เราอาจเคยชินกับการเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หอมแก้ม กอด หรือแสดงความรักด้วยการสัมผัสตัวกัน ซึ่งบางครอบครัวก็อาจไม่ใช่เพียงแค่พ่อแม่ แต่ญาติๆ ไม่ว่าจะลุง ป้า น้า อา ที่ก็เข้ามากอด หอม หรือแตะสัมผัสร่างกาย
ในมุมหนึ่งหลายคนอาจจะมองว่า นี่ก็เป็นการแสดงความรักในรูปแบบหนึ่ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือหนึ่งในปัญหาการที่สังคมยังไม่เข้าใจเรื่อง consent หรือความยินยอมพร้อมใจสำหรับเด็ก ซึ่งอาจนำไปสู่ ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก (child sexual assault) ในครอบครัวตามมา หรือเมื่อโตขึ้นอาจเกิดความสับสนต่อการปฏิบัติทางเพศที่อาจทำให้เขาต้องพบเจอกับความรุนแรงทางเพศในอนาคต
เราชวนไปทำความเข้าใจเรื่องสิทธิและการยินยอมพร้อมใจของเด็ก รวมไปถึงความรุนแรงทางเพศในครอบครัวที่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย และทำไมเราถึงต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มากขึ้น
มัจฉา พรอินทร์ นักสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน อธิบายให้เราฟังถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวว่า “ความรุนแรงทางเพศ ในส่วนของเด็ก จะเรียกว่า ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก (child sexual assalt) มีรูปแบบทั้งการพยายามมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น พ่อกับลูก หรือพี่น้องกัน ซึ่งเกิดจากปัญหาของความสัมพันธ์ที่มีอำนาจต่างกัน อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นได้คือเกิดกับเด็กผู้ชาย และยิ่งไปกว่านั้นคือสังคมไม่ตระหนักว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้และเป็นความรุนแรงทางเพศเช่นกัน หรือบางครั้งก็มีเรื่องของการที่เด็กถูกบังคับใช้ยาเสพติด บังคับให้มีเพศสัมพันธ์”
“ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจ และมันส่งผลกระทบรุนแรง ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อทางเพศ แต่ส่งผลทั้งทางร่างกาย และส่งผลทั้งทางด้านจิตใจ ทั้งระยะสั้นแแล้วก็ระยะยาว นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเขาในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้น”
“แต่ว่าสังคมก็ไม่ควรกำหนดกรอบว่าหากเด็กเจอแบบนี้ โตไปแล้วเขาจะเป็นแบบนั้น เพราะจะกลายเป็นกรอบให้เด็กเหล่านั้นโตขึ้นมาและมองว่าตัวเองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และยอมต่ออำนาจที่กระทำกับเขา ไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะดีกว่านี้ได้”
“ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถบอกผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศที่มีผลวิจัยทางการแพทย์ได้ แต่เราก็ต้องบอกว่าคนที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาสามารถเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองได้ สร้างความมั่นใจให้เขา และต้องมีกระบวนการในการช่วยเหลือเยียวยาเขาด้วยเช่นกัน”
การแสดงความรักของครอบครัว กับ Consent ของเด็ก
ในบางครั้ง ความรุนแรงทางเพศก็เริ่มต้นจากทัศนคติในครอบครัว บางครอบครัวอาจมีวิธีแสดงความรักที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางครั้งอาจรวมไปถึงการสัมผัสร่างกาย แตะเนื้อต้องตัว หรือกอด จูบ สัมผัส แม้กระทั่งการจับร่างกาย รวมไปถึงพื้นที่หวงห้ามที่ไม่ควรสัมผัส โดยผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่บางคนมองว่าเด็กๆ ไม่คิดอะไรมาก แล้วก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือส่งผลกระทบอะไรกับการสัมผัสร่างกายของเด็กๆ
แต่บางครั้งเราอาจลืมไปว่าเด็กๆ ก็มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง และควรถามความยินยอมพร้อมใจก่อนเสมอ
