/การใช้ฏครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ
5)เศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล พร้อมกับเสนอแนะมาตรการสำหรับแต่ละข้อกังวลไว้ด้วย
การที่ กสทช. ลงมติให้ทรู-ดีแทคควบรวมกันได้ จะส่งผลให้เกิดตลาดผูกขาดเกือบสมบูรณ์ เพราะเป็นการรวมตัวกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ที่จะทำให้เหลือคู่แข่งเพียงไม่กี่เจ้า ซึ่งเดิมที ตลาดธุรกิจโทรคมนาคมในไทยมีผู้ขายน้อยรายอยู่แล้ว (มีผู้แข่งขันหลัก 4 เจ้า คือ AIS, TRUE, DTAC, และ NT)
สถิติจาก 101 PUB ชี้ว่า เมื่อรวมตัวกัน ทรู-ดีแทคจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือ 50.40% และจะมีส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตมือถือ 51.20% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับธุรกิจโทรคมนาคมเจ้าอื่น
นอกจากนี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาของผู้บริโภค ได้โพสต์เฟซบุ๊กโชว์เอกสารหลุดรายงานการศึกษาผลกระทบการควบรวม 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ กสทช. ว่าจ้างให้บริษัท SCF Associates Ltd. ศึกษา ซึ่งเอกสารชี้ให้เห็นว่า ดีลควบรวมจะสร้างผลเสียด้วย เช่น คนบางกลุ่มจะจ่ายค่าบริการสูงเกินไป, ลดการแข่งขันกันเองระหว่างธุรกิจ, เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอาจล้าหลัง เป็นต้น
ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมทรู-ดีแทค โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการจะทำให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมไทยเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งนั่นอาจทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพลดลง สร้างความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค
การประกาศควบรวมกิจการนี้ บางส่วนสนับสนุนและมองว่าเป็นดีลธุรกิจทั่วไป แต่ก็มีบางส่วนที่คัดค้าน ซึ่งวันนี้มีภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายเข้าแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมหน้า กสทช. ย้ำว่าไม่เอาควบรวม และ กสทช. ต้องรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชน
กว่าจะเดินทางมาถึงวันลงมติได้ กสทช. เคยประกาศเลื่อนพิจารณา-ลงมติ มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยอ้างเหตุผลสารพัด เช่น ได้รับเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณาช้า ต้องรอผลสรุปอำนาจจากคณะกรรมการกฤษฎีการ ต้องรอรายงานผลการศึกษาเพิ่มเติมก่อน เป็นต้น
อนาคตธุรกิจโทรคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไร ค่าบริการจะแพงขึ้นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากดีลนี้จริงๆ ไหม เป็นคำตอบที่เรายังไม่อาจรู้ได้
อ้างอิงจาก
https://www.infoquest.co.th/2022/244133
https://www.kaohoon.com/breakingnews/565064
https://thematter.co/quick-bite/quickbite-true-buy-dtac/182722
https://www.matichon.co.th/economy/news_3627464