จะเป็นอย่างไร ถ้าสัตว์ที่สูญพันธ์ุไปแล้วจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง? เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทตัดต่อยีน กำลังวางแผนคืนชีพให้นกโดโดที่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ให้มันกลับมาวิ่งเล่นบนโลกของเราอีกครั้ง
นกโดโด (Dodo) เป็นนกที่มีรูปร่างประหลาด เพราะมันทั้งอ้วน ตัวใหญ่ และบินไม่ได้ ซึ่งนกโดโดอาศัยอยู่บนเกาะมอริเชียส (Mauritius) ในมหาสมุทรอินเดียจนถึงปลายศตวรรษที่ 17 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลย
สาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของนกโดโด คือการมาเยือนของกะลาสีเรือชาวตะวันตกที่ได้นำสิ่งมีชีวิตนักล่าต่างถิ่น เช่น หนู เข้ามาด้วย นอกจากนี้ ผู้คนเหล่านี้ยังออกล่าสัตว์ต่างๆ บนเกาะ ทำให้นกโดโดที่เป็นมิตรกับมนุษย์มาก ต้องสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ
แต่ด้วยความก้าวหน้าของโลกวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีอย่าง การจัดลำดับดีเอ็นเอโบราณ การตัดต่อยีน และชีววิทยาสังเคราะห์ สามารถนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ุไปแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“เห็นได้ชัดว่าในขณะนี้ เราอยู่ท่ามกลางวิกฤติการสูญพันธุ์ ซึ่งเราคิดว่าการนำเรื่องราวการปลุกชีพนกโดโดขึ้นมาพูด จะทำให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในโลกมากขึ้น” เบธ ชาปิโร (Beth Shapiro) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังหวังว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของเทคนิคใหม่ๆ มากมาย ที่จะสามารถอนุรักษ์นกและสัตว์อื่นๆ ไม่ให้สูญพันธุ์หายไปจากโลกนี้ได้
โครงการปลุกชีพนกโดโด กำลังอยู่ในขั้นตอนการเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมกับนกที่ใกล้ชิดกับนกโดโดที่สุด ซึ่งก็คือสัตว์ตระกูลนกพิราบ ได้แก่ นกพิราบชาปีไหน (Nicobar Pigeon) และนกพิราบโรดริเกส โซลิแทร์ (Rodrigues Solitaire) วิธีดังกล่าวจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถจำกัดการกลายพันธุ์ของข้อมูลพันธุกรรมให้แคบลง เพื่อให้ “โดโดเป็นโดโดให้มากที่สุด” ชาปิโรกล่าว
และถ้าการทดลองนี้มีประสิทธิภาพมากพอก็อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถย้ายลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะระหว่างนกแต่ละสายพันธุ์ เพื่อช่วยชีวิตพวกมันอีกด้วย เช่น การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้พวกมันสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายหรือสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์การใช้เงินจำนวนมหาศาล ราว 225 ล้านเหรียญ (7,395 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนให้คืนชีพให้นกโดโด เพราะคิดว่าทำไมไม่นำเงินไปใช้เพื่อปกป้องนกกว่า 400 สายพันธุ์ ตลอดจนสัตว์และพืชอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกระบุว่ากำลังจะสูญพันธุ์
“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ทำไมพวกคุณถึงต้องพยายามรักษาบางสิ่งที่หายไปแล้ว แทนที่จะช่วยสิ่งมีชีวิตที่ยังอยู่และต้องการความช่วยจากเราในตอนนี้” จูเลียน ฮูม (Julian Hume) นักบรรพชีวินวิทยานกชาวลอนดอนกล่าว
อ้างอิงจาก