“ตอนนั้นเราอายุประมาณ 10 ขวบ ยังเด็กมากๆ และไม่ได้แต่งตัวโป๊ แต่โดนเนียนปะแป้งแล้วไล้มือลงมาตรงหน้าอก พอปัดออก เขาก็พยายามทำอีกหลายรอบ จนฟ้องพ่อเขาถึงหยุด ปีนั้นเป็นปีสุดท้ายที่เล่นสงกรานต์” คือข้อความที่ A (นามสมมติ) บอกกับ The MATTER
ท่ามกลางประเพณีอันดีงามของประเทศไทย ท่ามกลางวัฒนธรรมการสาดน้ำประแป้งคลายร้อนกลางเดือนเมษายน เชื่อว่ามีใครหลายคนถูกคุกคามทางเพศจากเหตุการณ์นี้
จริงอยู่ที่การคุกคามทางเพศอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ในพื้นที่เทศกาลที่มีคนเยอะ อาจทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะเปราะบางด้วยหลายปัจจัย เมื่อปี 2018 ผลสำรวจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่า มีผู้หญิง 59.3% จาก 1,650 คนเคยถูกคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์
การคุกคามนั้น มีตั้งแต่ระดับการจ้องมอง ผิวปาก จับหน้า จับมือ จับสัดส่วนบนร่างกาย และจับอวัยวะเพศ ซึ่งในนั้นมีแค่ 25.8% เท่านั้นที่รายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วน 28.1% เผยว่าไม่อยากเล่นสงกรานต์อีกเลยหลังโดนคุกคาม …น่าเสียดายที่งานสำรวจนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มอื่นๆ เพราะแน่นอนว่าผู้โดนคุกคามทางเพศคงไม่จำกัดอยู่แค่เพศใดเท่านั้น
ทำไมเทศกาลใหญ่ๆ คนเยอะๆ ถึงกลายเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการคุกคามทางเพศ? แม้จะไม่มีงานวิจัยโดยตรงที่อธิบายผ่านบริบทสงกรานต์แบบไทยๆ แต่ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันอยู่ ที่ก็มีผู้อธิบายปัจจัยไว้หลากหลาย
ปัจจัยแรก คือ ด้วยบรรยากาศความเป็น ‘เทศกาล’ นี่แหละ เพราะพอเป็นเทศกาลก็จะคนเยอะ ขยับตัวลำบาก บรรยากาศแบบนี้จึงเอื้อต่อการคุกคาม เพราะเมื่อผู้กระทำผิดคุกคามใคร คนอื่นก็ไม่ทันสังเกต และหากจะหลบหนีจากความรับผิดชอบก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หายเข้าไปในฝูงชน
ในขณะเดียวกัน บรรยากาศเทศกาลทำให้ผู้ถูกคุกคามขอความช่วยเหลือหรือรายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ยากกว่าปกติ จินตนาการถึงการต้องบอกจุดที่ผู้กระทำความผิดหนีไปท่ามกลางผู้คนมหาศาล แค่คิดก็เป็นไปได้ยากแล้ว
ปัจจัยต่อมาอาจเป็นเรื่องของโครงสร้างทางวัฒนธรรม เช่น เมื่อเราอยู่ในสังคมที่มีแนวโน้มที่จะมองการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ (normalize) หรือไม่ได้มีโทษรุนแรงต่อพฤติกรรมดังกล่าว วัฒนธรรมแบบนี้อาจฝังรากลึกในวิธีคิด และสนับสนุนให้วัฒนธรรมคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลเข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ศึกษาการคุกคามทางเพศ ณ เทศกาลดนตรีใน UK วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่เทศกาลสะท้อนให้เห็นการเติบโตของวัฒนธรรมข่มขืน (rape culture) ที่มีที่มาจากการที่บางวัฒนธรรมยอมรับหรือมองการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น การแก้ปัญหาคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ โดยการจำกัดไม่ให้ใครแต่งตัว “โป๊เกินไป” อาจไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า อาจยิ่งตีตราและโยนความผิดให้เหยื่อได้
และเนื่องในโอกาสสงกรานต์ ขอชวนทุกคนตระหนักไปด้วยกันว่า การคุกคามทางเพศไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ และสังคมควรมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการคุกคามสำหรับคนทุกเพศและทุกวัย
อ้างอิงจาก
https://theconversation.com/festivals-must-do-more-to-address-sexual-violence-189188#:~:text=We%20found%20that%2034%25%20of,men%20reported%20being%20sexually%20assaulted.
https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/10778012221120443
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7587402