ภาวะของแพงทุกหย่อมหญ้ากลายเป็นประเด็นสู่การถกเถียงว่าด้วยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งถูกรัฐบาล ‘แช่แข็ง’ มาต่อเนื่องยาวนานร่วม 2 ปี หากย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในอดีตจะพบว่านับตั้งแต่การกระโดดก้าวใหญ่ของค่าแรงขั้นต่ำร่วม 50% เป็น 300 บาทแบบถ้วนหน้าเมื่อ พ.ศ.2556 สมัยอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค่าแรงขั้นต่ำในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับขยับขึ้นน้อยมาก โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 331 บาท/วัน หรือคิดง่ายๆ ว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.5%/ปี เท่านั้น
ทุกครั้งที่พูดถึงค่าแรงขั้นต่ำ สิ่งที่เรามักพูดคู่ขนานกันคือระดับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การเรียกร้องปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่นั่นเป็นเพียงเป้าหมาย ‘ครึ่งเดียว’ ของการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะประเด็นหนึ่งที่มักถูกมองข้ามโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่าครองชีพไม่ได้ขึ้นพรวดพราดเช่นในปัจจุบัน คือ ค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐกำหนดนั้น ‘เพียงพอและเหมาะสม’ ต่อการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งหรือเปล่า
ลองคิดตามนะครับว่าค่าแรง 331 บาท/วัน หากทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ก็จะได้เงินเดือนละประมาณ 8,275 บาท นี่คือตัวเลขที่ผมเองก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในกรุงเทพฯ ที่ค่าอาหารนอกบ้านหนึ่งมื้อเฉลี่ยราว 40 บาท ยังไม่นับค่าเช่าบ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขซึ่งมนุษย์คนหนึ่งพึงมีพึงได้ ส่วนการที่จะซื้อรถซื้อบ้าน เก็บออมเพื่อเกษียณอายุ หรือจะมีลูกสักคนคงเป็นเรื่องที่แทบไม่ต้องนึกถึง
หากใครได้อ่านประกาศขึ้นค่าแรงโดยคณะกรรมการค่าจ้างฉบับล่าสุด คงจะพบเห็นสารพัดเหตุผลในการปรับขึ้นค่าแรงมีแต่ศัพท์แสงทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และผลิตภาพแรงงาน แต่แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘คุณภาพชีวิต’ ของแรงงานเท่าที่ควร
เมื่อไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องดังกล่าว ผลลัพธ์คือคนจำนวนมากมีงานทำแต่ยังยากจน นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนหนึ่งคนไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จำต้องกินอยู่อย่างอัตคัดขัดสน แม้ว่าจะทำงานอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ทำให้ใครตาย
หากใครยังพอจำกันได้ ช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยเตรียมเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีเหล่านักวิชาการจำนวนไม่น้อยตบเท้าต่อต้านนโยบายดังกล่าวอย่างแข็งขัน บ้างก็ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลาย บ้างก็ขู่ว่าจะทำให้แรงงานมหาศาลตกงาน บ้างก็บอกว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงแบบกู่ไม่กลับ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าคำทำนายเหล่านั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
น่าแปลกใจที่เรามีบทเรียนเชิงประจักษ์แล้วว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ทำให้ใครตาย แถมงานวิจัยของ เดวิด คาร์ด (David Card) หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด และ อลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) นักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูก็ยืนยันว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบต่อการจ้างงาน แต่รัฐบาลชุดนี้กลับยังมีทีท่า ‘กล้าๆ กลัวๆ’ ที่จะขึ้นค่าแรงทั้งที่ค่าครองชีพปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะ ‘เปราะบาง’ เกรงว่าการปรับค่าแรงจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ไม่ได้
อ่านแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ห่วงใยเหล่าแรงงานบ้างหรือว่า
พวกเขาจะ ‘อยู่ไม่ได้’ ถ้าไม่ขึ้นค่าแรง?
