ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่16 เป็นต้นมา มีกฏหมายหนึ่งซึ่งได้ระบุไว้ว่า “ชายใดที่แต่งงานมีภรรยา ให้ถือว่าภรรยานั้นเป็นทรัพย์สินของตน และลูกที่ออกมาจากเธอ ก็ถือให้เป็นทรัพย์สินของตนเฉกเช่นเดียวกัน”
กฎหมายที่สร้างช่องโหว่สุดแท้แต่เจ้าของทรัพย์สินจะจินตนาการทำอะไรก็ได้ ทำให้เด็กๆ ต่างเกิดมาโดยไม่มีกฎหมายที่จะสามารถปกป้องพวกเขาจากการทารุณกรรมทางร่างกายโดยผู้ให้กำเนิด หรือจากพ่อแม่บุญธรรมของเขาเหล่านั้น และสำหรับผู้ปกครองบางคนในยุคนั้น กลยุทธ์การคุมประพฤติลูกของตนให้อยู่ในโอวาทมีเพียงวิธีเดียว นั่นคือ การลงโทษทางร่างกาย พวกเขาสามารถทำร้ายทุบตีรุนแรงแค่ไหนก็ได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกต้องโทษใดๆ ก็ตาม
และบางครั้ง มันกลับกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าการลงโทษ และบางครั้ง มันก็อยู่นอกเหนือการควบคุมและจริยธรรมความเป็นผู้ปกครอง—การกระทำที่บางครั้งเกินเลยความเป็นมนุษย์
สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำร้ายร่างกายเด็กเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นมันกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน มันยังรวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเกิดขึ้นตามมาในเด็กเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ การทำร้ายร่างกายสัตว์เลี้ยงกลับมีการระบุโทษเอาไว้ ดังนั้นในยุคนั้นการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดเด็กถือว่าไม่ผิด แต่หากทำกับสัตว์เช่นสุนัขหรือแมว คุณต้องติดคุกหรือโดนปรับทันที
อาจพูดได้ว่าเด็กมีค่าน้อยกว่าสุนัขหรือแมวในบ้าน
พวกเด็กๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาต่างถูกเพิกเฉยมาโดยตลอดจนมาถึงในปี ค.ศ.1874 เด็กหญิงคนหนึ่งนามว่า แมรี เอลเลน วิลสัน ได้เขย่ารากฐานการล่วงละเมิดและการทำร้ายร่างกาย เรื่องราวของเธอกลายเป็นแรงผลักดันให้มีการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแทรกแซงความรุนแรงภายในบ้านของเด็กๆ ทุกคน
แมรี เอลเลน วิลสัน เกิดในปี ค.ศ.1864 ในย่านเฮลส์คิตเชน นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากพ่อของแมรีเสียชีวิต แม่ของเธอจึงได้พยายามทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงเธอ แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็ไม่สามารถหาได้มากพอเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับคนสองคน
สถานการณ์ทางการเงินที่สิ้นหวัง ทำให้ผู้เป็นแม่ตัดสินใจแก้ปัญหาชั่วคราวด้วยการส่งแมรีไปอยู่ในความคุ้มครองของหญิงคนหนึ่งนามว่า แมรี สกอร์ และทำการส่งเงินค่าเลี้ยงให้ดูทุกเดือนซึ่งน้อยกว่าหากลูกของเธอต้องมาอยู่ด้วย
แม่ของแมรีหวังว่านี่จะเป็นเพียงการฝากดูแลชั่วคราว และในอนาคตเธอจะสามารถมีเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูแมรีด้วยตนเองได้ แต่แล้วเมื่อวันเวลาผ่านไป แม่ของแมรีกลับมีรายได้น้อยลงทุกที จนไม่สามารถจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับ แมรี สกอร์ ได้อีกต่อไป และกฎหมายในยุคนั้น ทำให้แม่ของแมรี หลุดจากสิทธิ์การดูแลไปโดยปริยาย
แมรี สกอร์ เองก็ไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็กคนนี้อีกต่อไป เมื่อ แมรี เอลเลน อายุได้ 2 ขวบ เธอจึงถูกส่งตัวไปที่กรมสังคมสงเคราะห์แห่งนครนิวยอร์ก และพวกเขาได้แต่งตั้ง โธมัส และ แมรี แมคคอร์แมค เป็นผู้ปกครองคนใหม่ของ แมรี เอลเลน
