มีอยู่ประเทศหนึ่ง รัฐสวัสดิการย่ำแย่ โครงสร้างการกระจายทรัพยากรของรัฐตกต่ำ ตกลงสู่เมืองเหลวงเท่านั้น คนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวงขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จะพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว หรือยกระดับสถานะตนเอง ประชากรประเทศนี้จึงต้องดิ้นรนในระดับปัจเจก ต้องขุดงัดความสามารถส่วนบุคคลที่มี ใช้ทักษะแรงงานที่มีไปแข่งขันในเกมส์โชว์เพื่อแก้จน ปลดหนี้ ไปร้องเพลงพร้อมพรรณนาความยากลำบากในชีวิตให้คณะกรรมการฟัง
รายการที่ให้ผู้ชมทางบ้านแข่งกันรำพันความทุกข์ระทมแสดงความเจ็บป่วยเพื่อให้ได้รางวัลชิ้นหนึ่งจึงดกดื่นแทบทุกช่องรายการประกวดร้องเพลงจึงต้องมีร้องไห้ด้วยทุกวีค หรือถ้าไม่สามารถหาความสามารถพิเศษเฉพาะตัวได้อีกเส้นทางหนึ่งในการดิ้นรนพยุงสถานะของตนเองก็คือการแต่งงานเชิงอุปถัมภ์
ในประเทศเดียวกัน ประชากรกลุ่มหนึ่งอยู่ปลายสุดของประเทศ ห่างจากเมืองหลวงประมาณ 1,050 กิโลเมตร แน่นอนว่าทรัพยากรจะเดินทางเข้าไปถึงมันก็ถูกร่อยหรอระหว่างทางพวกเขาไม่เพียงมีชาติพันธุ์ที่ต่างกัน ยังมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม การดำรงชีวิต ประวัติศาสตร์ ความเชื่อศาสนาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่ต่างไปจากเมืองหลวงและความพยายามของเมืองหลวงที่จะแทรกแซงทำให้มีความคิดความอ่านเหมือนกับของเมืองหลวงนำไปสู่ความตึงเครียดยาวนาน
อันที่จริงก็ตึงเครียดมานานแล้ว ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่รัฐจารีตอิสระปกครองตนเอง ‘ปาตานี’ ถูกทำให้กลายเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งภายใต้การปกครองของรัฐกรุงเทพฯ ไปพร้อมกับกระบวนปักปันขอบเขตอำนาจชัดเจนกลืนกลายให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนไทย เจ้าผู้ปกครองปาตานีก็ถูกอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ ข่มขู่ กักขัง ใช้ความรุนแรง ด้วยความสนับสนุนร่วมมือกับข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์
เพื่อลดความตึงเครียดประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 ให้สิทธิแก่มุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นรัฐปาตานี บังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ บรรพ 6 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสามารถตัดสินได้เองในเรื่องเกี่ยวข้องกับครอบครัวและมรดก ทำให้ต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ
การใช้กฎหมายนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหาในตัวของมันเพราะเต็มไปด้วยความลักลั่น ไม่สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์[1]ยังจะกลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการจับเด็กหญิงแต่งงานกับชายสูงวัยด้วยการเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
เนื่องจากกฎหมายอิสลามใน 4 จังหวัดนั้นทำให้การแต่งงานสร้างครอบครัว สามารถทำให้ผู้หญิงไม่ต้องรอให้ถึง 17 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมายไทย เพียงมีเมนส์แล้วก็ถือว่าเจริญพันธุ์ สามารถแต่งงานได้ พ่อแม่จัดพิธีให้ชุมชนรับรู้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นเป็นสามีภรรยากันแล้วตามประเพณี
และด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแต่งงานกับเด็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ล่าสุดอิหม่าม (ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้และคุณธรรม มีหน้าที่สอนและปฏิบัติการละหมาด) อายุ 41 ปี จากรัฐกลันตัน มาเลเซีย พาเด็กหญิงสัญชาติไทยอายุ 11 ขวบ ลูกสาวคนรับจ้างกรีดยางที่มาเลเซีย ข้ามมาแต่งงานที่สุไหงโกลก เนื่องจากกฎหมายชะรีอะฮ์ (Syariah) ของมาเลเซีย การแต่งงานกับหญิงที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ชายต่ำกว่า 18 ปีนั้นเป็นอาชญากรรม ถ้าศาลชะรีอะฮ์ไม่ได้อนุญาต
