“การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา”
ข้อความบางส่วนจากเฟซบุ๊กเพจ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หลังมีคำสั่งจากกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 25 มกราคม 2566 ให้เขาย้ายจากตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ไปรับตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา จุดให้เกิดความสงสัยในสังคมต่อการใช้อำนาจจากฝ่ายการเมืองเพื่อโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม
The MATTER ไล่เรียงประเด็นนี้ตั้งแต่กระแสข่าวในปี 2565 จนถึงการเซ็นคำสั่งย้ายล่าสุดที่น่าเคลือบแคลงว่ามี ‘ใบสั่ง’ จากฝ่ายการเมืองหรือไม่
1.ใครคือ นพ.สุภัทร? นพ.สุภัทรจบการศึกษาแพทย์ศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างที่เรียนหนังสือเขาเคยรับตำแหน่งสำคัญมากมายในระดับมหาวิทยาลัย อาทิ ประธานชมรมค่ายอาสาสมัครสโมสรนิสิตจุฬาฯ, นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และเลขาฯ สมท. เป็นพ่อบ้านปีกนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
ภายหลังที่เขาจบการศึกษา ในปี 2538 เขาเข้ารับราชการที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ควบตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาล ก่อนที่ในปี 2542 เขาจะถูกย้ายมาเป็น ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา แล้วก็ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเรื่อยมา
2. ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลจะนะ เขาเป็นหมอนักบริหารริเริ่มโครงการระดมทุนติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในโรงพยาบาลจะนะเพื่อประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย จนกลายเป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่ผู้บริหารจาก ศธ. ต้องมาศึกษาดูงาน
แต่ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นหมอเอ็นจีโอทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ สร้างประชาธิปไตยฐานรากอย่างต่อเนื่อง เช่น คัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ต่อต้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงในการเมืองระดับชาติเขาก็เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ในปี 2556 – 2557 ก่อนออกมาขอโทษการตัดสินใจครั้งนั้นในภายหลัง
ในปี 2563 นพ.สุภัทรรับตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบทและจัดกิจกรรม ‘แพทย์ชนบทบุกกรุง’ ประสานบุคลากรสาธารณสุขในต่างจังหวัดขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อตรวจเชื้อ COVID-19 ขณะเดียวกัน เขาก็ออกมาวิจารณ์นโยบายของ สธ.ภายใต้การกุมบังเหียนของพรรคภูมิใจไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม การเปิดเสรีกัญชาที่เอื้อต่อนายทุนมากกว่าผู้ป่วย ตลอดจนการจัดหารวัคซีน COVID-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ
3. ท่าทีที่ยืนตรงข้ามผู้มีอำนาจใน สธ. ทำให้เขาได้รับคำเตือนมาแล้วครั้งนึง โดยในเดือนกันยายนปี 2565 ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยยื่นหนังสือถึง กมธ.การสาธารณสุขให้สอบสวน นพ.สุภัทร กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเพจ ‘แพทย์ชนบท’ วิจารณ์การโยกย้ายข้าราชการ ศธ. นโยบายสุญญากาศกัญชา รวมถึงการจัดหาวัคซีน
ศุภชัยระบุว่าโพสต์ดังกล่าวถ้าเป็นความจริงก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ถือว่าผู้เขียนโพสต์ดังกล่าว (นพ.สุภัทร) ไม่ได้แสดงความเห็นด้วยความเป็นธรรม ดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา หมิ่นประมาทพรรคการเมืองที่ออกนโยบายกัญชา
ศุภชัยยังเสริมว่า สธ.ได้รับร้องเรียนกรณี ‘แพทย์ชนบทบุกกรุง’ ว่าการตรวจเชิงรุกหรือการกักตัวของผู้ป่วยครั้งดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบ และกำลังมีการสอบข้อเท็จจริงอยู่
4. กระแสโยกย้าย นพ.สุภัทร ดังขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 2566 ทำให้ประชาชนในพื้นที่จะนะรวมตัวมาให้กำลังใจ นพ.สุภัทรที่โรงพยาบาล โดยประกาศจุดยืนเคียงข้าง นพ.สุภัทร พร้อมอ่านแถลงการณ์คัดค้านการโยกย้าย
