บ่อยแค่ไหนที่คุณเห็นโชว์ตลกที่พ่วงมุกคุกคามทางเพศ? เชื่อว่าหลายคนเลือกดูรายการหรือหนังตลก ก็เพื่อหวังจะได้พักผ่อน แต่กลับเครียดหนักกว่าเก่า เพราะบางมุกก็ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ รู้สึกไม่สบายใจไปตามกัน แล้วคงจะยิ่งกว่าถ้าต้องเผชิญหน้ากับบรรยากาศนั้นแบบเรียลไทม์ อย่างล่าสุดที่ แฟนคลับของ มายด์ 4EVE ออกมาแสดงความไม่พอใจ หลังมองว่าขวัญใจถูก นักแสดงตลก บอล เชิญยิ้ม แสดงท่าทีที่ส่อถึงการคุกคามทางเพศ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม แฟนคลับของมายด์ 4EVE หรือ มายด์ อาทิตยา ตรีบุดารักษ์ ได้ออกแถลงการณ์ และส่งจดหมายถึงเวิร์คพอยท์ (Workpoint Entertainment) เกี่ยวกับพฤติกรรมคุกคามทางเพศของตลกชื่อดัง บอล เชิญยิ้ม ในขณะแสดงล้อเลียนภาพยนตร์นางนาคร่วมกัน ในรายการ ชิงร้อยชิงร้าน ว้าว ว้าว ว้าว ที่ออกอากาศไปเมื่อ 22 มกราคม ที่ผ่านมา
โดยมองว่า ฉากที่บอลเอาตัวและหน้าเขยิบเข้าไปใกล้ๆ พร้อมพูดว่า “แกคิดเหรอว่าอย่างแก …นี่แกฟังฉันนะ” ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใกล้ชิดขนาดนั้น อีกทั้งขณะที่พูดยังใช้สายตามองที่บริเวณหน้าอก และเรือนร่างของมายด์เป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังมีการพูดว่านักร้องสาวตัวหอมมาก ทำให้สร้างความไม่พอใจแก่แฟนคลับที่ได้รับชม
โดยเนื้อหาในจดหมาย ได้ระบุว่า “บ้านเบสในฐานะแฟนคลับและคนทั่วไป รู้สึกไม่สบายใจกับภาพที่เห็นเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยตัวศิลปินมายด์ 4EVE เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจากพฤติกรรมดังกล่าวชัดเจน ไม่ว่าการแสดงจะเป็นจากตัวบทหรือนอกบทก็ตาม และขอแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการ การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ทุกรูปแบบ”
นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมวงการตลกไทยจำเป็นต้องเล่นมุกลามกอนาจาร? ทำไมยังมีคนชอบดูการแสดงแบบนี้? The MATTER จึงขออธิบายถึงเหตุที่การแสดงตลกในลักษณะคุกคามทางเพศ ยังปรากฎอยู่ในสังคมไทย และสะท้อนอะไรบ้าง
- มุกตลกที่ส่อแววคุกคามเพศ เกิดขึ้นในรายการของไทยบ่อยจริงไหม?
ย้อนไปในช่วงปี 2562 The MATTER เคยมีการสำรวจข้อมูลของรายการตลกที่ได้รับความนิยม อย่าง ‘บริษัทฮาไม่จำกัด (มหาชน)’ ที่ออกอาการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ปีดังกล่าว พบว่าในจำนวนมุกกว่า 3,320 ครั้ง นักแสดงเล่น ‘มุกครอบครัว ทะลึ่ง’ ไปจำนวนมากถึง 17.05% ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากมุกแบบด้นสด
ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะพอทำให้เห็นภาพกว้างๆ ของมุกตลกไทย ที่มักสร้างภาพให้ศิลปินตลกชายมักจะมีมาดของความเจ้าชู้ มีการแซวเรื่องเมียน้อยคนนั้นคนนี้ การพูดถึงการไปเที่ยวกลางคืนให้เป็นเรื่องขำขัน บ้างก็มีมุกที่เล่นกันถึงเนื้อถึงตัว การใช้ท่าทางหรือคำที่สองแง่สองง่ามส่อไปเป็นเรื่องใต้สะดือ เป็นต้น
นั่นยิ่งสนับสนุนความเห็นที่ว่า มุกตลกที่ส่อการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในรายการไทย ‘ค่อนข้างบ่อย’ ซึ่งถ้าเราลองดูรายการที่คล้ายคลึงกัน ก็จะพบการใช้คำพูดหรือวาจาที่เป็นการคุกคามทางเพศเป็นระยะๆ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะสนใจต่อเรื่องที่กำลังเป็นประเด็น
ก่อนหน้าจะมีเหตุการณ์นี้ ในเว็บไซต์ Pantip ก็เคยมีคนตั้งกระทู้ว่า “ทำไมประชาชนยังสนับสนุนตลกที่ชอบลวนลามทางเพศ?” หรือ “SEXUAL HARASSMENT กับวงการตลกไทย เป็นเรื่องตลกจริงๆ?” และ “มุกตลก เจ้าชู้ ลวนลามพริตตี้ ของแก๊งตลกผู้ชายในทีวี มันตลกจริงหรอ?” ซึ่งมีคนมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ยิ่งตอกย้ำว่า มุกตลกที่ส่อแววคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ในรายการตลก
- ทำไมรายการตลกไทยถึงต้องเล่นมุกคุกคามทางเพศ?
สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัย ม.เชียงใหม่ เคยยกตัวอย่างการผลิตเนื้อหาตลกในสังคมอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ว่า “ละครตลกสมัยนั้น มักจะมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงบรรทัดฐานของสังคมที่มีอคติต่อเพศหญิง” เช่น การล้อเลียนว่าผู้หญิงมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคงเหมือนกับผู้ชาย หรือมักจะให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นแม่บ้านเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การผลิตเนื้อหาตลกกลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา เนื่องจากเกิดสตรีนิยมคลื่นที่สองขึ้น ซึ่งเป็นการเรียกร้องต่อประเด็นที่กว้างขึ้นกว่าสตรีนิยมคลื่นแรก ทั้งเรื่องเพศ ความเป็นครอบครัว ความไม่เท่าเทียมกัน และยังเน้นการวิจารณ์ระบอบชายเป็นใหญ่ ทำให้สถานภาพของเพศหญิงดีขึ้นมากในช่วงเวลานี้
ส่งผลให้ละครตลกที่มีเนื้อหาเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงที่เคยได้รับความนิยม จึงกลายเป็นเนื้อหาที่ไร้รสนิยม และถูกตำหนิจากสังคมมากกว่าที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกตลกขบขันกับมัน
ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแสดงตลกและบรรทัดฐานของสังคมเป็นสิ่งที่ยึดโยงกัน คือเนื้อหาตลกแสดงให้เห็นถึงความคิดโดยส่วนใหญ่ของคนในสังคม ในทางกลับกันความคิดของคนก็จะถูกใช้ถ่ายทอดในการแสดงตลกเช่นกัน
- ตลกไทยมีลักษณะเป็นอย่างไร?
ในวารสาร ‘การสื่อสารอารมณ์ขันที่สะท้อนการเลือกปฏิบัติอารมณ์ในสังคมไทย’ โดย ปองปรารถน์ สุนทรเภสัช ระบุว่า อารมณ์ขันที่ทำให้คนไทยหัวเราะได้ต้องมีลักษณะ ‘ง่ายและไม่คิดมาก’ เช่น การตีหัวด้วยถาดและมีเสียงดัง ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจจะมีสาเหตุมาจากสภาพสังคมไทยที่ผู้คนต่างมีความเครียดและมีความเร่งรีบในการใช้ชีวิต ทำให้ต้องการความบันเทิงแบบง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ
อย่างไรก็ดี ถ้าเปรียบเทียบกับทฤษฎีของ ริชาร์ด ทาฟริงเกอร์ (Richard Taflinger) นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ระบุถึงแก่นแท้ของเรื่องตลกว่า ‘เรื่องตลกต้องทำให้เกิดการใช้สติปัญญามากกว่าการใช้อารมณ์ ความรู้สึก’ ซึ่งดูจะไม่ตรงกับตลกที่คนไทยต้องการเลย คือ ‘ง่ายและไม่คิดมาก’
สอดคล้องกับ ข้อมูล The MATTER ที่เคยสำรวจไว้ จากรายการตลก ‘บริษัทฮาไม่จำกัด (มหาชน)’ ที่กล่าวไปข้างต้น ก็สามารถแสดงให้เห็นว่า รูปแบบของมุกตลกไทยแบบไหนที่คนไทยชื่นชอบ คือ มุกอำ มุกด้นสด ถูกใช้แสดงจำนวนมากที่สุดถึง 20.48% ขณะที่ลักษณะของมุกอื่น อาทิ มุกแป้ก มุกตลกเรื่องรูปลักษณ์ มุกเล่นคำ มุกหยาบคาย ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่งมุกตลกทั้งหมดที่ปรากฎในรายการนี้พอจะให้เห็นคร่าวๆ ถึง ‘รูปแบบของมุกตลกไทย’ ที่ยังมีการเล่นเวียนซ้ำและต่อยอดมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม มุกตลกนั้นมีผลดีในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยผ่อนคลายความเครียดเช่นกัน แต่เราจะมาทำความเข้าใจกับมุกตลกในเชิงลบที่กำลังเป็นประเด็น เล่าก่อนว่า ตลกเชิงลบมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งมุกตลกทางสรีระร่างกาย การเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึง ‘มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ’ กัน
- มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศสะท้อนถึงอะไร?