แม้ว่าเยาวชนหญิงจะบอกว่ารักอิหม่ามที่อายุห่างกันถึง 30 ปีคนนี้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งงานที่เต็มไปด้วยเสียงต่อต้านคัดค้านและเป็นข่าวครึกโครมในมาเลเซียตลอดเดือนกรกฎาคม (ตอนนั้นไทยเราน่าจะครึกโครมข่าวเยาวชนติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมากกว่า) เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ทั้งทางศาสนาและกฎหมายมาเลเซีย รองนายกและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาผู้หญิง ครอบครัว และชุมชน ก็ออกมาประณามและติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ทั่วโลกเองต่างกังวลถึงสิทธิและประโยชน์ของเด็กหญิงที่อาจจะไม่ได้รับใดๆ ทั้งสิ้นจากการแต่งงานตามประเพณี เพราะไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กลัวว่าเธอจะขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาเพราะที่ผ่านมาพวกเธอต้องลาออกจากโรงเรียน ไม่ได้เรียนหนังสือ ซ้ำร้ายพวกเธอยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะคลอดลูก เพราะแม่อายุน้อยเพียง 13-14 ปี มีสถิติเสียชีวิตจากการคลอดลูกสูงมาก
ก็จริงอยู่ที่เมื่อมีเมนส์แล้วเท่ากับวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องแต่งงานทันทีที่แตกเนื้อสาว ซึ่งมักเป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้จะอ้างว่าเด็กหญิงสมัครใจก็ตาม แต่มันก็เป็นการแต่งงานเด็ก(child marriage) ที่ไม่ได้ต่างไปจากการข่มขืน เพราะคลุมถุงชนเพื่อสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ รับอุปถัมภ์อุปการะ หรือในนามของการตอบแทนพระคุณพ่อแม่บุพการี ก็ไม่ต่างไปจากการบีบบังคับให้แต่งงาน ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสถาบันครอบครัว ที่ทำให้เด็กๆ ต้องสูญเสียโอกาสและสิทธิในตัวเธอเอง
ในดินแดนเดียวกันที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายจับเด็กหญิงมาเป็นเจ้าสาว เด็กหญิงจำนวนมากถูกเฉือนอวัยวะเพศบางส่วนออกตั้งแต่เพิ่งเกิด ด้วยความเชื่อทางศาสนาและประเพณี
การขริบอวัยวะเพศหญิง เป็นอีกประเพณีปฏิบัติที่พบในภาคใต้ของไทยเช่นเดียวกับมาเลเซีย และมีแนวโน้มว่าพ่อแม่ของเด็กหญิงจะปฏิบัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพาลูกสาวที่เกิดมาได้ไม่กี่วันไปคลีนิคแถวชุมชน หรือเชิญหมอ หมอตำแย มาสุหนัตลูกสาวที่บ้าน ด้วยการตัดคลิตอริสที่มองว่าไม่ได้เป็นการผ่าตัดใหญ่หรือทำให้พิการ เด็กเลือดออดนิดเดียว และขั้นตอนก็ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยาก แค่แม่อุ้มเด็กเอาไว้ ผู้ช่วยดึงขาเด็กกางออก แล้วหมอก็ใช้มือซ้ายแหวกแคมนอก มือขวาใช้กรรไกรสไลด์คลิตอริสออกบางๆ เป็นอันเสร็จพิธี ‘สุหนัต’ แม่หลายคนสบายใจที่ลูกสาวผ่านการขริบแล้ว เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่แม่[2]
การขริบอวัยวะเพศหญิงกลายเป็นวัฒนธรรมที่กระจัดกระจายทั่วสังคมมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบางหมู่เกาะของอินโดนีเซีย กลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นภายใต้ข้ออ้างทางศาสนาอิสลาม ว่าเพื่อยอมรับว่าเป็นมุสลิม มีการจัดพิธีกรรมใหญ่โต บางที่เพิ่มการเจาะหูให้เด็กหญิงด้วยในพิธีสุหนัต
เด็กหญิงที่หลีกเลี่ยงพิธีสุหนัตเชื่อว่าจะเป็นสัญญาณ 7 ประการสู่หายนะ เช่นชีวิตแต่งงานพวกเธอจะเต็มไปด้วยปัญหาในอนาคต จิ๋มอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย จิ๋มไม่สามารถให้ความสุขกับผู้ชายได้ และจะกลายเป็นภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี เพราะเชื่อว่า หญิงมีความใคร่มหาศาล อย่างไม่จำกัด และควบคุมไม่อยู่ การขริบจะช่วยควบคุมความใคร่ ความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้ ช่วยประกันความมั่นใจให้กับสามีได้ว่าพวกเธอจะไม่คบชู้