“หมอสุภัทรเป็นคนที่สามารถประสานฝ่ายต่างๆ ได้ เช่น นักวิชาการ กอ.รมน. ศอ.บต. สภาพัฒน์ฯ และหมอสุภัทรก็ยังสนุกกับการอยู่ในพื้นที่นี้ น้องๆ ก็รัก ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งไม่ง่ายที่จะหาข้าราชการแบบนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีเหตุผลพอสมควรในการย้าย ยกเว้นการเลื่อนขั้นตามตำแหน่งหน้าที่ แต่ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง” บรรจง นะแส นักพัฒนาเอกชนอาวุโสใน จ.สงขลา กล่าวกับสำนักข่าวประชาไทถึงกระแสข่าวโยกย้ายในช่วงนั้น
5. จนในวันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักข่าวหลายแห่งได้เปิดเผยคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 เรื่องย้ายข้าราชการ โดยด้านในมีคำสั่งย้าย นพ.สุภัทร ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา แทนตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลจะนะ โดยให้คำสั่งเป็นผลตั้งแต่วันท่ี 25 มกราคม 2566
หลังสำนักข่าวรายงานหนังสือฉบับดังกล่าวออกไป ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งดังกล่าวว่าไม่เป็นธรรม และได้จุดความสงสัยในสังคมว่ามีการแทรกแซงจากภาคการเมืองหรือไม่ เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ว่า นพ.สุภัทรเป็นไม้เบื่อไม้เบาของผู้มีอำนาจในกระทรวงชุดปัจจุบัน
6. นพ.สุภัทรได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ‘ความในใจของผมเมื่อโดนย้าย’ ระบุตัวเขารับราชการตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลจะนะมาตั้งแต่ปี 2542 ผูกพันธ์กับพื้นที่ และหวังจะใช้อายุราชการที่เหลือ 7 ปีอยู่ที่นี่เช่นเดียวกับ ผอ.โรงพยาบาลชุมชนจำนวนมาก ที่เลือกเกษียณที่โรงพยาบาลเดิมเพื่อให้งานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่อเนื่องมากที่สุด
เขาตั้งข้อสังเกตว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีพิรุธ เพราะตามระบบของ สธ. ผอ.โรงพยาบาลชุมชนซึ่งอยู่ในระดับวิชาการเชี่ยวชาญไม่จำเป็นต้องถูกย้ายตามวาระ ที่สำคัญ เขาไม่ได้ทำความผิด และไม่มีความตั้งใจย้ายไปประจำที่อื่น
เขาเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่น่าประหลาดเกิดขี้น โดยมีคำสั่งย้าย สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการที่เพิ่งรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการเขต 4 ได้ 1 เดือนมาประจำที่เขต 12 (พื้นที่ รพ.จะนะ) แทน ก่อนที่ในเวลาต่อมา (23 มกราคม 2566) สธ.จะแก้ไขขอบเขตอำนาจของผู้ตรวจกาาให้สามารถย้ายตำแหน่งวิชาการเชี่ยวชาญได้ และมีการเปิดเผยคำสั่งย้ายตัวเขาจากสื่อมวลชนในอีกไม่กี่วันต่อมา
“การย้ายผมครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ไม่เคยมี เป็นครั้งแรกที่ผู้ตรวจราชการย้าย ผอ.โรงพยาบาลชุมชน ปกติเป็นอำนาจปลัด อย่างมากก็มอบอำนาจแค่รองปลัด” นพ.สุภัทรให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Reporter เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566
การที่ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจกดดันให้เกิดการโยกย้ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ม.157 ซึ่ง นพ.สุภัทรกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีการยื่นฟ้องกับศาลปกครองหรือไม่ และถ้ายื่นจะฟ้องใคร
7. หลังเกิดกระแสว่าการย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะ “ไม่เข้าตา” ผู้มีอำนาจในวงการเมือง วันที่ 27 มกราคม 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในประเด็นนี้ โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องของข้าราชการประจำ รัฐมนตรีไม่ได้ลงไปรู้จัก ผอ.โรงพยาบาลชุมชน
“ทำไมไม่มองว่าการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนภารกิจ หน้าที่เป็นเรื่องปกติในระบบราชการ โดยหาก นพ.สุภัทร บอกว่าตัวเองมีผลงาน มีความเก่ง ก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้ไปพัฒนา รพ.ที่ต้องการพัฒนา ยิ่งได้คนเก่งไป ยิ่งเป็นผลดีกับชาวบ้านกับกระทรวงสาธารณสุข” รัฐมนตรีสาธารณสุขจากพรรคภูมิใจไทยกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า “เจตนารมณ์ของประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นอย่างไร ต้องไปพัฒนาพื้นที่ให้มีความเจริญ ให้ประชาชนได้ประโยชน์มิใช่หรือ”