การวิเคราะห์ตามทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เกี่ยวกับเรื่องตลกขบขันชี้ว่า การเล่าเรื่องตลกเป็นการแสดงออกหนึ่ง ตามกลไกป้องกันตัวเองจากศัตรู โดยที่เราจำเป็นต้องทำให้ศัตรูรู้สึกด้อยค่า หรือรู้สึกตัวเล็กลง ด้วยวิธีการทำให้เขาดูเป็นตัวตลก และเราจะรู้สึกถึงชัยชนะ นับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ถ้าบุคคลที่สาม หรือผู้ชมตอบสนองต่อมุกตลกเหล่านี้ด้วยการหัวเราะกลับ ก็จะยิ่งสร้างความชอบใจกับผู้ที่เล่นมุกเหล่านั้น ให้กระทำในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ
ดังนั้น มุกตลกคุกคามทางเพศก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกไร้ค่า และอึดอัด มากไปกว่านั้น การที่ผู้ชมชื่นชอบและหัวเราะตามไปด้วย ก็เป็นการยืนยันว่าผู้คนในสังคมนั้นมีค่านิยม และทัศนคติ ไม่ต่างกับคนที่แสดง
นอกจากนี้ ในวารสารการสื่อสารอารมณ์ขันฯ ยังระบุอีกว่า แก่นแท้ของเรื่องตลกคุกคามเพศ เกิดจากการที่สังคมมีบรรทัดฐานต่อผู้หญิงว่าเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ หรือ ‘เป็นตัวตลกในเรื่องเพศ’ ซึ่งทำให้การเล่นมุกตลกลามกถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีไว้ให้ผู้ชายกดขี่ ด้อยค่าเพศหญิง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคุมเกม
และงานวิจัยยังพบอีกว่า การที่สังคมนำเรื่องการข่มขืนมาเป็นเรื่องตลกได้ ก็แสดงว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังให้ความชอบธรรมกับการข่มขืนอยู่ ซึ่งไม่น่ายอมรับได้
อย่างไรก็ตาม ในสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน การเล่นมุกตลกที่ส่อไปในเรื่องเพศ ถูกจัดให้เป็นการคุกคามทางเพศอย่างหนึ่ง แต่ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะจากการวิจัยพบว่าในประเทศไทย คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่าเรื่องตลกลามกเป็นการคุกคามทางเพศอย่างหนึ่ง แต่มองว่าเป็นเรื่องสนุกๆ ไม่ซีเรียส
- อะไรทำให้สังคมยังให้พื้นที่มุกเหล่านี้อยู่?
จำนวนรายการหรือละครไทย ที่ยังผลิตซ้ำการให้ความชอบธรรมกับการคุกคามทางเพศและการข่มขืนออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ น่าจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ เพราะเท่ากับเป็นการให้มุกตลกเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมเราต่อไป
งานวิจัย ‘การนำเสนอเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง และภาพตัวแทน ในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ดิจิทัล’ โดยน้ำทิพย์ พรหมเพ็ชร ระบุว่า รายการในปัจจุบันส่วนใหญ่จัดอยู่ในระดับความเหมาะสมสำหรับผู้ชมทุกวัย แต่ยังปรากฎเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านภาษา ความรุนแรง และเพศ ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนี้ได้
เฉกเช่นเดียวกับ กรณีของการแสดงตลกที่ส่อถึงการคุกคามทางเพศของบอล เชิญยิ้ม ที่ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งความคิดเห็นของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแฟนคลับของมายด์ จะบอกกว่า “Woke ให้น้อยลง โลกจะมีสาระขึ้น” “รายการพวกนี้มันมีสคริปมาอยู่แล้ว คุยกันเรียบร้อยแล้ว ชาวเน็ตเดือดร้อนแทนสะงั้น”
ขณะที่ผู้ที่มองว่าเหตุกการณ์นี้เข้าข่ายคุกคามทางเพศจริง ให้ความเห็นว่า “เรื่องพวกนี้กลับกลายถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าผู้ถูกกระทำไม่ได้ยินยอม มันก็ไม่สมควร แต่สิ่งที่แปลก คือคนบางกลุ่มยังมองว่าปกติ” และ “ประเทศนี้ทำเรื่องแบบนี้ให้กลายเป็นเรื่องตลกไปแล้วไง คิดว่าทำเพื่อความสนุกเท่านั้น”
ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงการตลกไทยหรือไม่ แต่ก็ช่วยย้ำเตือนให้ทุกคนช่วยกันปฏิเสธหรือต่อต้านเนื้อหา ที่จะสร้างความชอบธรรมให้การคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม
แค่อีกคนรู้สึกอึดอัด ก็เท่ากับเป็นมุกที่ไม่ควรเล่นแล้ว
อ้างอิงจาก