แน่นอนว่าข้อถกเถียงของคอนเซนต์ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ยิ่งกับคอนเซนต์ของเด็กๆ ที่ยังคงไม่มีขอบเขตชัดเจน เพราะเด็กๆ เองก็อาจจะเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้เข้าใจคอนเซนต์จึงไม่มีคอนเซ็ปต์ของการยินยอมพร้อมใจตั้งแต่แรกเริ่ม และอาจทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงทางเพศได้ง่ายโดยที่เด็กๆ ไม่สามารถโต้เถียงอะไรได้ ด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจ ด้วยการรับรู้ต่างๆ
โดยมัจฉา อธิบายเพิ่มเติมว่า “องค์ประกอบของคอนเซนต์มีเรื่องสิทธิอยู่ด้วยเสมอ และคำนึงถึงเรื่องเนื้อตัวร่างกาย เพราะฉะนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาจะให้ความสำคัญกับเนื้อตัวร่างกาย รวมไปถึงสิทธิเด็ก เนื้อตัวร่างกายของเด็ก และความยินยอมพร้อมใจของเด็กด้วย”
“แต่ว่าถ้ายังเด็กมากๆ พูดไม่ได้ มันก็โยงกลับไปที่ผู้ปกครองหรือคนในสังคมที่ต้องมองว่า การยินยอมนี้เป็นเรื่องของสิทธิ เป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องของเพศ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ไปละเมิดสิ่งเหล่านี้ ผู้ใหญ่ต้องตระหนักแบบรอบด้านมากๆ”
“และสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของเจ้าของร่างกายที่เขามี ‘สิทธิ’ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ถ้าเด็กยังไม่สามารถบอกได้ ก็เป็นเรื่องของสังคมและคนในครอบครัวที่จะต้องคำนึงให้รอบด้านถึงการเคารพสิทธิของเด็กๆ”
จะเห็นได้ว่าในไทยเองมักไม่เข้าใจเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า ตั้งแต่ในครอบครัวที่มักสัมผัสร่างกายโดยไม่ได้ขอความยินยอม รวมไปถึงบางครอบครัวมีการทำร้ายร่างกาย หรือในโรงเรียนก็มีเรื่องการบังคับเครื่องแต่งกายต่างๆ การตัดผม ทำโทษในรูปแบบต่างๆ
“สังคมไทยยังเชื่อว่าเราจะทำอะไรกับเนื้อตัวร่างกายของเด็กๆ ก็ได้ บังคับเขาตัดผมเพื่อเข้าเรียน บังคับเขาใส่เครื่องแบบตามเพศสภาพ บังคับให้เขาทำตามระเบียบวินัย มันสะท้อนการที่เราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเด็กที่จะต้องได้รับการเคารพและไม่ถูกควบคุม”
“ดังนั้นความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก มันก็โยงกลับมาที่ว่าเราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องสิทธิของเด็ก อยากจะหอมเด็กก็หอม ลูกใครไม่รู้เราวิ่งไปกอดก็ได้ แล้วทุกคนก็เติบโตมากับวิธีคิดแบบที่ไม่เข้าใจสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายหรือคอนเซนต์ เพราะแม้แต่ในสื่อก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องคอนเซนต์เลย กลายเป็นว่าสังคมทำงานร่วมกันไม่ให้เห็นเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย แล้วก็เรื่องเพศ เรื่องนี้เลยถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ อย่างในคอมเมนต์ที่บอกว่า เห็นคลิปแล้วก็บอกว่า เป็นเรื่องปกติ ฉันก็ถูกทำแบบนี้ ไม่เห็นเป็นไรเลย หรือแบบ ฉันก็ทำแบบนี้อยู่ ลูกก็ไม่เป็นอะไร ก็โอเคดี กลายเป็นว่านี่คือการสมาทานความรุนแรง เราได้รับมันมาแล้วเราก็ส่งผ่านมัน แล้วก็เห็นเป็นเรื่องปกติ”
แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ก็ต้องเคารพร่างกายของกันและกัน
หลายครั้งๆ ที่ปัญหาในครอบครัวถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวถูกทำให้เป็นแค่ ‘เรื่องของครอบครัวเขา อย่าไปยุ่งเลย’ แต่ว่าเรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องที่สังคมควรจับตา และตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับความรุนแรงต่อเด็กไม่ว่าจะร่างกาย เพศ จิตใจ
