เมื่อวานนี้ (22 ธันวาคม) ประเทศไทย นำโดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งเป็นเจ้าภาพในการ ‘หารืออย่างไม่เป็นทางการ’ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยที่รองนายกฯ ดอน เป็นผู้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากประเทศในอาเซียนด้วยตนเอง
ปัญหาก็คือ ชาติหลักๆ ในอาเซียนหลายชาติ กลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม แม้จะมีการเชิญแล้วก็ตาม ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมประกอบไปด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (ซึ่งจะรับบทบาทเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าด้วย) สิงคโปร์ รวมถึงบรูไน ก็ไม่ปรากฏว่าเข้าร่วมการประชุมเช่นเดียวกัน
ประเด็นหลัก ที่สื่อต่างประเทศหลายแห่งให้ความสนใจ ก็คือ งานนี้มีผู้แทนระดับสูงจากเมียนมาเข้าร่วมหลายคน
แถลงการณ์ของเมียนมาระบุว่า มีทั้ง วันนะ หม่อง ลวิน (Wunna Maung Lwin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คาน ซอว์ (Kan Zaw) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ โก โก หล่าย (Ko Ko Hlaing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทั้ง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเหตุใดจึงไม่ได้เข้าร่วม ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ระบุว่า นักการทูตระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศ กำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมการจัดการเยือนกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างเป็นทางการ ของประธานาธิบดีเวียดนาม
แต่สำนักข่าว Reuters ก็รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวทางการทูตของสิงคโปร์ว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมเป็นเพราะการปรากฏตัวของผู้แทนเมียนมา โดยมีจดหมายจากกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ส่งถึงเจ้าภาพ ก็คือไทย คัดค้านการจัดงานดังกล่าว เนื่องจากอาเซียนเคยตกลงกันมาก่อนแล้ว ว่าจะไม่ให้รัฐบาลเผด็จการเมียนมาเข้าร่วมการประชุมใดๆ ในลักษณะนี้
“การประชุมใดๆ ที่จัดขึ้นภายใต้อาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ไม่ควรผิดแปลกไปจากการตัดสินใจนี้” คือบางส่วนในจดหมายของสิงคโปร์ถึงไทย
ในเรื่องนี้ กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งแถลงในวันนี้ (23 ธันวาคม) ว่า “การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมอาเซียน เป็นการหารือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบโดยตรง และก็อยากจะเห็นทางออก อย่างนั้นก็ไม่ถือเป็นการไปกีดกันหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการในกระบวนการอาเซียน ในทางตรงกันข้าม อันนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความคืบหน้าในกระบวนการหาหนทางออกแก้ไขปัญหา
“ขอเรียนย้ำว่า อันนี้เป็นความพยายามที่จะเกื้อหนุน สนับสนุนและเกื้อกูลต่อกระบวนการทำงานของอาเซียน เพราะว่าที่ผ่านมาก็เป็นเวลากว่า 1 ปี แล้ว ที่อาเซียนไม่ได้มีโอกาสหารือในระดับรัฐมนตรี หรือฟังตรงๆ กับทางฝ่ายเมียนมาในระดับสูง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
กาญจนายังเล่าถึงบรรยากาศการประชุมด้วยว่า เป็น “บรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ และเป็นกันเอง” โดยเป็นการหารือใน “ห้วงของอาหารกลางวัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และสร้างสรรค์ เราต้องการเน้นให้เกิด เราต้องการเน้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่เกิดผลที่ปฏิบัติได้จริง เป็นรูปธรรม”
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์การประชุมก็ไม่ได้มีให้เห็นเป็นรูปธรรม กาญจนาอธิบายว่า เพราะเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ จึงไม่มีการแจกเอกสารผลลัพธ์การประชุมแต่อย่างใด แต่เธอก็ย้ำด้วยว่า ประเด็นที่การหารือครั้งให้ความสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกในเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การลดผลกระทบทางมนุษยธรรมต่อประชาชนเมียนมาเองและประชาชนตามแนวชายแดน รวมถึงการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 ธันวาคม) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ก็เพิ่งลงมติ 12-0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง (จีน อินเดีย และรัสเซีย) รับข้อมติที่ 2669 (2022) เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในเมียนมาโดยทันที เรียกร้องให้มีการลดระดับความขัดแย้ง และให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนักโทษที่ถูกจับกุมอย่างไม่ชอบธรรมโดยทันทีด้วย
อ้างอิงจาก