สุหนัตในผู้หญิงจึงล้วนแล้วแต่เป็นการจัดการอวัยวะเพศหญิงให้ผู้หญิงสยบยอมจำนนอยู่ภายใต้ผู้ชาย โดยมีศาสนาและประเพณีท้องถิ่นมาสร้างความชอบธรรมที่ทำให้กฎหมายไม่เข้าไปคุ้มครองสิทธิเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอ
จากหนังสารคดีอินโดนีเซีย ‘Pertaruhan’ หรือ ‘At Stake’ (2008) ที่เล่าเรื่องชีวิตผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสภาวะอันตราย ยากลำบากจนจะตายแหล่ไม่ตายแหล่ใต้โลกชายเป็นใหญ่ของอินโดนีเซีย ในพาร์ทหนึ่งและสัมภาษณ์หญิงสาวที่ผ่านพิธีกรรมขริบอวัยวะเพศหญิง เมื่อเริ่มโตใกล้ถึงวัยเจริญพันธุ์ เธอพูดเหมือนคนถูกข่มขืน ทั้งความทรงจำ ภาพหลอน ต่างๆ และความเจ็บปวดยังคงฝังอยู่ในใจเธอ
ในยะลา ปัตตานี นราธิวาส เลวร้ายน้อยกว่า เด็กเล็กที่ถูกสุหนัตยังจำความอะไรไม่ได้ ว่าตนเองเคยผ่านกระบวนการเช่นนี้ จะรู้อีกทีก็ตอนที่มีลูกและต้องอุ้มลูกสาวไปสุหนัตเหมือนกัน และถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติจนไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพูดถึงกัน มากไปกว่านั้นก็ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่อันตราย ไม่ทำให้เสียโฉม เสียอวัยวะ หรือพิการ และไม่ถูกแทรกแซงทางกฎหมาย หรืออยู่ในสายตากระทรวงสาธารณสุขที่จะมาศึกษาหรือควบคุมกำกับ ขณะเดียวกันอิหม่ามบางคนก็ออกมาบอกว่าการขริบอวัยวะเพศหญิงเป็นประโยชน์ ให้ผู้หญิงควบคุมพฤติกรรมทางเพศเมื่อโตเป็นสาว ให้เป็นคนสะอาดแข็งแรงและลดความก้าวร้าวของผู้หญิง และเป็นอัตลักษณ์ของมุสลิม [3]
อย่างไรก็ดี สำนึกความพยายามควบคุมพฤติกรรรมทางเพศของหญิงสาวก็นำไปสู่การขริบอวัยวะเพศหญิงในรูปแบบอื่นในอีกบางที่ของสังคม ตั้งแต่เฉือนบางๆ บางส่วนออก ทำเป็นรอยบากพอเป็นสัญลักษณ์ ตัดเฉพาะคริตอริสออกหมดเท่านั้น ตัดทั้งคริตอริส รวมทั้งแคมนอกและในถูกเลาะออก บ้างก็เลือกเหลือแคมไว้นอกหรือไนไว้ ซึ่งเป็นการขลิบที่พบมากที่สุดทั่วโลก ไปจนถึงการตัดเย็บปิดอวัยวะเพศเว้นช่องไว้ให้ 2-3 มิลลิเมตรเพื่อเป็นรูฉี่และเมนส์ อวัยวะเพศที่ถูกเย็บของเธอจะถูกเปิดบางส่วนออกออกเมื่อแต่งงาน เจ้าบ่าวจะได้มั่นใจว่าเธอคือสาวพรหมจรรย์ มีการตรวจเช็กอวัยวะเพศก่อนตัดสินใจแต่งงาน และเปิดเต็มที่เมื่อคลอดลูก แล้วจะถูกกลับไปเย็บปิดอีกครั้ง การสมานแผลผ่าตัดนั้นใช้สมุนไพรภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งพบมากในตะวันออกฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา[4]
จากทั้งกรณีแต่งงานตามประเพณีและขริบอวัยวะเพศหญิง (female genital mutilation) ไม่ได้แตกต่างกันที่ทำให้เพศวิถีและเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเธอเอง ผู้หญิงไม่มีสิทธิตัดสินแต่งงานด้วยตัวเองไม่ว่าอายุเท่าไร ทันทีที่เธอแตกเนื้อสาวก็จะถูกพ่อแม่จับเป็นเจ้าสาวให้กับคนที่มีเงินหรือมีสถานะทางสังคมที่ดีกว่า เหมือนกับที่อวัยวะเพศของเธออยู่ภายใต้การจัดการของวัฒนธรรมประเพณีที่ดำเนินการผ่านพ่อแม่ของเธอเอง ไม่ว่าพวกเธอจะต้องเผชิญกับความทนทุกข์เจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม
ภายใต้สุญญากาศทางกฎหมายและการรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ตกทอดมายาวนานผ่านชุดอธิบายทางศาสนา จิ๋มของพวกเธอจึงไม่ใช่ของเธอเอง หากแต่เป็นพื้นที่แสดงอำนาจของความเชื่อทางศาสนา
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ. (2010). ความลักลั่นของกฎหมาย:กรณีศึกษาพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้ กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489. วารสาร AL-NUR บัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาปีที่ 5 ฉบับที่8, น. 73-83.
[2] www.aljazeera.com; www.theguardian.com
[3] www.aljazeera.com/news/asia-pacific
[4] World Health Organization. (2018). Care of girls & woman living with female genital mutilation: a clinical handbook. Geneva: World Health Organization.