โดยมัจฉาเสนอว่า “สิ่งที่จะช่วยให้คนตระหนักปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้น หนึ่งคือสร้างองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็กให้อยู่ในสถาบันครอบครัว ในระบบการศึกษา ในสื่อ อย่างหนังก็ควรสร้างมาเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง ไม่ใช่กดขี่เด็ก กดขี่ผู้หญิง สองคือการให้ความช่วยเหลือ การปกป้องคุ้มครองจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราก็รอดูว่าจะมีแอ็กชั่นอย่างไร ทั้งจากรัฐและเอกชน เพราะถ้าเห็นว่านี่คือการละเมิดสิทธิเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแจ้งความ แต่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เลย ซึ่งโยงกับข้อต่อไปคือเรื่องกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กของไทยก็เข้มแข็งประมาณหนึ่ง แต่จะติดตรงที่ว่าหากเป็นบุคคลอื่นกระทำกับเด็ก ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะจับเขาเข้าคุก แต่พอบอกว่าคนนี้เป็นพ่อ ก็จะโดนมองว่าเป็นแค่ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขาหรือเปล่า เป็นเรื่องธรรมดาหรือเปล่า ซึ่งกฎหมายต้องไม่มีช่องว่างตรงนี้ อันที่สี่คือองคาพยพต่างๆ สถาบันต่างๆ ทั้งครอบครัว โรงเรียน สังคม ต้องมีวิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เรื่องคอนเซนต์ สิทธิเด็ก และต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่ใช่แบบไทยๆ”
“ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความรุนแรงทางเพศต่อเด็กได้ รวมไปถึงพ่อแม่ก็จะเข้าใจว่าเราต้องคำนึงถึงสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของลูก”
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปคือสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นดิจิทัลฟุตปริ้นท์ แล้วหลายคนแชร์ หลายคนพูดถึง แล้วเด็กจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นสังคมต้องตระหนักเรื่องนี้ ซึ่งหากไม่ระมัดระวัง ภาพเหล่านี้ อาจจะตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี นำไปแสวงหาผลประโยชน์ ในแง่ child pornographyได้ เพราะฉะนั้นนอกจากไม่แชร์แล้ว ต้องช่วยกันลบออกไปด้วย”
ในขณะที่เพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน โดย พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ ก็ได้แสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์บนเพจ ถึงเส้นบางๆ ของการแสดงความรักและการละเมิด โดยหมอโอ๋ได้ให้คำแนะนำว่า “พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจ ว่าลูกมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองเสมอ” นอกจากนี้ยังควร “สอนลูกเรื่อง ‘สิทธิในร่างกายตนเอง’ ลูกเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิปฏิเสธ ไม่ให้ใครมาวุ่นวาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนในหรือนอกครอบครัว”
โดยหมอโอ๋เน้นย้ำว่า “ไม่ควรบังคับให้ลูกกอดหอมใคร หรือให้ใครมากอดหอมลูก โดยที่ลูกรู้สึกไม่เต็มใจ ลูกจะสับสนในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ และไม่แน่ใจในสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายตนเอง” และทิ้งท้ายว่า “การโพสต์อะไรลงในโซเชียลให้คิดไว้เสมอว่าสิ่งนั้นจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ถ้าเป็นไปได้ควรไตร่ตรองสิ่งที่จะลงไป และขออนุญาตลูกก่อนลงทุกครั้ง”
เพราะสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญ และยิ่งสำคัญมากขึ้นด้วยการเริ่มต้นที่ครอบครัว เพื่อให้เขาได้เติบโตไปในสังคมอย่างมีคุณภาพ และเข้าใจเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เห็นคุณค่าในร่างกายของตัวเอง และลดความรุนแรงทางเพศ ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเดินหน้าแก้ไขกันต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ พบเห็น หรือสงสัยว่าอาจเกิดความรุนแรงทางเพศต่อเด็กสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ที่เบอร์ 1300 หรือติดต่อศูนย์พึ่งได้ OSCC ผ่านเบอร์ 1669
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก