ท้องฟ้าที่ควรจะสดใส กลับขุ่นมัวไปด้วยเขม่าควัน อากาศที่เคยสะอาด ก็เต็มไปด้วยด้วยฝุ่นละออง
ภาคเหนือของไทย เคยเป็นภูมิภาคที่เหล่านักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศใฝ่หา ด้วยภาพจำว่ามีทิวทัศน์งดงามและอากาศดี แต่สิ่งที่ผู้คนในพื้นที่ต้องเผชิญมานานหลายปี คือปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่วนเวียนกลับมาอยู่เสมอ และไม่เคยสงบลงจริงๆ เสียที
The MATTER พูดคุยกับ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมปัญหาเหล่านี้ไม่เคยสงบ มาตรการในการแก้ไขของภาครัฐเป็นอย่างไร หรือเพราะองค์กรท้องถิ่นไม่มีอำนาจ จึงไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้?
ปัญหาไฟป่าภาคเหนือจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง?
ปีนี้หนัก แต่ไม่ได้แปลว่าปีที่แล้วไม่หนัก ปีที่แล้วก็หนัก หนักมาทุกปี ปัญหามันเกิดมาจากการเผา แต่แหล่งที่มาของการเผาก็มาจากหลายๆ ที่ อย่างแรกคือ มีไฟไหม้ขึ้นมาในเขตป่า เป็นไฟที่เกิดจากการจุดในพื้นที่เกษตรแถบเขตภาคเหนือของไทย กับการเผาพื้นที่เกษตรในเขตนอกพรมแดนไป เพราะเราทราบกันอยู่ว่ามันมีการเปลี่ยนประเภทของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่บริษัทในไทยก็ข้ามไปส่งเสริมการปลูกนอกประเทศ แล้วก็ก่อให้เกิดการเผาซังข้าวโพดในช่วงเตรียมพื้นที่กันขนาดใหญ่
ทีนี้ ถ้าพูดถึงความรุนแรงคือ ค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูง ซึ่งเกิดจากช่วงที่ป่าถูกเผาไหม้ เพราะป่าอยู่ติดกับเมือง ดังนั้น มันก็มีดอยอยู่สองสามดอยที่ไหม้มาเมื่อไหร่ก็จะแย่กับเมืองที่อาศัยอยู่รอบดอยนั้น ก็คือดอยสุเทพในเขตอำเภอเมือง แล้วก็ดอยหลวงในเขตอำเภอเชียงดาว แล้วก็ดอยอินทนนท์ในเขตอำเภอจอมทอง ซึ่งดอยนั้นก็ไกลออกไปหน่อย
ไฟป่ามาจากไหน ทำไมถึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง?
ปีนี้มันมีการลุกไหม้ของไฟในเขตดอยสุเทพเยอะ แต่ก็ยังไม่มีการชี้แจงว่ามาจากไหน บางแหล่งก็บอกว่า มันลุกไหม้ในเขตที่ไม่มีคนทำมาหากินอยู่ในแถบนั้น แล้วก็มีการจุดไฟซึ่งก็มีการสันนิษฐานกันเยอะแยะมากมายและยังไม่มีข้อมูลที่แท้จริงรองรับ
ปัญหาคือ ทำไมทางจังหวัดไม่แถลงว่าจริงๆ มันคืออะไร ส่วนใหญ่ก็ไปลงกับชาวบ้านว่าเขาเข้าไปเผา แต่ไฟมันไหม้ต่อเนื่องกันยาวนาน ซึ่งถ้าคุณตามข่าวก็จะเห็นว่า มันไหม้ต่อเนื่องกันหลายวันมาก ส่วนหนึ่งที่ฟังจากเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เขาบอกว่าใบไม้สะสมค่อนข้างสูงแล้วมันดับไม่สนิท พอลมมาทีนึงไฟก็ลามต่อ หรือบางทีขอนไม้กระเด็นก็เลยลามกันยาวนาน
ถ้าไปตามดูจุด hot spot ที่มันยังคงเกิดอยู่ต่อเนื่องเต็มไปหมดเนี่ย ก็คือในพื้นที่เกษตรทั้งในและนอกประเทศที่อยู่ติดกับไทย ลมพัดทีนึงก็มีควันมา พอช่วงความกดอากาศต่ำ ก็ทำให้ควันไม่ลอยไปไหน ลอยอ้อยอิ่งกันอยู่ นี่เป็นปัญหาที่ยาวนานต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่ได้แปลว่าดับไฟป่าแล้ว ฝนตกลงมาแล้วก็เป็นอันจบ
ถ้าเป็น กทม. ค่า pm2.5 ขึ้นไป 100 กว่า คนใน กทม. โวยวายกันแล้ว เชียงใหม่ขึ้นไป 160 กลับดูเหมือนเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่มันแย่มากๆ
ทำไมปัญหาเรื่องฝุ่นควันในเชียงใหม่ถึงไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกรุงเทพฯ
เสียงของคนเชียงใหม่ดังไม่เท่าคนกรุงเทพฯ เพราะเชียงใหม่ติ่งของกรุงเทพฯ แล้วรัฐบาล รวมทั้งผู้บริหารจังหวัด ก็ไม่ถือปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ ทำให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปวันๆ
มันต้องมีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ต้องมาคุยกันว่า ถ้าระบบการจัดการแบบรวมศูนย์มันล้มเหลว ไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่จะต้องทำยังไง เคยมีคนบอกว่าวาระที่สำคัญของเชียงใหม่ไม่ได้มีแต่หมอกควัน ขอถามกลับว่า ถ้าไม่ได้มีแต่หมอกควันแล้วจะมีอะไรอีก คุณอยากได้ถนนที่ดี คุณอยากได้สนามบินที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็สะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการอีกเช่นกัน
ไฟป่าและหมอกควันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างไรบ้าง?
มันมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนมากที่สุด เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ผู้คนมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แล้วต้องทนอยู่แบบนี้ราว 4 เดือน แต่ก่อนอาจจะแค่เดือนสองเดือน แต่ตอนนี้ช่วงเวลามันขยายมากขึ้นแล้ว
ปัญหานี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกลับไปที่จังหวัดว่า มีความใส่ใจและจริงใจแค่ไหนในการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบว่าปัญหาหมอกควันที่เริ่มยืดเวลายาวนานมากขึ้น มันเกิดจากอะไร แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ในระดับรากฐานอย่างไร ไม่ใช่การแก้กันแบบหน้าเสื่อไปแต่ละปี พอเข้าเดือนมกราคมก็ประกาศห้ามเผา แต่ไม่มีแผนระยะยาวซึ่งทำต่อเนื่องทุกวันทุกเดือน
ถ้าการเผามาจากพื้นที่นอกเขตประเทศ ข้ามพรมแดน ก็พูดกันมานานแล้วว่าเราต้องส่งสัญญาณพูดคุยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ก็ไม่มีแผนเป็นกิจจะลักษณะว่าจะข้ามไปคุยกับผู้นำอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ทำไมเวลาเกิดไฟป่า ชาวบ้านถึงโดนเพ่งเล็งว่าเป็นกลุ่มที่เผาป่า
ส่วนหนึ่งคือ มันง่าย เพราะชาวบ้านอยู่ในป่าจึงง่ายต่อการที่จะถูกตั้งเป้าเป็นผู้สร้างปัญหา แต่คนที่ตายจากการดับไฟป่าเกือบครึ่งหนึ่งก็คือชาวบ้าน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่รัฐมองไม่เห็น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐไปกดดันชาวบ้านและปิดป่าไม่ให้เขาเข้าไปทำมาหากิน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งพยายามพิสูจน์ตัวเองว่า เขาเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับป่าที่สุด จึงเห็นอะไรต่างๆ ก่อนใครเพื่อน เขาก็ทำกลุ่มอาสาสมัครดับไฟป่า ทำแนวกันไฟ มันมีความพยายามทำนองนี้เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ มากมาย โดยพวกเขาพยายามที่จะควบคุมกันเอง
แต่ต้องยอมรับว่ามีคนอยู่หลายแบบ ชาวบ้านบางคนอาจจะมีปัญหา ซึ่งเราไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่มีใครรู้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐลงไปคุยกับชาวบ้านว่าเขามีปัญหาอะไรกัน ต้องคุยกับเขาดีๆ แล้วก็เปลี่ยนเขาให้มาเป็นกำลัง เพื่อช่วยให้เขาสามารถอยู่รอดได้ ไม่ใช่ไปบอกว่า ‘เฮ้ย เอ็งเป็นพวกเผาป่า เอามาจับขังคุก ตัดมือ ตัดแขน’ จับได้คนนึง ก็จะมีอีกหลายคนที่ทำอย่างนี้ เพราะอย่างที่บอกว่ามันทำให้ประชาชนหันหลังให้ แล้วกลายเป็นความโกรธเคือง โกรธแค้น
แต่ก็มีชาวบ้าน อาสาสมัครมาช่วยกันดับไฟหลายคน เป็นเพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่เพียงพอหรือเปล่า
ระบบราชการแบ่งงานกันทำ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องป่าไม้ หน้าที่ดับไฟเลยกลายเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้อยู่หน่วยงานเดียว พอมันใช้ระบบราชการในการกรองปัญหานี้ ก็ต้องมีการแบ่งงานกันทำแบบนี้ แต่ถ้าคุณมองให้ดี แล้วหยิบให้มาเป็นวาระสำคัญของจังหวัด คุณต้องสลายเส้นแบ่งทางราชการนี้ออกไป แล้วมาดูว่าปัญหานี้มันเกิดจากอะไร แล้วต้องขยายกำลังพลให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ไปรวมงานนี้อยู่กับกรมป่าไม้ที่เดียว
อย่างสิงคโปร์ก็เจอปัญหาหมอกควันจากอินโดนีเซียหนักมาก เราก็เห็นความพยายามในระดับรัฐที่จะเจรจาสร้างแผนร่วมกันเพื่อลดปัญหาหมอกควันลง ขนาดอยู่ห่างกันเขายังทำ ของเราแค่ข้ามพรมแดนเอง กรณีเราก็ไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ข้ามไปคุยกับประเทศอื่นเลย
นโยบายควบคุมจัดการไฟป่าในตอนนี้เป็นอย่างไร?
จริงๆ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนและมีปัญหาเรื่องหมอกควันหนัก สามารถใช้กลไกของการบริหารภูมิภาคร่วมกัน ข้ามไปคุยกับผู้บริหารของประเทศเพื่อนบ้านได้เลย ซึ่งควรเป็นแผนที่มีเป้าหมายชัดเจน วัดผลได้ แต่เราไม่เคยได้ยินผู้บริหารจังหวัดบอกมาว่า แผนของเขาในการลดปัญหาหมอกควันมีอะไรบ้าง คุณจะลดปัญหาค่า pm2.5 ซึ่งปีนี้เหยียบอันดับโลกนานเป็นอาทิตย์เลยได้ยังไง
แผนเดียวที่เราได้ยินก็คือ ‘ห้ามเผา ห้ามเผา ห้ามเผา’ แล้วตอนนี้ก็ปิดป่าไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป แบบนี้ก็ตายกันหมด
รัฐทำอย่างนี้ยิ่งทำให้ประชาชนในเขตป่าเป็นศัตรูกับรัฐ ทางจังหวัดเองก็ไม่ทราบว่าการเผาเกิดขึ้นจากอะไร จับชาวบ้านแล้วก็ออกข่าวว่า เป็นเพราะความคึกคะนองก็เลยไปเผา แต่ใครจะมีไฟแช็ก 5-6 อันในกระเป๋าเข้าไปในป่าเพื่อไปเผาเพราะความคึกคะนอง?
ที่ผ่านมา การจัดการเรื่องไฟป่าและหมอกควันของรัฐ คือการบังคับชาวบ้าน ใช้ความรุนแรงและสั่งห้ามอย่างเดียว โดยไม่คำนึงว่าเขาจะยังชีพยังไง รัฐไม่ช่วยเหลือ ไม่ส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรอื่นๆ ที่สามารถทำได้ สุดท้ายคุณก็ผลักให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรูกับรัฐ
ผลกระทบต่อผู้คนจากการไม่มีแผนรับมือระยะยาว คืออะไร?
คนจะตาย คนจะป่วย เพราะฝ่ายสาธารณสุขก็ต้องรองรับผู้ป่วยที่เกิดจากปัญหานี้ แล้วคนที่จะโดนหนักที่สุดเลยก็คือ คนชนชั้นล่าง คนยากคนจนที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ คือชนชั้นกลางหรือคนอื่นๆ ที่มีรายได้ เขาก็ฝังตัวอยู่ในบ้าน ซื้อเครื่องฟอกอากาศได้ แต่คนที่ทำมาหากินต้องไปตลาดขายของ อยู่บ้านแบบ open air จะอยู่อย่างไร
สมมติ ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างน้อยในระดับของการที่จะช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาปอดของตัวเอง เราก็ไม่ได้ยิน มันควรให้งบประมาณมาสนับสนุนตรงนี้ สนับสนุนชาวบ้านที่เขาเป็นอาสาสมัครทั้งหลาย แจกหน้ากากอนามัย ซื้อเครื่องฟอกราคาถูกให้กับชาวบ้านซึ่งมีฐานะยากจน
การจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาไฟป่าในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
คิดว่างบประมาณควรจะมาสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือตรงนี้ สนับสนุนชาวบ้านซึ่งเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า กับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยให้การดับไฟป่ามีประสิทธิภาพ งบประมาณควรจะลงไปช่วยซื้อเครื่องฟอกราคาถูก ให้กับชาวบ้านซึ่งมีฐานะยากจน ที่ผ่านมาที่เคยเห็นแต่คณะก้าวไกล เอาเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY ซึ่งไม่ได้แพงมาก ประมาณ 500-600 เครื่อง มาแจกคนที่สมาชิกครอบครัวเป็นโรคหอบหืด หรือเป็นโรคทางเดินหายใจซึ่งเขาต้องการจริงๆ แต่ตรงนี้ มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่า ทำไมเรากลับไม่ได้ยินสิ่งนี้ออกมาจากรัฐเลย
ทำไมประชาชนต้องออกมาเปิดรับบริจาค?
คนออกมาบริจาคเพราะสงสารเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดับไฟ มีน้ำมีอะไรเราก็เอาให้เขา แต่ในขณะที่ทำเราก็ต้องถามว่า เราเสียภาษีทุกปี แต่ทำไมยังต้องรอให้มีการบริจาค แล้วเงินค่าแรงที่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าได้ก็ต่ำมากเลย สวัสดิการก็แย่ แต่เขาต้องใช้ปอดตัวเองไปเสี่ยงกับภัยพิบัติเหล่านี้ โดยที่มีการสนับสนุนจากรัฐน้อยมาก คำถามคือ เงินไปไหน?
ถ้าเป็นเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ รัฐก็ต้องคิดแล้วว่าทำไมถึงไม่เพียงพอ แบ่งเงินมาซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับไฟได้ไหม เพราะเวลาเกิดไฟป่า เห็นเฮลิคอปเตอร์ช่วยขนน้ำไปดับไฟอยู่ไม่กี่ลำเอง
อย่างที่ออสเตรเลีย ตอนที่มีปัญหาไฟป่าครั้งใหญ่ ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ หลายพันคน เข้ามาช่วยกันกับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง แล้วอุปกรณ์ในการดับเพลิงของเขาก็เป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัย ของประเทศไทยเจ้าหน้าที่ต้องใช้ไม้กวาดดับ หน้ากากกันควันดีๆ ยังไม่มีเลย
ชีวิตคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ชีวิตเขาน่าสงสารมากเลยนะ คิดว่าถ้าเขาทำอาชีพแบบนี้ไปสักพัก ปอดเขาคงพังตายก่อนใคร เพราะเป็นคนที่ต้องไปเจอปัญหาฝุ่นควันคนแรกๆ
อะไรเป็นอุปสรรคในการจัดการไฟป่า
นี่เป็นสิ่งที่รัฐต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ที่ผ่านมาทำงานยังไง ทำงานแบบรวมศูนย์ ทำงานแบบไม่เข้าหาประชาชน ปีนึงไม่เคยไปดูพื้นที่ที่เกิดปัญหา แล้วพอเข้าฤดูร้อนเมื่อไหร่ ก็ใช้วิธีการแบบนี้ คือใช้กำลัง ใช้อำนาจในการสั่งการ มันก็ล้มเหลว เพราะไม่มีแผนระยะยาว
ป่ามันกว้างใหญ่มหาศาล คุณไปตามปิดป่าทุกที่ไม่ได้หรอก ช่วงที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่า ไฟป่าเกิดในช่วงกลางคืน ช่วงเย็น พลบค่ำ มีลม มีอากาศเอื้ออำนวยให้การจุดไฟได้ผล คุณไม่สามารถเอากำลังพลที่คุณมีอยู่ไปล้อมปิดป่าได้ คุณกำลังทำให้ประชาชนเกลียด เพราะงั้นต้องเปลี่ยนท่าทีได้แล้ว ต้องทำงานร่วมมือกับชุมชนที่เขาพยายามที่จะแก้ปัญหานี้
คำถามคือ เจ้าหน้าที่จังหวัดเคยมีโครงการที่ลงไปสำรวจ หรือพูดคุยกับชุมชนที่อยู่ในเขตป่า เคาะประตูบ้านคุยกับทุกบ้านไหม ไม่ใช่ส่งกองกำลังทหารลงไป ไปสั่งให้ประชุม แล้วก็บอกว่า ‘ห้ามเข้าป่า’ นั่นเป็นวิธีการใช้อำนาจของข้าราชการ
เป็นเพราะไม่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น?
ใช่ พอคุณไม่มีผู้บริหารจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาก็ไม่มีความห่วงใยคุณ เขาก็มารอเกษียณ อีกไม่กี่ปีเขาก็ไปแล้ว แค่ทำไปตามหน้าเสื่อ เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาลงทุนใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเข้าเนื้อ เขาก็ทนโดนด่าไปซักปีสองปีแล้วเดี๋ยวก็ไปแล้ว
เราอยู่กันแบบนี้มาหลายปีแล้ว จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ว่าฯ ที่มาพร้อมกับแผนระยะยาว ทำแต่เรื่องโปรโมทการท่องเที่ยว หาเงิน สร้างภาพลักษณ์ทำนองนี้ แต่ว่าไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนไหนที่มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาใจกลางตรงนี้
ประเด็นหลัก คือเชียงใหม่ไม่มีผู้ว่าฯ ที่พวกเราเลือกเอง แต่เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากมหาดไทย พอมันจัดการด้วยระบบราชการ และความเป็นราชการรวมศูนย์ซึ่งดำเนินไปตามกลไกที่เทอะทะและไร้ประสิทธิภาพ การดับไฟป่าจึงเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้อยู่ที่เดียว ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นวาระระดับชาติ
นี่คืออุปสรรคใหญ่ของการแก้ปัญหาไฟป่า เพราะกลไกราชการไม่มีความต่อเนื่อง เหมือนผู้ว่าฯ มาแล้วก็ไป แล้วก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ ถ้าจะปลดล็อกตรงนี้ ต้องดึงปัญหานี้ออกมาจากกลไกราชการ ทำให้มันเป็นเรื่องที่ในจังหวัดและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเขตชายแดนทำร่วมกันเป็นแผนระดับใหญ่ แล้วดำเนินการไปได้ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น?
เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการมาไม่รู้ตั้งกี่ปีแล้ว เราก็ต้องกดดันภาครัฐ เพราะเรื่องนี้ไม่มีทางที่ทางรัฐจะเป็นฝ่ายริเริ่ม เขาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยไม่ยอมใช้คำว่า ‘ภัยพิบัติ’ ด้วยซ้ำ บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการที่ว่าก็ไม่เห็นทำอะไรเลย มีรองนายกฯ มาดูพื้นที่ ซึ่งก็มาตอนจบแล้ว
โดยรวมแล้ว มันไม่มีการให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง จังหวัดมันขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ หรือก็คือรัฐบาลกลาง ทีนี้พอรัฐบาลกลางมองว่า ไฟป่าและหมอกควันเป็นปัญหาท้องถิ่น ไม่ใช่ภัยพิบัติ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เขาก็ทำแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ คือพอคนด่าหน่อย เขาก็ค่อยส่งเฮลิคอปเตอร์มา หรือว่ามีคนมาดูงานที มาสั่งห้ามว่า ‘ไม่ให้มีไฟไหม้อีกแล้วนะ’ แต่จะห้ามไม่ให้ไฟไหม้ได้อย่างไร เขาไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเลย นี่คือวิธีการจัดการปัญหาแบบทหาร
แล้วจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร?
ภาคประชาชนต้องกดดันให้จังหวัดเชียงใหม่มีผู้บริหารที่มาจากเสียงของประชาชน จริงๆ ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ใหม่ เพราะเสนอกันมานานมากแล้ว เสนอกันมาโดยตลอด แต่คิดว่าปัญหาไฟป่ามันส่งผลต่อปัญหาหมอกควัน ซึ่งกระตุ้นให้ข้อเรียกร้องนี้มันสมเหตุสมผลที่สุด
ที่มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็เพราะผู้ว่าฯ รับใช้กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเขาเป็นข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย แต่เราไม่ต้องการผู้ว่าฯ แบบนั้น เราต้องการผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบต่อประชาชน
ดิฉันเรียกร้องให้คนเชียงใหม่ทุกคน หันมาดูปัญหาเชิงโครงสร้างว่าเหตุใดเราจึงไม่สามารถจัดการปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันเกี่ยวกับการที่เราไม่มีอำนาจในการจัดการแก้ปัญหาหรือเปล่า? ถ้ามันเกี่ยวข้อง ทำอย่างไรประชาชนจึงจะมีอำนาจในการจัดการที่แท้จริงได้
สิ่งที่ดิฉันพยายามเสนอก็คือ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะสามารถมีรัฐที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวแทนของมหาดไทย รัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชน ให้วาระการแก้ปัญหานี้เป็นวาระใหญ่ เป็นวาระที่จังหวัดเสนอไปที่ในระดับประเทศว่านี้มันเป็นวาระของชาติ ซึ่งรัฐบาลกลางต้องทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนมาช่วยแก้ไขปัญหานี้