หันไปดูประเทศที่บางสื่อประโคมว่าบริหารจัดการ COVID-19 เลวร้ายจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนกลับตัดสินใจเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมงสำหรับลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมยังมีการศึกษาพบว่ารัฐที่จ่ายค่าแรงสูงกว่ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดของ COVID-19 ได้รวดเร็วกว่าอีกด้วย
สงสัยไหมครับว่าทำไม ‘ความเชื่อ’ ของคนไทยบางกลุ่มดูจะสวนทางกับ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในโลก
คำตอบที่เรียบง่ายคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นการ ‘ถ่ายโอน’ ส่วนแบ่งความมั่งคั่งจากผู้ประกอบการรายได้สูงสู่ลูกจ้างรายได้ต่ำ โดยเหล่าแรงงานหาเช้ากินค่ำมีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยเงินแทบทั้งหมดที่ได้มาเพื่อดำรงชีพจึงเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นแบบถ้วนหน้า
ลองนึกภาพดูง่ายๆ ก็ได้ครับว่าแรงงาน 10 คนเงินเดือน 8,000 บาทก็เหมือนลำธารสายเล็กสายน้อยที่แผ่กระจายให้ความชุ่มชื้นทั่วทั้งผืนป่า ส่วนผู้ประกอบการ 1 คน เงินเดือน 80,000 บาทก็ไม่ต่างจากแม่น้ำสายใหญ่ที่แม้จะปริมาณน้ำมากกว่าก็จริงแต่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชพรรณริมตลิ่งเท่านั้น
การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่นับได้ว่าเป็นรากหญ้าในสังคม ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมให้เงินสะพัดหมุนเวียนไปทุกหย่อมหญ้าอีกด้วย
หัวใจสำคัญคืออำนาจต่อรอง
อ่านถึงตรงนี้บางคนก็ยังคาใจ เพราะแบบจำลองอุปสงค์อุปทานที่เคยเรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยมบอกเราว่าถ้าของราคาขึ้นคนย่อมซื้อน้อยลง แต่ไฉนต้นทุนแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น กลับไม่ส่งผลต่อการจ้างงานในภาพรวม
คำถามนี้สามารถตอบได้ด้วยคำหนึ่งคำคือ ‘อำนาจต่อรอง’
ผมเชื่อว่าเราทุกคนคุ้นเคยกันดีกับคำว่า ‘ผูกขาด’ (monopoly) ซึ่งจะเกิดขึ้นในตลาดที่มีผู้ผลิตรายใหญ่ครองตลาดอยู่รายเดียวจึงสามารถปรับราคาสินค้าหรือบริการได้ตามความต้องการ ส่วนผู้บริโภคก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรรมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น กล่าวคืออำนาจต่อรองแทบทั้งหมดอยู่ในมือผู้ขาย
ในทางกลับกัน ยังมีการผูกขาดอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมักไม่ถูกพูดถึงนักคือการผูกขาดโดยผู้ซื้อ (monopsony) ซึ่งจะเกิดในตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยรายจึงสามารถกำหนดราคาซื้อได้ตามต้องการ ตลาดแรงงานไร้ฝีมือจึงมักจะเข้าข่ายผูกขาดโดยผู้ซื้อเพราะอำนาจต่อรองค่าจ้างแทบทั้งหมดอยู่ในมือผู้ว่าจ้าง ส่วนแรงงานก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมตามค่าแรงที่นายจ้างกำหนด
เมื่อมีอำนาจต่อรองอยู่ในมือ ผู้ว่าจ้างก็ย่อมใช้โอกาสนี้ ‘ขูดรีด’ แรงงานในระดับที่เกินพอดี กดค่าแรงให้ต่ำเท่าที่จะต่ำได้แล้วฉกฉวยความมั่งคั่งเข้ากระเป๋าตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้การขยับของค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในอดีตก็ยังไม่กระเทือนกระเป๋านายจ้างเพราะส่วนต่างของกำไรยังคงมีอยู่เหลือเฟือ
นี่คือสาเหตุที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน หรือหากไม่ต้องการบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างเท่าเทียม หรือสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในมือลูกจ้าง
จากลดต้นทุนสู่การเพิ่มมูลค่า
น่าแปลกที่รัฐไทยแทนที่จะคุ้มครองลูกจ้าง แต่กลับกางปีกประคบประหงมนายจ้าง ไม่กล้าขยับค่าแรงขั้นต่ำเพียงแค่เหล่าผู้ประกอบการบอกว่าจะหยุดดำเนินธุรกิจเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว
อาจจะฟังดูใจร้ายสักหน่อย แต่ผมกลับมองว่าการล้มหายตายจากของกิจการเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของระบอบทุนนิยม ดังที่ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานเรียกวงจรการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) นี่คือพลวัตที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ยกระดับการแข่งขัน และเฟ้นหานวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แทนที่จะยึดตรรกะโบร่ำโบราณอย่าง ‘ต้องกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดส่งออก’
ครั้งหนึ่งประเทศจีนก็เคยใช้กลยุทธ์เดียวกับไทย ผลิตของราคาประหยัดด้วยแรงงานค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพื่อตีตลาดโลกจนขยับจากประเทศยากจนสู่ประเทศรายได้ปานกลาง วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำในชนบทของจีนอยู่ที่ราว 10 หยวน/ชั่วโมง หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็ตกราววันละ 400 บาท ส่วนค่าแรงขั้นต่ำในเมืองใหญ่ของจีนอยู่ที่ราว 20 หยวน/ชั่วโมง หรือประมาณวันละ 800 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงลิ่วเมื่อเทียบกับไทยก็ไม่ได้ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าจีนในตลาดโลกลดลงแต่อย่างใด
ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลาง-สูง มาสักพักแล้วนะครับ เราจึงควรจะทิ้งวิธีคิดแบบประเทศยากจนด้อยพัฒนาที่ทำทุกวิถีทางให้ค่าแรงต่ำเพื่อหวังสร้างความได้เปรียบ แล้วเปิดทางให้ชนชั้นผู้ประกอบการไทยใช้สมองและสองมือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ แทนที่จะพยายามลดต้นทุนโดยคาดคั้นเอากับชนชั้นแรงงาน
ผมเข้าใจว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่สดใสนัก แต่ในเมื่อรัฐบาลมีปัญญาร่างยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี การตั้งเป้าหมายว่า 5 ปีข้างหน้าทิศทางค่าแรงไทยจะขยับขึ้นอย่างไรในอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานคงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง
Illustration by Krittaporn Tochan