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า คำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเมือง และเป็นไปตามระเบียบบริหาราชการปกติ โดยยืนยันว่าไม่ได้มีการย้าย นพ.สุภัทรเพียงคนเดียว และเป็นการใช้อำนาจของผู้ตรวจราชการ สธ. ตามที่ระบุไว้ในขอบเขตอำนาจ
8. ขณะที่ในพื้นที่จะนะ สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า ประชาชนในพื้นที่จะนะและใกล้เคียงรวมกันประมาณ 100 คนได้ไปรวมตัวกันที่สาธารณสุขจังหวัดสงขลาเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจราชการ (นพ.สวัสดิ์) ที่ลงนามคำสั่งย้าย อย่างไรก็ตาม ไม่พบตัว จึงได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านการย้าย นพ.สุภัทร และยืนยันจะมาทุกวันจนกว่าข้อเรียกร้องของพวกตนจะเป็นผล
ต่อมา ในวันที่ 28 มกราคม 2566 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักรบผ้าถุง’ ได้พยายามเข้ายื่นหนังสือกับ นพ.สวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการอีกครั้งในงานมหกรรมผู้สูงอายุ แต่กลับถูกข้าราชการ สธ. ที่ติดตามมาด้วยขวางเอาไว้ และยึดป้ายผ้าของทางกลุ่ม
9. ทางด้านภาคประชาสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งย้ายครั้งนี้เช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่าภายหลังที่ นพ.สุภัทรออกมาวิจารณ์ประธานบอร์ดสป.สช. ที่ไม่ลงนามงบประมาณบัตรทองปี 2566 ที่ค้างมากว่า 3 เดือน จนทำให้เกิดปัญหาการเข้าสิทธิรักษาพยาบาลก็เริ่มปรากฎกระแสการย้าย นพ.สุภัทร
ทางกลุ่มมองว่าการโยกย้ายครั้งนี้เป็นการทำลายหลักธรรมาภิบาลของ สธ. และเป็นตอกย้ำวัฒนธรรม ‘นายว่า ลูกน้องก้มหน้ารับ’ สร้างความกลัวให้ข้าราชการไม่ลุกขึ้นมาวิจารณ์ผู้มีอำนาจในกระทรวง ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขอประนามการโยกย้ายครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้ รมต.สธ. ยกเลิกคำสั่งย้ายนี้ในทันที และขอสนับสนุนให้ นพ.สุภัทรและข้าราชการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายรัฐเข้มแข็งและยึดมั่นในหน้าที่ต่อไป
10. ทางด้านพรรคการเมืองก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน โดยพรรคประชาชาติ, พรรคเป็นธรรม, พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยได้แถลงการณ์คัดค้านการโยกย้าย นพ.สุภัทร โดยพรรคการเมืองทั้งหมดได้ตั้งคำถามถึง “เหตุผลที่แท้จริงในการโยกย้ายครั้งนี้”
“พรรคก้าวไกลขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากนายแพทย์สุภัทรเป็นข้าราชการที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนประชาชน มีความกล้าหาญในการแสดงความเห็นคัดค้านผู้มีอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน” พรรคก้าวไกลระบุว่าคำสั่งครั้งนี้อาจผิดตามรัฐธรรมนูญ ม.158 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่งในการแทรกแซงการทำงาน หรือโยกย้ายข้าราชการ
ทางด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงการโยกย้ายครั้งนี้ว่า นพ.สุภัทรกระทำการใดที่บกพร่องหรือไม่จึงมีการโยกย้ายนอกฤดูกาลเช่นนี้ ซึ่งปกติจะทำเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้ สธ. ชี้แจ้งเรื่องนี้ต่อสังคม
ถ้าการโยกย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นโดยมีอิทธิพลจากภาคการเมืองจริง ยิ่งจะเป็นการสร้างและขยายบรรยากาศความกลัวในหมู่ข้าราชการ และกดดันว่าข้าราชการควรนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจ เพราะเมื่อไหร่ที่คิดจะยืนฝั่งตรงข้าม อาจจะต้องเผชิญกับจุดจบในชีวิตราชการที่ไม่สวยเท่าไหร่นัก
อ้างอิงจาก:
https://www.dailynews.co.th/news/1215577/
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7478680
https://readthecloud.co/supat-hasuwannakit/
https://prachatai.com/journal/2020/10/90175
https://prachatai.com/journal/2023/01/102142
https://workpointtoday.com/politics-supa01092565/
https://www.facebook.com/photo/?fbid=570318295134714&set=a.478501374316407
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1050158
https://prachatai.com/journal/2023/01/102489
https://www.hfocus.org/content/2023/01/26899
https://www.pptvhd36.com/health/news/2745
https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/115577-supatjana.html