ครอบครัวแมคคอร์แมค กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของ แมรี เอลเลน โดยที่กรมสังคมสงเคราะห์แห่งนครนิวยอร์กหารู้ไม่ว่าทั้งโธมัสและแมรี แมคคอร์แมค ต่างทำเอกสารปลอมขึ้นมาเพื่อยื่นสิทธิ์ขอเลี้ยงดูเด็กคนใดคนหนึ่ง และ แมรี เอลเลน ก็กลับกลายเป็นเหยื่อในครั้งนี้
แมรี เอลเลน เข้ามาอยู่กับครอบครัวแมคคอร์แมคได้ไม่นาน โธมัสก็ได้เสียชีวิตลง แมรี แมคคอร์แมค แม่คนใหม่ของแมรีใช้เวลาทำใจได้ไม่นานก็แต่งงานใหม่และย้ายไปอยู่ที่อพาร์ตเมนต์บนถนน West 41st Street สถานที่ที่เรื่องราวน่าสยดสยองได้เกิดขึ้นและถูกเปิดเผยในที่สุด
คนแรกที่เริ่มสังเกตและสงสัยความผิดปกตินี้คือ นาง คอนนอลลี เพื่อนบ้านของพวกเขานั่นเอง เธอเป็นคนแรกที่สงสัยว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กของแม่บุญธรรมคนนี้ จากเสียงและกิจกรรมในแต่ละวันของครอบครัวนี้ที่เธอพยายามสอดส่องดูอยู่เกือบตลอด (บางครั้งนิสัยป้าข้างบ้านอาจจะไม่ได้แย่เสมอไป) นางคอนนอลลีรู้สึกกังวลมากและขอให้ เอตตา แองเจล วีลเลอร์ ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับศาสนาในท้องถิ่นที่เธอรู้จักช่วยตรวจสอบครอบครัวนี้ที เอตตารับปาก เธอและคอนนอลลีได้หลอกคนเฝ้าประตูทางเข้าว่าพวกเธอขอกุญแจสำรองห้องของครอบครัวแมคคอร์แมค เนื่องจากมีผู้ป่วยชรากำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ในห้องนั้น คนเฝ้าประตูเชื่อพวกเธอและให้กุญแจแก่พวกเขาไป
วีลเลอร์และคอนนอลลี ใช้กุญแจที่ได้ไขเข้าไปในห้องที่ไม่เคยมีบุคคลภายนอกเข้ามาก่อน และหลังจากประตูได้เปิดออกมา มันทำให้สิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นเกินคำบรรยาย
“ฉันเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตัวเล็กมาก ตัวเล็กเท่าเด็กอายุ 5 ขวบ (แต่ในตอนนั้นเธออายุ 9 ขวบ) เธอกำลังล้างกระทะขนาดใหญ่บนอ่างล้างจาน สภาพของเธอนั้นดิ้นรนกับการที่ต้องแบกกระทะที่มีน้ำหนักพอๆ กับตัวเธอเอง บนโต๊ะมีแส้อันโหดเหี้ยมทำจากหนังที่บิดเป็นเกลียว แขนและขาที่บอบบางของเด็กคนนี้มีร่อยรอยที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าแส้บนโต๊ะมีไว้ทำอะไร” เอตตา แองเจล วีลเลอร์ ได้บรรยายถึงสิ่งที่เธอเห็นหลังจากเรื่องราวนี้ถูกขึ้นไปในศาลนิวยอร์ก
“แต่ส่วนที่เศร้าที่สุดของเรื่องราวนี้ ถูกเขียนเอาไว้บนใบหน้าของเธอ มันคือหน้าตาของความอดกลั้นและความทุกข์ยาก โฉมหน้าของเด็กที่ไม่มีใครรัก เด็กที่เกิดมาได้เห็นเพียงแค่ด้านที่น่าสะพรึงกลัวของชีวิต”
วีลเลอร์มอง แมรี เอลเลน ก็รู้ทันทีว่าเด็กคนนี้ถูกทารุณกรรมอย่างรุนแรง เธอทั้งขาดสารอาหาร และถูกทุบตีจนร่างกายบอบช้ำไปหมด
วีลเลอร์ไปหาตำรวจทันทีเพื่อแจ้งความในสิ่งที่เธอเห็น แต่แล้วก็ต้องแปลกใจ เพราะหลังจากตำรวจได้ยินเรื่องราวทั้งหมด เขาบอกกับวีลเลอร์ว่าให้ไปหาหลักฐานการทำร้ายร่างกายมา เพราะเพียงแค่คำให้การรวมถึงรอยแผลเป็นและรอยฟกช้ำของเด็กนั้นไม่เพียงพอที่จะตั้งข้อหาพ่อแม่บุญธรรมของเด็กผู้เคราะห์ร้ายคนนี้
แม้ในช่วงเวลานั้นจะมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกทำร้ายร่างกาย แต่มันกลับไม่มีกฎหมายที่จะสามารถเข้าไปห้ามปรามการทำร้ายหรือล่วงละเมิดกันในบ้านโดยเฉพาะเด็กได้ เพราะเด็กยังคงถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ที่ทำร้ายพวกเขา
วีลเลอร์ มองเห็นช่วงโหว่ของปัญหานี้ และเธอมุ่งมั่นที่จะแก้ไขมัน เธอจึงได้หันไปหา เฮนรี เบิร์ก ทนายความซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งอเมริกา (American Society for the Prevention of Cruelty to Animal)
แม้เฮนรีจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์มาโดยตลอดจนทำให้พวกมันมีกฎหมายคุ้มครอง แต่หลังจากที่เขาได้ยินเรื่องราวของ แมรี เอลเลน มันทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เด็กๆ ทุกคนก็ควรมีกฏหมายคุ้มครองพวกเขาจากพ่อแม่ตนเองเช่นกัน
