อาจผ่านตากันบ้าง กับภาพชายสวมชุดข้าราชการ ที่ประกาศลาออกจากวิชาชีพครู เพราะได้รับการส่งต่อในโลกออนไลน์หลายพันครั้ง พร้อมกดถูกใจอีกกว่าครึ่งหมื่น แต่ที่ทำเอาสะดุดใจ คือ หากใครได้ลองเลื่อนลงมาดูโพสต์ต่างๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น จะเห็นภาพกิจกรรมของโรงเรียน การเล่นกีฬากับนักเรียน และโพสต์เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่เลื่อนยังไงก็ไม่สิ้นสุด
แล้วทำไมคุณครูที่ยังไฟแรงขนาดนี้ ถึงตัดสินใจลาออก? วานนี้ (25 พฤศจิกายน) ก่อนงานเลี้ยงอำลาจะเริ่มต้นขึ้นไม่กี่ชั่วโมง The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ สมทบ ศรีคงรักษ์ หรือ ครูเจ ถึงเหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้
- ปัญหาอยู่ที่ ‘ระบบราชการ’
ครูเจเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า เขาเป็นครูด้วย ‘ความตั้งใจ’ มาตั้งแต่ต้น ด้วยการเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ และสอบบรรจุรับราชการครู ผ่านโครงการครูคืนถิ่น แล้วไปประจำที่โรงเรียนหนองตาคงพิทยาคาร จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นที่แรกและที่เดียวในอาชีพนี้ “โรงเรียนอยู่ในจังหวัดตัวเอง แต่ระยะทางก็ร่วม 100 กม. เลยอยู่บ้านพัก”
“ตอนแรกสนุก โชคดีที่ได้มาอยู่ในโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง เลยสนับสนุนให้เราได้ทำสิ่งที่ตั้งใจ”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กับดักของ ‘ระบบราชการ’ ก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนครูเจเข้าจนได้
“เริ่มมีเพื่อนร่วมงานที่ทำงานไปวันๆ มาจริงจังตอนใกล้ประเมิน” เป็นปัญหาแรกที่ทำให้ครูเจเริ่มตั้งคำถามกับเส้นทางอาชีพของตนเอง เพราะนี่นำมาสู่ปัญหาถัดมา คือ ‘ระบบการประเมินผลงาน’ ที่ไม่ได้รองรับ และพัฒนาบุคลากรครูอย่างแท้จริง
“สุดท้ายคนที่ตั้งใจทำงานทุกคน เมื่อถึงเวลาพิจารณาผลงาน หรือขั้นเงินเดือนก็เป็นไปตามระบบศักดินา การช่วยเหลือ ไม่ได้โฟกัสที่ผลงาน ถึงคนทำงานจะไม่ได้หวัง แต่ผลลัพธ์มันเห็นข้อแตกต่างบางอย่าง”
ถัดมาครูเจมองว่า ‘นโยบาย’ ที่สั่งการมาจากผู้มีอำนาจ ไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง และผลลัพธ์ที่ตกไปถึงนักเรียน
“คนมองอาจคิดว่านโยบายต้องการลดภาระ แต่พอมาถึงฝ่ายปฏิบัติจริง มันมีแต่เพิ่มภาระขึ้น อย่างประเมินรูปแบบใหม่ที่อยากให้ลดเอกสาร แต่ท้ายสุดก็เหมือนเดิมแค่เปลี่ยนชื่อ โดยที่ระเบียบระหว่างทางยังคงเดิม เน้นเอกสาร เน้นภาพ”
- นักเรียนคือเหตุผล
‘6 ปี 1 เดือน’ ของชีวิตข้าราชการครูนั้น นอกจากเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือกันแล้ว นักเรียนคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เขายังทิ้งไม่ลงมาตลอด และไม่เคยมีสักเสี้ยวที่เป็นส่วนของเหตุผลการตัดสินใจลาออก
“ผมอยากลาออกตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ที่ยังอยู่ก็เพราะเด็ก ผมอยู่ในพื้นที่ชายแดน เข้าไปแล้วเราได้สร้างโอกาส ได้ช่วยกันพัฒนาโรงเรียน ให้เด็กๆ ได้พัฒนาทัดเทียมเหมือนเด็กในเมือง”
“วันนี้ก็หลั่งน้ำตากับเด็ก” ครูเจเล่า เพราะนอกเหนือจากบทบาทของการเป็นคุณครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เขายังมีโอกาสเข้าไปดูแลทีมวอลเลย์บอลของโรงเรียน จากการเด็กๆ ขาดครูคอยดูแล และส่งแข่งขันตามที่ต่างๆ ซึ่งครูเจก็สละเวลาด้วยความเต็มใจ แต่ด้วยปัจจัยอื่นแล้ว การตัดใจลาออกก็ยังคงเป็นบทสรุป
- หมุดหมายของการโพสต์
เช่นเดียวกับหลายครอบครัว การที่ต้องเห็นลูกทิ้งเส้นทางข้าราชการเป็นเรื่องทำใจยากเสมอ ครูเจจึงจำต้อง ‘ให้เวลา’ กับครอบครัวปรับตัวไปด้วยกัน ครูเจยอมรับว่า การที่ครอบครัวมีความพร้อม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาได้เปรียบคนอื่นในการตัดสินใจลาออก แต่ทั้งหมดก็ต้องทำควบคู่ไปกับการพิสูจน์ตัวเอง
“ช่วงปิดเทอม หรือเสาร์อาทิตย์ ผมจะเข้าไปช่วยงานสวนที่บ้าน ทำให้เขาเห็นว่าถ้าเราออกจากตรงนี้ เรารับผิดชอบตรงนี้ได้นะ จนแม่เอ่ยปากว่า จะออกเมื่อไหร่ก็ออกได้แล้ว”
“ผมบ่นว่าอยากลาออก แบบเปรยๆ ให้เวลาท่านตั้งตัว และพิสูจน์ให้เขาเห็น” ครูเจหัวเราะ
แม้คำยินดีจะหลั่งไหลมาเต็มช่องทางแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีบางส่วนที่ตั้งคำถามกับการเลือกเปิดเผยเรื่องราวนี้ผ่านสาธารณะ ด้วยคำถามอย่าง ‘ลาออกเงียบๆ ก็ได้ ทำไมถึงโพสต์?’
“ผมอยากเป็นตัวอย่างให้หลายคนที่กำลังคิด แต่ยังติดกับเซฟโซนบางอย่าง บางคนต้องทนเพราะระบบ ทั้งที่ตัวเองมีศักยภาพออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตั้งหลายอย่าง”
คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดจากปากครูเจ เพราะแม้แต่บรรดารุ่นน้องที่ใกล้ชิดก็ยังมีคำถามหลังไมค์ไม่ขาดสาย นั่นเท่ากับว่ามีครูจำนวนไม่น้อยกำลังต่อสู้กับสิ่งนี้อยู่
- เป้าหมายต่อไปในอนาคต
“ผมเพิ่งจบโทการสอนวิทยาศาสตร์” เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้เราต้องตกใจอีกครั้ง แต่ครูเจกลับเล่าว่านี่แหละคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาก “เราเจอแนวคิดการจัดการเรียนรู้ เห็นภาพว่าไม่จำเป็นต้องเป็นครู ก็สามารถอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของเด็กได้”
ครูเจเลยแอบคิดไว้ในใจว่า เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว เขาอยากนำความรู้ของชาวสวนในท้องถิ่นตนเอง มาสร้างโอกาสการเรียนรู้ และต่อยอดเป็นอาชีพจริงๆ ของเด็ก เพราะการศึกษาในระบบก็อาจไม่ได้การันตีผลสำเร็จ และความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาได้
อ่านจนถึงบรรทัดสุดท้าย เชื่อว่าหลายคนคงจะเข้าใจว่า ทำไม ‘ครู’เจ ถึงเป็นคำที่เราใช้ และสมควรใช้เรียกแทนเขาตลอดบทสนทนานี้