“ทำไมจ่ายค่าแรง 50,000 บาท [ต่อเดือน] ไม่ได้”
“เจ๊งเลย แต่ถ้าเราขายกาแฟแก้วละ 300-400 หนึ่งวันขายได้ 1,000 แก้ว เราว่าเราจ่ายพนักงานคนหนึ่ง 50,000 บาทได้นะ เพราะงั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับค่าแรงในตลาด”
หลังจากที่คลิป TikTok ของ ซารต์—ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และกานต์—อรรถกร รัตนารมย์เจ้าของช่องยูทูบ Bearhug และเจ้าของร้านชานม Bear House ที่กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานคนละ 50,000 บาท ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนออกมาแสดงความเห็นในโลกทวิตเตอร์ว่าไม่เห็นใจแรงงาน แต่บางคนก็บอกว่าสิ่งที่พูดมาในคลิปถูกต้องแล้ว เพียงแต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด
ในส่วนหนึ่งของคลิป กานต์ระบุว่า “ถ้าเราอยากจ่ายค่าแรงมากขึ้น GDP ก็ต้องสูงขึ้น” แล้วมันจริงไหม?
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เคยอธิบายถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ว่าองค์ประกอบของค่าแรงมี 3 ส่วน ได้แก่ 1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2) ผลิตภาพแรงงาน และ 3) เงินเฟ้อ ซึ่งค่าแรงจะต้องปรับไปตามปัจจัยเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น “เพราะค่าแรงของเราต่ำเตี้ยมาโดยตลอด”
เผ่าภูมิยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าแรงในปัจจุบันของไทยขึ้นอยู่กับแค่ผลิตภาพและเงินเฟ้อ แต่โตไม่ทัน GDP จึงกลายเป็นว่าตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าค่าแรง รายได้เอกชนโตเร็วกว่าแรงงาน รายได้นายจ้างโตเร็วกว่าลูกจ้าง
ทั้งนี้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อธิบายถึงการเพิ่มค่าแรงไว้ด้วยว่า หากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในวันนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะต้องเพิ่ม และคนจะต้องเดือดร้อนแน่นอน เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่อยู่ในสภาพที่ดีและเหมาะสม
แต่เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ก็ผลักดันเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้นได้เช่นกัน พอมีทรัพย์สินใช้จ่าย ก็ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศดีขึ้นได้ “เราจะต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ จะต้องรู้ด้วยว่าแรงงานต้องขึ้นค่าแรง แต่ขึ้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศพร้อม” แพทองธาร กล่าว
ถ้าค่าแรงสูงขึ้น แล้วจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือไม่?
ในประเด็นนี้ นริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เคยอธิบายถึงผลกระทบของค่าแรงไว้ว่า ในความเป็นจริงภาคธุรกิจเริ่มเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว
นริศ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ราคาสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นตามเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ด้วยเช่นกัน
“การปรับขึ้นค่าแรงย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อมโยงไปถึงอัตรากำไรของธุรกิจให้ลดลง” แต่การปรับค่าแรงขึ้น 5% ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเพียง 1% ส่งให้อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin [ที่ไว้ใช้ประเมินสถานะทางการเงินของบริษัทว่ามีความสามารถในการควบคุมต้นทุนเพื่อสร้างกำไร] ของธุรกิจในภาพรวมลดลง 0.8% โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมีดังนี้
“กลุ่มที่ 1 ได้รับผลกระทบมาก (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 30%) ได้แก่ กลุ่มบริการธุรกิจ ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภค ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจบริการส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจอุตสาหกรรม โดยอยู่ระหว่าง 1.1-2.1%”
“กลุ่มที่ 2 ได้รับผลกระทบปานกลาง (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 20%) ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ ไอทีและเทเลคอม ผู้ผลิตไฟฟ้า โดยอัตรากำไรของธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงระหว่าง 0.6-1.0%”
“กลุ่มที่ 3 ได้รับผลกระทบน้อย (ส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงมากกว่า 5%) ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจพลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน โดยอัตรากำไรของธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงระหว่าง 0.2-0.5%”
แล้วที่บอกค่าครองชีพมันเกินค่าแรงขั้นต่ำไปมากๆ มันจริงไหม?
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ไว้ว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยน้อยเกินไปมากๆ เมื่อเทียบกับไต้หวันซึ่งมีค่าครองชีพใกล้เคียงกับไทย ทางไต้หวันกลับมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 955 บาทต่อวัน ซึ่งษัษฐรัมย์ก็มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เพื่อให้คนทำงานสามาถเลี้ยงดูครอบครัว หรือหาความสุขให้ชีวิตได้บ้าง ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ภาครัฐสามารถกระโดดเข้ามาช่วยผู้ประกอบการได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งซารต์และกานต์ได้ออกมาเผยแพร่คลิปขอโทษที่สื่อประเด็นออกไปได้ไม่ดี และย้ำว่าทั้งคู่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะรู้ว่าตอนนี้ค่าแรงเกินกว่าค่าครองชีพไปมากๆ ทั้งนี้ สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการบอกคืออยากให้ทุกคนดูกลยุทธ์ของพรรคที่ออกมาหาเสียงด้วยว่าเขาจะขึ้นค่าแรงเมื่อไหร่ มีแผนแก้การผูกขาดอย่างไร และไม่อยากให้หลงกลกับนโยบายประชานิยม
อ้างอิงจาก