เฮนรีพยายามรวบรวมหลักฐานทั้งหมด โดยเฉพาะคำให้การของพยานซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในละแวกนั้นหลายต่อหลายคนที่พยายามในการช่วยเหลือเธอออกมา
จนในที่สุด เฮนรีก็ประสบความสำเร็จในการนำ แมรี เอลเลนออก จากห้องนรกของเธอ และพาแม่บุญธรรมอันโหดเหี้ยมไปขึ้นศาลสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์กได้สำเร็จ
ในห้องพิจารณาคดีบรรยากาศอันอึมครึมในศาลสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก เรื่องราวของ แมรี เอลเลน ได้เปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจของสาธารณชนมากมาย คำพูดของเธอได้เปิดเผยถึงมุมมืดในการทารุณกรรมเด็กที่ถูกปกปิดในสังคมมาหลายร้อยปี
“ฉันชื่อ แมรี เอลเลน วิลสัน พ่อและแม่ของฉันตายแล้ว ฉันไม่รู้ว่าฉันอายุเท่าไหร่ แม่บุญธรรมของฉันตีฉันเกือบทุกวัน ฉันไม่เคยถูกจูบด้วยความรัก ฉันไม่เคยได้รับอนุญาตให้เล่นกับเด็กคนอื่น และฉันไม่เคยกล้าที่จะคุยกับใครเลย เพราะถ้าฉันทำแบบนั้น ฉันจะถูกเฆี่ยน และทุกครั้งที่แม่ออกไปข้างนอก แม่จะขังฉันไว้ในห้องนอน และฉันไม่เคยได้ออกไปข้างนอกบ้าน”
“ฉันไม่มีความทรงจำใดๆ ในช่วงเวลาที่ก่อนที่ฉันจะเข้ามาในบ้านของแมคคอร์แมค ฉันถูกแส้ฟาดเป็นจำนวนหลายครั้ง มันได้ทิ้งรอยเอาไว้บนร่างกายของฉันมากมาย ตอนนี้ฉันมีรอยทั้งบนตัวและบนหัวของฉันซึ่งแม่ของฉันทำมันขึ้น และยังมีรอยที่หน้าผากด้านซ้ายซึ่งทำแม่ตีฉันด้วยกรรไกรและกรีดหน้าฉัน ฉันจำได้ว่าไม่เคยโดนใครจูบมาก่อนในชีวิต ฉันไม่เคยถูกอุ้มไปบนตักแม่ของฉัน ฉันไม่เคยถูกกอดหรือลูบคลำใดๆ และฉันไม่เคยกล้าคุยกับใครเลย เพราะถ้าฉันทำ ฉันจะถูกเฆี่ยน ไม่รู้เพราะอะไร ฉันไม่อยากกลับไปอยู่กับแม่อีกแล้ว เพราะแม่ทุบตีฉัน”
สุดท้ายแล้วศาลตัดสินลงโทษนางแมคคอร์แมคให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปี แมรี เอลเลน ถูกย้ายไปยังบ้านเด็กและเยาวชนเป็นเวลาชั่วคราว หลังจากนั้นไม่นาน เอตตา วีลเลอร์ ก็ได้ขออุปการะเธอและทั้งสองก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ แมรี เอลเลน ได้เข้าใจความหมายของ ‘ครอบครัว’ อย่างแท้จริง
เรื่องราวของ แมรี เอลเลน ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก ผู้คนมากมายรวมถึงผู้มีอิทธิพลจำนวนมากได้พยายามผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กๆ จนในที่สุด มันก็ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เด็กๆ จะไม่อยู่เพียงลำพังอีกต่อไป เรื่องราวการถูกทำร้ายจะไม่ถูกเก็บเงียบ และในปีเดียวกันนั้นเอง สมาคมป้องกันการทารุณกรรมเด็กแห่งนิวยอร์กก็ได้ก่อตั้งขึ้น
ในปี ค.ศ.1888 แมรี เอลเลน ได้แต่งงานและได้ให้กำเนิดลูกสองคน เธอยังรับอุปการะเด็กกำพร้าอีกหนึ่งคน และตั้งชื่อลูกสาวของเธอคนหนึ่งว่า ‘เอตตา’ ตามชื่อของ เอตตา วีลเลอร์ ผู้ที่ช่วยชีวิตเธอเป็นคนแรก และยังเป็นคนที่เธอรักเป็นคนแรกในชีวิต
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายมากมายที่คุ้มครองเด็กๆ แต่จากรายงานของ Army Community Service Family Advocacy Group โดยเฉลี่ยแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาทุกวันจะมีเด็ก 5 คนที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกทารุณกรรม และ 75% ในนั้น เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี
“สังคมที่แท้จริงมักถูกเปิดเผย จากวิธีที่สังคมนั้นปฏิบัติต่อเด็กๆ” เนลสัน แมนเดลา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Out Of The Darkness: The Story of Mary Ellen Wilson, Eric A. Shelman