บางคนอาจจะเคยเห็นเรื่องราวขององค์ดาไลลามะที่บอกให้เด็กชายดูดลิ้นของเขา และแม้ว่าองค์ดาไลลามะจะออกมาขอโทษแล้ว แต่ข้อถกเถียงที่ว่าด้วยการอนาจารเด็กและวัฒนธรรมยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีคลิปเทนซิน เกียตโซ (Tenzin Gyatso) ในตำแหน่งดาไลลามะ (Dalai Lama) ซึ่งเป็นประมุขหัวหน้าคณะสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายมหายานแบบทิเบต ขอให้เด็กชายคนหนึ่ง ‘ดูดลิ้น’ ของเขา
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากในงานงานหนึ่ง เด็กชายคนหนึ่งเดินมาแล้วถามดาไลลามะว่า “ขอกอดคุณได้ไหม?” หลังจากนั้น องค์ดาไลลามะ วัย 87 ปี ก็บอกให้เด็กชายขึ้นไปตรงเก้าอี้ที่เขานั่ง เมื่อเด็กชายเดินขึ้นไป ดาไลลามะก็ชี้ที่แก้มแล้วบอกว่า “ที่นี่ก่อน” จากนั้นเด็กชายก็เข้าไปหอมแก้ม
จากนั้น ดาไลลามะก็บอกว่า “แล้วก็ที่นี่ด้วย” พร้อมชี้ที่ปากของเขา เด็กชายจึงเข้าไป ซึ่งในวิดีโอก็ปรากฏภาพดาไลลามะยื่นปากออกมา แล้วคล้ายว่าจุมพิตเด็กชาย
แต่เหตุการณ์ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น ดาไลลามะก็เอาหน้าผากแนบกับหน้าผากของเด็กชาย แล้วกล่าวกับเด็กชายว่า “และดูดลิ้นของฉัน” ดาไลลามะกล่าวพร้อมแลบลิ้นออกมา เด็กชายจึงเอาหน้าเข้าไปใกล้ แล้วดาไลลามะก็เอาหน้าผากแนบกับหน้าผากของเด็กชายอีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้น วิดีโอก็ปรากฏภาพที่เด็กชายเหมือนจะยื่นลิ้นออกไป แต่ไม่ได้เข้าไปดูดลิ้นของดาไลลามะตามที่เขาบอกแต่อย่างใด ท่ามกลางเสียงหัวเราะของคนในงาน
แล้วองค์ดาไลลามะก็พูดกับเด็กชาย แนะนำให้เขามองไปยังผู้ที่สร้าง ‘สันติภาพและความสุข’ และไม่ติดตาม ‘มนุษย์ที่ฆ่าคนอื่น’ ก่อนที่จะกอดเขาครั้งสุดท้าย
หลังจากวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ ก็มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายรายออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม น่าขยะแขยง เพราะมองว่าการกระทำดังกล่าวนับเป็นการพยายามล่วงละเมิดทางเพศหรือทำอนาจารเด็ก
ก่อนจะเล่าไปไกลกว่านี้ เราขอกล่าวถึงเรื่องการอนาจารเด็กก่อน ซึ่งหากอิงคำนิยามตาม ศาลฎีกาของประเทศไทย จะระบุไว้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ หรือการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศโดยกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายโดยตรง เช่น การกอด จูบ ลูบ คลำ หรือสัมผัสจับต้องเนื้อตัวร่างกาย รวมถึงการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี การกระทำควรขายหน้าต่อธารกำนัล และไม่ได้หมายความเฉพาะความใคร่หรือการค้าประเวณีเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย โดยอาจจะไม่มีความมุ่งหมายในทางกามารมณ์ก็ได้
ทั้งนี้ ยังมีผู้งานอินเทอร์เน็ตที่สังเกตเห็นว่า เด็กผู้ชายในคลิปวิดีโอดังกล่าวมีอาการไม่สะดวกใจ และยังมีจังหวะที่เห็นว่าเมื่อเด็กชายถูกดาไลลามะร้องขอให้เข้าไปจูบและดูดลิ้น เด็กคนนั้นเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจในสิ่งที่เขาต้องทำตามจากคำขอของดาไลลามะ ทั้งยังไม่ได้ปฏิเสธคำขอ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายดังกล่าวจึงมองว่าผู้ใหญ่ก็ควรจะสอนเด็กให้รู้จักปฏิเสธในสิ่งที่ไม่อยากทำหรือรู้สึกไม่สบายใจที่จะทำด้วยเช่นกัน
คำแนะนำของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายนั้นก็ตรงกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวในประเด็นเรื่องเด็กหลายๆ ราย ที่มองว่าผู้ใหญ่ ควรจะสอนให้เด็กรู้จักคำว่าความยินยอม (consent) และให้เด็กรู้จักสิทธิในร่างกายของพวกเขา และรู้จักที่จะปฏิเสธสัมผัสหรือคำขอ ซึ่งผู้ปกครองเองก็ต้องเคารพความต้องการของเด็ก ไม่บังคับให้เขากอดหรือจูบใครก็ตามที่เขาไม่อยาก ควบคู่กับสอนให้เด็กปัดป้องสัมผัสที่ไม่ต้องการ เพื่อให้พวกเขาทราบว่าควรมีใครไปสัมผัส หรือทำอะไรเขาได้โดยที่เขาไม่สบายใจ
ส่วนทางด้านผู้ใหญ่ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ละเมิดสิทธิในร่างกายของเด็กเช่นเดียวกัน เพราะในหลายๆ ครั้ง การที่ผู้ใหญ่ถือวิสาสะเข้าไปสัมผัสตัวเด็ก ก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมัจฉา พรอินทร์ นักสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ไว้ว่า เรื่องของการละเมิดความยินยอมมักถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ “ฉันก็ถูกทำแบบนี้ ไม่เห็นเป็นไรเลย หรือแบบ ฉันก็ทำแบบนี้อยู่ ลูกก็ไม่เป็นอะไร ก็โอเคดี กลายเป็นว่านี่คือการสมาทานความรุนแรง เราได้รับมันมาแล้วเราก็ส่งผ่านมัน แล้วก็เห็นเป็นเรื่องปกติ”
ส่วนประเด็นคำถามเรื่องของวัฒนธรรม ก็ยังคงมีบางความเห็นที่มองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอันดีของชาวทิเบตหรือเปล่า?
ในประเด็นนี้ เมื่อลองหาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทักทายของชาวทิเบต และพบว่าการทักทายของชาวทิเบตคือ ‘การแลบลิ้น’ ซึ่งเป็นสัญญาณของความเคารพหรือข้อตกลง และมักใช้เป็นคำทักทายในวัฒนธรรมทิเบตแบบดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากในอดีต ทิเบตเคยมีกษัตริย์ที่โหดร้ายแล้วเขามีลิ้นสีดำ ผู้คนจึงแลบลิ้นออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่กษัตริย์คนนั้น ทั้งยังเป็นการยืนยันว่ากษัตริย์ไม่ได้กลับชาติมาเกิดใหม่
อย่างไรก็ดี เรายังไม่พบรายงานที่ระบุว่าวัฒนธรรมการทักทายของชาวทิเบตที่ว่าด้วย ‘การดูดลิ้น’ แต่อย่างใด
ส่วนในประเด็นที่ว่า ‘ถ้าหาก’ การกระทำของดาไลลามะเป็นวัฒนธรรมจริง ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งก็ออกมาทวีตถึงวัฒนธรรมเก่าๆ ที่ล้าสมัย ทั้งยังมองว่าตัววัฒนธรรมเอง ก็ต้องถูกตั้งคำถาม
เช่นเดียวกับทางองค์กร Center for Child Rights กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กในอินเดีย ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า ขอประณามการล่วงละเมิดเด็กทุกรูปแบบ “แม้บางคนจะบอกว่าการแลบลิ้นเป็นวัฒนธรรมของทิเบต แต่ภาพที่ปรากฏในวิดีโอนี้ไม่ใช่การแสดงออกทางวัฒนธรรมแม้แต่น้อย หรือหากว่าใช่ การแสดงออกทางวัฒนธรรมดังกล่าวก็ไม่เป็นที่ยอมรับ”
ทั้งนี้ เมื่อวาน (10 เมษายน) สำนักงานขององค์ดาไลลามะแถลงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ว่า “องค์ดาไลลามะต้องการขอโทษเด็กชายและครอบครัว รวมถึงเพื่อนๆ หลายคนจากทั่วโลก จากคำพูดที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด… โดยปกติพระองค์มักจะหยอกล้อเด็กๆ รวมถึงทุกคนที่พบเจอด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แม้ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรืออยู่หน้ากล้องก็ตาม และพระองค์รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้”
อ้างอิงจาก