เสรีภาพในทรงผมเกิดขึ้นแล้ว? วันนี้ (24 มกราคม) ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เผยว่า ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา
และได้เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และออกหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนวแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้างๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดเอาหลักเกณฑ์ไปกำหนดเป็นระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง
ตรีนุชอธิบายว่า การยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผม เป็นผลมาจากการเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ประกอบกับเห็นว่า การลงโทษเรื่องทรงผมส่งผลทางร่างกายและจิตใจ
รมว.ศึกษาธิการ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนในสถานศึกษาไว้แล้ว รายละเอียดดังนี้
– การไว้ทรงผมของนักเรียนใต้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาในกำกับดูแลจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
– สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาในกำกับดูแล อาจกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้ โดยการวางระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ศ.2546 จัดให้มีการ ‘รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง เป็นต้น แล้วจึงเสนอขอความเห็นชอบจากจากคณะกรรมการสถานศึกษา/คณะกรรมการบริหารโรงเรียนต่อไป
และก่อนการประกาศใช้ ควรประชาสัมพันธ์ระเบียบ–ข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมไว้ในระบบสารสนเทศ หรือบริเวณของสถานศึกษา และแจ้งให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาทราบโดยทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติมีความถูกต้องเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา
ตรีนุชกล่าวทิ้งท้ายว่า ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 กำหนดว่า นร.ชายไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ส่วนตรงอื่นต้องให้เป็นตามความเหมาะสมเรียบร้อย ส่วน นร.หญิงไว้สั้นหรือยาวก็ได้ แต่ถ้าไว้ยาวก็ให้เหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย แถมยังมีข้อห้ามบางอย่าง เช่น ดัดผม ย้อมสีผม เป็นต้น
“แต่ต่อไปหลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” ตรีนุช กล่าว
ว่าง่ายๆ ก็คือ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนไป และมอบอำนาจให้แต่ละโรงเรียนเป็นกำหนดกฎทนงผมแทน ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย–ผู้เกี่ยวข้อง นั่นเอง
น่าสนใจว่า ในเชิงปฏิบัติ นักเรียนและนักศึกษาจะมีส่วนร่วมกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยขนาดไหน ซึ่งสังคมก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนชื่นชม แต่ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งคำถามว่า นี่เป็นการผลักภาระของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ เป็นการปัดปัญหาไปให้โรงเรียนหรือเปล่า
อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ หากโรงเรียนดันออกกฎให้ไว้ผมติ่งหูเหมือนเดิม หรือออกกฎให้มีอำนาจตัดผมกับนักเรียนยังไงก็ได้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้?
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/education/news_3786596
https://workpointtoday.com/hairstyle/
https://www.dailynews.co.th/news/1923233/